สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความเป็นมา พระสังฆราช ประเทศไทย และ ลำดับอาวุโสพระเถระ

ความเป็นมา "พระสังฆราช"ประเทศไทย และ ลำดับอาวุโสพระเถระ

จากประชาชาติธุรกิจ

ในความหมายของคำว่า"สังฆราช" แปลว่า ราชาของสงฆ์ ราชาของหมู่คณะ หมายถึง พระมหาเถระผู้เป็นใหญ่สูงสุดในสังฆมณฑล มักเรียกกันสั้นๆ ว่า"สมเด็จพระสังฆราช" ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช มีมานานแล้วตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ตามที่มีหลักฐานปรากฏบนศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ว่า "สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก" เป็น ตำแหน่งสมณศักดิ์สูงสุดฝ่ายพุทธจักรของคณะสงฆ์ไทย ทรงเป็นประธานการปกครองคณะสงฆ์ ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชนั้นนำแบบอย่างมาจากลัทธิลังกาวงศ์

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้เพิ่มตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เป็น"สกลมหาสังฆปริณายก" มี อำนาจว่ากล่าวออกไปถึงหัวเมือง มีพระสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายคามวาสี เป็นสังฆราชขวา และสมเด็จพระวันรัต เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายอรัญวาสี เป็นสังฆราชซ้าย องค์ใดมีพรรษายุกาลมากกว่าก็ได้เป็นพระสังฆราช 

ต่อ มาปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา พระอริยมุนี ได้ไปสืบอายุพระพุทธศาสนาที่ลังกาทวีป จนมีความชอบ เมื่อกลับมาได้รับสมณศักดิ์สูงขึ้นตามลำดับจนเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระเจ้าเอกทัศน์มีพระราชดำริให้คงราชทินนามนี้ไว้ จึงทรงตั้งราชทินนามสมเด็จพระสังฆราชเป็น "สมเด็จพระอริยวงศาสังฆราชาธิบดี" และมาเป็น "สมเด็จพระอริยวงษญาณ" ในสมัยกรุงธนบุรี และใช้ต่อมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงเปลี่ยนเป็น "สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ" ใช้พระนามนี้จนถึงปัจจุบัน

เมื่อ ย้อนกลับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 9 รัชกาลปัจจุบัน มีพระมหาเถระได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช แล้ว 19 พระองค์ ประกอบด้วย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า 3 พระองค์, สมเด็จพระสังฆราชเจ้า 2 พระองค์ และสมเด็จพระสังฆราช 14 พระองค์ โดยจะมีพระนามสองอย่าง หากเป็นเจ้านายเชื้อพระวงศ์จะมีคำนำหน้าพระนามว่า "สมเด็จพระสังฆราชเจ้า" หรือ "สมเด็จพระมหาสมณเจ้า" หากเป็นสามัญชนมีคำนำหน้าว่า "สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ" ดังรายละเอียดดังนี้

1.สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) วัดระฆังโฆสิตาราม ปี 2325-2337 ดำรงสมณศักดิ์ 12 ปี

2.สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ฯ ปี 2337-2359 ดำรงสมณศักดิ์ 23 ปี 



3.สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (มี) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ฯ ปี 2359-2362 ดำรงสมณศักดิ์ 3 ปีเศษ 

4.สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ฯ ปี 2363-2365 ดำรงสมณศักดิ์ 1 ปีเศษ 

5.สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ฯ ปี 2365-2385 ดำรงสมณศักดิ์ 19 ปีเศษ 

6.สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (นาค) วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) ปี 2386-2392 ดำรงสมณศักดิ์ 5 ปีเศษ 

7.สมเด็จ พระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส (พระองค์เจ้าวาสุกรี สุวณฺณรํสี) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ปี 2394-2396 ดำรงสมณศักดิ์ 1 ปีเศษ 

8.สมเด็จ พระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ (พระองค์เจ้าฤกษ์ ปญฺญาอคฺคโต) วัดบวรนิเวศวิหาร ปี 2434-2435 ดำรงสมณศักดิ์ 11 เดือนเศษ 

9.สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ปี 2436-2442 ดำรงสมณศักดิ์ 6 ปีเศษ 

10.สมเด็จ พระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ มนุสฺสนาโค) วัดบวรนิเวศวิหาร ปี 2453-2464 ดำรงสมณศักดิ์ 10 ปีเศษ 

11.สมเด็จ พระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ (หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ปี 2464-2480 ดำรงสมณศักดิ์ 16 ปีเศษ 

12.สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) วัดสุทัศนเทพวราราม ปี 2481-2487 ดำรงสมณศักดิ์ 6 ปีเศษ 

13.สมเด็จ พระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต) วัดบวรนิเวศวิหาร ปี 2488-2501 ดำรงสมณศักดิ์ 13 ปีเศษ 

14.สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ปี 2503-2505 ดำรงสมณศักดิ์ 2 ปีเศษ 

15.สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) วัดสระเกศฯ ปี 2506-2508 ดำรงสมณศักดิ์ 2 ปีเศษ 

16.สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี) วัดมกุฏกษัตริยาราม ปี 2508-2514 ดำรงสมณศักดิ์ 6 ปีเศษ



17.สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ปี 2515-2516 ดำรงสมณศักดิ์ 1 ปีเศษ 

18.สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ปี 2517-2531 ดำรงสมณศักดิ์ 14 ปีเศษ และ 

19.สมเด็จ พระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร ปี 2532-2556 นอกจากทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช ที่มีพระชนมายุยาวนานที่สุด และดำรงสมณศักดิ์ยาวนานในประวัติศาสตร์แล้วนั้น 

เมื่อครั้งสมเด็จ พระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) สิ้นพระชนม์ เมื่อปี 2531 ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในราชทินนามเดิม "สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก"

โดยราชทินนามดังกล่าวนับเป็นราชทินนามพิเศษ เนื่องจากสมเด็จพระสังฆราชที่มิได้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ ตามปกติจะใช้ราชทินนามว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ 

ดังนั้น นับเป็นอีกหนึ่งครั้งที่มีการใช้ราชทินนาม สมเด็จพระญาณสังวร สำหรับสมเด็จพระสังฆราช เพื่อเป็นพระเกียรติคุณทางวิปัสสนาธุระของพระองค์ และเป็นสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกของประเทศไทย


ลำดับอาวุโสพระเถระ

พระ พรหมเมธี กรรมการและโฆษกมหาเถรสมาคม (มส.) กล่าวถึงการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ว่า "การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ เป็นพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง จนกว่าจะเสร็จสิ้นพิธีพระศพสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก อย่างไรก็ตาม ตามราชประเพณี เมื่อตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะ ผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช และในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูป อื่น ผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช"

ปัจจุบัน ตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะ มี 7 รูป แบ่งเป็นฝ่ายมหานิกาย 3 รูป คือ 1.สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ อายุ 88 ปี ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อปี 2538 2.สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสุทัศน์เทพวราราม อายุ 83 ปี ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะเมื่อปี 2553 และ 3.สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดพิชยญาติการาม อายุ 72 ปี ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อปี 2554 

ฝ่ายธรรมยุต 4 รูป คือ 1.สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดสัมพันธ์วงศ์ อายุ 95 ปี ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อปี 2544 2.สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ วัดราชบพิธฯ อายุ 86 ปี ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อปี 2552 3.สมเด็จพระวันรัต วัดบวรฯ อายุ 77 ปี ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อปี 2552 กับสมเด็จพระธีรญาณมุนี วัดเทพศิรินทราวาส อายุ 66 ปี ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อปี 2553 

เพราะฉะนั้น สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ คือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ จากฝ่ายมหานิกาย ปัจจุบันทำหน้าที่ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เนื่องจากได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะตั้งแต่ปี 2538

นอกจาก นั้น การที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สิ้นพระชนม์ ทำให้ตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะว่างลงอีก 1 ตำแหน่ง ก่อนหน้านี้ก็ว่างลง 1 ตำแหน่งหลังการมรณภาพของสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ เท่ากับว่าขณะนี้ ตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะว่างลงถึง 2 ตำแหน่ง โดยเป็นของฝ่ายมหานิกาย 1 ตำแหน่ง ส่วนอีก 1 ตำแหน่ง หากมีการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชจากฝ่ายมหานิกาย จะทำให้ตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะของฝ่ายมหานิกายว่างลงอีก 1 ตำแหน่งด้วย เช่นเดียวกัน หากมีการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชจากฝ่ายธรรมยุต ก็จะทำให้ตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะของฝ่ายธรรมยุตว่างลงอีก 1 ตำแหน่ง

(ที่มา:มติชนรายวัน 26 ต.ค.2556)


ย้อนรำลึกนิวาสสถิต สมเด็จพระสังฆราช 19 พระองค์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

“พระพุทธสิหังคปฏิมากร” พระประธานในพระวิหารวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
       พุทธศาสนากับประเทศไทยของเรานั้น ดำรงคงอยู่มาอย่างเนิ่นนานตลอดทุกยุคทุกสมัย แม้นเวลาได้ล่วงเลยมาจนถึงยุคสมัยแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาก็ไม่เคยเสื่อมคลาย โดยมีสมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นตำแหน่งเป็นประมุขแห่งคณะสงฆ์หนึ่งในพระรัตนตรัย ผู้ซึ่งเป็นตัวแทนและเผยแพร่คำสอนในพุทธศาสนาขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
       
       “สมเด็จพระสังฆราช” เป็นพระยศสังฆราช พระมหาเถระผู้เป็นใหญ่สูงสุดในสังฆมณฑลในแต่ละประเทศ “พระสังฆราช” ในประเทศไทยนั้นเรียกว่า สมเด็จพระสังฆราช เปรียบ ดั่งประมุขแห่งคณะสงฆ์ซึ่งพระมหากษัตริย์ไทยทรงสถาปนาให้ดำรงตำแหน่งสกลมหา สังฆปริณายก อันหมายถึงประมุขปกครองคณะสงฆ์ทุกนิกายในประเทศไทย
“พระพุทธไสยาส” วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ
       และนับตั้งแต่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 เมื่อปี  พ.ศ.2325 ได้มีการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช นับตั้งแต่แรกเริ่มจวบจนปัจจุบัน รวมมีสมเด็จองค์พระสังฆราชทั้งสิ้นแล้ว 19 พระองค์
       
       โดยแต่ละพระองค์นั้นมีที่ประทับที่แตกต่าง ตามแต่ละพระองค์จะเลือกสถิต ซึ่งน้อยคนนักจะทราบว่าแต่ละพระองค์สถิต ณ ที่ใด ซึ่งแต่ละวัดที่สถิตของทุกๆพระองค์นั้น ต่างมีประวัติความเป็นมาอันยาวนานเเละน่าสนใจ อีกทั้งยังมีความงดงามที่เป็นเอกลักษณ์ โดยรายนามวัดที่ทรงใช้เป็นที่สถิตมีดังนี้
“พระบรมสารีริกธาตุ” วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร
       “วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร” หรือ “วัดระฆัง” วัด แห่งนี้เป็นวัดโบราณ สร้างในสมัยอยุธยาเดิมชื่อ “วัดบางหว้าใหญ่” ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์และได้ขุดพบระฆังลูกหนึ่ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยทรงสร้างระฆังชดเชยให้ 5 ลูก จากนั้นได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดระฆังโฆสิตาราม” วัดแห่งนี้เป็นที่สถิตของสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) โดยทรงเป็น สมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
หอระฆังทั้งห้า “วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร”
       “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร“ เดิมเรียกว่าวัดสลัก โดยตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังบวรสถานมงคล สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรมหาวิหาร” ตามชื่อวัดในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและเป็น ที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งวัดแห่งนี้ได้เป็นที่พระทับขององค์พระสังฆราช 4 พระองค์ คือ สมเด็จ พระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข),สมเด็จพระอริยวงษญาณ (มี), สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร), สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 2-5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ตามลำดับ
“พระปรางค์” วัดราชบูรณะราชวรวิหาร
       “วัดราชบูรณราชวรวิหาร” เป็นวัดเก่าแก่เดิมชื่อวัดเลียบ วัดนี้เป็นวัดหนึ่งตามธรรมเนียมประเพณีโบราณที่ว่า ในราชธานีจะต้องมีวัดสำคัญประจำ 3 วัด คือ วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และวัดราชประดิษฐ์ วัดแห่งนี้เป็นที่สถิตของสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (นาค) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
       
       “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร” หรือ วัดโพธิ์ เป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย จัดเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร และเป็นวัดประจำรัชกาลในรัชกาลที่ 1 เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศเนื่องจากเป็นที่รวมจารึกสรรพวิชาหลายแขนง และทางยูเนสโก ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำโลกเมื่อ พ.ศ. 2551และนับเป็นวัดที่มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทยโดยมีจำนวนประมาณ 99 องค์ วัดแห่งนี้เป็นที่สถิตของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส(พระองค์เจ้าวาสุกรี สุวัณณรังสี) และสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ(ปุ่น ปุณฺณสิริ) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 7 และ17 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
“พระศรีศากยมุนี” (พระโต) วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
       “วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร” เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นวัดประจำรัชกาล สถาปัตยกรรมภายในวัดเป็นแบบไทยผสมยุโรปที่งดงาม ซึ่งวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามแห่งนี้ เป็นพระอารามหลวงสุดท้ายที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างตามโบราณราชประเพณีที่มี การสร้างวัดประจำรัชกาล โดยเป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ (หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน)สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 11 และสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 18 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
       
       “วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร” เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ตามธรรมเนียมประเพณีโบราณที่ว่า ในราชธานีจะต้องมีวัดสำคัญประจำ 3 วัด คือ วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และวัดราชประดิษฐาน เช่นที่สุโขทัย และพระนครศรีอยุธยา วัดแห่งนี้เป็นที่สถิตของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พระอุโบสถ” วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร”
       “วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร” เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นใน พ.ศ. 2350 เดิมพระราชทานนามว่า “วัดมหาสุทธาวาส” โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารขึ้นก่อนเพื่อประดิษฐานพระศรีศากยมุนี (พระโต ) ซึ่งมาเสร็จบริบูรณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชทานนามว่า “วัดสุทัศนเทพวราราม” และทรงผูกนามพระประธานในพระวิหาร พระอุโบสถ และศาลาการเปรียญ ให้คล้องกันว่า "พระศรีศากยมุนี" "พระพุทธตรีโลกเชษฐ์" และ "พระพุทธเสรฏฐมุนี" วัดแห่งนี้เป็นที่สถิตของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 12 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
       
       “วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร” เดิมชื่อ วัดแหลม หรือ วัดไทรทอง ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างสวนดุสิตขึ้น พระองค์ทรงทำผาติกรรมสถาปนาวัดขึ้นใหม่และพระราชทานามว่า วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม อันหมายถึง วัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 5 วัดแห่งนี้เป็นที่สถิตของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่14 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
“พระบรมบรรพต” (ภูเขาทอง) “วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร”
       “วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร” เป็นวัดโบราณในสมัยอยุธยา เดิมชื่อวัดสะแก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และขุดคลองรอบพระอาราม แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดสระเกศ” ซึ่งแปลว่า “การชำระพระเกศา” เนื่องจากพระองค์เคยมาประทับทำพิธีพระกระยาสนาน เมื่อเสด็จกรีธาทัพกลับจากกัมพูชามาปราบจลาจลในกรุงธนบุรี เป็นที่ตั้งของพระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) และวัดแห่งนี้เป็นที่สถิตของสมเด็จพระสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่15 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
       
       “วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร” พระบาทสมเด็จพระ จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริที่จะให้มีวัดเรียงรายอยู่ตามชายคลองเหมือนที่กรุงศรีอยุธยา จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดขึ้นเคียงคู่กับวัดโสมนัสวิหาร ในขั้นแรกโปรดเกล้าฯ ให้เรียกชื่อว่า วัดนามบัญญัติ ครั้นเมื่อสิ้นรัชกาลจึงค่อยเรียกนามพระราชทานว่า วัดมกุฏกษัตริยาราม อันเป็นนามตามพระปรมาภิไธย วัดแห่งนี้เป็นที่สถิตของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 16 แห่งกรุงรัตโกสินทร์
พระวิหารภายใน “วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร”
       “วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร" สร้างขึ้นในสมัยพระ บาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ได้มีพระดำริโปรดให้สร้างขึ้น เป็นที่ประทับของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกและเป็นที่ตั้งของ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย โดยมีสถาปัตยกรรมเป็นแบบไทยผสมจีน ภายในพระอุโบสถ มีพระพุทธรูปสำคัญอยู่ 2 องค์ คือ พระพุทธชินสีห์ และหลวงพ่อโต ถัดจากพระอุโบสถออกไปเป็นที่ตั้งของพระเจดีย์สีทองทรงกลมขนาดใหญ่ สร้างสมัยรัชกาลที่ 4 วัดแหงนี้เป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราช 4 พระองค์ คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ (พระองค์เจ้าฤกษ์ ปญฺญาอคฺคโต), สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ),สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (หม่อมราชวงศ์ชื่น นพวงศ์ สุจิตฺโต)และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) ทุกพระองค์เป็นสมเด็จองค์พระสังฆราชองค์ที่ 8,10,13,19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ตามลำดับ
       
       ซึ่งสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่19 ได้ทรงสิ้นพระชนม์ไปเมื่อ วันที่ 24 ตุลาคม ที่ผ่านมาอันนำความโศกเศร้ามาสู่พุทธศาสนิกชน
พระบรมรูปหล่อรัชกาลที่ 4 และพระเจดีย์ทอง “วัดบวรนิเวศฯ”
       สมเด็จพระสังฆราชทุกพระองค์ล้วนได้บำเพ็ญสรรพกรณียกิจอันเป็น ประโยชน์แก่เหล่าบวรพุทธศาสนา เป็นสังฆราชาที่เหล่าพุทธศาสนิกชนต่างให้ความศรัทธาและเคารพ อีกทั้งวัดต่างๆอันเป็นที่สถิตของแต่ละพระองค์ ยังเป็นศูนย์รวมแห่งความศรัทธา เป็นที่พักกายและพักใจให้สงบของเหล่าพุทธศาสนิกชนจวบจนปัจจุบัน ซึ่งวัดวาอารามนั้นเปรียบเสมือนเป็นหลักฐานแห่งความรุ่งเรืองที่ไม่เสื่อม คลายในพระพุทธศาสนาของประเทศไทยที่จะคงอยู่และสืบไปตลอดกาล

สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ความเป็นมา พระสังฆราช ประเทศไทย ลำดับอาวุโสพระเถระ

view