สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รายงานจากวอชิงตัน (2)

รายงานจากวอชิงตัน (2)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เมื่อส่งต้นฉบับของบทความนี้ในตอนเย็นวันอังคารที่ 15 ตุลาคม เหตุการณ์ใหญ่ในกรุงวอชิงตันตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาคงยังอยู่ที่การแสวงหาข้อตกลง

ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารในสองด้านด้วยกันคือ (1) ตรากฎหมายงบประมาณของรัฐบาลกลางซึ่งยังไม่มีทั้งที่วันเริ่มต้นของปีงบประมาณได้ผ่านไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม การไม่มีงบประมาณใหม่ทำให้พนักงานของรัฐบาลกลางเกือบ 8 แสนคนถูกพักงาน และ (2) ตรากฎหมายเพิ่มเพดานหนี้ของรัฐบาลกลางซึ่งหากไม่ทำภายในวันศุกร์นี้ของเวลาในเมืองไทย รัฐบาลกลางจะไม่สามารถชำระหนี้ของตนได้ภายในกำหนดเวลา นั่นหมายความว่า ผู้ถือตราสารหนี้ของรัฐบาลอเมริกันจะถูกชักดาบ หรือไม่ได้รับดอกเบี้ย

สองประเด็นนี้มีผลกระทบร้ายแรงทั้งคู่ ประเด็นหลังร้ายแรงกว่ามากเนื่องจากผู้ถือตราสารหนี้จำนวนกว่า 16 ล้านล้านดอลลาร์กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก การที่ผู้ถือตราสารหนี้ไม่ได้รับดอกเบี้ยอาจนำไปสู่ความถดถอยของเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง ทางด้านประเด็นแรก ผลกระทบตกอยู่กับชาวอเมริกันเป็นส่วนใหญ่และจะค่อยๆ ขยายออกไปกระทบส่วนอื่นของโลกหากการพักงานของชาวอเมริกันยืดเยื้อ ความร้ายแรงของทั้งสองประเด็นเป็นข่าวจนกลบเรื่องราวการประชุมประจำปีในกรุงวอชิงตันของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเกือบหมด สององค์กรนั้นต่างเตือนรัฐบาลอเมริกันถึงผลร้ายของการไม่ชำระหนี้ นอกจากนั้น ไอเอ็มเอฟยังออกประมาณการใหม่ที่สรุปว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกในปีนี้จะลดลงเหลือแค่ 2.9% จาก 3.2% เมื่อปีที่แล้ว

ดังเป็นที่ทราบกันดี ที่มาของประเด็นทั้งสองได้แก่การงัดข้อกันระหว่างนักการเมืองของพรรครีพับลิกันซึ่งคุมสภาผู้แทนราษฎรและของพรรคเดโมแครตซึ่งคุมวุฒิสภาและฝ่ายบริหาร จริงอยู่การงัดข้อกันมีอุดมการณ์ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่นักการเมืองทั้งสองฝ่ายคงไม่ปล่อยให้เกิดสภาพการชักดาบขึ้น ฉะนั้น ณ วันนี้คงจะมีข้อตกลงออกมาแล้ว ข้อตกลงนั้นน่าจะครอบคลุมช่วงเวลาเพียงสั้นๆ เพื่อเอื้อให้สองฝ่ายยืดการต่อรองกันออกไปอีกชั่วระยะหนึ่ง

ท่ามกลางการงัดข้อกันของนักการเมืองครั้งนี้มีเรื่องที่ค่อนข้างแปลกเกิดขึ้นซึ่งหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์นำมารายงานในฉบับประจำวันที่ 10 ตุลาคม นั่นคือ นักการเมืองคนหนึ่งซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเดโมแครตได้รับเชิญให้ไปเป็นวิทยากรในการประชุมระดมสมองของโรงเรียนมัธยมที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในย่านชานกรุงวอชิงตัน การประชุมนั้นมีนักเรียนและผู้ปกครองสนใจเข้าไปร่วมกว่า 600 คน แต่วาระของการประชุมมิใช่เรื่องเกี่ยวกับการเมือง หากได้แก่เรื่องที่โรงเรียนดังแห่งนั้นจะบรรจุการวิปัสสนาเข้าไปในชั่วโมงเรียนเป็นการนำร่องในเดือนพฤศจิกายน

อันที่จริงเรื่องสังคมอเมริกันเริ่มมองเห็นผลดีที่เกิดขึ้นจากการวิปัสสนามิใช่ของใหม่ ชาวอเมริกันมาเรียนวิชานั้นกับอาจารย์ดังๆ ทางย่านตะวันออกไกลและนำกลับไปสอนชาวอเมริกันมานานแล้ว เมื่อบรมครูทางด้านการวิปัสสนาชื่อสัตยะ นารายัน โกเอ็นก้า ซึ่งเพิ่งเสียชีวิตเมื่อเดือนกันยายนใช้เวลา 4 เดือนเดินทางไปสอนทั่วอเมริกา ปรากฏว่าชาวอเมริกันสนใจอย่างกว้างขวางและต้อนรับท่านดังกับว่าท่านเป็นดาราขวัญใจวัยรุ่น สำหรับในย่านกรุงวอชิงตันเอง วัดศาสนาพุทธทั้งของชาวไทยและของชนชาติอื่นมักเปิดสอนวิปัสสนาให้ประชาชนโดยทั่วไป บางโรงเรียนมีการสอนวิปัสสนานอกเวลาเรียน หรือพานักเรียนไปเยี่ยมวัดพุทธศาสนาเพื่อฟังพระสงฆ์บรรยายเรื่องผลดีของการวิปัสสนา ในโรงเรียนดังที่อ้างถึงนั้น ในบางชั้นเรียนครูให้นักเรียนนั่งสงบอารมณ์นิ่งๆ และเพ่งไปที่ลมหายใจเข้าออกของตัวเองหนึ่งนาทีก่อนที่จะเริ่มการเรียนการสอน แต่การบรรจุการวิปัสสนาเข้าไปในเวลาเรียนซึ่งจะมีครูผู้ชำนาญการวิปัสสนาเข้ามาสอนกันอย่างจริงจังครั้งละ 30 นาทีนั้นเป็นของใหม่ เขาจึงต้องระดมสมองและทำนำร่องดูก่อนว่าจะได้ผลดีจริงหรือไม่และจะทำอะไรต่อไป ตามรายงาน การระดมสมองครั้งนั้นให้การสนับสนุนโครงการนำร่องอย่างกว้างขวาง

นักการเมืองดังกล่าวชื่อ ทิม ไรอัน เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวิปัสสนาถึงกับได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรในการประชุม นักการเมืองคนนี้มีอะไรหลายอย่างที่ต่างกับนักการเมืองทั่วไปในรัฐสภาอเมริกัน นั่นคือ ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่ออายุเพียง 29 ปีและได้รับเลือกติดต่อกันมาเป็นสมัยที่ 5 แล้ว เขานั่งวิปัสสนาในชีวิตประจำวันมานานและมีความซาบซึ้งถึงกับเขียนหนังสือออกมาเมื่อเดือนมีนาคมชื่อ A Mindful Nation : How a Simple Practice Can Help Us Reduce Stress, Improve Performance, and Recapture the American Spirit ดังที่ชื่อของหนังสือบ่งบอก แก่นของหนังสือคือ ความมีสติที่ได้จากการวิปัสสนาจะช่วยแก้ปัญหาสารพัดของสังคมอเมริกัน

อนึ่ง ย้อนไปเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2555 คอลัมน์นี้ได้พูดถึงหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งเขียนโดยนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง เจฟฟรี่ แซคส์ เรื่อง The Price of Civilization : Reawakening American Virtue and Prosperity ซึ่งมีบทที่ชื่อ The Mindful Society หรือ สังคมมีสติ (บทความวันนั้นอาจดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.org) ทั้งเจฟฟรี่ แซคส์ และ ทิม ไรอัน ต่างมองเห็นความสำคัญของการมีสติซึ่งเป็นแก่นของการปฏิบัติในพุทธศาสนา น่าคิดไหมว่าเพราะอะไรนักเศรษฐศาสตร์ไทยและนักการเมืองไทยจึงไม่ใส่ใจกับเรื่องนี้อย่างจริงจังทั้งที่พูดกันนักหนาว่าคนไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ?


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : รายงานจากวอชิงตัน (2)

view