สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทูตวีรชัย แนะคนไทย ฟังคดีพระวิหารอย่างไร

จากประชาชาติธุรกิจ

ก่อนที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) จะขึ้นนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีที่กัมพูชายื่นขอให้ตีความคำพิพากษาคดี ปราสาทพระวิหารปี 2505 ในวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ และหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการสู้คดี ให้สัมภาษณ์พิเศษ "มติชน" สรุปสาระสำคัญของเหตุการณ์ที่ผ่านมา และชี้แนะว่าเราควรรับฟังคำตัดสินที่กำลังจะมีขึ้นอย่างไร

สรุปประเด็นสำคัญที่ใช้เป็นข้อต่อสู้ที่นำไปชี้แจงต่อศาล และคิดว่าข้อต่อสู้ทั้งหมดประเด็นใดที่มีน้ำหนักมากที่สุด

ประการ แรก ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาและกัมพูชาไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากคำฟ้องของกัมพูชาเป็นการฟ้องคดีใหม่เกี่ยวกับข้อพิพาทใหม่เรื่อง เส้นเขตแดนที่เพิ่งจะเกิดขึ้นเพราะกัมพูชาต้องการขึ้นทะเบียนปราสาทเป็นมรดก โลกอยู่นอกขอบเขตของคดีเก่า และเป็นเรื่องที่จะต้องเจรจากันในกรอบของคณะกรรมการเขตแดนร่วม (เจบีซี) ตามบันทึกความเข้าใจปี 2543 (หากจะฟ้องเป็นคดีใหม่ก็ทำไม่ได้ เพราะไทยไม่รับอำนาจศาลโลกแล้วในปัจจุบัน) คำฟ้องของกัมพูชาจึงเป็นการใช้กระบวนวิธีพิจารณาความไปในทางมิชอบ

ประการที่สอง ไทยและกัมพูชาไม่มีข้อพิพาทในเรื่องการตีความคำพิพากษาในคดีเดิม คำฟ้องปัจจุบันของกัมพูชาเป็นการเปลี่ยนท่าทีรื้อฟื้นเรื่องที่จบไปตั้งแต่ปี 2505 แล้ว เพราะกัมพูชาได้ยอมรับอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปีนั้นว่าไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้ว โดยไทยได้ถอนกำลังและเจ้าหน้าที่ออกจากปราสาทพระวิหารและบริเวณใกล้เคียงปราสาทตามขอบเขตที่กำหนดโดยมติคณะรัฐมนตรีวันที่10 กรกฎาคม 2505 สอดคล้องกับขอบเขตของพื้นที่พิพาทในคดีเดิมตามความเข้าใจทั้งของคู่ความและของศาล

ประการที่สาม คำฟ้องของกัมพูชาเป็นเสมือนการอุทธรณ์ที่ซ่อนมาในรูปคำขอตีความ ขัดธรรมนูญศาลและแนวคำพิพากษาของศาลเรื่องการตีความ เนื่องจากกัมพูชาขอตีความคำพิพากษาส่วนที่เป็นเหตุผล ไม่ใช่ส่วนที่เป็นคำตัดสิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขอให้ศาลตัดสินสิ่งที่ศาลได้เคยปฏิเสธแล้วอย่างชัดแจ้งเมื่อปี 2505 ที่จะตัดสินให้ เนื่องจากอยู่นอกขอบเขตของคดี คือ หนึ่ง เส้นเขตแดนอยู่ที่ไหน และ สอง แผนที่ผนวกคำฟ้องของกัมพูชาที่กัมพูชาเรียกว่า "แผนที่ภาคผนวกหนึ่ง" นั้นมีสถานะทางกฎหมายอย่างไร

ดังนั้น ไทยจึงเห็นว่าศาลไม่มีอำนาจพิจารณาและไม่อาจรับคำขอของกัมพูชาได้ หรือหากศาลเห็นว่ามีอำนาจและรับคำขอก็ไม่มีเรื่องที่จะต้องตีความ และควรตัดสินว่าคำพิพากษาศาลในปี 2505 มิได้ตัดสินว่าเส้นเขตแดนเป็นไปตาม "แผนที่ภาคผนวกหนึ่ง" และมิได้กำหนดขอบเขตของบริเวณใกล้เคียงปราสาท

สำหรับเรื่องแผนที่นั้น เป็นข้อต่อสู้เสริม เพื่อชี้ให้ศาลเห็นห้าประเด็น คือ หนึ่ง ศาลในปี 2505 อ้างอิงแผนที่ต่างๆ เพื่อวัตถุประสงค์เดียว คือชี้ขาดว่าปราสาทอยู่ในดินแดนของใครเท่านั้น ทั้งนี้ แผนที่ทุกฉบับที่ศาลอ้างถึงในคำพิพากษาเดิมชี้ตรงกันว่าปราสาทอยู่ในดินแดนของกัมพูชา แต่แสดงเส้นเขตแดนไม่ตรงกันเลย บางฉบับดูเส้นไม่ออกด้วยซ้ำ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะอ้างว่าคำพิพากษาเดิมได้ตัดสินชี้ขาดเขตแดนไปแล้ว

สอง "แผนที่ภาคผนวกหนึ่ง" เป็นหลักฐานเดียวที่กัมพูชาอ้างนั้น เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ เหตุผลที่ศาลใช้ในการตัดสินคดีเดิม ไม่เกี่ยวกับเขตแดน แต่กัมพูชาต้องการให้ตีความว่าศาลในคดีเดิมได้ตัดสินไปแล้วว่าเส้นเขตแดนเป็นไปตามแผนที่นี้ สาม กัมพูชาไม่บอกเลยว่าจะถ่ายทอดเส้นเขตแดนบน "แผนที่ภาคผนวกหนึ่ง" ลงแผนที่สมัยใหม่และพื้นที่จริงอย่างไร อันเป็นปัญหาใหญ่ เว้นแต่จะใช้เจตนารมณ์ของแผนที่ คือถ่ายทอดเส้นโดยใช้สันปันน้ำจริง เพราะการถ่ายทอดเส้นโดยวิธีสมมุติทางเทคนิคจะก่อความผิดพลาดคลาดเคลื่อนมากมาย และขึ้นกับการเลือกจุดอ้างอิง เป็นเรื่องตามอำเภอใจ จะต้องทะเลาะกันแน่แทนที่จะยุติปัญหา

สี่ วิธีอ้าง "แผนที่ภาคผนวกหนึ่ง" ของกัมพูชาเป็นปัญหา เพราะในคดีตีความนี้อ้างคนละเวอร์ชั่นกับในคดีเดิม และเส้นเขตแดนของทั้งสองเวอร์ชั่นไม่ตรงกัน นอกจากนี้ ในการแสดงเส้นเขตแดนที่อ้างกลับนำแผนที่แผ่นที่ 3 ของภาคผนวก 49 ของไทยในคดีเดิมมาใช้แทน "แผนที่ภาคผนวกหนึ่ง" เสมือนเป็นสิ่งเดียวกัน ทั้งที่แผนที่ทั้งสองมีข้อแตกต่างกันมากมาย แถมยังแต่งเติมแผนที่นี้ของไทยในแบบต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจผิดอันเข้าข่ายปลอมแปลง

ห้า ในบรรดาแผนที่หกแผ่นที่ศาลทำสำเนาแนบประมวลเอกสารของคดี จำเป็นสำหรับการเข้าใจคำพิพากษานั้น แผนที่ภาคผนวก 85ดี เป็นแผนที่เดียวที่ศาลสร้างขึ้นเองโดยคัดจาก "บิ๊กแมพ" ของไทย และมีวัตถุประสงค์แสดงพื้นที่พิพาทในคดีเดิม คือ "บริเวณใกล้เคียงปราสาท" ตรงกับเส้นมติคณะรัฐมนตรี 2505 ของไทยโดยประมาณ

ประเด็นที่น่าจะมีน้ำหนักที่สุด คือ ศาลในปี 2505 ไม่ได้ตัดสินเรื่องเขตแดนเพราะอยู่นอกขอบข่ายคดีเดิม

ตกใจกับ กระแสสังคมหลังการชี้แจงด้วยวาจาต่อศาลหรือไม่เพราะดูเหมือนเอกอัครราชทูต วีรชัยจะกลายเป็นฮีโร่ที่ได้รับความสนใจและความคาดหวังจากสังคมไปพร้อมๆ กัน

รู้สึกแปลกใจมากกว่า แต่เป็นการแปลกใจในทางที่ดี เพราะการที่สังคมไทยได้ให้ความสนใจกับเรื่องยากแต่มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับทุกๆ คนในประเทศเช่นนี้ แสดงถึงว่าเราเป็นสังคมที่เป็นผู้ใหญ่ มีความสามารถในการรับรู้สูง และมีความเข้าใจในเรื่องระหว่างประเทศ อันเป็นสิ่งที่ดี ลบคำสบประมาทว่าคนไทยไม่สนใจเรื่องที่มีสาระ คนไทยพิสูจน์แล้วว่าเข้าใจและติดตามคดีซับซ้อนนี้ได้อย่างตรงจุด

ผมมองตัวเองเป็นเพียงตัวจักรหนึ่งในกลไกของชาติสำหรับสู้คดี ที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในประเทศ คณะสู้คดีมิได้เจตนาสร้างความคาดหวังใดๆ เราเพียงแต่ต้องการทำงานให้ดีที่สุด และประกันความโปร่งใสในการทำงาน เพราะนี่เป็นเรื่องของคนไทยทุกคน คนไทยมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาจากต้นตอ โดยเฉพาะได้รับรู้ว่าตัวแทนของเขาทำงานอย่างไร จะมีอะไรดีไปกว่าได้ดูด้วยตาและได้ยินด้วยหูของตัวเอง ส่วนการที่คนไทยบางส่วนมีความคาดหวังขึ้นมานั้นก็เป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้ แต่ควรจะอยู่บนพื้นฐานของเหตุผล มองเรื่องนี้ด้วยจิตใจเป็นกลางและมีสติ

คิดว่าคดีปราสาทพระวิหารให้บทเรียนอะไรกับคนไทย ประเทศไทย ผู้บริหาร รวมถึงตัวเองบ้าง

ในชั้นนี้ คงต้องรอคำตัดสินก่อนจะวิเคราะห์ขั้นสุดท้ายได้ แต่สิ่งที่เห็นได้แน่ชัดจนถึงบัดนี้ ก็คือว่าคนไทยสามารถรวมใจเป็นหนึ่งเดียวกันได้เมื่อถึงเวลาที่จำเป็น ตามที่ปรากฏชัดในสื่อต่างๆ และในเครือข่ายสังคมอิเล็กทรอนิกส์ ส่งผลดีต่อคดีด้วย เพราะศาลเห็นได้ชัดว่าในเรื่องนี้ ประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียว หากเรื่องสำคัญทุกเรื่องของประเทศเป็นเช่นนี้ได้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์

คนไทยควรเตรียมความพร้อมในการรับฟังคำพิพากษาคดีที่กำลังจะมาถึงอย่างไร

ควรใช้เวลาในช่วงนี้ศึกษาประเด็นต่างๆของคดีให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อว่าเมื่อศาลตัดสินจะเข้าใจได้อย่างทะลุปรุโปร่ง กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดก็พยายามให้ข้อมูลแก่ประชาชนอย่างเต็มที่ ขอเชิญชวนให้ติดตามได้ โดยเฉพาะที่เว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศ นอกจากนี้คนไทยก็ควรจะทำจิตใจให้หนักแน่น คำนึงถึงความจำเป็นที่เราจะต้องเป็นสมาชิกหนึ่งของประชาคมระหว่างประเทศ และไทยกับกัมพูชาต่างก็เป็นสมาชิกอาเซียนด้วยกัน

กังวลเกี่ยวกับ การอธิบายกับสังคมไทยหลังศาลมีคำตัดสินหรือไม่เพราะกรณีปราสาทพระวิหารยัง เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาเล่นการเมืองในประเทศเสมอ

เป็นภาระที่ยากอย่างไรก็ดี เชื่อว่าน่าจะสามารถอธิบายได้เพราะตลอดมาเราทำงานด้วยความโปร่งใส ด้วยความละเอียดลออ บนพื้นฐานของวิชาการ โดยไม่มีอารมณ์หรือความรู้สึกเข้ามาชี้นำ ทุกอย่างอธิบายได้อย่างเป็นศาสตร์ เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนที่ใช้เหตุผลจะเข้าใจได้

ในขณะที่เรากำลังจะก้าวเข้าสู่การรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนในอีก2 ปีข้างหน้า หลังศาลมีคำพิพากษา ไทยและกัมพูชาควรทำอย่างไรและอยู่ร่วมกันอย่างไรต่อไป

ทั้งสอง ประเทศควรร่วมกันพิจารณาแนวทางที่จะนำคำพิพากษามาเป็นพื้นฐานเพื่อพัฒนาความ สัมพันธ์ฉันมิตรและสันติภาพอย่างถาวรต่อไปและควรให้ปัญหานี้จบลงเพื่อคนรุ่น ต่อไปจะได้หันไปสร้างเสถียรภาพและความมั่งคั่งร่วมกัน



ที่มา : นสพ.มติชน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ทูตวีรชัย แนะคนไทย ฟังคดีพระวิหาร

view