สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พลังงานอาเซียน

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ พร้อมรับAECหรือยัง?

ความพร้อมด้านพลังงานจะเป็นตัวแปร ที่สำคัญอย่างหนึ่งในการพัฒนาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ให้เจริญก้าวหน้าก่อนที่ AEC จะเริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2558 ทั้ง 10 ชาติสมาชิก AEC มีการประชุมหารือร่วมกันเพื่อกำหนดหลักการที่ชัดเจนในการพัฒนาความพร้อมใน ด้านพลังงานเป็นระยะ ๆ ล่าสุดเมื่อวันที่ 23-27 กันยายน พ.ศ. 2556 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 31 ขึ้น (31st ASEAN Ministers on Energy Meeting : AMEM) ที่เมืองเดนปาซาร์บนเกาะบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ภายใต้หัวข้อ ความยั่งยืนด้านพลังงานเพื่อความรุ่งเรืองของอาเซียนในบทความฉบับนี้จะขอ สรุปสาระสำคัญของการประชุมในครั้งนี้มาให้ผู้อ่านได้ทราบกัน

โดย ณกฤช เศวตนันท์ Thai.attorney@hotmail.com


ใน การประชุมดังกล่าวได้มีการเสนอรายงานความก้าวหน้าของการพัฒนา จุดเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้าแห่งใหม่ในอาเซียน 2 จุด ได้แก่ ระหว่างเวียดนามกับลาว และระหว่างมาเลเซียกับฝั่งตะวันตกของเกาะกาลิมันตัน ซึ่งโครงการใกล้จะแล้วเสร็จในปีหน้า (พ.ศ. 2557) และที่ประชุมยังได้วางแผนว่าจะขยายสายส่งไปยังพม่าภายในอีก 2 ปีข้างหน้าด้วย

นอกจากนั้น ที่ประชุมยังได้ตกลงที่จะปรับปรุงกฎระเบียบและมาตรฐานด้านเทคนิคในการเชื่อม โยงสายส่งไฟฟ้าระหว่างกัน เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงสอดคล้องกันในภูมิภาค

ที่ ประชุม AMEM ยังได้มีการตกลงกันในส่วนการใช้พลังงานทดแทน และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย ในปัจจุบันอาเซียนมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ซึ่งประกอบด้วย พลังน้ำ ชีวมวล พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานความร้อนใต้พิภพรวมทั้งสิ้น 39,000 MW โดยประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในอาเซียนรวมทั้งสิ้นประมาณ 6,600 MW หรือคิดเป็น 17% ของอาเซียน

นอกจากนี้ อาเซียนยังสามารถลดความเข้มข้นด้านพลังงานไปได้แล้วถึง 7.56% จากระดับในปี 2548 ซึ่งจะทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานและขีดความสามารถในการแข่งขัน ของอาเซียน

ในระหว่างการประชุมครั้งดังกล่าว ยังได้มีพิธีลงนามในความตกลง 2 ฉบับ ได้แก่ ตราสารขยายอายุบันทึกความเข้าใจอาเซียนว่าด้วยโครงการเชื่อมโยงท่อส่งก๊าซ ธรรมชาติ (Instrument of Extension the ASEAN Memorandum of Understanding on the Trans-ASEAN Gas Pipeline Project) เพื่อขยายอายุบันทึกความเข้าใจ (MOU on the Trans-ASEAN Gas Pipeline : TAGP) ออกไปอีก 10 ปี โดยใช้เนื้อหาเดียวกับบันทึกความเข้าใจฉบับเดิมที่แสดงถึงความมุ่งมั่นของอา เซียนที่จะร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อการพัฒนาความมั่นคงทางด้านปิโตรเลียมในภูมิภาค

และพิธีสาร แก้ไขเพิ่มเติมความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์พลังงานอาเซียน (Protocol to Amend the Agreement on the Establishment of the ASEAN Centre for Energy) เพื่อยกระดับการดำเนินงานของศูนย์พลังงานอาเซียนให้มีประสิทธิภาพ และมีบทบาทในการทำงานด้านนโยบายพลังงานและด้านวิชาการมากขึ้น (Think Tank) โดยพิธีสารฉบับ

ดังกล่าวเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมจากเอกสารข้อตกลงการ จัดตั้งศูนย์พลังงานอาเซียน (Agreement on the Establishment of the ASEAN Centre for Energy) ที่มีการลงนามเมื่อปี 2541

ในการประชุมครั้งนี้ ตัวแทนจากประเทศไทยได้ผลักดันโครงการที่สำคัญอีก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการด้านการสร้างการรวมตัวของตลาดพลังงานอาเซียน (ASEAN Energy Market Integration : AEMI) ซึ่งจะช่วยให้สมาชิกอาเซียน

สามารถเชื่อมโยง แหล่งพลังงานในอาเซียนเข้ากับแหล่งที่มีความต้องการใช้พลังงานในอาเซียน ผ่านการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านต่าง ๆ และนำไปสู่การลดความไม่สมดุลระหว่างความต้องการและการจัดหาพลังงานในอาเซียน ตลอดจนโครงการนี้จะช่วยลดผลกระทบด้านพลังงานต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจาก นั้น ยังมีโครงการสร้างความตระหนักรู้ด้านพลังงานในอาเซียน (ASEAN Energy Literacy Cooperation Initiative : AELCI) โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายให้ประชากรของประชาคมอาเซียนมีข้อมูลและมีเหตุผล เพียงพอต่อการตัดสินใจในด้านพลังงาน เพื่อเป็นการกำหนดรายละเอียดของโครงการดังกล่าวให้ชัดเจนมากขึ้น และให้ทุกชาติสมาชิกอาเซียนได้มีส่วนร่วม

ตัวแทนจากประเทศไทยจึงได้ แจ้งต่อที่ประชุมว่า ประเทศไทยจะจัดการประชุมสัมมนาในเรื่อง "ความตระหนักรู้ด้านพลังงานของอาเซียน" (AELCI) ในช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2557 เพื่อแลกเปลี่ยนการเรียนรู้และกำหนดประเด็นของกรอบความร่วมมือของโครงการดัง กล่าวต่อไป

จะเห็นได้ว่าในการประชุมครั้งนี้ประเทศสมาชิก AEC ได้แสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาด้านพลังงานร่วมกันระหว่าง ภูมิภาคอาเซียนที่มากขึ้น โดยทุกชาติต่างเห็นพ้องต้องกันว่าพลังงานเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยยกระดับ เศรษฐกิจอาเซียนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาพลังงานทดแทน (Replaceable Energy) ซึ่งถือเป็นพลังงานที่จะมีความสำคัญต่อโลกต่อไปในอนาคต หลังจากแหล่งพลังงานหลักหมดลง

ซึ่งในประเด็นด้านพลังงานนี้ อาเซียนน่าจะสามารถพัฒนาได้ดีเพราะทรัพยากรทางธรรมชาติของประเทศสมาชิก AEC มีความหลากหลายและค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ สามารถที่จะใช้พัฒนาให้เป็นพลังงานทดแทนได้หลายประเภท


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พลังงานอาเซียน

view