สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สามวันอันตราย กับปัญหาเพดานหนี้สาธารณะ

สามวันอันตราย กับปัญหาเพดานหนี้สาธารณะ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




วันนี้วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม ซึ่งหมายถึงเหลือเวลาอีก 3 วันก่อนวันที่ 17 ตุลาคม ที่เป็นวันสุดท้ายที่ฝ่ายการเมืองสหรัฐต้องมีทางออก

เรื่องการปรับขึ้นเพดานหนี้สาธารณะ เพราะถ้าภายในคืนวันที่ 17 ตุลาคมนี้ (เวลาสหรัฐ) ยังตกลงกันไม่ได้ เข้าเช้าวันที่ 18 ตุลาคม รัฐบาลสหรัฐก็จะไม่สามารถกู้เงินเพิ่มได้เพราะจะติดเพดานหนี้ที่ขณะนี้กำหนดไว้ที่ 16.7 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อกู้เพิ่มไม่ได้รัฐบาลสหรัฐก็คงขาดสภาพคล่อง คือ ไม่มีเงินสดพอที่จะใช้จ่ายตามข้อผูกพันต่างๆ และที่กังวลกันมากก็คือ ถ้าไม่มีการเพิ่มเพดานหนี้จริง รัฐบาลสหรัฐอาจจะไม่สามารถชำระดอกเบี้ยพันธบัตรเงินกู้ได้ ซึ่งถ้าเกิดขึ้น สหรัฐก็จะกลายเป็นประเทศที่มีปัญหาผิดนัดชำระหนี้ คือ ไม่สามารถชำระหนี้ที่ตนมีอยู่ได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบไปทั่วโลก และอาจนำไปสู่การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลกอีกครั้งก็ได้

เมื่อสามอาทิตย์ก่อน ผมเขียนถึงความไม่แน่นอนในนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐสามเรื่องที่ขณะนี้จับเศรษฐกิจโลกเป็นเชลย เรื่องแรก ก็คือ เงื่อนเวลาที่จะเริ่มลดทอนมาตรการคิวอี ซึ่งปัจจุบันยังไม่ชัดเจน สอง คือ ความไม่แน่นอนว่าใครจะมาเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐคนต่อไป และสาม สหรัฐจะสามารถแก้ปัญหาเพดานหนี้สาธารณะได้หรือไม่ภายในวันที่ 17 ตุลาคมนี้ ในเรื่องที่สามนี้แฟนๆ คอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” หลายคนเขียนมาถามว่า ถ้าปรับเพดานไม่ได้ ผลจะเป็นอย่างไร วันนี้ก็เลยอยากให้ความเห็นเรื่องนี้

เพดานหนี้สหรัฐ หมายถึง ระดับการก่อหนี้สูงสุดที่ได้ถูกกำหนดขึ้นตามกฎหมายโดยรัฐบาลสหรัฐ ผ่านการเห็นชอบรัฐสภา เพื่อควบคุมการกู้ยืมของรัฐบาล เพื่อผลของการรักษาหรือแก้ไขปัญหาเสถียรภาพการคลังของประเทศ ปัจจุบันเพดานหนี้อยู่ที่ 16.7 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นผลจากข้อตกลงระหว่างรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านที่ต้องการหลีกเลี่ยงปัญหาหน้าผาการคลังเมื่อตอนต้นปี ทำให้เพดานหนี้ได้ถูกปรับสูงขึ้นเป็นการชั่วคราวที่ระดับปัจจุบันที่ 16.7 ล้านล้านดอลลาร์ และตั้งแต่ต้นปีถึงขณะนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐก็ได้พยายามบริหารรายจ่ายโดยมาตรการพิเศษต่างๆ เพื่อให้ระดับการก่อหนี้ไม่เกินเพดานหนี้ที่ได้กำหนดไว้ แต่เพดานหนี้นี้เป็นเพดานชั่วคราว ทำให้จำเป็นต้องมีการเพิ่มเพดานหนี้ในอนาคต เพื่อรองรับระดับการใช้จ่ายที่จะมีมากขึ้น โดยเฉพาะตามรายจ่ายของงบประมาณปีหน้า เพราะประมาณร้อยละ 20 ของการใช้จ่ายของรัฐบาลสหรัฐจะต้องมาจากเงินกู้ยืม เนื่องจากรายได้ภาษีไม่เพียงพอที่จะชดเชยการใช้จ่ายได้

ล่าสุดทางการสหรัฐประมาณว่า ถ้าเพดานหนี้ไม่ปรับเพิ่มขึ้นภายในวันที่ 17 ตุลาคม ระดับเงินสดที่มีเหลืออยู่ที่จะใช้ได้จะมีประมาณ 30 พันล้านดอลลาร์ซึ่งไม่เพียงพอกับภาระการใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นที่ประมาณ 60 พันล้านดอลลาร์ต่อวัน ดังนั้น จำเป็นที่เพดานหนี้ต้องปรับขึ้น เพื่อให้ทางการสหรัฐสามารถกู้เงินใหม่ เพื่อมาใช้จ่ายตามภาระที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะเพื่อชำระภาระดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ได้กู้ไว้ในวงเงินสูงถึง 12 ล้านล้านดอลลาร์

สิ่งที่ตลาดการเงินโลกกลัวขณะนี้ก็คือ ถ้าเพดานหนี้ไม่ปรับขึ้น และมีผลทำให้ทางการสหรัฐไม่สามารถชำระหนี้ได้ ผลกระทบที่จะเกิดตามมาต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกจะรุนแรงมาก อย่างน้อยในสามประเด็น

1. ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐคงอ่อนลงมาก เพราะตลาดจะขาดความเชื่อมั่นในนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐ ทำให้คนจะขายทิ้งสินทรัพย์ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ราคาพันธบัตรสหรัฐจะตก เพราะไม่มีคนถือ และอัตราดอกเบี้ยระยะยาวจะสูงขึ้นมาก ซึ่งจะกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลก

2. ตราสารหนี้รัฐบาลสหรัฐที่ถือว่าปลอดภัยที่สุด เมื่อมีการผิดนัดชำระหนี้จะกลายเป็นตราสารการลงทุนที่มีความเสี่ยงมากกว่าเดิม ทำให้ตลาดการเงินโลกจะต้องประเมินราคาของสินทรัพย์ต่างๆ ใหม่ทั้งหมด (Re-pricing) เพราะความเสี่ยงของสินทรัพย์ที่เคยปลอดภัยที่สุดขณะนี้มีมากขึ้น ภาวะดังกล่าวจะทำให้ต้นทุนทางการเงินในตลาดการเงินโลกปรับสูงขึ้น ทั่วหน้า ซึ่งจะกระทบสภาพคล่องและกิจกรรมเศรษฐกิจทั่วโลก

3. เมื่อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐกลายเป็นตราสารหนี้ ที่มีความไม่แน่นอนเรื่องการชำระหนี้ คือเป็นตราสารที่ผิดนัดชำระหนี้ มูลค่าตลาดของตราสารเหล่านี้ก็จะลดลงทันที ซึ่งจะกระทบฐานะทางการเงินของผู้ถือตราสาร และที่จะถูกกระทบมากก็คือ ธนาคารพาณิชย์ และธนาคารกลางทั่วโลกที่ถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐไว้มาก เพื่อเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ที่สำคัญในตลาดการกู้ยืมที่การใช้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเป็นหลักประกัน เช่น ตลาด Repo ก็จะปั่นป่วนมาก เพราะจะไม่สามารถใช้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเป็นสินทรัพย์ค้ำประกันได้อีกต่อไป เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่มีปัญหาการชำระหนี้ ซึ่งจะกระทบการทำธุรกรรมการเงินไปทั่วโลก

เหล่านี้คือตัวอย่างของความปั่นป่วนที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจะกระทบเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกมาก ประเด็นนี้ทำให้หลายฝ่าย รวมถึงจีนและไอเอ็มเอฟได้ออกมาเตือนรัฐบาลสหรัฐให้ตระหนักถึงผลกระทบรุนแรงที่จะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจการเงินโลกถ้าฝ่ายการเมืองสหรัฐไม่สามารถหาทางออกที่เหมาะสมในเรื่องนี้ได้

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันตลาดการเงินโลกยังไม่ได้ตื่นตระหนกมากนักกับความเป็นไปได้ที่ปัญหาเพดานหนี้สหรัฐอาจไม่สามารถหาทางออกได้ และนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลสหรัฐ ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะตลาดเชื่อว่า ฝ่ายการเมืองสหรัฐตระหนักถึงความปั่นป่วนที่อาจเกิดขึ้นเป็นอย่างดี และคงต้องพยายามหาข้อยุติให้ได้ก่อนนาทีสุดท้าย เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เหตุการณ์ปั่นป่วนดังกล่าวเกิดขึ้น เพราะถ้าเกิดขึ้น ความผิดทั้งหมดจะตกที่ฝ่ายการเมืองสหรัฐ ที่เล่นการเมืองในประเทศกันแบบไม่สนใจผลที่จะมีต่อเศรษฐกิจของประเทศตนเองและเศรษฐกิจโลก

ประเด็นการเมืองที่เป็นจุดที่ไม่ยอมกันระหว่างรัฐบาลโอบามา พรรคเดโมเครตกับฝ่ายค้านพรรครีพับลิกันก็คือ รัฐบาลโอบามาต้องการเพิ่มเพดานหนี้โดยไม่มีเงื่อนไข เพื่อให้การใช้จ่าย ภายใต้ภาระที่มีและการใช้จ่ายภายใต้งบประมาณใหม่สามารถเดินต่อได้ แต่ฝ่ายค้านต้องการให้มีการเพิ่มเพดานหนี้อย่างมีเงื่อนไข และเงื่อนไขที่ฝ่ายค้านต้องการก็คือ ต้องมีการลดทอนรายจ่ายลงพร้อมกับการเพิ่มเพดานหนี้ เพื่อให้เกิดวินัยทางการคลัง ซึ่งมีเหตุผล แต่การใช้จ่ายที่ฝ่ายค้านต้องการให้ลด ก็คือ การใช้จ่ายด้านสังคมสงเคราะห์ ซึ่งรวมถึงเงินที่จะเข้ามาสนับสนุนการปฏิรูประบบประกันสุขภาพที่เป็นนโยบายหาเสียงของรัฐบาลโอบามา ที่ชาวอเมริกันหลายฝ่ายไม่ชอบ ทำให้รัฐบาลโอบามายอมไม่ได้

ดังนั้น สามวันจากนี้ไป ตลาดการเงินโลกคงเป็นเชลยไปกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในการเมืองสหรัฐว่าจะมีทางออกเรื่องเพดานหนี้ได้หรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่อยากจะบอกก็คือ แม้วันที่ 17 ตุลาคม จะยังไม่มีทางออกก็อย่าเพิ่งตกใจ กระทรวงการคลังสหรัฐคงต้องตัดทอนรายจ่ายอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นไปก่อน เพื่อให้สหรัฐยังมีวงเงินที่จะชำระหนี้ ซึ่งถ้าสถานการณ์พัฒนามาถึงจุดนี้ ตลาดการเงินโลกก็คงกดดันรัฐบาลสหรัฐด้วยการตกลงอย่างรุนแรงของตลาดหุ้น การอ่อนค่าอย่างรุนแรงของเงินดอลลาร์สหรัฐ และอัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่จะปรับขึ้นเร็วมาก จนฝ่ายการเมืองสหรัฐจะต้องเลิกทะเลาะกัน และหันมาเร่งปรับเพดานหนี้ในที่สุด

แต่ดีที่สุด และที่อยากเห็นก็คือ ประธานาธิบดีสหรัฐในฐานะผู้นำ ออกมาพูดอย่างชัดเจนว่าจะไม่ยอมให้สหรัฐผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะสร้างความมั่นใจ และลดความผันผวนต่างๆ ในตลาดการเงินโลกได้ทันที


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สามวันอันตราย ปัญหาเพดานหนี้สาธารณะ

view