สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : อะไรอยู่ในเข่ง

จากประชาชาติธุรกิจ

คุณประยุทธ์ ศิริพานิชย์ เป็นใครหรือครับ เขาเคยเป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย คงเป็นเพราะความอาวุโสทางการเมืองของเขาเป็นสำคัญ เท่าที่ทราบเขาไม่มี ส.ส.ใน "สังกัด" และเขาไม่มีส่วนร่วมในทุนของพรรคอย่างสำคัญ ด้วยเหตุดังนั้นเขาจึงไม่อยู่ในกรรมการบริหารพรรคสมัยนี้อีกแล้ว

เป็น ไปได้หรือครับ ที่นักการเมืองระดับคุณประยุทธ์จะสามารถเสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในคณะกรรมาธิการ จนเป็นผลให้ผิดหลักการที่ได้รับอนุมัติจากสภาในวาระแรก และยังสามารถนำคะแนนเสียงของคณะกรรมาธิการจาก พท.ทั้งหมดให้สนับสนุนการแก้ไขอย่างถ้วนหน้าเช่นนั้น

หันไปดู สมาชิก พท.ในคณะกรรมาธิการบ้าง มีนักการเมืองอาวุโสอย่างคุณสามารถ แก้วมีชัย และคุณสุนัย จุลพงศธร เป็นแกนนำ ทั้งสองไม่อยู่ใน "เครือข่าย" ของคุณประยุทธ์แน่ เหตุใดจึงลงมติสนับสนุนข้อเสนอของคุณประยุทธ์พร้อมเพรียงกันถึงเช่นนี้ ทั้งๆ ที่เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รอง แต่เอากระดูกมาแขวนคอชัดๆ ไม่ว่าที่นครสวรรค์หรือเชียงราย คะแนนเสียงของเสื้อแดงเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของฐานเสียงคนทั้งสองแน่ การโยนซากศพของเสื้อแดงทิ้งอย่างง่ายๆ ในเขตเลือกตั้งที่คนเสื้อแดงเป็นเสียงส่วนใหญ่เช่นนี้ มองไม่เห็นว่าจะให้ประโยชน์ทางการเมืองแก่คนทั้งสองอย่างไร

เรื่อง มันใหญ่ขนาดนี้ และทำได้พร้อมเพรียงขนาดนี้ เกิดขึ้นโดยพรรค พท.ไม่รู้เห็นอะไรมาก่อนเลย ย่อมเป็นไปไม่ได้ คุณจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรค (ที่ยุบได้ไม่เดือดร้อน) ทำคนเดียวไม่ได้ คณะผู้บริหารพรรคต้องร่วมรู้เห็นมาก่อน

คนทั่วไปอ่านการแก้ร่าง กฎหมายนิรโทษกรรมครั้งนี้ว่ามาจากคำสั่งนายใหญ่ แต่นายใหญ่อ่านไม่ออกหรือว่า คิดจะกลับบ้านกันง่ายๆ เช่นนี้ ไม่น่าจะรอดจากการต่อต้านอย่างหนักจากปฏิปักษ์ โดยไม่มีกำแพงรั้วแดงคอยปกป้องด้วย จนอาจเกิดจลาจล อันเป็นเหตุที่คนไทยส่วนใหญ่คงอนุญาตให้กองทัพยึดอำนาจได้

นายใหญ่จะ สั่งได้ ก็ต้องมีไพ่อีกบางตัวในมือที่ไม่ได้แบออกให้ใครเห็น (อาจยกเว้นคนใกล้ชิดซึ่งกุมพรรคเพื่อไทยอยู่เบื้องหลังคณะกรรมการบริหาร)

น่า สนใจที่จะพยายามคาดเดาว่าไพ่ใบนั้นคืออะไร และผมขอเริ่มคาดเดาด้วยการวิเคราะห์เบื้องต้นว่าใครจะได้ประโยชน์บนซากศพและ บาดแผล (ทั้งกายและใจ) ของเสื้อแดงบ้าง

คุณทักษิณซึ่งเคยพูดว่าจะ กลับบ้านอย่างมีเกียรตินั้นได้แน่ (และน่าเอาไปเปรียบเทียบกับคุณสุกรี ตาเลห์ แห่งสุไหงปาดี ซึ่งได้ต่อสู้ให้แก่ลูกชายซึ่งต้องสงสัยว่ามีส่วนในการฆาตกรรมใน พ.ศ.2551 ทั้งๆ ที่ลูกชายของเขาในขณะนั้นติดคุกอยู่ในคดีอีกข้อหาหนึ่ง กว่าได้ปล่อยตัวก็ตกถึง 2555 และหนีไปมาเลเซีย จนเข้าปีนี้ ทางฝ่ายความมั่นคงซึ่งได้รับการร้องเรียนอย่างสืบเนื่องจากคุณสุกรี จึงยืนยันว่าลูกชายของเขาติดคุกอยู่ในระหว่างนั้นจริงๆ และขอให้ทางตำรวจยกเลิกหมายจับเสียที เป็นการต่อสู้ต่อเนื่องกัน 5 ปี เพื่อเอาลูกชายกลับบ้าน "อย่างมีเกียรติ") และไม่ใช่เพียงแค่กลับบ้านเท่านั้น คดีอื่นๆ ทั้งหมดที่ยังติดค้างในศาลเวลานี้ ก็จะถูกระงับไปหมดด้วย ฉะนั้นเมื่อคุณทักษิณกลับบ้านด้วย พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่งฉบับนี้ จะมีเกียรติจริงหรือไม่ก็ตาม คุณทักษิณก็จะตัวเบาเท่ากับก่อนรัฐประหาร แม้อาจไม่ได้เป็นนายกฯ อย่างออกหน้าอีกก็ตาม

แต่คุณทักษิณไม่ได้เป็นคนเดียวที่ได้

แกน นำเสื้อแดง และแกนนำเสื้อเหลืองซึ่งถูกกันออกไปในร่างฉบับคุณวรชัย เหมะ ก็ได้ด้วย ไม่ว่าคดีที่ติดค้างในศาลจะร้ายแรงขนาดไหนก็ตาม แม้ว่าแกนนำของทั้งสองฝ่าย ต่างยืนยันจะสู้คดีในศาลจนถึงที่สุด แต่ผลจากการชุมนุมทางการเมืองที่เลยไปถึงขั้น "วางเพลิง" หรือยึดทำเนียบและสนามบิน จะผ่านไปโดยไม่มีใครต้องรับผิดชอบเลย คงเป็นไปได้ยากในศาลที่อำนวยความยุติธรรม ไม่เฉพาะแก่จำเลย แต่แก่สังคมด้วย และการเลื่อนคดี จะทำไปโดยไม่มีที่สิ้นสุดย่อมเป็นไปไม่ได้

ทหาร ทั้งหมดที่ปฏิบัติการในเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 ไม่ว่าจะปฏิบัติการเกินแก่เหตุ หรือสั่งการให้ปฏิบัติการเกินแก่เหตุ หรืออย่างไม่รอบคอบรัดกุม ก็ได้หมด คุณเฉลิม อยู่บำรุงเมื่อเป็นรองนายกฯ เคยให้สัมภาษณ์ว่า คดีที่กำลังคืบหน้าไปเรื่อยๆ นี้ทำความ "ไม่สบายใจ" แก่ผู้นำกองทัพอย่างยิ่ง หากกฎหมายนี้ผ่านสภาไปได้ ความ "สบายใจ" ก็จะกลับคืนมา

แน่นอน ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ด้วย แม้พวกเขายืนยันที่จะสู้คดีในศาลให้ถึงที่สุดเช่นกัน แต่ไม่มีใครรู้ว่าสังคมไทยจะเปลี่ยนผ่านไปแค่ไหน การเปลี่ยนผ่านที่อาจเกิดขึ้นจริง ย่อมไม่ยอมให้การสังหารหมู่ประชาชนลอยนวลได้แน่

และในประโยคสุดท้าย ของข้อเสนอแก้ไขมาตรา 3 แห่งร่าง พ.ร.บ.คือ "ไม่รวมถึงการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112" ชัดเจนลงไปแทนร่างฉบับวรชัย เหมะ ซึ่งอาจตีความได้ว่า หากการกระทำความผิดในมาตรานี้มีเหตุทางการเมือง ก็อาจได้รับนิรโทษกรรมไปด้วย (ตามความเข้าใจของผมซึ่งไม่เคยเรียนกฎหมาย)

หาก ดูในเข่งที่จะถูกเหมาด้วยการแก้ไขของกรรมาธิการ ก็จะเห็นว่าอำนาจในโครงสร้างทางการเมืองของไทยทั้งหมด ต่างล้วนจะ "สบายใจ" ได้หมดทุกฝ่าย พรรค พท.อาจมีบทบาทเป็นผู้เสนอแก้ไขเปลี่ยนแปลง แต่น่าจะได้รับอนุมัติจากฝ่ายอื่นๆ มากกว่านายใหญ่เพียงคนเดียว

ใน ส่วนอำนาจใหม่ คือแกนนำเสื้อเหลือง, แกนนำเสื้อแดง และทักษิณหรือที่บางคนเรียกว่ากลุ่ม "ทุนใหม่" ก็จะถูกผนวกเข้าไปในโครงสร้างอย่างมีขั้นตอน อย่างที่แกนนำของขบวนการนักศึกษา 14 ตุลา และนักธุรกิจ-เจ้าพ่อในชนบทได้เคยถูกผนวกมาแล้ว... เป็นไปอย่างช้าๆ มีขั้นมีตอน อาจถูกเหนี่ยวรั้งไว้บ้าง เพื่อให้เรียนรู้ว่าไผเป็นไผในโครงสร้างนั้น โครงสร้างยังอยู่เหมือนเดิม แม้มีคนหน้าใหม่โผล่เข้ามาแจมบ้างก็ตาม

ส่วนมวลชนทั้งเหลืองและแดง ก็ควรกลับไปอยู่ตามที่ตามทางของตน รอรับการอนุเคราะห์จากชนชั้นนำทั้งเก่าและใหม่ในโครงสร้างอำนาจตามจังหวะ เดิมๆ ต่อไป ไม่ต่างจากผลบั้นปลายที่เกิดขึ้นในการลุกขึ้นสู้ของมวลชนในเหตุการณ์ 14 ตุลา และพฤษภามหาโหด 2535

ถ้าเรียกสิ่งนี้ว่าการ "เกี้ยเซี้ย" มันไม่ใช่การ "เกี้ยเซี้ย" ระหว่างคนที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน (อย่างเปิดเผยหรือโดยนัยะ) เท่านั้น ที่สำคัญกว่าคือการ "เกี้ยเซี้ย" เพื่อจรรโลงระบบอำนาจเดิมเอาไว้ โดยชนชั้นนำทุกกลุ่ม ไม่ว่าเก่าหรือใหม่ได้หมด เป็นการหันคืนสู่ "ความสงบเรียบร้อย" อย่างที่เอื้อต่อประโยชน์ของชนชั้นนำมานานแล้ว

ปราศจากเป้าหมายใหญ่ ที่ครอบคลุมชนชั้นนำทุกกลุ่มได้เช่นนี้ ไม่มีใครกินเหล็กกินไหลมาจากไหน ไม่ว่าจะเป็นกรรมาธิการพรรค พท., พรรค พท., ทักษิณ ชินวัตร, หรือรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ จะกล้าแก้ไขร่างกฎหมายนิรโทษกรรมให้เหมาเข่งเช่นนี้ได้

สังคมไทยซึ่ง ถูกทอดทิ้งก็จะเปลี่ยนไม่ผ่านอีกครั้งหนึ่ง คุณทักษิณจะทุจริตคดโกงอย่างที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ก็ตาม แต่ในฐานะนักการเมือง คุณทักษิณต้องถูกฟ้องตามกระบวนการยุติธรรมปรกติธรรมดาได้ ข้อเสนอของนิติราษฎร์ไม่ได้เว้นคุณทักษิณจากการถูกกล่าวหา แต่ต้องเป็นการกล่าวหาตามกระบวนการยุติธรรมปรกติธรรมดา แม้เป็นข้อกล่าวหาของ คตส.ก็ตาม แต่ต้องผ่านการพิจารณาไตร่ตรองจากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทีละขั้นทีละ ตอน คำพิพากษาจึงเป็นที่ยุติ จึงต่างจากนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง เพราะไม่ได้ยกเว้นให้แก่คนทุจริตอยู่เหนือกฎหมาย แต่ให้โอกาสที่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้น

นิรโทษเหมาเข่งจึงทำให้สังคมไทยเปลี่ยนไม่ผ่าน เพราะนักการเมืองไม่ต้องรับผิดชอบทางกฎหมายแก่การกระทำของตนอีกต่อไป

ไม่ ต่างจากการเว้นโทษแก่ผู้สั่งการสังหารหมู่ประชาชน จะผิดหรือไม่ผิดก็ตาม แต่คนเหล่านั้นควรถูกตรวจสอบด้วยกระบวนการยุติธรรม และไม่ต่างจากการกระทำของกองทัพและตำรวจซึ่งเคยเป็นผู้ลงมือสังหารหมู่ ประชาชนมาหลายครั้งแล้ว ไม่มีใครต้องรับผิดชอบอีกต่อไป สังคมไทยจึงเปลี่ยนไม่ผ่าน เพราะมีอำนาจดิบที่คอยกดหัวประชาชนอยู่อย่างเดิม

จน ถึงที่สุด เราจะมีสถาบันทางการเมืองที่ตรวจสอบไม่ได้อยู่ต่อไป ตรวจสอบไม่ได้เพราะการตกลงกันหลังฉากระหว่างผู้นำยังมีความสำคัญกว่าการตรวจ สอบต่อสาธารณชนซึ่งเป็นเพียง "ป่าหี่" หรือตรวจสอบไม่ได้เพราะมีกฎหมายห้ามตรวจสอบก็เหมือนกัน

ส่วนมวลชน ซึ่งถูกจัดให้กลับไปที่เดิม ก็จะพบว่าไม่มีที่เดิมให้กลับไปอีกแล้ว ในที่สุดก็ต้องกลับมาใหม่สู่พื้นที่ซึ่งไม่มีใครเปิดให้ การชุมนุมทางการเมืองซึ่งเป็นพื้นที่เดียวของพวกเขา ก็จะไม่มีกฎหมายรองรับที่ชัดเจนเหมือนเดิม จึงง่ายที่จะถูกสไนเปอร์เมื่อไรก็ได้

ความรุนแรงที่เกิดในการเมืองไทยระยะ 50 ปีที่ผ่านมา จึงจะยังเกิดอยู่ต่อไป ซ้ำอาจรุนแรงกว่าเดิมหลายเท่า

 

 

 

 

(ที่มา:มติชนรายวัน 28 ต.ค.2556)


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : นิธิ เอียวศรีวงศ์ อะไรอยู่ในเข่ง

view