สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

7 วันอันตราย ศึกเพดานหนี้สหรัฐ

7 วันอันตราย ศึกเพดานหนี้สหรัฐ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เหลือเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์ ก็จะถึงเวลาที่ว่ากันว่ารัฐบาลสหรัฐจะไม่สามารถมีเงินเพียงพอที่จะชำระภาระหนี้ของตนเองได้

บทความนี้ขอประเมินว่าก่อนและหลัง 7 วันอันตราย จะเกิดอะไรขึ้นด้วยการตั้งคำถามสำคัญ 4 ข้อ ดังนี้

คำถามแรก เงินของรัฐบาลสหรัฐจะหมดหรือไม่พอจ่ายจริงๆ ช่วงวันไหน ? ตรงนี้ หลายฝ่ายให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เงินสดในกระทรวงการคลังสหรัฐคงมิใช่ว่าจะไม่พอจ่ายในวันที่ 17 ตุลาคมในทันที เนื่องจากในความเป็นจริงแล้ว หนี้ของรัฐบาลสหรัฐได้แตะเพดานหนี้ 16.699 ล้านล้านดอลลาร์มาหลายเดือนแล้ว แต่กระทรวงการคลังสหรัฐยังสามารถหาเงินมาจ่ายภาระหนี้ต่างๆ ได้มาโดยตลอดเนื่องจากไปหมุนเงินมาจากกองทุนบำนาญแห่งชาติและกองทุนรักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน ทว่าในวันที่ 17 ตุลาคมนั้น จะเป็นวันที่เงินจาก 2 แหล่งนี้หมดและต้องหันมาพึ่งรายได้จากภาษีและรายรับแหล่งอื่นๆ นั่นหมายความว่ารัฐบาลสหรัฐจะต้องลดการขาดดุลงบประมาณภาครัฐมาเป็นงบแบบสมดุลในทันที เพื่อลดภาระหนี้ของตนเอง ซึ่งเท่ากับเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจจากนโยบายการคลังที่เข้มงวดขึ้น นอกจากนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐยังสามารถหารายได้เพิ่มเติมมาจากการออกพันธบัตรใหม่เพื่อจ่ายคืนเจ้าหนี้ผู้ถือพันธบัตรเดิมแบบที่ไม่ได้ทำให้หนี้รัฐบาลเกินเพดาน 16.699 ล้านล้านดอลลาร์แต่อย่างใด

สำหรับ คำตอบที่ว่าแล้วรัฐบาลสหรัฐจะมีเงินสดไม่พอจ่ายภาระหนี้ของตนเองอย่างแท้จริงในวันไหนนั้น ประมาณการช่วงเวลาดังกล่าว มีดังนี้

เงินสดของกระทรวงการคลังสหรัฐจะหมดลงระหว่างวันที่ 17 ตุลาคม ถึง วันที่ 5 พฤศจิกายน ดังรูปที่ 1 ทั้งนี้ จะเป็นวันไหนนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 ประการ ได้แก่ หนึ่ง การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยหากจีดีพีและการจ้างงานของเศรษฐกิจสหรัฐออกมาดีมากเท่าไร ก็จะทำให้สามารถยืดเวลาการไม่สามารถชำระหนี้ออกไปให้นานขึ้นเท่านั้น สอง การแกว่งตัวของรายได้ในส่วนอื่นๆ ของรัฐบาลสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่จะสามารถจัดเก็บได้จริงสำหรับภาษีที่ครบกำหนดจ่ายช่วงกลางเดือนกันยายนซึ่งมักจะมีความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างมาก โดยหากยิ่งแกว่งมาก ก็ยิ่งจะทำให้สามารถร่นเวลาการไม่สามารถชำระหนี้ออกไปให้เร็วขึ้นเท่านั้น มีการประมาณกันแบบคร่าวๆ ว่า เงินสดที่กระทรวงการคลังสหรัฐเหลืออยู่เท่ากับ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ และจะสามารถชำระหนี้ต่างๆ ได้อีกเพียง 2 สัปดาห์

คำถามที่สอง คือหากรัฐบาลสหรัฐไม่มีเงินเพียงพอที่จะจ่ายภาระหนี้ต่างๆ แท้จริงแล้วจะเลือกจ่ายเจ้าหนี้รายใดก่อนหลัง หรือ ต้องจ่ายพร้อมๆ กัน ตรงนี้ คำตอบแบ่งออกมาเป็น 2 ขั้วอีกเช่นกัน โดยขั้วแรกเห็นว่ากระทรวงการคลังน่าจะจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล การศึกษา การทหาร และ การรักษาพยาบาลก่อนราว 2 ใน 3 ของภาระหนี้ทั้งหมดก่อน ทั้งนี้ภาระเงินต้นและดอกเบี้ยของพันธบัตรสหรัฐก้อนใหญ่แสดงไว้ดังรูปที่ 2 อีกขั้วหนึ่งเห็นว่าจะหาเงินมาจ่ายให้ครบทุกรายการ ทว่าจะเลื่อนจ่ายให้ช้าลง

คำถามที่สาม รัฐบาลสหรัฐจะมีทางเลือกอื่นอีกไหม หากหนี้รัฐบาลสหรัฐไม่มีเงินสดในมือเข้าจริงๆ เพื่อไม่ให้รัฐบาลสามารถชำระหนี้ต่อได้โดยไม่ล้มละลาย คำตอบสั้นๆ คือมี ทว่าทำได้แสนยากเย็นในทางปฏิบัติ โดยในทางทฤษฎีแล้ว รัฐบาลของประธานาธิบดีโอบามายังมีช่องทางตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ว่าหนี้ของรัฐบาลสหรัฐควรมีความสำคัญอยู่เหนือเพดานหนี้ นอกจากนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐยังสามารถผลิตเหรียญแพลตินั่มมาแลกกับเงินดอลลาร์จากธนาคารกลางสหรัฐเพื่อจ่ายหนี้ต่างๆ ต่อได้ อย่างไรก็ดี ช่องทางดังกล่าวก็ได้รับการปฏิเสธจากทั้งรัฐบาลสหรัฐและธนาคารกลางสหรัฐ

คำถามสุดท้าย ระหว่างวันนี้ถึง 17 ตุลาคม แนวโน้มและโอกาสของการเจรจาระหว่างพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันจะเป็นอย่างไรบ้าง จากรูปที่ 3 ก็อาจมองได้ว่าพรรครีพับลิกันอาจต้องยอมอ่อนมือในประเด็นการแก้ไขกฎหมาย ObamaCare เนื่องจากมีความไม่พึงพอใจจากประชาชนอยู่สูง ซึ่ง ณ วันนี้ ก็ยังไม่มีใครมองว่ารัฐบาลสหรัฐจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ เนื่องจากพรรครีพับลิกันยังไม่มีความเป็นเอกภาพพอที่จะเสี่ยงให้ไม่มีการขยายเพดานหนี้ก่อนวันที่ 17 ตุลาคม ทว่าก็มีบางฝ่ายประเมินว่ามีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุทางการคลังได้เหมือนกันเพราะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งหน้ายังเหลือเวลาอีกกว่า 3 ปี ซึ่งอาจทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งประธานาธิบดีโอบามากล้าเสี่ยงมากกว่าครั้งที่แล้วในการเจรจากับพรรครีพับลิกันครับ

หมายเหตุ : หนังสือด้านการลงทุนด้วยข้อมูลเชิงมหภาค (Macro Investing) เล่มล่าสุดของผู้เขียน “เล่นหุ้นต้องใช้ใจ... รวยได้ไม่รู้จบ” วางจำหน่ายทั่วประเทศแล้ว และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประเด็นการลงทุน ได้ที่ www.facebook.com/MacroView และ LINE ID: MacroView ครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : 7 วันอันตราย ศึกเพดานหนี้สหรัฐ

view