สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เศรษฐกิจโลกกับความไม่แน่นอนจากนี้ไป

เศรษฐกิจโลกกับความไม่แน่นอนจากนี้ไป

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เมื่อเดือนก่อนผมได้เขียนไว้ว่า มีความไม่แน่นอนสามเรื่องในนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐที่กำลังจับเศรษฐกิจโลกเป็นเชลย

สามเรื่องนี้ก็คือ ความไม่ชัดเจนในเงื่อนเวลาที่ธนาคารกลางสหรัฐจะเริ่มลดทอนมาตรการคิวอี ใครจะมาเป็นผู้ว่าธนาคารกลางสหรัฐคนต่อไป และทางออกของปัญหาเพดานหนี้สหรัฐที่ขณะนั้นยังไม่รู้ว่าจะออกมาอย่างไร

ปัจจุบันสองในสามเรื่องที่พูดถึงมีคำตอบแล้ว เรื่องแรก ความไม่แน่นอนในเงื่อนเวลาของการลดทอนการผ่อนคลายนโยบายการเงินขณะนี้ยังไม่มีคำตอบ และยังเป็นความไม่แน่นอนอยู่ว่าจะเริ่มได้เมื่อไร เรื่องที่สอง ประธานาธิบดีโอบามาได้เสนอชื่อ นาง Janet Yellen เป็นผู้ว่าธนาคารกลางสหรัฐคนต่อไป แต่ต้องรอการรับรองหรือเห็นชอบจากสภาคองเกรสสหรัฐ เพื่อการรับตำแหน่งต้นปีหน้า และสาม รัฐบาลสหรัฐและพรรคฝ่านค้านได้ตกลงที่จะยกเพดานหนี้เป็นการชั่วคราว เพื่อให้ทางการสหรัฐไม่ติดขัดในเรื่องการใช้จ่าย แต่คำตอบนี้เป็นคำตอบชั่วคราวเพียงเพื่อซื้อเวลาออกไปอีก 3-4 เดือน โดยไม่มีการตัดสินใจในประเด็นสำคัญว่าจะแก้ปัญหาการคลังของสหรัฐอย่างไร ดังนั้น เมื่อปัญหายังไม่ได้แก้ เพียงแต่เลื่อนการตัดสินใจออกไป เรื่องเพดานหนี้ก็คงจะกลับมาเป็นประเด็นที่จะกระทบตลาดการเงินอีกในช่วงสามเดือนข้างหน้า

โดยสรุปก็คือ ความไม่แน่นอนเรื่องนโยบายทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลังของสหรัฐยังมีอยู่ และคงจะกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และเศรษฐกิจโลกต่อไป อันนี้คือประเด็นที่อยากจะเขียนวันนี้

สำหรับเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนในนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง กำลังส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อความเชื่อมั่นของนักธุรกิจและตลาดการเงิน ในส่วนของนโยบายการคลัง ความไม่ชัดเจนในแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะของสหรัฐ ซึ่งสำคัญมากต่อฐานะทางการเงินของสหรัฐและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในระยะยาว ได้กระทบความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่มีต่อการทำนโยบายของสหรัฐ รวมถึงทิศทางของเศรษฐกิจสหรัฐในระยะยาว ทำให้บริษัทธุรกิจเอกชนยังชะลอการลงทุน แม้สภาพคล่องทางการเงินจะมีมาก ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐไม่ได้ประโยชน์จากสภาพคล่องที่มีอยู่มาก ที่จะนำไปใช้ขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ในส่วนของนโยบายการเงิน ความไม่แน่นอนสำคัญก็คือ เงื่อนเวลาที่ทางการสหรัฐจะเริ่มลดทอนมาตรการคิวอี ซึ่งหมายถึงการเริ่มลดดีกรีของการผ่อนคลายนโยบายการเงิน ที่ได้ส่งสัญญาณครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม และแต่นั้นมาก็ได้สร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินโลกมาตลอด โดยเฉพาะต่อเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ที่เกิดเงินทุนไหลออก นำมาสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจและความล่อแหลมต่อการเกิดปัญหาเสถียรภาพ นอกจากนี้ความไม่แน่นอนก็กระทบเงินทุนเคลื่อนย้าย ทำให้เงินทุนผันผวนมากขึ้น และการลงทุนปรับพฤติกรรมจากระยะยาวมาเป็นระยะสั้น เพื่อให้สามารถปรับตัวได้เร็วขึ้นจากความไม่แน่นอนที่มีอยู่

มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจโลกขณะนี้เหมือนเป็นภาพที่ซ้อนกันอยู่สองภาพ ภาพแรกคือ ภาพระยะยาวของการเปลี่ยนแปลงตามวัฏจักรเศรษฐกิจ ซึ่งคงจะเป็นแนวโน้มหลักของเศรษฐกิจโลกในช่วง 4-5 ปีข้างหน้า อีกภาพหนึ่งเป็นภาพระยะสั้นที่เน้นการเคลื่อนไหวของตลาดการเงินโลกที่กำลังปรับตัวกับความไม่แน่นอนของนโยบายการเงิน และนโยบายการคลังสหรัฐที่มีอยู่ ปรกติเมื่อความไม่แน่นอนด้านนโยบายหมดลง ทิศทางนโยบายมีความชัดเจน ความผันผวนตามภาพระยะสั้นก็จะหายไป และเศรษฐกิจก็จะปรับเข้าสู่ภาพระยะยาวที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่วัฏจักรเศรษฐกิจที่อัตราดอกเบี้ยในเศรษฐกิจโลกเป็นขาขึ้น (จากการลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินของสหรัฐ)

ในรายละเอียด อะไรคือภาพระยะยาวของเศรษฐกิจโลกในช่วงต่อไป

ห้าปีที่ผ่านมาตั้งแต่ที่เศรษฐกิจโลกเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 2008 การแก้ไขปัญหาได้นำมาสู่การเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งกำลังเป็นหัวหอกที่จะดึงให้เศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ ฟื้นตัวตาม เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มฟื้นตัวหรือการฟื้นตัวเข้มแข็งขึ้น ความจำเป็นที่สหรัฐต้องพึ่งนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายมาก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็หมดลง ทำให้ทางการสหรัฐควรเริ่มลดการผ่อนคลายด้านนโยบายลง ปรับระดับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากให้กลับเป็นระดับที่ปกติ และลดการใช้จ่ายด้านการคลัง เพื่อแก้ปัญหาหนี้สาธารณะ

เรื่องนี้ ผมคิดว่าเศรษฐกิจโลกกำลังกลับเข้าสู่ภาวะดังกล่าว คือ ภาวะที่อัตราดอกเบี้ยจะกลับเข้าสู่ระดับที่เป็นปกติมากขึ้น คือ อัตราดอกเบี้ยเริ่มปรับสูงขึ้น นำโดยการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ ซึ่งคงจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้กระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ดังนั้น ในช่วงต่อไปทุกประเทศในเศรษฐกิจโลกจะต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของทิศทางอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ซึ่งจะเป็นความท้าทายต่อการทำนโยบายของทุกประเทศ จากผลกระทบสามด้านที่จะเกิดขึ้นตามมา หนึ่ง การไหลกลับของเงินทุนเคลื่อนย้ายออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่กลับเข้าสู่ประเทศอุตสาหกรรม สอง อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่จะปรับลดเข้าสู่ระดับที่เป็นปรกติมากขึ้น เพราะประโยชน์ที่เคยได้จากเงินทุนไหลเข้าจะเปลี่ยนเป็นแรงกดดันต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จากเงินทุนไหลออก) และสาม ความแตกต่างในอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจระหว่างประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศอุตสาหกรรมที่เรียกว่า "เศรษฐกิจโลกสองความเร็ว" ซึ่งเป็นบริบทของการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในช่วงห้าปีที่ผ่านมาจะเปลี่ยนไป ความแตกต่างจะลดลง ทำให้ภาพรวมของการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะสมดุลมากขึ้น อันนี้คือ ภาพระยะยาวของเศรษฐกิจโลกที่คงเกิดขึ้นจากนี้ไป

แต่ ณ ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกยังไม่กลับเข้าสู่ภาพระยะยาวดังกล่าว เพราะในระยะสั้นยังมีความไม่แน่นอนว่า การลดทอนการผ่อนคลายนโยบายการเงินของสหรัฐจะเริ่มต้นได้เมื่อไร และปัญหาหนี้สาธารณะของสหรัฐจะมีทางแก้ไขหรือไม่ ซึ่งทั้งสองเรื่องกระทบตลาดการเงินและความมั่นใจของภาคธุรกิจ ทำให้เกิดแรงชะงักงันในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เป็นผลให้ธนาคารกลางสหรัฐยังลังเลและยังไม่พูดชัดเจนเกี่ยวกับเงื่อนเวลาการลดการผ่อนคลายนโยบายการเงิน ซึ่งผมคิดว่าก็คงเพราะยังมีความไม่มั่นใจอย่างน้อยสามเรื่อง

หนึ่ง ข้อมูลเศรษฐกิจที่ชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัว แต่ก็ยังไม่สอดคล้องกันทั้งหมดในแง่มหภาค คือ ตัวเลขการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจจริงยังไม่ไปกับตัวเลขอัตราการว่างงานที่สูง และอัตราเงินเฟ้อที่ยังต่ำมาก สอง ข้อจำกัดในการแก้ไขปัญหาการคลังที่มาจากฝ่ายการเมืองสหรัฐ ทำให้ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจต่อประสิทธิภาพในการทำนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐลดลงมาก ดังนั้น ถ้าธนาคารกลางสหรัฐเริ่มลดทอนนโยบายการเงินในภาวะความไม่แน่นอนด้านนโยบายการคลังยังมีอยู่ การลดทอนก็อาจจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันทางลบต่อเศรษฐกิจมากขึ้นไปอีก และสาม ผลที่จะมีต่อประเทศอื่นๆ ในเศรษฐกิจโลกจากการลดทอน โดยเฉพาะต่อประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ขณะนี้การขยายตัวได้เริ่มชะลอทั่วหน้า การเริ่มปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ (จากการลดทอนมาตรการคิวอี) คงจะมีผลซ้ำเติมต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอีก ทำให้ต้องระวังมาก

นี้คือความไม่แน่นอนที่กำลังสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินโลกและกิจกรรมเศรษฐกิจขณะนี้ ทำให้ประมาณการเศรษฐกิจโลกที่ออกมาล่าสุดมีการปรับลดอัตราการเติบโตลงทั่วหน้า เพื่อสะท้อนความไม่แน่นอนระยะสั้นดังกล่าว แต่สำหรับปีหน้าส่วนใหญ่มองเศรษฐกิจโลกดีขึ้นกว่าปีนี้ สะท้อนภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐที่จะเข้มแข็งขึ้นจนเศรษฐกิจโลกสามารถปรับเข้าสู่ภาพระยะยาวของการฟื้นตัวภายใต้ภาวะอัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น เราก็คงต้องตามดูว่าเศรษฐกิจโลกจริงๆ จะออกมาอย่างที่ส่วนใหญ่ขณะนี้คาดไว้หรือไม่


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอน จากนี้ไป

view