สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิธีแก้คอร์รัปชันที่สำเร็จที่คนไทย (ยัง) ไม่ได้ทำ

วิธีแก้คอร์รัปชันที่สำเร็จที่คนไทย (ยัง) ไม่ได้ทำ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ปาฐกถาพิเศษของ ศาสตราจารย์ Robert Klitgaard แห่งมหาวิทยาลัย Claremont Graduate University สหรัฐอเมริกา

ผู้ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันมากที่สุดคนหนึ่งของโลก (World Expert) ที่กล่าวในงานสัมมนาวิชาการประจำปีของแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ที่ผ่านมา ได้ให้ความหวังอย่างมากกับทุกคนที่ไปฟังวันนั้นว่า ปัญหาคอร์รัปชันสามารถแก้ไขได้ ลดทอนได้ ถ้าภาครัฐและภาคเอกชนของประเทศร่วมมือกัน ข้อสรุปนี้มาจากประสบการณ์ของ ศาสตราจารย์ Klitgaard จากที่ได้ทำงานแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันมาทั่วโลก และก่อนเดินทางกลับก็ได้ฝากข้อคิดเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของไทยจากประสบการณ์ของท่านไว้อย่างสนใจ วันนี้จึงอยากสรุปถ่ายทอดประเด็นเหล่านี้ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนไทยทุกคนว่าปัญหาคอร์รัปชันแก้ไขได้ และอาจทำได้ง่ายกว่าที่คิด และในเวลาที่สั้นกว่าที่คิด ถ้าทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมร่วมมือกันจริงจัง

หนึ่ง ศาสตราจารย์ Klitgaard พูดว่า ในทุกประเทศ คอร์รัปชันที่รุนแรงจะเป็นผลพวงของสามเรื่อง คือ วัฒนธรรมทางการเมือง ความไม่เข้มแข็งของการบังคับใช้กฎหมายและระบบยุติธรรม และความอ่อนแอของนโยบาย ความอ่อนแอทั้งสามเรื่องเปิดช่องให้มีการพัฒนาการทุจริตคอร์รัปชันขึ้นมาเป็นระบบที่อยู่ขนานกับระบบงานปกติของราชการ ดังนั้น คอร์รัปชันที่รุนแรง ก็คือ อาชญากรรมจัดตั้ง (Organized Crime) ที่อยู่ขนานกับระบบงานราชการปกติที่กระทบทุกคนไปทั่ว

สอง วิธีแก้คอร์รัปชันก็คือ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่ไม่ได้เป็นผู้คอร์รัปชัน แต่ถูกกระทบจากคอร์รัปชัน จะต้องช่วยกันขจัดระบบขนานนี้ออกไป โดยการ “เปิดไฟ” หรือเปิดโปงระบบการทุจริตคอร์รัปชันให้ออกมาจากความมืด การเปิดโปงนี้เริ่มจากการระดมความรู้ของทุกคนให้ช่วยกันปะติดปะต่อเพื่อให้เข้าใจว่า ระบบคอร์รัปชันขนานนี้ทำงานอย่างไร เพื่อจะได้ทราบกลไกรวมถึง “จุดอ่อน” ของระบบปกติที่นำไปสู่การเกิดระบบขนานของการทุจริตคอร์รัปชัน จากประสบการณ์ที่ได้ทำเรื่องนี้มานาน ศาสตราจารย์ Klitgaard เชื่อว่า ทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากระบบคอร์รัปชัน หรือเคยมีส่วนร่วมในระบบดังกล่าวพร้อมจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับระบบขนาน ถ้าการนำเสนอข้อมูลเป็นเรื่องของการสร้างความเข้าใจเพื่อแก้ไขระบบ ไม่ใช่การชี้นิ้วเพื่อเอาผิดตัวบุคคล วิธีวิเคราะห์ดังกล่าวสามารถใช้ได้กับทุกระบบงานของราชการ เพราะในประเทศที่คอร์รัปชันรุนแรง ทุกระบบงานของราชการที่มีการติดต่อกับประชาชน จะมีระบบขนานของคอร์รัปชันเดินคู่ไปด้วยและเป็นตัวที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้กับประเทศและประชาชน

สาม เมื่อทราบถึงการทำงานของระบบคอร์รัปชันแล้ว ภาคธุรกิจซึ่งเป็นภาคที่เข้มแข็งด้านการบริหารจัดการ และทรัพยากรการเงิน ก็สามารถใช้ประสบการณ์และพลังเงินที่มีอยู่ช่วยภาครัฐปรับปรุงระบบปรกติของราชการเพื่อปิดจุดอ่อนต่างๆ ไม่ให้ระบบขนานเกิดขึ้น และช่วยภาครัฐติดตามและเปิดโปงพฤติกรรมคอร์รัปชันที่เหลืออยู่ต่อไป โดยการรายงานตรงของประชาชนและบริษัทธุรกิจที่ติดต่อราชการกับหน่วยงานรัฐ (รายงานโดยโทรศัพท์มือถือเป็นรหัส) ว่าเจอการคอร์รัปชันที่ระบบงานไหน หน่วยงานไหน เขตไหน กระทรวงไหน ข้อมูลดังกล่าวจะถูกรวบรวมเป็นจำนวนตัวเลขและนำไปแจ้งให้เจ้าสังกัดของราชการทราบ พร้อมลงหนังสือพิมพ์ให้ประชาชนทราบว่าหน่วยงานไหนมีคนแจ้งเรื่องคอร์รัปชันมากที่สุดเรียงเป็นลำดับ การช่วยกันแจ้ง หรือ “เปิดไฟ” การทุจริตจะนำไปสู่การแก้ปัญหาทันที เพราะสามารถชี้เป้าได้ทันที ทำให้กระบวนการคอร์รัปชันทำงานได้ยาก และสามารถถูกจับและเอาผิดได้ทันที

ตัวอย่างความสำเร็จล่าสุดที่ ศาสตราจารย์ Klitgaard พูดถึงก็คือ กรณีการปรับปรุงระบบราชการของรัฐบังกาลอร์ (Bangalore) ประเทศอินเดีย ที่ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมผลักดันการปฏิรูประบบการทำงานของรัฐให้เกิดขึ้นร่วมกับภาครัฐ โดยใช้เทคโนโลยีจากภายนอกของภาคเอกชนทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ความร่วมมือดังกล่าวทำให้ระบบคอร์รัปชันคู่ขนานที่เคยมีอยู่หายไปเพราะถูก “เปิดไฟ” ตลอดเวลา

ในกรณีของไทย ศาสตราจารย์ Klitgaard มีความเห็นว่า เป็นกรณีที่คอร์รัปชันสามารถแก้ไขและลดทอนได้ เพราะประเทศไทยมีจุดเข้มแข็งหลายอย่าง ด้านเศรษฐกิจ ทรัพยากร และความสามารถของคนไทยที่เป็นที่ยอมรับ แต่จุดอ่อนอยู่ที่ธรรมาภิบาลภาครัฐ ที่ในบางประเด็นเลวร้ายกว่าประเทศยากจนในแอฟริกาเสียอีก เช่น ความไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อนักการเมือง จุดอ่อนนี้ทำให้คอร์รัปชันได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นระบบแบบอาชญากรรมจัดตั้ง และคนไทยทั้งประเทศก็ต้องจำนนกับระบบดังกล่าว เพราะไม่รู้จะแก้อย่างไร ทำให้ประเทศทั้งประเทศตกอยู่ในกับดัก หรือดุลยภาพคอร์รัปชัน ไม่สามารถหลุดออกมาได้ ปัจจุบันคอร์รัปชันเป็นปัจจัยเดียวที่บดบังศักยภาพการเจริญเติบโตของประเทศ และเป็นปัจจัยเดียวที่จะทำลายอนาคตของประเทศและอนาคตคนไทยรุ่นต่อไป

งานวิจัยของ Dreher และพวก (ปี 2007) ที่ศึกษาผลกระทบของคอร์รัปชันต่อรายได้ประชาชาติของร้อยประเทศทั่วโลก ชี้ว่าในกรณีของไทย ประเทศสูญเสียรายได้ประชาชาติไปกว่า 54% จากการทุจริตคอร์รัปชัน กล่าวคือ ถ้าขณะนี้เศรษฐกิจโต 4 เปอร์เซ็นต์ ในกรณีที่ไม่มีคอร์รัปชัน อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจะไปได้อีก 2 เปอร์เซ็นต์ เป็น 6 เปอร์เซ็นต์ อันนี้คือความสูญเสียที่มหาศาล

ในบ้านเราเมื่อพูดถึงการแก้คอร์รัปชัน เรามักได้ยินคำตอบว่า ปัญหาแก้ไม่ได้ ซึ่งไม่แปลก เพราะผู้ตอบไม่ตระหนักถึงพลังมหาศาลที่ความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมสามารถนำออกมาแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้ ที่มั่นใจในพลังนี้เพราะลึกๆ แล้วประชาชนเกลียดคอร์รัปชัน บริษัทเอกชนไม่ชอบคอร์รัปชัน และข้าราชการก็ไม่ชอบคอร์รัปชัน เพราะทำลายความสง่างามและศักดิ์ศรีของความเป็นข้าราชการที่ดีของแผ่นดิน ส่วนนักการเมืองดีๆ ก็ไม่ชอบ ความไม่ชอบเหล่านี้ เป็นความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ ที่จะเป็นพลังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง และการแก้ไขปัญหาในที่สุด โดยเน้นแก้ที่ระบบด้วยการ “เปิดไฟ” ให้เห็นระบบขนานที่มีอยู่ แล้วแก้ไขระบบโดยใช้ประสบการณ์และทรัพยากรภาคเอกชน ร่วมกับภาครัฐ ทำลายระบบขนานให้หมดไป อันนี้คือวิธีที่หลายประเทศทำและประสบความสำเร็จ แต่ของเรายังไม่ได้ทำ

ในเรื่องนี้ที่ต้องตระหนัก ก็คือ ในห้าประเทศหลักของ AEC หรือ อาเซียน คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ประเทศไทยขณะนี้เป็นประเทศเดียวที่การจัดอันดับคอร์รัปชัน โดยองค์กรโปร่งใสระหว่างประเทศมีแนวโน้มแย่ลงตลอด ขณะที่ประเทศอื่นถูกจัดอันดับดีขึ้นหมดหรือเท่าตัว ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะเทียบกับประเทศอื่นเรายังไม่มีผู้นำที่เอาจริงกับการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ทำให้ปัญหาคอร์รัปชันของไทยแย่ลงในทุกรัฐบาลในช่วงสิบปีที่ผ่านมา แตกต่างจากประเทศฟิลิปปินส์ที่ผู้นำประเทศเอาจริง ชนะเลือกตั้งปี 2011 ด้วยนโยบายหาเสียง “ถ้าไม่คอร์รัปชัน ประเทศจะไม่มีความยากจน” ทำให้ชนะเลือกตั้งขาดลอย พอเป็นรัฐบาลก็เอาจริงในการแก้ไขปัญหา โดยใช้ความร่วมมือของภาครัฐ และภาคเอกชน เป็นกลไกแก้ไขที่เปิดโปงและทำลายระบบขนานของคอร์รัปชัน เพียงปีเดียวฟิลิปปินส์กลายเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และปีต่อมา คือ ปีนี้ก็จะขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าจีน

นี่คือตัวอย่างว่า การแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่สำเร็จเกิดขึ้นได้ แต่ต้องเริ่มด้วยคนไทยเองที่ต้องยอมรับว่าประเทศมีปัญหาและต้องอยากแก้ไข และพร้อมเรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศอื่นๆ เพราะตัวอย่างเหล่านี้ชี้ชัดว่า ไม่ว่าสถานการณ์คอร์รัปชันจะยากแค่ไหน สถานการณ์สามารถพลิกกลับได้ ถ้าคนในประเทศทุกภาคส่วนร่วมมือกัน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : วิธีแก้คอร์รัปชันที่สำเร็จ คนไทย ยังไม่ได้ทำ

view