สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ท่ามกลางความผันผวน

ท่ามกลางความผันผวน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ณ ห้วงเวลานี้ ผู้อ่านคงทราบแล้วว่าตลาดการเงินโลกจะรอดพ้นจากหายนะระดับมหาวิกฤติจากปัญหาเรื่องเพดานหนี้สาธารณะสหรัฐหรือไม่

ซึ่งในขณะที่ผู้เขียนส่งต้นฉบับนี้ แม้ผลการหารือระหว่างรัฐสภาและประธานาธิบดีจะยังไม่ชัดเจน แต่โอกาสที่จะเกิดวิกฤตการณ์การเงินนั้น เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ

สาเหตุที่หายนะจะมาถึงหากข้อเสนอการปรับขึ้นเพดานหนี้ไม่ผ่านสภา นั้นเป็นเพราะจะทำให้สหรัฐผิดนัดชำระหนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ทำให้สถาบันการเงินรวมถึงนักลงทุนที่ถือตั๋วเงินคลังสหรัฐ (T-bill) รวมถึงพันธบัตรที่ครบกำหนดในช่วงดังกล่าวเร่งเทขายสินทรัพย์เหล่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากตลาดการเงินรวมถึงสถาบันการเงินทั่วโลกใช้ตั๋วเงินคลังเหล่านั้น เป็นสินทรัพย์หนุนหลังในการกู้ยืมเงินชั่วข้ามคืน เนื่องจากทางการเงินถือว่าสินทรัพย์เหล่านั้นมีความเสี่ยงต่ำที่สุด (Risk-free Asset) จึงมีสภาพคล่องสูงสุด

แต่หากเกิดการผิดนัดชำระหนี้ขึ้น สินทรัพย์เหล่านี้ก็จะไม่ปลอดภัยอีกต่อไป ใช้เป็นสินทรัพย์หนุนหลังไม่ได้ (หรือถ้าได้ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงมาก) ทำให้มีแนวโน้มที่สถาบันการเงินจะตุนสภาพคล่อง ทำให้ตลาดเงินแห้งเหือด เงินจะไหลกลับสหรัฐอย่างรวดเร็ว ทำให้เงินดอลลาร์แข็งขึ้นในช่วงสั้น บาทจะอ่อนลงมาก และตลาดหุ้นจะตกต่ำรุนแรง และเกิดวิกฤติเหมือนช่วง Lehman Brothers ล้มได้

สิ่งที่บรรยายข้างต้นเป็นเพียง “การทดลองทางความคิด” (Thought Experiment) ที่แม้โอกาสที่จะเกิดขึ้นต่ำ แต่ก็เป็นไปได้ ซึ่งภาคธุรกิจและทางการไทยจะต้องเตรียมตัวเมื่อเหตุการณ์นั้นมาถึง

แต่ประเด็นที่สำคัญกว่านั้นคือ ในระยะต่อไปแม้ว่าเหตุการณ์ข้างต้นจะไม่ได้เกิดขึ้น แต่ความผันผวนทางการเงินจะมีมากขึ้น และจะอยู่กับเราตลอดไป หรืออย่างน้อยก็จนกว่านโยบายการเงินที่ไร้วินัยของสหรัฐในนามของมาตรการผ่อน คลายเชิงปริมาณ (QE) จะหมดลง

พิจารณาอย่างง่ายได้จากค่าเงินบาทก่อนมาตรการ QE ที่อยู่ที่ประมาณ 36 บาทต่อดอลลาร์ ณ ต้นปี 2552 แต่หลังจากมีมาตรการ QE1-4 นั้น บาทก็แข็งและผันผวนต่อเนื่องจนมาอยู่ที่ 28.9 บาทในช่วงเดือนพฤษภาคม 2556 ก่อนที่นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ จะเริ่มพูดว่าจะยุติมาตรการ QE จนทำให้บาทกลับมาอ่อนลงในระดับ 31-32 บาทอีกครั้ง

สำหรับนักวิชาการบางท่าน อาจเห็นว่าความผันผวนดังกล่าวเกิดจากการเปิดเสรีภาคการเงินและเงินทุน เคลื่อนย้ายจนเกินไป ทำให้ค่าเงินแข็งขึ้น ผันผวนและส่งผลกระทบต่อภาคส่งออก ขณะที่หากอ่อนลงรวดเร็วก็จะกระทบการนำเข้าและเงินเฟ้อ นอกจากนั้นเงินทุนที่ไหลเข้าในช่วง QE ที่ผ่านมา เป็นส่วนทำให้ราคาสินทรัพย์ทางการเงินต่างๆ เช่น หุ้นและอสังหาฯ เพิ่มขึ้น เกิดความเสี่ยงฟองสบู่ รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการกู้ยืมและปัญหาหนี้ครัวเรือนด้วย

สำหรับนักวิชาการเหล่านั้น หนทางแก้ไขคือต้องมีการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย (Capital Control) ไม่ว่าจะทำแบบที่ไทยทำในปี 2549 ที่มีมาตรการกันสำรอง 30% ของเงินทุนที่ไหลเข้ามาในประเทศไทย (และทำให้ตลาดหุ้นตกต่ำกว่า 100 จุดในวันเดียว) หรือจะเป็นนโยบายแบบที่บราซิล เกาหลีใต้ อินเดีย และประเทศอื่นๆ ได้ทำในช่วงนี้

โดยในกรณีของบราซิลนั้น ในช่วงที่เงินทุนไหลเข้ามากในปี 2552 จนทำให้ค่าเงินเรียลแข็งขึ้นมากนั้น ทางการได้ออกมาตรการจัดเก็บภาษีบนธุรกรรมทางการเงินเป็นจำนวน 2% และขึ้นเป็น 6% ในปีถัดมา ขณะที่ในช่วงเงินทุนไหลออกหลังเดือนพฤษภาคม 2556 นั้น ทางการก็ยกเลิกมาตรการดังกล่าว รวมถึงเข้าแทรกแซงค่าเงินและเปิดธุรกรรม Swap เงินตราให้กับภาคเอกชนในประเทศ

ขณะที่เกาหลีใต้และอินเดียนั้นก็มิได้แตกต่างมากนัก โดยในช่วงที่เงินวอนแข็งค่า ทางการเกาหลีได้ออกมาตรการภาษีที่จัดเก็บจากยอดเงินในบัญชีสกุลต่างประเทศ ที่ฝากในประเทศ (ยุติลงหลังเงินเริ่มอ่อน) ขณะที่อินเดียก็ออกมาตรการมากมายในช่วงเงินรูปีห์อ่อนค่า โดยห้ามประชาชนนำเงินออกนอกประเทศเกิน 7.5 หมื่นดอลลาร์ ห้ามบริษัทในประเทศนำเงินออกไปลงทุนนอกประเทศเกิน 100% ของทุนจดทะเบียน และขึ้นภาษีนำเข้าทองคำ

นโยบายของประเทศเหล่านี้ แม้จะดูดีในกระดาษ แต่ในความเป็นจริง ไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่าใดนัก โดยในกรณีของบราซิลและเกาหลีใต้หลังทำมาตรการป้องกันเงินแข็งค่านั้น ก็มิได้ทำให้ค่าเงินเรียลและวอนแข็งน้อยกว่าประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ (และในกรณีของบราซิล การป้องกันเงินทุนไหลเข้าเป็นส่วนหนึ่งทำให้ประเทศขาดแคลนเงินทุน ในโครงการลงทุนด้านสาธารณูปโภคต่างๆ ที่จะเสริมศักยภาพเศรษฐกิจในอนาคต) ขณะที่กรณีอินเดียนั้น การออกกฎป้องกันเงินทุนไหลออกนั้น กลับยิ่งทำให้ต่างชาติตื่นตระหนกและทำให้เงินไหลออกมากขึ้น

ขณะที่เมื่อมองในระยะยาวแล้ว การเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้ายนั้น หากเปิดอย่างถูกวิธี ถูกช่องทาง และถูกช่วงเวลานั้น จะเป็นการพัฒนาตลาดเงินตลาดทุนรวมถึงเศรษฐกิจโดยรวม เพราะเงินจะไหลออกจากประเทศที่มีเงินทุนล้นเหลือ แต่มีโอกาสทางการลงทุนต่ำ ไปยังประเทศที่ขาดแคลนเงินทุนแต่มีศักยภาพเติบโตมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นการเปิดเสรีด้านการลงทุนโดยตรง (Foreign Direct Investment: FDI) จะยิ่งทำให้ประเทศเหล่านั้นมีการพัฒนา ได้รับเทคโนโลยีใหม่ รวมทั้งเพิ่มการจ้างงานขึ้น

แม้ว่าทิศทางและแนวโน้มของเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยเฉพาะหลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์นั้นจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (สำนักวิจัย McKinsey ประมาณการว่าปริมาณเงินทุนเคลื่อนย้ายทั่วโลกในปี 2555 นั้นอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านล้านดอลลาร์ ลดลงอย่างมากจากประมาณ 11 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2550) แต่ในระยะยาวแล้วกระแสโลกาภิวัตน์ด้านเงินทุนจะยังมีอยู่ และความผันผวนจะมีมากขึ้น

ดังนั้น สิ่งที่ทางการทั่วโลกรวมทั้งไทยจะทำ เพื่อบรรเทาความผันผวนเหล่านี้คือ อาจต้องมีทุนสำรองในระดับที่เหมาะสม และเพียงพอที่จะรับมือกับกระแสเงินทุนไหลออกฉับพลัน รวมถึงอาจต้องมีความร่วมมือกับธนาคารกลางต่างๆ หากเกิดเหตุการณ์เงินทุนไหลออกอย่างรวดเร็ว (โดยอาจเป็นรูปแบบของ Swap Line กับประเทศที่สามารถให้สภาพคล่องได้)

แม้การเปิดเสรีการเงินจะมีข้อเสียอยู่บ้าง แต่การปิดกั้นโดยสิ้นเชิงนั้นก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี การรู้จักเลือกเวลา การเพิ่มความร่วมมือทางการเงินทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก และความเข้าใจถึงพลวัตทางการเงินโลกเท่านั้น ที่จะทำให้ไทยรอดพ้นจากกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายที่เชี่ยวกรากได้

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ท่ามกลางความผันผวน

view