สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ดาบแชน นักกู้ระเบิดพันลูกแห่งนราธิวาส

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวการเมือง

ความรุนแรงชายแดนภาคใต้ เกือบครบรอบ 10 ปี คิดเป็นจำนวนวันคร่าวๆ ได้ประมาณ 3,500 วัน สำหรับคนทั่วๆ ไป ก็คงเป็นช่วงเวลาที่ไม่นานเท่าไหร่ แต่สำหรับใครก็ตาม ที่ต้องผวาทุกครั้งที่ได้ยินเสียงระเบิด หรือเพียงแค่ทราบข่าวพบวัตถุระเบิด ความรู้สึกคงยากจะพรรณา

“มีอยู่วันหนึ่งผมเอนหลังนอนบนรถ 191 จากนั้นได้ยินเสียงตูมดังสนั่น พอสะดุ้งตื่นขึ้นมาก็รีบคลำตามร่างกายว่าอยู่ครบหรือเปล่า ปรากฏว่าโชคดีที่แค่ฝันไป” นี่คือคำพูดของ ร.ต.ต.แชน วรงค์ไพสิฐ หัวหน้าชุดปฏิบัติการ เหยี่ยวดง 60 รับผิดชอบการตรวจสอบและเก็บกู้วัตถุระเบิด หรืออีโอดี ประจำกองบังคับการตำรวจภูธรจ.นราธิวาส

หากเอ่ยนามร้อยตำรวจตรีแชน หรือหมวดแชน อาจไม่คุ้นหูกันนัก แต่ถ้าบอกว่าเป็น  ‘ดาบแชน’ น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก เพราะเขาคือนักเก็บกู้วัตถุระเบิด ซึ่งช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เขาผ่านประสบการณ์ ตรวจสอบและเก็บกู้วัตถุระเบิด เอาชีวิตเข้าเสี่ยงความเป็นความตายมาแล้วไม่ต่ำกว่า 1,000 ครั้ง เพื่อความสงบสุขของพี่น้องร่วมแผ่นดินเกิด

แต่แล้วเช้าวันที่ 28 ต.ค. เสียงระเบิดสนั่นหวั่นไหว ริมทางหลวงสาย 42 บ้านส้มป่อย ม.4 ต.กาเยาะมาตรี อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ก็พรากชีวิตดาบแชน และเพื่อนร่วมงานอีก 2 คน คือร.ต.ต.จรูญ เมตเรือง และจ.ส.ต.นิมิต ดีวงศ์ ตำรวจ อีโอดี นราธิวาส  ขณะที่ทั้งสามนายเข้าตรวจสอบวัตถุต้องสงสัยที่วางไว้ริมถนน คาดว่าคนร้ายซุ่มรออยู่เพื่อจุดชนวนระเบิด

สิ้นเสียงระเบิด ความเงียบก็ครอบคลุม ความรู้สึกของทุกคนที่รู้ข่าว สลดลงทันใด เพราะการจากไปของนักล่าระเบิดมือหนึ่ง

ร.ต.ต.แชน เกิดเมื่อปี 2506 ในชนบทของจ.นราธิวาส พ่อแม่รับจ้างทำนาและกรีดยาง  เดิมนามสกุลแซ่ว่อง เป็นลูกชายคนที่สอง จากทั้งหมด 4 คน  เรียนจบวิทยาลัยเกษตร ในปี 2526 ต่อมาปี 2527 สอบเข้าโรงเรียนตำรวจภูธรภาค 9 จ.ยะลา กระทั่งเข้ารับราชราชตำรวจที่จ.ยะลา เมื่อปี 2528 ในตำแหน่งชุดหน่วยปฏิบัติการพิเศษ หัวหน้าชุดคุ้มครองหมู่บ้าน สายตรวจรถจักรยานยนต์

ปี 2532 ผ่านการอบรมหลักสูตรอบรมเก็บกู้ระเบิดหรือ Explosive Ordnance Disposal ที่สหรัฐอเมริกาเบื้องต้น 15 วัน จนกระทั่งปี 2533 ถูกซุ่มยิงได้รับบาดเจ็บบริเวณ ต้องรักษาตัวนานปีเศษ  จึงขอย้ายจากจ.ยะลากลับมาจ.นราธิวาสบ้านเกิด

ปี 2542 ย้ายไปจ.พระนครศรีอยุธยา  แต่เพียงปีเดียวก็ขอย้ายกลับมาจ.นราธิวาสอีกครั้ง ในช่วงเริ่มต้นของ ”ยุทธการใบไม้ร่วง“ ซึ่งกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในขณะนั้น ประกาศจะลอบสังหารเข้าหน้าที่รัฐ

กระทั่งปี 2547 จุดเริ่มต้นของความรุนแรงชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เขาพูดอยู่เสมอว่า ไม่เคยนอนตาหลับเลย

ความทุ่มเทการทำงานทำให้ ร.ต.ต.แชน ได้รับรางวัลตำรวจดีเด่นในโครงการนำทางแทนคุณแผ่นดิน รางวัลตำรวจดีเด่นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และรางวัลตำรวจดีเด่นต้นแบบของมูลนิธิบุณยจินดา  รวมทั้งตำรวจผู้ปฏิบัติงานดีเด่นและเสียสละของศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจ แห่งชาติส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) ซึ่งปัจจุบันยกฐานะเป็นศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้

ปี 2549 พล.ต.ท.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) เสนอชื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเลื่อนยศตำรวจซึ่ง “ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกล้าหาญ เสียสละ โดยรู้อยู่แล้วว่าจะต้องถูกประทุษร้ายถึงแก่ชีวิต แต่นำตนเข้าเสี่ยงภัยอันตราย”  เป็นนายตำรวจสัญญาบัตร มีผู้ได้รับการเสนอชื่อ 5 นาย และดาบแซนคือหนึ่งในนั้น

แต่ผ่านไปกว่า 5 ปี เรื่องกลับเงียบหาย หลังการสูญเสีย ‘จ่าเพียรขาเหล็ก’ พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา อดีตผกก.สภ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อปี 2553 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงค่อยรื้อฟื้น การพิจารณาสิทธิประโยชน์ให้ตำรวจชายแดนใต้ผู้เสียสละ แต่เรื่องของดาบแชนและเพื่อนก็ยังไม่มีนายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติพูดถึง พวกเขาจึงต้องออกมาเรียกร้องสิทธิตัวเองบ้าง

“ผมขอแค่ได้เป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร เพื่อเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลตอนยังมีชีวิตอยู่ แต่ก็ยังไม่ได้ ทำเรื่องเสนอก.ตร.มานานก็บอกว่าติดขัดระเบียบตรงนั้นตรงนี้ ทั้งที่ความจริงในพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาสนั้น ตามโครงสร้างในงานเก็บกู้วัตถุระเบิดจะต้องมีอัตราสัญญาบัตรจังหวัดละ 3 ตำแหน่ง ประทวน 12 ตำแหน่ง แต่ทุกวันนี้ ยังไม่มีสัญญาบัตรสักตำแหน่ง มีแต่ตำรวจประทวนอย่างพวกผมเป็นหัวหน้า เก็บกู้วัตถุระเบิดทุกเหตุ ถ้าจะแต่งตั้งพวกผมไปลงตำแหน่งเหล่านี้ที่ว่างอยู่ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร พวกผมขอแค่นี้เอง ได้ตำแหน่งมาพวกผมก็ไม่ย้ายหรอก ทำงานในพื้นที่ไม่ไปไหน เพราะบ้านก็อยู่ที่นี่ อยากขอผู้บังคับบัญชาแค่นี้ " ดาบแชนให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2553 ไม่กี่วันหลัง ประเทศไทยต้องหลั่งน้ำตา กับการสูญเสียจ่าเพียร วีรบุรษแห่งบันนังสตา

ในที่สุด ดาบแชนก็ได้ติดยศ ร้อยตำรวจตรี เมื่อปี 2554

“ทุกวันนี้ไม่เคยคิดท้อแท้หรือวางมือจากวงการ เพราะนับวันก็ยิ่งหาคนรุ่นใหม่ขึ้นมาแทนได้ยาก อีกทั้งบ้านเกิดเมืองนอนของผมก็อยู่ที่นี่ ส่วนลูกเมียก็ทำใจยอมรับได้แล้ว จึงไม่คิดหนีไปไหนแน่นอน ไม่มีใครอยากมาเสี่ยงตายกับงานนี้ ทั้งลูกเมียและคนที่อยู่ข้างหลังก็ไม่สบายใจ และงานแบบนี้ก็ไม่มีผลประโยชน์อย่างอื่นมาเกี่ยวข้อง นอกจากเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงที่มากกว่าหน่วยงานทั่วไปแค่ไม่กี่พันบาท หลายคนที่ไปเรียนหลักสูตรอีโอดีมาแล้ว แต่ไม่ลงมาทำงานตรงนี้ เพราะเขาเรียนเพื่อเอาเหรียญอีโอดีมาประดับอก และคิดว่าไม่คุ้มที่จะมาเสี่ยงให้มือขาดขาขาด” ดาบแชน เปิดใจกับ อาทิตย์ เคนมี อดีตผู้สื่อข่าวโพสต์ทูเดย์ เมื่อปี 2553

... ไม่ท้อถอยคอยสร้างสิ่งที่ควร

ไม่เรรวนพะว้าพะวังคิดกังขา

ไม่เคืองแค้นน้อยใจในโชคชะตา

ไม่เสียดายชีวาถ้าสิ้นไป...

10 ปี ของการทำหน้าที่นักเก็บกู้วัตถุระเบิด 10 ปีที่คงใช่เพียงแต่ตัวเขา แต่ยังมีครอบครัวผู้อยู่ข้างหลัง ที่ ‘นอนตาไม่หลับ’ เช่นกัน

10 ปีที่ผ่านมา ใช่เพียงแต่ความรุนแรงที่ก่อความสูญเสียมหาศาล 10 ปีที่ผ่านมาก็ก่อคุณอนันต์ให้สังคมไทย อย่างน้อย เราก็ได้รู้ว่า มีคนอีกจำนวนมาก ที่ยืนหยัดทำหน้าที่อย่างแข็งขัน  ไม่ย่อท้อ แม้สิ่งที่ได้รับตอบแทนนั้น จะเทียบไม่ได้กับภยันตรายถึงชีวิตที่กำลังเผชิญหน้า  ซึ่งทำให้เรารู้ว่า ‘ความฝันอันสูงสุด’ นั้น มีอยู่จริง

ภาพจาก Deep South Bookazine (www.deepsouthwatch.org) โดย อาทิตย์ เคนมี


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ดาบแชน นักกู้ระเบิดพันลูก นราธิวาส

view