สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การลงมติและกระบวนการตรากฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญ : คดีในเยอรมันและฝรั่งเศส

การลงมติและกระบวนการตรากฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญ : คดีในเยอรมันและฝรั่งเศส

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ประเทศเยอรมนี ปกครองด้วยระบบสหพันธ์สาธารณรัฐ ประกอบด้วย 16 มลรัฐ (Land) การปกครองระดับสหพันธรัฐมีรัฐบาลสหพันธ์เป็นฝ่ายบริหาร

ฝ่ายนิติบัญญัติมีสภา ประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร (Bundestag) มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทุกสี่ปี และสภาตัวแทนมลรัฐ (Bundesrat) ซึ่งมีสมาชิกมาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลของแต่ละมลรัฐ มีฝ่ายตุลาการ ประกอบด้วย ศาลยุติธรรมสหพันธ์ ศาลชำนัญพิเศษสหพันธ์ และมีศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์

ศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์หรือศาลรัฐธรรมนูญเยอรมัน มีหน้าที่หลักที่สำคัญคือพิจารณาวินิจฉัยคดีที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เช่น กฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ และพิจารณาวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐ เช่น ระหว่างรัฐบาลกลาง กับรัฐบาลรัฐ เป็นต้น

คดีที่ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันให้วินิจฉัยว่ากฎหมายขัดรัฐธรรมนูญนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการร้องให้วินิจฉัยว่าบทบัญญัติของกฎหมายขัดกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีกรณีร้องขอให้วินิจฉัยว่ากฎหมายเป็นโมฆะ เนื่องจากกระบวนการในการตรากฎหมาย เป็นต้นว่าการลงมติฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญก็มี เช่น คดีกฎหมายคนเข้าเมือง (Immigration Act (Zuwanderungsgesetz) case) คดี ที่ BVerfG,2BvF/02 of 12/18/2002 คดีนี้ สมาชิกสภาตัวแทนมลรัฐเป็นผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยถึงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากการลงมติโหวตเสียงลงคะแนนให้ความเห็นชอบต่อกฎหมายฉบับนี้ในสภาตัวแทนมลรัฐเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

คดีนี้มีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายโดยสรุปคือ ตามรัฐธรรมนูญของเยอรมัน (Basic Law) ร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องสำคัญตามที่กำหนดไว้ เมื่อผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ต้องเสนอให้สภาตัวแทนมลรัฐพิจารณาให้ความเห็นชอบ จึงจะประกาศใช้บังคับได้ กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองฉบับที่เป็นคดีนี้ เมื่อผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ก็ได้เสนอให้สภาตัวแทนมลรัฐพิจารณาให้ความเห็นชอบตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ

สภาตัวแทนมลรัฐ (Bundesrat) ประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นตัวแทนที่ได้รับการแต่งตั้งจากแต่ละมลรัฐ แต่ละมลรัฐจะมีคะแนนเสียงโหวตในสภาไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่จำนวนพลเมืองของมลรัฐ บางมลรัฐมีคะแนนเสียงโหวตเพียง 1 เสียง บางมลรัฐมีเสียงโหวตสูงสุดถึง 17 เสียง การตั้งตัวแทนเข้าเป็นสมาชิกในสภาตัวแทนมลรัฐ จะตั้งตัวแทนเท่าจำนวนเสียงโหวตก็ได้ ในการโหวตเสียงลงคะแนน รัฐธรรมนูญเยอรมันยอมรับให้มีการตั้งกลุ่มลงคะแนนเสียง (Block vote) ด้วย ทั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายให้การลงคะแนนเสียงของแต่ละมลรัฐเป็นเอกภาพไปในทิศทางเดียวกัน

ในการพิจารณาร่างกฎหมายคนเข้าเมืองฉบับนี้ สมาชิกสภาตัวแทนมลรัฐได้อภิปรายถึงเนื้อหาของกฎหมายฉบับนี้และยังมีการอภิปรายถึงวิธีการลงคะแนนเสียงด้วย ผู้แทนของมลรัฐบางรัฐคัดค้านกฎหมายฉบับนี้ เพราะเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อการจ้างงานของประชากร จะทำให้อัตราการว่างงานสูงขึ้น แต่ก็ปรากฏว่าผู้แทนอีกส่วนหนึ่งของมลรัฐเดียวกันนั้น ลงมติสนับสนุนร่างกฎหมาย ดังกล่าว ทำให้มีเสียงข้างมากเห็นชอบกับกฎหมายฉบับนี้ สมาชิกสภาตัวแทนมลรัฐจำนวนหนึ่งจึงได้คำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นโมฆะ เนื่องจากการลงมติของผู้แทนมลรัฐไม่เป็นเอกภาพ ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันพิจารณาแล้ว มีคำวินิจฉัยไว้เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2545 ตัดสินว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นโมฆะ เนื่องจากการลงมติไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

ประเทศฝรั่งเศส ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย เป็นรัฐเดี่ยว มีรัฐบาลเป็นฝ่ายบริหาร มีฝ่ายนิติบัญญัติประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา มีฝ่ายตุลาการประกอบด้วยศาลยุติธรรมและศาลปกครอง ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ แต่มีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (Conseil Constitutionnel)

คณะตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ค.ศ. 1958 อำนาจหน้าที่ ที่สำคัญคือ การพิจารณาว่าร่างกฎหมาย ก่อนที่ประธานาธิบดีจะลงนามประกาศใช้บังคับชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ สำหรับกฎหมายที่ใช้บังคับแล้วคู่ความที่มีคดีอยู่ในศาลสามารถร้องขอให้ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่ากฎหมายที่ใช้บังคับแล้วและจะใช้กับคดีในศาลนั้น ละเมิดสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้หรือไม่

คดีที่มีการฟ้องต่อ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสให้วินิจฉัยว่ากฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ จะคล้ายกับเยอรมัน ส่วนใหญ่จะเป็นกรณีที่บทบัญญัติของกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ ที่ร้องขอให้วินิจฉัยว่ากฎหมายเป็นโมฆะ เนื่องจากกระบวนการในการตรากฎหมายไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ ก็มี

เช่น คดีเกี่ยวกับกฎหมายการเลือกตั้งสมาชิกสภาส่วนท้องถิ่น คดีนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝรั่งเศส จำนวนหนึ่ง ได้ยื่นเรื่องให้ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสพิจารณาวินิจฉัยว่า กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นที่ผ่านการเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้วไม่ชอบด้วยกระบวนการตรากฎหมายตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้มีหลักการแรกเริ่มเกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงต้องให้เสนอให้วุฒิสภาเป็นผู้พิจารณาเป็นลำดับแรก ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 39 (2) แต่กลับมีการเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้พิจารณาในลำดับแรก พร้อมทั้งร้องด้วยว่ากฎหมายฉบับนี้ฝ่าฝืนหลักการว่าด้วยความเสมอภาคในการเลือกตั้ง

คณะตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสได้พิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 39 และพิจารณาเนื้อหาของร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งท้องถิ่นฉบับนี้แล้ว เห็นว่า เป็นกฎหมายที่มีหลักการแรกเริ่มเกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองท้องถิ่น ต้องด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 39 ที่บัญญัติให้เสนอให้วุฒิสภาเป็นผู้พิจารณาเป็นลำดับแรก แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ได้เสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อน จึงมีคำวินิจฉัย ที่ 2011-632 DC เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2554 ว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นโมฆะ เนื่องจากกระบวนการในการตรากฎหมายไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ส่วนประเด็นอื่นไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย

บทส่งท้าย จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันและคณะตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ที่ตัดสินว่ากฎหมายในคดีทั้งสองเป็นโมฆะดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นถึงความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญและหลักการการแบ่งแยกอำนาจของประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ คืออำนาจการตรากฎหมายเป็นของรัฐสภาที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ แต่การตรากฎหมายก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หากไม่เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ กฎหมายนั้นก็เป็นโมฆะ และผู้มีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยคือฝ่ายตุลาการ ส่วนจะเป็นศาลใดหรือองค์กรตุลาการใด ก็แล้วแต่ระบบตุลาการของแต่ละประเทศ กล่าวคือถ้าเป็นประเทศที่มีศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรที่คล้ายกันเช่นคณะตุลาการรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสก็เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ หรือคณะตุลาการรัฐธรรมนูญแล้วแต่กรณี หากเป็นประเทศที่ใช้ระบบให้ศาลสูงสุดเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลสูงสุด


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การลงมติ กระบวนการตรากฎหมาย ขัดรัฐธรรมนูญ คดีในเยอรมันและฝรั่งเศส

view