สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ยกย่อง สมเด็จพระสังฆราช เป็นนักจดบันทึก

ยกย่อง “สมเด็จพระสังฆราช” เป็นนักจดบันทึก

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

       เผยบันทึกลายพระหัตถ์สมเด็จ พระสังฆราช เมื่อครั้งเรียนประโยค 5 อายุ 70 ปี ยกย่องทรงเป็นนักจดบันทึกละเอียด ด้าน สำนักเลขาฯ ต้นแบบ คำถวายสักการะสมเด็จพระสังฆราช ให้หน่วยงานทุกฝ่ายได้ใช้ ส่วนศิลปินดารา บุคคลสำคัญร่วมถวายสักการะ 
       
       วันนี้ (28 ต.ค.) ตั้งแต่ช่วงเช้า พุทธศาสนิกชนยังคงหลั่งไหลเดินทางมายังตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อสักการะพระศพสมเด็จพระสังฆราช อย่างต่อเนื่อง เมื่อเวลา 07.00 น.มีพิธีสวดอภิธรรม บำเพ็ญพระราชกุศลพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดยมีพล.ต.ม.จ.เฉลิมศึก ยุคล เป็นประธาน มีพระพิธีธรรมจากวัดประยุรวงศาวาส ต่อมาเวลา 10.30 น.คณะผู้บริหารไทยทีวีสีช่อง 3 ผู้จัด ศิลปิน ดาราจากละครเรื่อง สุภาพบุรุษจุฑาเทพ เช่น “เกรท” วรินทร ปัญหกาญจน์, “บอม” ธนิน มนูญศิลป์ ได้เดินทางเข้าสักการะพระศพสมเด็จพระสังฆราช ที่ตำหนักเพ็ชร วัดบวรฯ เมื่อเวลา 11.00 น. ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ เป็นประธานในการพระราชทานฉันเพล และเวลา 13.00 น.คณะศิลปินจากอาร์เอส จำกัด (มหาชน) และค่ายอาร์สยาม เช่น “ปาน” ธนพร แวกประยูร, “เนย” วรัฐฐา อิมราพร “แจม” ชัรฐฐา อิมราพร จากวงเนโกะ จั๊มพ์, กระแต-กระต่าย อาร์สยาม พร้อมผู้บริหารจากอาร์เอส ได้เดินทางเข้าสักการะพระศพสมเด็จพระสังฆราช
       
       พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (พระดร.อนิลมาน ธมมฺสากิโย) ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เปิดเผยว่า หลังจากที่รัฐบาลรับเป็นเจ้าภาพจัดพิมพ์หนังสือ ญาณสังวรเทศนา จำนวน 5,000 เล่ม ในขณะนี้สำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร ได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลทั้ง ลายพระหัตถ์ สมุดบันทึก ของสมเด็จสังฆราช ทั้งหมดในการจัดทำเป็นหนังสือและฐานข้อมูลเพื่อเก็บไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ ศึกษา โดยเฉพาะลายพระหัตถ์บันทึก เรื่องของจิต ที่สมเด็จพระสังฆราช ทรงเขียนไว้เมื่อครั้งยังศึกษาบาลีในประโยค 5 เมื่ออายุกว่า 70 ปี และเมื่อครั้งเป็นสามเณร ก็ได้มีการบันทึกเป็นลายพระหัตถ์ของพระองค์เองด้วย
       “สมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นนักจดบันทึก แม้แต่เวลาที่ทรงเรียนหนังสือ พระองค์จะทรงจดบันทึกอย่างละเอียด บางครั้งจดเป็นกลอนไว้ กระทั่งชื่อของ พระองค์ เจริญ คชวัตร พระองค์ได้เขียนความหมาย แล้วมีการจดบันทึกไว้ ซึ่งอาตมาได้รวบรวมลายพระหัตถ์บางส่วนเก็บไว้แล้วจัดทำเป็นหนังสือ ญาณสังวรธรรม พระนิพนธ์ลายพระหัตถ์ ในงานฉลองพระชนมายุ 100 พรรษา”พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ กล่าว
       
       พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ทางวัดบวรฯได้เปิดให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กร ต่างๆ ได้จองเป็นเจ้าภาพพิธีบำเพ็ญพระกุศลพระศพ สมเด็จพระสังฆราช ผ่านศูนย์ข้อมูลกลาง โทร.0-2280-9578-9 โดยทางวัดบวรฯจะรวบรวมรายชื่อไว้ก่อน แล้วจะกำหนดตารางวันอีกครั้ง ขณะนี้มีรายชื่อจองแล้วกว่า 300 รายแล้ว นอกจากนี้ ยังมีประชาชนหรือหน่วยงานเกิดสับสนว่า จะใช้ข้อความใดในการขึ้นป้ายถวายความอาลัย ซึ่งสำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ได้จัดทำต้นแบบไว้ให้ดังนี้ “ขอถวายอภิสัมมานสักการะแด่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ด้วยเศียรเกล้า ซึ่งมีความหมายว่า อภิ แปลว่า ยิ่งใหญ่ สัมมานะ แปลว่า ยกย่องสูงสุด หรือแปลรวมว่า ขอถวายความเคารพอย่างสูงสุดแด่ สมเด็จพระสังฆราช จึงขอให้ทุกหน่วยงานได้ใช้ข้อความดังกล่าวในทิศทางเดียวกัน
       
       ด้านพระครูสังฆสิทธิกร หัวหน้าฝ่ายศาสนวิเทศ สำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช กล่าวว่า วัดบวรฯได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิธีบำเพ็ญพระกุศลพระศพ สมเด็จพระสังฆราช โดยมี สมเด็จพระวันรัต เป็นประธานกรรมการ พร้อมทั้งออกกำหนดการบำเพ็ญพระกุศล ประจำสตมวาร(ทุก 7 วัน) ดังนี้ ภาคเช้าเวลา 09.30 น.เจ้าภาพพร้อม ณ บริเวณตำหนักเพ็ชร วางพวงมาลาถวายสักการะพระศพ เวลา 10.00 น.ประธานในพิธีจุดธูปบูชาเครื่องทองน้อยถวายสักการะพระศพ พระสงฆ์ 10 รูปสวดพระพุทธมนต์ ประธานในพิธีจุดธูปเทียนดูหนังสือเทศน์และเครื่องทองน้อยบูชาธรรม จากนั้นจุดเครื่องทองน้อยสำหรับพระศพทรงธรรม พระธรรมเทศนากัณฑ์ 1 ถวายภัตตาหารเพล พระสงฆ์ 20 รูปสดับปกรณ์ กรวดน้ำ พระสงฆ์อนุโมทนา เสร็จพิธีภาคเช้าหัวหน้าฝ่ายศาสนวิเทศ กล่าวต่อไปว่า ภาคค่ำ เวลา 18.30 น.เจ้าภาพพร้อมตำหนักเพ็ชร เวลา 19.00 น.ประธานในพิธีจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการพระรัตนตรัย และจุดธูปเทียนเครื่องบูชาหน้าพระหีบ ถวายสักการะพระศพ พระสงฆ์สวดพระธรรม เจ้าภาพถวายเครื่องไทยธรรม ทอดผ้าสดับปกรณ์ กรวดน้ำ พระสงฆ์อนุโมทนา
       
       ขณะที่ พระโสภณคณาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร กล่าวว่า สำหรับเข็มที่ระลึกที่จะมีการจัดทำขึ้นเฉพาะงานพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกนั้น ทางสมเด็จพระวันรัต รักษาการเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ได้มอบหมายให้คณะทำงานช่วยกันออกแบบเหรียญที่ระลึกอย่างเป็นทางการอยู่ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากว่าทางวัดบวรนิเวศวิหาร เพิ่งจะจัดงานฉลองพระชันษา 100 ปี สมเด็จพระสังฆราช ระหว่างวันที่ 1-7 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้กำหนดจัดทำเข็มที่ระลึก 100 ปี สมเด็จพระสังฆราช โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯทรงมาประกอบพิธีมังคลาภิเษก เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2556 ซึ่งเข็มนั้นยังมีให้ประชาชนบริจาคบูชาเป็นที่ระลึกอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ก็มีจำนวนไม่มากแล้ว นับเป็นสิ่งมงคลศรัทธาที่ระลึก แทบจะเรียกได้ว่าเป็นชิ้นสุดท้ายที่จัดทำขึ้นในงานที่ระลึกพิเศษ ฉลองพระชันษา 100 ปีสมเด็จพระสังฆราช โดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายรัฐบาลจะรวบรวมนำเข้าถวายสมทบมูลนิธิสมเด็จพระ ญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งมูลนิธินี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย
       
       ด้าน น.ส.ธนพร แวกประยูร (ปาน ธนพร) เล่าความรู้สึกที่ได้มีโอกาสขับร้องเพลง “ชีวิตนี้น้อยนัก แต่ชีวิตนั้นสำคัญนัก” ถวายแด่สมเด็จพระสังฆราช ว่า นับเป็นบุญเหลือเกิน ที่ชีวิตของการเป็นนักร้องคนหนึ่ง และได้ใช้เสียงของตนเองขับร้องเพลงในทางธรรม ในทางขาว หลังจากที่ผ่านมาได้ใช้เสียงขับร้องแต่เพลงทางโลกมามาก เรียกว่าสูงสุดในชีวิตของคนๆ หนึ่งที่ได้มีโอกาสถวายความอาลัยส่งเสด็จพระองค์ท่านสู่พระนฤพานในวาระสุด ท้าย ซึ่งบทเพลงนี้แต่งคำร้องโดย พระอาจารย์ฐิตว์โสภิกขุ วัดปทุมวนาราม ซึ่งพระอาจารย์เคยได้มีโอกาสแต่งคำร้องถวายสมเด็จพระสังฆราช ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 100 พรรษา ไปก่อนหน้านี้ และเมื่อทราบว่า สมเด็จพระสังฆราช สิ้นพระชนม์ ทุกๆ คนจึงอยากจัดทำบทเพลงเพื่อถวายความอาลัย ส่งเสด็จพระองค์ท่าน
       
       น.ส.ธนพร กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เคยได้มีโอกาสกราบสักการะพระองค์ท่านในขณะที่ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ แต่ก็รับทราบถึงพระกรณียกิจด้านศาสนาต่างๆ จากคำบอกเล่าของพระศายกวงศ์วิสุทธิ์ และได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับสมเด็จพระสังฆราช ทำให้ซาบซึ้งในพระเมตตาคุณของพระองค์ท่าน และในขณะที่ร้องเพลง ก็ได้น้อมจิตน้อมใจระลึกถึงพระเมตตาของพระองค์ในทุกๆ ด้าน เพื่อให้บทเพลงนี้เป็นสื่อกลางให้ประชาชนได้ถวายอาลัยแด่องค์สมเด็จพระ สังฆราชผ่านบทเพลง ได้รู้จักหลักธรรมของพระองค์ท่านผ่านเพลงที่เราได้ร้อง
       
       “มีโอกาสขับร้องเพลง “ชีวิตนี้น้อยนัก แต่ชีวิตนั้นสำคัญนัก” ถือว่าสูงสุดในชีวิตที่ได้ถวายอาลัย ได้ทำงานให้ทันในเวลา ส่งเสด็จพระองค์ท่าน สำหรับตัวเองยังไม่เคยได้มีโอกาสได้กราบในขณะที่พระองค์ยังแข็งแรง แต่ได้รู้เรื่องราวของพระองค์ผ่านทางพระอาจารย์อนิลมาน ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้มีโอกาสทำงานถวายร้องเพลง ครบ 100 พรรษา เพลงสังฆราชบูชา พระชันษา 100 ปี ในงาน แต่พอในวันที่ 24 ตุลาคม ที่พระองค์ท่านสิ้นพระชนม์ เราจึงอยากจัดทำเพลงเพื่อถวายส่งเสด็จพระองค์ท่าน พระอาจารย์ใช้เวลาแต่งเพลงเพียง 15 นาที ในขณะที่ร้องก็จะระลึกถึงพระกรุณาธิคุณน้อมจิตน้อมใจถวายสมเด็จพระสังฆราช อยากให้ประชาชนได้ถวายอาลัยผ่านเพลง ได้รู้จักท่านผ่านเพลงนี้” น.ส.ธนพร กล่าว
       
       สำหรับบรรยากาศสถานที่ต่างๆ ภายในวัดที่เปิดให้ประชาชนที่เดินทางมาสักการะพระศพสมเด็จพระสังฆราช ก็ยังคงมีประชาชนเดินทางเข้าชมเพื่อระลึกถึงองค์พระประมุขสงฆ์ของไทยอย่าง ต่อเนื่อง ทั้งนิทรรศการ 100 ปี สดุดีสังฆบิดร ที่อาคารสภาวิชาการมหามกุฏราชวิทยาลัย และที่ตำหนักคอยท่าปราโมช สถานที่ประทับทรงงานของสมเด็จพระสังฆราช มีเพียงนิทรรศการที่อาคารมนุษยนาควิทยาทานเท่านั้น ที่จะเปิดให้เข้าชมเฉพาะวันเสาร์- อาทิตย์


หนึ่งวันของสมเด็จพระญาณสังวร

จาก โพสต์ทูเดย์

หนึ่งวันของสมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช ทรงประกอบกิจเพื่อพระศาสนา ประชาชนและชาวโลกได้อย่างอเนกอนันต์ พระองค์ทำได้อย่างไร พิจารณาได้จากพระจริยวัตรของพระองค์

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงประกอบกิจเพื่อพระศาสนา ประชาชนและชาวโลกได้อย่างอเนกอนันต์ พระองค์ทำได้อย่างไร พิจารณาได้จากหนึ่งในพระจริยวัตรของพระองค์ท่าน ซึ่งคณะศิษย์ได้ร่วมถ่ายทอดไว้ใน “พระผู้เจริญพร้อม” งานฉลองพระชนมายุ 100 พรรษา ถวายแด่พระองค์ท่าน ดังนี้

ก่อนไก่ขันถึงเที่ยงวัน

พระกิจวัตรประจำวันของพระองค์เริ่มเมื่อทรงตื่นบรรทมและเข้าสู่กิจกรรม ของวันใหม่ตั้งแต่ก่อนรุ่งอรุณ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเวลาตีสี่ของทุกวัน โดยทรงปฏิบัติอย่างนี้มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์

หลังตื่นบรรทมจะเริ่มเจริญพระพุทธมนต์บทต่างๆ บางครั้งก็ทบทวนพระปาติโมกข์แล้วทรงนั่งสมาธิจนกระทั่งแสงทองจับขอบฟ้า พอเห็นลายมือได้ก็เป็นเวลาออกดำเนินบิณฑบาต

เสด็จออกประตูต่างๆ ของวัดไปโปรดประชาชน โดยไม่ได้ยึดว่าจะต้องใช้เส้นทางใดเป็นประจำ บางวันเสด็จไปทางหลังวัดตรีทศเทพ หรือไปทางตลาดบางลำพู บางวันก็ไปท้ายวัด ไปตรอกบวรรังษี

กลับจากบิณฑบาตแล้วจะเป็นช่วงเวลาที่ทรงรับแขก มีญาติโยม หรือบางทีก็เป็นพระภิกษุสามเณร เดินทางมาจากที่ใกล้บ้าง ที่ไกลบ้าง เข้ามาถวายสักการะ พระองค์จะทรงสนทนาด้วย โดยใช้เวลาปฏิสันถารต้อนรับญาติโยมในช่วงเช้าประมาณ 1 ชั่วโมง

เสร็จจากรับแขกช่วงเช้าก็เป็นเวลาเสวย และนั่นเป็นช่วงพระภิกษุสามเณรในปกครองจะมาเฝ้ารายงานเรื่องต่างๆ หรือมาลาเพื่อขออนุญาตออกนอกวัด

พระองค์จะเสวยโดยใส่ทุกอย่างรวมลงในบาตร

ทรงนิยมเสวยผักและจะเสวยอาหารมังสวิรัติทุกวันพระ ระยะหลังๆ มานี้จะไม่เสวยสัตว์ปีกและสัตว์ใหญ่

เมื่อทรงอาพาธ ทางโรงพยาบาลจะดูแลเรื่องอาหาร แม้ไม่ได้ทรงรับบาตรจากญาติโยมแล้ว แต่ถ้ามีผู้นำมาถวายจะโปรดให้เอาขึ้นมาเปิด นำขึ้นโต๊ะเสวยทั้งหมด เพื่อทรงอนุโมทนาประทานพรให้ผู้นำมาถวายทั้งหมด

ระหว่างเสวย โปรดให้สามเณรหรือศิษย์อ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษหรือภาษาไทยให้ฟัง ถ้าเป็นภาษาอังกฤษบางทีจะทรงถามศัพท์ว่าแปลว่าอย่างไร และถ้าอ่านออกเสียงผิดก็จะทรงเมตตาแก้ให้

หลังจังหันประมาณ 8 โมง หรือ 9 โมงเช้า ถ้าไม่มีกิจนิมนต์ บางวันอาจจะบรรทมสักครึ่งชั่วโมง

ปกติแล้วจะเสวยเพียงมื้อเดียว แต่เมื่อเสด็จไปเสวยเพลในวังตามที่มีการอาราธนาจะทรงจิบน้ำชาแทน

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงเรียกเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ว่า “หลวงปู่” ทรงห่วงหลวงปู่ว่า วันไหนมีคนมาเฝ้ามากจะเลยเวลาเสวย ซึ่งมักจะเป็นเช่นนั้นเสมอ จึงทรงมีลายพระหัตถ์เขียนป้ายบอกให้ผู้ที่จะมาเฝ้ารอก่อนหากถึงเวลาเสวย

ถ้าทรงมีเวลา สิ่งที่สมเด็จพระสังฆราชโปรดจะทำคือ อ่านหนังสือ แต่โดยมากแล้วจะมีพระภารกิจนอกวัดมากมาย

ทรงรับนิมนต์ตามเวลาที่ว่าง ไม่เคยเลือกว่าเป็นงานเล็ก งานใหญ่ หรือใครเป็นคนจัด

พระองค์ตรัสเสมอว่า “ที่นี่ เป็นพระของประชาชน จะไปลำเอียง ไม่รับงานโน้นงานนี้ไม่ได้”

คำว่า “ที่นี่” เป็นคำที่พระองค์มักใช้เรียกแทนพระองค์เองกับคนสนิทและในหมู่ญาติๆ

นานๆ ครั้งก็จะทรงใช้คำแทนพระองค์เองว่า “เรา” ส่วนคำว่า “อาตมา” จะทรงใช้กับคนทั่วไป

เวลาเสด็จออกนอกวัด จะไม่ทรงสวมรองพระบาท จะทรงสวมเฉพาะจากหน้ากุฏิ เมื่อถึงรถพระประเทียบจะถอดออก ทรงนิยมดำเนินด้วยพระบาทเปล่า

เวลาประทับในรถ ส่วนใหญ่จะทรงเจริญพระพุทธมนต์ ฝึกกรรมฐาน จะทรงซ้อมบทสวดมนต์ตลอด บทสวดที่ทรงประจำคือ สวดมนต์เจ็ดตำนานและสิบสองตำนาน รวมถึงพระปาติโมกข์

ช่วงบ่ายจรดเที่ยงคืน

พอเสด็จกลับจากงานนิมนต์ ถ้าเป็นช่วงในพรรษา เวลาบ่ายโมงตรง จะลงสอนพระใหม่ แต่ถ้าไม่ใช่ช่วงพรรษาก็จะทรงงานค้นคว้าที่ค้างไว้

หลังจากนั้นจะทรงต้อนรับปฏิสันถารกับญาติโยมรอบบ่ายราวบ่ายสองถึงบ่ายสามโมง สุดแต่ว่าจะมีผู้มาเฝ้ามากน้อยขนาดไหน

ห้าโมงเย็น เป็นเวลาเสวยกาแฟ และพักอิริยาบถ บางคราวก็ใช้ช่วงนี้ออกตรวจพระอาราม

ถึงสองทุ่มจะทรงลงอุโบสถ ทำวัตรเย็น ถ้าไม่ลงพระอุโบสถก็ทรงทำวัตรเย็นที่พระตำหนัก เสร็จแล้วถ้าวันไหนไม่ได้ทรงเดินตรวจวัดตอนเย็นก็จะออกตรวจวัดในตอนนี้

จากนั้นจะทรงเดินจงกรมหน้าพระตำหนักราวครึ่งชั่วโมงแล้วสรงน้ำ ก่อนจะทรงงานต่อในช่วงกลางคืน เช่น เตรียมธรรมบรรยาย ฯลฯ

ทรงเข้าบรรทมเวลาเที่ยงคืน

เตียงพระบรรทมนั้นเล็กมากเพียงพอดีองค์ ทางด้านศีรษะจะสูงขึ้นเล็กน้อย ปลายพระบาทมีโต๊ะวางต่อมาอีกตัวหนึ่งเป็นที่วางพัดลม ปกติแล้วจะทรงบรรทมในท่าตะแคงและบรรทมแบบมีสติ

ทรงบรรทมเฉลี่ยคืนละ 3-4 ชั่วโมง

ด้วยพระจริยวัตรเหล่านี้ สมเด็จพระญาณสังวรฯ ทรงจัดสรร 24 ชั่วโมงของพระองค์ได้อย่างน่าทึ่งและเป็นประโยชน์อเนกอนันต์

เมื่อจากไปจึงเป็นอาวรณ์ของประชาชนทั่วไป


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ยกย่อง สมเด็จพระสังฆราช นักจดบันทึก

view