สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นิรโทษขัดกติกาโลก

นิรโทษขัดกติกาโลก

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ส.ส.เสียงข้างมากในสภา ทำตัวเยี่ยง "นักกดขี่กฎหมาย" อยู่ในเวลานี้ ไม่ไยดีว่ากฎหมายที่ตัวเองเขียนขึ้นนั้น

จะขัดหรือแย้งกับกติกาสากล ขัดกติกาโลก หรือไม่

ขณะที่องค์กรทั้งภาคประชาชน และภาคธุรกิจ ซึ่งประกาศเอาจริงเอาจังกับการต่อต้านคอร์รัปชัน มองเห็นเค้าลางหายนะทางความเชื่อมั่นที่นานาชาติมีต่อประเทศไทย เพราะมาตรา 3 ของร่างกฎหมายนี้ พรรคเพื่อไทย แก้ไขใหม่หมดในชั้นกรรมาธิการ เป็น "ใบอนุญาต" ให้ใครก็ได้โกงชาติ โดยไม่มีความผิด

ทั้งนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก ทักษิณ ชินวัตร วัฒนา อัศวเหม ประชา มาลีนนท์ ทั้ง 3 คน หลบหนีโทษไปอยู่ต่างประเทศ

แม้กฎหมายนิรโทษกรรม ไม่ได้เขียนเส้นทางคืนเงิน 46,000 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอีก 5,000 ล้านบาท แต่มันมีซอยย่อยที่ ทักษิณ จะใช้สิทธิ์เรียกร้องคืนเงินได้

ร่างกฎหมายนิรโทษกรรม จึงไม่ใช่ "รีเซ็ตซีโร่" ประเทศไทย

ร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ยังแย้งกับกระบวนการสร้างจิตสำนึกต่อต้านคอร์รัปชัน เพราะเท่ากับว่า "นักกดขี่กฎหมาย" กำลังบอกว่า "โกงได้ไม่เป็นไร ถ้ามีเสียงข้างมากในสภา"

การที่เสียงข้างมากในสภา ยอมรับให้มี "คอร์รัปชัน" ได้ แสดงว่าคนพวกนี้ก้าวข้ามรัฐธรรมนูญ ที่มี "หลักนิติธรรม" ให้ต้องคำนึงถึงในยามที่ตรากฎหมาย

"นักกดขี่กฎหมาย" อ้างเสียงข้างมาก แล้วไม่พยายามเข้าใจหลักการตามรัฐธรรมนูญ พยายามเขียนกฎหมายเพื่อประโยชน์ของชนชั้น(ตัวเอง) การออกกฎหมายลักษณะนี้ จะเป็นลางร้ายของประเทศหากปล่อยไปโดยไม่มีใครโต้แย้ง

ในประเทศที่คุณธรรม จริยธรรม ป้อแปล้ ไม่นานก็จะกลับไปสู่ "ระบอบเผด็จการ"

การใช้เงินมหาศาลเพื่อให้มีองค์กรรัฐสภา แต่กลับออกกฎหมายเพื่อคนใดคนหนึ่ง เป็นคำถามในหัวใจประชาชนจำนวนไม่น้อย ว่าผู้กระทำมีจิตสำนึกประชาธิปไตย หรือไม่

เสียงใหญ่ในสภา ทำอะไรก็ได้ เป็นหลักการที่ผิด เป็นเสียงข้างมากที่ใช้แบบผิดๆ เพราะการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตก็ถือว่า สิทธิ์นั้นใช้ไม่ได้

ประเทศไทย ได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติเพื่อการต่อต้านการทุจริต (United Nations Convention against Corruption : UNCAC 2003) ในรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554

ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เนื้อหาสุ่มเสี่ยงว่าขัดแย้ง และเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการตามอนุสัญญาต่อต้านคอร์รัปชัน

ประเทศไทย จะเป็นประเทศแรก และประเทศเดียวในโลกที่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับคดีอันเป็นความผิดฐานคอร์รัปชัน

ก่อนการประกาศใช้ตามอนุสัญญาต่อต้านคอร์รัปชัน ในการประชุมที่กรุงโซล เกาหลีใต้ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2003 ชาติภาคีสมาชิก มีมติเอกฉันท์ให้ "การกระทำการใดๆ ในการคอร์รัปชัน เป็นอาชญากรรมเกี่ยวกับมนุษยชาติ และ เป็นอาชญากรรมในระหว่างประเทศ ที่ต้องขจัดให้สิ้นไป

ผลของการประกาศดังกล่าว ทำให้กิจกรรมใด ที่เป็นการคอร์รัปชัน อภัยโทษให้ไม่ได้ นิรโทษกรรมให้ไม่ได้ หรือแม้แต่การล้างมลทินโทษก็ทำไม่ได้ ไม่ว่าจะปรากฏอยู่ในกฎหมายภายในของประเทศใดก็ตาม

เพราะฉะนั้น หากแม้ภาคประชาชนทัดทาน "นักกดขี่กฎหมาย" ไม่ได้ แต่คนที่จะนำเสนอกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ ในฐานะผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จะตกอยู่ภายใต้ความผิดฐาน "คอร์รัปชัน" ตามอนุสัญญาต่อต้านคอร์รัปชัน

เป็นความผิดต่อกฎหมาย อำนาจวินิจฉัยชี้ขาด จะโอนไปให้องค์การสหประชาชาติ สอบสวนและฟ้องต่อศาลนานาชาติ ในฐานะหัวหน้าคณะของผู้ร่วมขบวนการ หรือ Accompli ในการคอร์รัปชัน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : นิรโทษ กติกาโลก

view