สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

10ข้อคิดวางแผนเกษียณอายุ(ตอนที่ 2)

10ข้อคิดวางแผนเกษียณอายุ(ตอนที่ 2)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เงินเกษียณอย่าคาดหวังเงินจากกองทุนประกันสังคมอย่างเดียว ควรกระจายเงินลงไปในหลักทรัพย์หลายๆ ตัว ถึงตัวไหนผันผวน แต่โดยรวมก็ยังยอมรับได้

ครั้งที่แล้วผมได้พูดถึงข้อคิดที่เกี่ยวกับการวางแผนเกษียณอายุไปแล้ว 3 ข้อ โดยข้อแรกบอกว่าต้องเริ่มทันทีไม่มีข้อแม้ ข้อ 2 เราอาจจะมีชีวิตยืนยาวกว่าอายุที่คาดว่าจะเสียชีวิตเฉลี่ย (Life Expectancy) และ ข้อ 3 การออม 10% ของเงินเดือนอาจไม่พอท่านลองกลับไปทบทวนรายละเอียดของครั้งก่อนได้ครับ คราวนี้มาต่อกันที่...

ข้อ 4 อย่าคาดหวังเงินจากกองทุนประกันสังคมแต่เพียงอย่างเดียว

กองทุนประกันสังคมมีผลประโยชน์หลายประการครับ แต่ที่ผมจะพูดถึงคือส่วนของเงินบำเหน็จและเงินบำนาญกรณีชราภาพ ซึ่งปกติสมาชิกประกันสังคมทุกคนจะถูกหักเงินเดือนไปสะสม และนายจ้างก็จะจ่ายเงินสมทบให้ เพื่อให้ทางสำนักงานประกันสังคมนำไปลงทุน แล้วจ่ายกลับมาให้เราตอนที่เราเกษียณอายุ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงแล้ว จึงจะได้รับเงินเกษียณก้อนนี้ ซึ่งมีวิธีรับอยู่ 2 แบบครับ แบบแรกรับเงินเป็นเงินก้อนไปเลย เรียกว่าเงินบำเหน็จ ส่วนแบบที่สองรับเป็นงวดๆ รับทุกๆ เดือนเรียกว่าเงินบำนาญ จะรับแบบไหนก็ต้องดูว่าส่งเงินสมทบมาแล้วกี่เดือน ถ้าส่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน ก็จะรับเป็นแบบเงินบำนาญ ถ้าน้อยกว่านั้นก็รับเป็นแบบเงินบำเหน็จ ส่วนจะได้เงินเยอะมากน้อยแค่ไหนต้องคำนวณหาเอา ซึ่งถ้าเป็นเงินบำเหน็จจะคำนวณยากหน่อย ต้องเอาผลตอบแทนที่สำนักงานประกันสังคมประกาศในแต่ละปีมาคำนวณ แล้วประมาณการผลตอบแทนในอนาคต ทำให้ไม่แน่นอน แต่ถ้าเป็นแบบเงินบำนาญจะให้แน่นอน มีสูตรคิดตายตัวเลย

ถ้ากรณีจ่ายเงินสมทบ มาแล้ว 180 เดือนพอดี จะได้รับเงินบำนาญเดือนละ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบ เช่น เงินเดือน 60 เดือนสุดท้ายได้รับ 15,000 บาท (ถึงแม้ว่าเราจะได้รับเงินเดือนจริงมากกว่านี้ก็จะคิดฐานเงินเดือนแค่ 15,000 บาท) ก็จะได้รับเงินบำนาญ 3,000 บาทต่อเดือน แต่ถ้าเรามีจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน ทุก 12 เดือนที่เกินจาก 180 เดือนขึ้นมา เราจะได้รับตัวคูณเพิ่มอีก 1.5% เช่น จ่ายเงินสมทบมาได้ 193 เดือน จะได้รับเงินบำนาญชราภาพในอัตรา 21.5% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย เป็นต้น

ลองคิดเล่นๆ ว่าถ้าเราเริ่มทำงานได้เงินเดือน 15,000 บาท ตั้งแต่อายุ 20 ปี แล้วก็เข้าเป็นผู้ประกันตนทันทีตั้งแต่เริ่มทำงาน ทำงานจนถึงอายุ 60 ปี ก็จะได้รับเงินบำนาญเดือนละ 8,625 บาทต่อเดือน แล้วถ้าปัจจุบันเราอายุ 30 ปี อัตราเงินเฟ้อประมาณ 3% เงินบำนาญที่ได้รับตอนอายุ 60ปี เทียบกลับมาเป็นมูลค่าเงินในปัจจุบันจะได้ประมาณ 3,553 บาท หรือเท่ากับซื้อของได้ประมาณวันละ 110 บาทต่อวัน สำหรับเงินมูลค่าเท่านี้ถ้าใครคิดว่าไม่พอใช้แน่ๆ ก็คงต้องเริ่มวางแผนกันแล้วนะครับ

ข้อ 5 แยกเงินเกษียณจากเป้าหมายอื่นๆ

สำหรับข้อนี้ คงจะมีหลายท่านสงสัยว่าทำไมต้องแยกเก็บเงินเกษียณออกจากเป้าหมายอื่นๆ หล่ะ คำตอบของผมฟังแล้วอาจจะดูกวนๆ หน่อยนะครับ แต่ที่ต้องแยกเก็บก็เพื่อให้เรามีเงินเก็บเอาไว้ใช้จ่ายยามเกษียณอายุครับ เพราะคนส่วนใหญ่คิดว่าเป้าหมายเกษียณอายุเป็นเป้าหมายระยะยาว มีเวลาเตรียมตัวอีกนาน วันนี้เอามาใช้อย่างอื่นก่อน เดี๋ยวปลายปี ได้โบนัสแล้วค่อยเอาไปใส่คืน พอถึงเวลาได้โบนัสจริงๆ ก็มีรายการใช้เงินอย่างอื่นรออยู่แล้ว แล้วก็เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ มารู้ตัวอีกทีก็เริ่มเก็บออมไม่ทันแล้ว ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนำเงินเก็บสำหรับยามเกษียณอายุไปใช้จ่ายเรื่องอื่นๆ เราเลยต้องแยกที่เก็บ ที่ลงทุน จากเป้าหมายอื่นๆ แล้วบอกกับตัวเองว่า "ถ้าไม่ใช่เหตุการณ์คอขาดบาดตายแล้วละก็ จะไม่ยุ่งกับเงินส่วนนี้เลย"

สำหรับการแยกที่เก็บเงิน ผมหมายถึงการแยกการวางแผนของแต่ละเป้าหมายทางการเงินออกจากกัน เช่น เป้าหมายสำหรับเงินยามเกษียณ เป้าหมายสำหรับค่าเล่าเรียนลูก เป้าหมายสำหรับซื้อรถคันใหม่ เป้าหมายสำหรับซื้อสมาร์ทโฟนสุดหรู และเป้าหมายอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งแต่ละเป้าหมายก็มีความสำคัญแตกต่างกันไป ระยะเวลาจนถึงเป้าหมายก็ไม่เท่ากัน ทำให้การยอมรับความเสี่ยงจากการลงทุนของแต่ละเป้าหมายไม่เหมือนกันไปด้วย ดังนั้นสัดส่วนของสินค้าทางการเงินในพอร์ตการลงทุนที่จะพาให้เราไปถึงเป้าหมายเหล่านั้น ก็ควรจะแตกต่างกันตามความเหมาะสมของแต่ละเป้าหมาย

ข้อ 6 แผนการเงินสำหรับการเกษียณต้องจัดสรรสินค้าการเงินอย่างเหมาะสมสำหรับการเกษียณอายุ

เป้าหมายการเงินเพื่อการเกษียณอายุ นับว่าเป็นเป้าหมายที่มีความสำคัญมากเป็นเป้าหมายที่ทุกคนจะต้องเดินไปถึง ไม่ว่าเราจะพร้อม หรือไม่พร้อมก็ตาม วัยเกษียณจะเป็นช่วงเวลาที่ไม่มีรายได้จากการทำงานแล้ว แต่ยังคงมีรายจ่ายที่ใช้ในการดำเนินชีวิตอยู่การวางแผนเงินกองทุนก้อนนี้ต้องวางแผนอย่างใส่ใจ ยิ่งใกล้วัยเกษียณยิ่งต้องใช้ความพิถีพิถันและระมัดระวังมากขึ้น เพราะไม่มีเวลาให้แก้ตัวอีกแล้วผู้คนส่วนใหญ่จึงเลือกวิธีการออมเงินผ่านการฝากเงินธนาคาร เนื่องจากคิดว่ามีความเสี่ยงต่ำ อีกทั้งยังเบิกถอนได้ง่ายด้วย

จากข้อดีของการฝากธนาคาร เลยกลายเป็นข้อเสียของการวางแผนเกษียณทันที เพราะการเบิกถอนง่าย ทำให้เงินก้อนนี้ไปไม่ถึงเป้าหมายเกษียณสักที มักจะถูกนำไปแปรรูปเป็นเครื่องใช้ไม้สอยอยู่เรื่อยๆ รวมถึงการที่มีความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนก็จะน้อยลงไปด้วยเช่นกัน บางคนก็นำเงินไปซื้อประกันแบบสะสมทรัพย์ เพราะตัวแทนประกันชีวิตมาเสนอแผนเกษียณอายุ แล้วก็ให้ซื้อประกันเพื่อออมทรัพย์ไว้ เนื่องจากระยะเวลาของสัญญาที่ยาวนาน ผู้เอาประกันต้องส่งเบี้ยประกันทุกๆ ปี ถ้าปิดกรมธรรม์ก่อนก็ขาดทุน ถือเป็นการบังคับให้เรามีวินัยในการออมที่ดี ถอนเอาออกมาใช้ก่อนก็ไม่ได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะมีแต่ข้อดีทั้งหมด เพราะความเสี่ยงที่ต่ำ ก็ทำให้ผลตอบแทนที่ผู้เอาประกันจะได้รับค่อนข้างต่ำด้วย เงินที่ได้จากกรมธรรม์เมื่อครบสัญญาไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายหลังเกษียณอยู่ดี

ถ้าอย่างนั้นเราจะเอาเงินไปทำอะไรดี เพื่อวางแผนสำหรับเป้าหมายนี้ ควรจะเอาไปซื้อหุ้นหรือกองทุนรวม RMF ซึ่งนอกจากจะตอบโจทย์เรื่องเป้าหมายการเกษียณแล้วยังได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกด้วย หรือว่าจะเอาไปซื้อพันธบัตรดีกว่า คำตอบก็คือไม่มีถูกไม่มีผิด แต่ที่ควรคือ กระจายเงินของเราลงไปในสินค้าหลายๆ ตัว ที่ความเสี่ยงโดยรวมเรายังยอมรับได้ คำว่ายอมรับได้ในที่นี้คือ เวลาราคาของหลักทรัพย์เหล่านั้นผันผวนขึ้นๆ ลงๆ เรายังกินได้นอนหลับอยู่ถ้าอายุยังน้อยก็รับความเสี่ยงได้มากหน่อย พออายุมากเข้า ก็ปรับลดสินค้ากลุ่มเสี่ยงสูงลง เพิ่มสัดส่วนในสินค้ากลุ่มเสี่ยงต่ำให้มากขึ้น แล้วก็ปรับสัดส่วนในพอร์ตเป็นประจำทุกปี

ฉบับหน้ามาคุยกันต่อในอีก 4 ข้อคิด...สวัสดีครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : 10ข้อคิดวางแผนเกษียณอายุ

view