สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เรื่องของข้าว เรื่องของเรื่อง

เรื่องของข้าว เรื่องของเรื่อง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




สวัสดีครับในครั้งนี้ผมขอเปิดประเด็นสนทนาแปลกออกไปหน่อยครับ

จากครั้งที่แล้วเรามองประสบการณ์ประเทศอื่นที่ดำเนินการมาเปรียบเทียบกับประเทศไทยแล้วโดยเฉพาะประเทศที่มีความขาดหลายด้านเทียบกับประเทศไทยที่มีความมีหลายด้าน ก็หวังว่าเราจะอาศัยความมีเปรียบของเรามาทำให้เกิดประโยชน์และพัฒนาเพื่อคนไทยในระยะยาวได้

วันนี้เองผมขอเอาเรื่องใกล้ตัวเรามาเป็นหลักของการสนทนา เรื่องนี้คือ “ข้าว” ผมคงไม่ได้มาคุยว่าราคาข้าวจะเป็นอย่างไร จำนำดีหรือไม่ แล้วเราจะทำอย่างไร และคงต้องออกตัวก่อนนะครับว่าผมคงไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านข้าว ทั้งตลาด การขาย และ การเพาะปลูกนะครับ แต่ที่แน่ ๆ คือ เป็นคนหนึ่งที่ชอบ และต้องทานข้าว และทุกครั้งที่ทานข้าวก็จะทำให้มีกำลัง อารมณ์ดี ถ้าไม่ได้ทานข้าวหลาย ๆ วัน (เวลาเดินทางไปต่างประเทศและต้องทานอาหารอื่น ๆ เช่นก๋วยเตี๋ยว ราเมง สปาเกตตี หรือ อื่น ๆ ก็จะทำให้อดคิดถึงอาหารที่มีข้าวเป็นหลักไม่ได้)

ผมขอลองถามแต่ละท่านครับว่า ทราบหรือไม่ว่าประเทศที่มีการทานข้าวเป็นหลักคือประเทศไหน แล้วอาหารหลักประเทศนั้น ๆ ปรุงหรือทำอย่างไร (เช่นเอาข้าวสารไปผัด ต้ม นึ่ง หุง บด ผสมน้ำ ผสมน้ำมัน ผสมเนย) หากผมย้อนเวลากลับไปเมื่อประมาณกว่า 20 ปีก่อนตอนที่ไปเรียนที่อเมริกานั้น นักเรียนไทยหากจะไปอยู่ต่างแดนก็ต้องหาที่ ๆ ซื้ออาหาร โดยเฉพาะข้าวสารไทยกัน และจะทานได้ก็ต้องหุง ซึ่งหม้อหุงข้าวสมัยนั้นถ้าไม่เอาไปจากเมืองไทย ก็ต้องไปซื้อที่ร้านขายของชำที่จะมีตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ ซึ่งมักจะเป็นร้านของชำจีน ไทย เวียดนาม หรือ ลาว ซึ่งสมัยนั้นมีทั้งอาหารสด อาหารแห้ง น้ำปลา น้ำพริก Video หนังชุด และอื่น ๆ ซึ่งเวลาเราไปซื้อข้าวสารก็ต้องเลือกว่าจะเป็นข้าวชนิดไหน ข้าวหอมมะลิ ข้าวสาวไห้ ข้าวเหนียว หรือ อื่น ๆ และแต่ละคนก็อยู่รอดมาได้ด้วยวิธีเดียวกันในแต่ละรุ่นที่ผ่านมา

และเมื่อไม่นานมานี้ในแต่ละครั้งที่เดินทางต่างประเทศผมได้มีโอกาสสังเกตสินค้าที่ขายในร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาเก็ต ในประเทศต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า ในบางประเทศนั้นมีการผลิต (ปลูก) ข้าว และมีการบริโภค ซึ่งบางประเทศนั้นมีจำนวนในการผลิตที่น้อยกว่าจำนวนบริโภค จนถึงต้องประกาศว่าบางวันนั้น ในประเทศไม่สนับสนุนในบริโภคข้าว แต่ให้ไปหาอาหารที่ใช้วัสดุอื่น ๆ แทน แต่ในบางประเทศโดยเฉพาะประเทศไทย จำนวนในการผลิตนั้นเป็นปริมาณสัดส่วนการผลิตทั้งโลกไม่มาก แต่มีสัดส่วนการขาย หรือส่งออกมากกว่าประเทศอื่น เพราะการบริโภคในประเทศน้อยกว่าที่อื่น ๆ ซึ่งวัฒนธรรมการกิน และจำนวนในการบริโภคข้าวแต่ละปีนั้นมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก คือ โดยเฉลี่ยคนกินข้าวประมาณ 130-180 กิโลต่อปี ซึ่งคนในเอเชียทานข้าววันละ 2-3 มื้อ คนในพม่าบริโภคข้าวปีละ 195 กิโล ในลาวปีละ 160 กิโล คนยุโรปปีละ 3 กิโล และคนอเมริกาปีละ 7 กิโล ซึ่งหากเราดูปริมาณการบริโภคเฉลี่ยต่อปีในแต่ละประเทศนั้นมีปริมาณการบริโภคที่แตกต่างกันมากโดยเฉพาะในเอเชียเทียบกับยุโรปและอเมริกา

เพราะอะไรที่ทำให้การปริมาณการบริโภคมีความแตกต่างกัน และหากเราจะทำให้การเพิ่มขึ้นของการบริโภคข้าวเกิดขึ้นนั้นต้องทำอย่างไร ในระหว่างที่เดินทางไปหลาย ๆ ที่ ๆ ผ่านมา ผมได้ตั้งข้อสังเกตบางอย่างที่เกี่ยวกับการบริโภคข้าวในแต่ละที่(อาศัยจากความชอบทานข้าวเป็นหลัก) นั้นคือ หลาย ๆ ประเทศมีวิธีในการปรุงหรือทำอาหารที่มีข้าวเป็นส่วนประกอบเป็นหลักไม่เหมือนกัน คนไทย ญี่ปุ่น และจีน น่าจะนำข้าวมาหุงด้วยหม้อสำเร็จรูป หรือหม้อและใส่น้ำลงไปหุงแบบทั้งเช็ดน้ำและไม่เช็ดน้ำ

ในขณะที่ในประเทศอื่น ๆ เช่น ยุโรป ไม่ได้หุงข้าว และการใช้หม้อหุงข้าวเป็นเรื่องไม่ปกติ (ลอง search ใน googleดูว่าการ cook rice ต้องทำอย่างไร) บางคนก็บอกว่าเอาข้าวลงผัดกับเนยก่อนในกระทะ แล้วเติมน้ำลงไปแล้วปิดฝา บ้างก็บอกว่าทำพร้อม ๆ กับอาหารอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสเต๊ก สตู และการใช้หม้อหุงข้าวมีน้อย นอกจากนี้มีความเชื่อว่าหม้อหุงข้าวมีราคาแพง และหากมีการทำข้าวให้สุกโดยวิธีผัดในกระทะจะเป็นการประหยัดกว่า (หม้อหุงข้าวขนาดเล็กแบบไม่ติดก้นหม้อ และอัตโนมัติ ราคาประมาณไม่เกิน 2,000 บาท และหากเราใช้ทุกวันเป็นเวลา 10 ปี โดยเฉลี่ยราคาต้นทุนค่าหม้อหุงข้าวไม่เกิดวันละ 1 บาท) ซึ่งหากเทียบรสชาติของข้าวที่หุงจากหม้อหุงข้าวนั้นน่าจะอร่อยกว่าการเอาข้าวสารผัดในกระทะนะครับ

ในขณะที่ลักษณะการประกอบอาหารที่แตกต่างกันนั้น แล้วรสชาติของข้าวที่มาจากแต่ละประเทศจะแตกต่างกันหรือเปล่านั้นผมไม่แน่ใจ คงต้องลองช่วงเสาร์อาทิตย์นี้ดูว่าเอาข้าวของเรา และที่อื่น ๆ มาปรุงแบบที่ไม่ได้หุงจะได้รสแบบที่เรามีเอกลักษณ์หรือเปล่า ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในมุมที่ข้าวอร่อย ๆ ของเรานั้น ยังมีผู้บริโภคไม่มากพอที่จะจ่ายเงินสูงกว่าเพื่อซื้อข้าวเราไปบริโภค (ข้าวเราหอม มียาง นุ่ม เหมาะกับการทานกับ กับข้าว หรือเอาไปผัดเป็นข้าวผัด ไม่เหมาะกับการนำเอาไปทำข้าวเปียก (Risotto)

ในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีมีการประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมการบริโภคข้าววิธีหุงและวิธีปรุงเช่นคัทซิด้ง (ข้าวหน้าหมูทอด) บิบิมบับผ่านละครทีวีรายการอาหาร ซึ่งในส่วนของเรานั้นเราคงต้องหาทางประชาสัมพันธ์การบริโภคข้าวให้ถูกวิธีเพิ่มเติมขึ้นเพื่อให้เราสามารถเสนอขายสินค้าของเรา ที่มีเอกลักษณ์แตกต่างจากคนอื่นและทำให้ผู้บริโภคพร้อมที่จะจ่ายราคาจากคุณสมบัติที่ได้ (อร่อยกว่า)

เราทุกคนมีความต้องการขายสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่เรียกว่า Commodity ซึ่งในความเป็นสินค้าทั่วไปนั้นไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีเอกลักษณ์หรือไม่ดีกว่า แต่หากเราสามารถเข้าใจและพิจารณาเพิ่มเติมในความต้องการ และกระบวนการในการบริโภคนั้น ๆ ก็อาจจะเป็นแนวทางในการทำให้เราขายสินค้าได้มากขึ้นด้วยราคาที่สูงขึ้นได้ ซึ่งคงครอบคลุมทุกธุรกิจสินค้าที่เราดำเนินการอยู่


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เรื่องของข้าว เรื่องของเรื่อง

view