สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แฉ กิตติรัตน์ ล้วงลูกจนแบงก์อิสลามพัง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...บากบั่น บุญเลิศ

ปัญหาธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ที่หมักหมมมานาน จนไม่มีใครกล้าเตะต้อง กำลังกลายเป็นประเด็นร้อน ที่ไม่เพียงแต่ทำให้สถานะของรัฐบาลสั่นคลอนเท่านั้น หากแต่ทำให้ธนาคารรัฐหมดสิ้นความน่าเชื่อถือลงไปทันที

อย่าลืมว่า ธนาคารแทบทุกแห่งที่ทำหน้าที่รับฝากเงินจากประชาชนมาปล่อยกู้เพื่อหากินส่วน ต่างดอกเบี้ยนั้น ยืนอยู่ได้เพราะความเชื่อถือจากประชาชน

หากขาดความน่าเชื่อถือเมื่อใดธนาคารแห่งนั้นเตรียมตัวพังได้ทันที

ไม่เว้นแม้แต่ธนาคารของรัฐที่กระทรวงการคลังถือหุ้น 100%

ถ้าไม่เชื่อโปรดดูตัวอย่าง ธนาคารมหานคร ธนาคารนครหลวงไทย ธนาคารศรีนคร ที่ต้องปิดตัวไปทั้งๆที่รัฐบาลถือหุ้น 100%

แต่วันนี้ ฝ่ายการเมืองกำลังทำลายธนาคารเฉพาะกิจของรัฐที่ตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือพี่น้องอิสลาม

พลันเมื่อ มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงเมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า คณะกรรมมาธิการ พัฒนาเศรษฐกิจสภาผู้แทนราษฎรได้ตรวจสอบกรณี กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เข้าแทรกแซงการดำเนินการของ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยแล้วพบว่ามีรายงานผลการดำเนินงานของธนาคารอิสลาม เกิดความผิดพลาด และมีการแทรกแซงการทำงานโดยมีการแต่งตั้งบุคคลภายนอกเข้าเป็นที่ปรึกษา และควบคุมการอนุมัติสินเชื่อ

ในรอบระยะเวลา 2 ปี ที่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศ และในห้วง 8 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ผลประกอบการของธนาคารเลวร้าย ต่ำกว่าปี 2555 โดยเป็นหนี้เสียกว่า 2 หมื่นล้านบาท

มัลลิกา บอกว่า จะนำข้อมูลเหล่านี้เข้าสู่ กมธ.ชุดนี้ และยื่นถอดถอนนายกิตติรัตน์ รวมทั้งเรียกร้องนายกรัฐมนตรี ให้พิจารณาเปลี่ยนแปลง รมว.คลัง และตั้งคณะกรรมการสอบสวบเรื่องนี้เพื่อให้เกิดความโปร่งใส

มัลลิกา ยังได้เปิดเผยหนังสือลาออกจากกรรมการ และรักษาการผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ของ ธงรบ ด่านอำไพ กรรมการที่กิตติรัตน์แต่งตั้งมากับมือลงวัน 1 ต.ค. 2556 ที่หลายคนคาใจ เพราะสามารถพลิกฟื้นจากที่สลบเหมือดให้ฟื้นไข้จากไอซียู

หนังสือดังกล่าวของธงรบมีเนื้อหาแฉถึงความล้มเหลวการบริหารของธนาคาร อย่างละเอียด โดยระบุว่า ในปลายปี 2555 ธนาคารได้ประสบปัญหาหนี้เน่า 2.4 หมื่นล้านบาท และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งในปี 2556 เดือน ม.ค. - มิ.ย.หนี้เน่าเพิ่มถึง 1.8 หมื่นล้าน ภายในเวลาเพียงแค่ 8 เดือน ยอดหนี้เพิ่มเป็น 42,000 ล้านบาท แต่ธนาคารได้แก้ปัญหาด้วยกาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้มากกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท

แต่ก็ประสบปัญหาประชาชนถอนเงินออกจากธนาคารอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปลายปื 2555 จนถึงจุดต่ำสุดในเดือนมิ.ย. เหลือเงินฝากในธนาคารไม่ถึง 5,000 ล้านบาท มีเงินหมุนเวียนในแต่ละวันไม่ถึง 6,000 ล้านบาท แต่ในเดือน ก.ค. - ก.ย.2556 ที่ธงรบเข้ามาแก้ไขผลประกอบการกลับฟื้นขึ้นมาทำให้มีเงินสดมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท ถือว่าอยู่ในภาวะที่ดีขึ้น

หนังสือแจ้งการลาออกของธงรบ ยังได้แจกแจงถึงสาเหตุที่ทำให้ธนาคารประสบปัญหา สืบเนื่องจากกรรมการผู้จัดการคนเก่า คือ ธานินทร์ อังสุวรังษี คนที่นายกรัฐมนตรี และกิตติรัตน์ไว้ใจและสั่งการให้เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการได้ระงับการ ปล่อยสินเชื่อ แต่กลับต่ออายุวงเงินสินเชื่อลูกค้าทุกราย แต่ปล่อยสินเชื่อให้เฉพาะบางรายเท่านั้น รวมทั้งรวบอำนาจการอนุมัตสินเชื่อ อำนาจการอนุมัตการเบิกง่ายเงิน การจัดซื้อจัดจ้างไว้กับตัวเอง เป็นเหตุให้การทำธุรกรรมขาดสภาพคล่องได้รับความเสียหาย จนทำให้เกิดลูกหนี้ที่มีปัญหาเพิ่มมากขึ้น รวมถึงบริษัทที่ธนาคารดำเนินธุรกรรมด้วยก็ค้างชำระการจ่ายเงินมากกว่า 300 รายการ

ขณะที่ ธานินทร์ ไม่มีคำสั่งหรือลงนามใดๆ ตามอำนาจหน้าที่ของตัวเอง จนมีเอกสารกว่า 900 แฟ้ม กองรวมกันมากถึง 5 ลัง ทำให้กระบวนการบริหารงานหยุดชะงักเกิดทั้งระบบ ความเชื่อถือธนาคารติดลบ จนนำไปสู่ข่าวลือว่าธนาคารกำลังถูกปิดดำเนินการ เพราะไม่มีเงินจ่ายให้คู่ค้าและลูกค้าสินเชื่อ ทำให้เงินฝากไหลออกเกือบ 3 หมื่นล้านบาท

สถานการณ์ของแบงก์ในช่วเดือน มิ.ย.จึงเป็นจุดต่ำสุด เป็นเหตุให้พนักงานกว่า 1,400 คน เข้าชื่อขับไล่ธานินทร์ ออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการในขณะนั้น

หนังสือของธงรบ ยังระบุปัญหาที่ไม่เคยมีใครรับรู้เพราะถูกซุกอยู่ใต้พรมว่า นอกจากนี้ ธนาคารยังไม่ได้ดำเนินการบริหารตามวัตถุประสงค์ของการตั้งธนาคารอิสลาม ที่เน้นร่วมลงทุนและแบ่งกำไรอย่างยุติธรรม แต่กลับดำเนินการในรูปแบบเดียวกับธนาคารพาณิชย์ ทำให้ชาวมุสลิมขาดความเชื่อถือ ส่งผลให้มีการใช้ชาวมุสลิมใช้บริการเพียง 10% ของลูกค้าทั้งหมด ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ขาดทุนจนต้องเพิ่มทุนทุก 3 ปี และ 5 ปี เพราะไม่มีศักยภาพมากพอที่จะไปแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ได้

อีกทั้งการกำกับดูแลของกิตติรัตน์ ยังมีทัศนคติที่ผิดพลาด แทรกแซงการดำเนินธุรกรรมโดยไม่ใช้เหตุผลข้อเท็จจริงในการกำกับดูแล อาศัยความเชื่อและคำบอกเล่าในการตัดสินใจ เช่น เชื่อว่าผู้บริหารและพนักงานโกงและแทรกแซงการบริหารจัดการ มีการสั่งการที่ผิดกฎหมาย ไม่ถูกต้องตามหลักการธุรกิจธนาคารจนเกิดความแตกแยกในธนาคาร ทั้งๆ ที่ผลประกอบการของธนาคารพลิกฟื้นอย่างรวดเร็วภายใน 3 เดือน เพราะความร่วมมือของพนักงานที่มีคุณภาพแต่กลับไม่สนใจ ทำให้ต้องกลับมามีปัญหาเหมือนในอดีตอีกครั้ง

ธงรบยังระบุด้วยว่า ขณะนั้นธานินทร์ ยังได้ว่าจ้าง วิญญาต ศุกระศร ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมาเป็นที่ปรึกษาดูแลด้านการวิเคราะห์และอนุมัติสินเชื่อ และสั่งด้วยวาจามายังธงรบและกรรมการบริหารประกอบด้วย บัณฑรณ์โฉม แก้วสอาด รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และอรสิริ รังรักษ์ศิริวร เศรษฐกรชำนาญการ หน้าห้องของรมวงคลังที่ถูกส่งมาเป็นกรรมการธนาคาร โดยกำชับว่าสินเชื่อทุกรายจะต้องผ่านการพิจารณาของวิญญาต ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับการอนุมัติ

ส่งผลให้การบริหารไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล พนักงานมีความโปร่งใสของการกำกับดูแลธนาคาร โดยเห็นว่า รมว.คลัง และที่ปรึกษาเข้าครอบงำเพื่อผลประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรม

สืบไปสืบมาพบว่า วิญญาตนั้น เคยทำงานที่ธนาคารเอสเอ็มอีแบงก์เมื่อ 3 ปีก่อนหน้า โดยดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายสินเชื่อ 2

นอกจากนี้ มีพฤติกรรมผิดปกติมีการว่าจ้างที่ปรึกษาในรูปบริษัท คือ อวานการ์ด แคปปิตอล เพื่อทำแผนฟื้นฟูธนาคาร แต่กลับไปทำหน้าที่เจรจาแก้ไขสินเชื่อ โดยให้บริษัทดังกล่าวเจรจากับลูกค้าโดยตรง แถมมีการเรียกรับเงินค่าตอบแทนพิเศษ ทำให้พนักงานทำหนังสือร้องเรียนเพื่อให้มีการสอบสวนธานินทร์ จนนำไปสู่การขับไล่ออกจากตำแหน่ง

แต่กิตติรัตน์รมว.คลังกลับปกป้องโดยสั่งให้ธงรบชะลอการสอบสวนก่อนจะสั่งให้ยุติการสอบสวน

"ที่สำคัญ รัฐมนตรีกิตติรัตน์ สั่งด้วยวาจากับผมว่า ไม่ต้องทำให้ธนาคารนี้เป็นธนาคารอิสลาม ไม่ต้องปรึกษาที่ปรึกษาด้านศาสนาทุกเรื่องก็ได้ หากปรึกษาแล้วมีปัญหาให้ทำผิดหลักศาสนาได้ เพื่อให้ธนาคารอยู่รอด ซึ่งคำสั่งดังกล่าวมิชอบด้วยกฎหมาย จึงทำให้เกิดความขัดแย้งจนเป็นที่มาของการบีบให้ผมยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง กรรมการธนาคาร และรักษาการผู้จัดการธนาคาร ในเวลาต่อมา และใส่ร้ายว่า ผมไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้เสียตามแผนฟื้นฟูได้ ทั้งที่เราสามารถแก้หนี้ได้มากกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งมากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 6,500 ล้านบาท สิ่งที่เกิดขึ้นยิ่งเป็นการทำลายภาพลักษณ์ขององค์กรมากขึ้น จึงขอให้ออกมาให้ข้อเท็จจริงกับประชาชนเพื่อปกป้องภาพลักษณ์ของธนาคารด้วย"ธงรบ ระบุไว้ในหนังสือลาออก

ไม่ต้องมีคำอธิบายใดๆก็พอเห็นเค้าลางของปัญหา เมื่อไฟที่สุมขอนอยู่ในธนาคารรัฐแห่งนี้ได้ถูกพัดกระพือขึ้นมาอีกครั้ง

โดยมีอนาคตธนาคารรัฐที่รับฝากเงินจากประชาชนจำนวนมหาศาลเป็นเดิมพัน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แฉ กิตติรัตน์ ล้วงลูก แบงก์อิสลามพัง

view