สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เส้นทางสู่ Banking Union ของยูโร

เส้นทางสู่ Banking Union ของยูโร

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




อย่างที่ผมเคยเล่าให้ฟังว่ายูโรได้ตั้งธงไว้ว่าเมื่อถึงที่สุดแล้ว ระบบการธนาคารของทุกๆ ประเทศในยุโรปจะถูกบริหารจัดการแบบรวมศูนย์

หรือที่เรียกว่าสหภาพการธนาคาร (Banking Union) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ความก้าวหน้าซึ่งเป็นรูปธรรมที่ดูชัดเจนได้เกิดขึ้น เมื่อธนาคารกลางยุโรปได้ประกาศแผนแม่แบบในการประเมินระบบธนาคารของยูโรอย่างละเอียดที่สุดเป็นประวัติการณ์ สำหรับประเมินธนาคารขนาดใหญ่ในยุโรปจำนวน 124 แห่ง ก่อนที่ทางธนาคารกลางยุโรปจะรับหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลธนาคารเหล่านี้อย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน 2014 โดยผลของการประเมินดังกล่าวจะเสร็จสิ้นในเดือนตุลาคม 2014 โดยทั้งหมดกระทำภายใต้กฎเกณฑ์ที่เรียกกันว่า Single Supervisory Mechanism (SSM) Regulation

แต่ก่อนอื่น ผมขอเล่าถึงความก้าวหน้าของระบบแบงก์ในยูโรว่า ตั้งแต่ปี 2008 ได้มีการระดมเงินกองทุนใหม่มูลค่า 2.25 แสนล้านยูโร และจากความช่วยเหลือของรัฐบาลอีก 2.75 แสนล้านยูโร รวมทั้งสิ้น คิดเป็นร้อยละ 5 ของจีดีพีในภูมิภาคยุโรป ณ วันนี้ อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 โดยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 12 นอกจากนี้ สถาบันการเงินส่วนใหญ่มีอัตราส่วนเงินกองทุนสูงกว่าอัตราส่วนขั้นต่ำที่กำหนดโดยทางการ นอกจากนี้ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ส่วนใหญ่ก็ได้ถูกตัดออกจากงบดุล เพื่อมิให้เป็นตัวฉุดกำไรของผลประกอบการ รวมถึงธนาคารต่างๆ ก็กำลังผ่านกระบวนการปรับโครงสร้างแบบจำลองธุรกิจของตนเองให้มีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น

อย่างไรก็ดี ระบบแบงก์ในยุโรปก็มีจุดอ่อนอย่างที่ทราบกันตรงที่งบดุลไม่ค่อยมีความโปร่งใส อีกทั้งความเสี่ยงโดยรวมของสถานการณ์ในยูโรก็ยังไม่นิ่งเสียทีเดียว

สำหรับวัตถุประสงค์ของการประเมินระบบธนาคารของยูโรอย่างละเอียดเที่ยวนี้ มีอยู่ด้วยกัน 3 ประการ ได้แก่ หนึ่ง ความโปร่งใส เพื่อให้คุณภาพของข้อมูลในระบบธนาคารของยุโรปอยู่ในระดับที่สูงขึ้น สอง การซ่อมแซม เพื่อให้สามารถชี้ถึงมาตรการที่เอาไว้ใช้แก้ไขข้อบกพร่องของระบบธนาคาร และ สาม การเสริมความเชื่อมั่นของตนเอง เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับธนาคารทุกฝ่ายมั่นใจว่า แบงก์ยุโรปมีปัจจัยพื้นฐานที่ดีและมีความน่าเชื่อถือ โดยธนาคารกลางยุโรปมีอำนาจเด็ดขาดโดยตรงที่จะบังคับให้แบงก์ที่มีปัญหาต้องเพิ่มเงินกองทุน

ทั้งนี้ แผนแม่บทดังกล่าวในการประเมินระบบธนาคารดังกล่าว ประกอบด้วย หนึ่ง การประเมินความเสี่ยงเพื่อการกำกับดูแล (Supervisory Risk Assessment) สอง การทบทวนคุณภาพสินทรัพย์ และ สาม การทดสอบภาวะวิกฤติ ดังนี้

เริ่มจากส่วนแรก การประเมินความเสี่ยงเพื่อการกำกับดูแล จะทำหน้าที่ชี้ถึงความเสี่ยงที่สำคัญของธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นสภาพคล่อง อัตราส่วนหนี้ต่อสินทรัพย์ และ แหล่งเงินทุน ทั้งในแง่เชิงคุณภาพและปริมาณบนพื้นฐานของข้อมูลทั้งในอดีตและอนาคต เพื่อที่จะประเมินภาพความเสี่ยงของธนาคารต่างๆ โดยระบบการประเมินดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือชนิดใหม่ที่พัฒนาร่วมกันระหว่างธนาคารกลางยุโรปและธนาคารในประเทศยูโรที่ร่วมโครงการนี้

ส่วนที่สอง ได้แก่ การทบทวนคุณภาพสินทรัพย์ โดยขั้นตอนนี้น่าจะถือได้ว่าเป็นพระเอกของการประเมินแบงก์ยุโรปอย่างละเอียดในครั้งนี้ เนื่องจากความโปร่งใสของข้อมูลถือเป็นปัญหาหลักของแบงก์ยุโรปตลอดมา และนับเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปแบบยั่งยืนมาโดยตลอด

ทั้งนี้ การทบทวนคุณภาพสินทรัพย์ในครั้งนี้ กระทำต่อสินทรัพย์ต่างๆ ทุกประเภท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2013 ที่สำคัญ สินทรัพย์ที่ได้รับการจับตาให้ทบทวนและดูแลเป็นพิเศษ ได้แก่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงและที่เชื่อว่ามีความโปร่งใสค่อนข้างน้อย ทว่าการตรวจสอบก็กระทำแบบละเอียดจากการที่สินทรัพย์ทุกประเภทต้องได้รับการตรวจสอบไม่น้อยกว่าระดับๆ หนึ่ง นอกจากนี้ การตรวจสอบข้อมูลว่ามีความเที่ยงตรง (data integrity validation) ก็ถูกออกแบบให้มีการปฏิบัติแบบละเอียดรอบคอบ ทั้งนี้ผลของการทบทวนดังกล่าว จะนำไปสู่การปรับน้ำหนักความเสี่ยงของสินทรัพย์ต่างๆ ให้สามารถสะท้อนความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น

หากพิจารณาให้ถึงไส้ในของการทบทวนคุณภาพของสินทรัพย์ดังกล่าว จะประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ดังรูปที่ 1 เริ่มจาก ขั้นตอนแรก การเลือกพอร์ตโฟลิโอที่จะนำมาใช้ในการตรวจสอบ ภายใต้หลักการที่ว่าสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดต้องได้รับการทบทวนให้ละเอียดที่สุด

สำหรับขั้นตอนการเลือกพอร์ตโฟลิโอเพื่อให้การทบทวนสินทรัพย์มีประสิทธิภาพสูงสุด แสดงดังรูปที่ 2 เริ่มจากสถาบันการเงินต่างๆ จะเสนอต่อธนาคารกลางยุโรปถึงพอร์ตโฟลิโอที่จะนำมาใช้สำหรับการตรวจสอบและทบทวนคุณภาพสินทรัพย์ (Bottom-up Proposal) แล้วธนาคารกลางยุโรปจะทำการเลือกบนพื้นฐานของข้อมูลทั้งคุณภาพสินทรัพย์และแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงนั้น

ขั้นตอนที่สอง ได้แก่ การลงมือตรวจสอบและทบทวน (Execution) เป็นขั้นตอนที่มีความซับซ้อนมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการตรวจเช็คข้อมูล การสุ่มข้อมูล การไปดูไฟล์ที่สถานที่จริง การประเมินหลักประกัน และการคำนวณสำรองหนี้สูญและสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง

ขั้นตอนที่สาม การตรวจสอบข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง (Collation) เพื่อตรวจสอบความเข้ากันของข้อมูลเพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลที่มีอยู่มีความเที่ยงตรงและถูกต้อง

โดยการดำเนินการช่วงต่อไป ธนาคารกลางยุโรปจะเริ่มขั้นตอนการเลือกพอร์ตโฟลิโอที่จะเอาไว้ใช้ทดสอบในเดือนพฤศจิกายนนี้ และ จะประกาศผลของปฏิบัติการทั้งหมดในครั้งนี้ ก่อนที่ธนาคารกลางยุโรปจะเริ่มกำกับดูแลระบบธนาคารของยุโรปในปลายปีหน้า

ท้ายสุด การทดสอบภาวะวิกฤติ เป็นเครื่องมือที่เอาไว้เสริมกระบวนการทบทวนคุณภาพสินทรัพย์ ด้วยการประเมินศักยภาพของธนาคารในการรองรับความเสียหายจากเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ซึ่งจะทำการทดสอบด้วยสมมติฐานและเหตุการณ์จำลองที่สมเหตุสมผล

ก็ต้องบอกว่า เส้นทางของ Banking Union ของยูโร ในเบื้องต้น หากพิจารณาในมุมของความพร้อมในทางเทคนิค ก็ดูไม่ไกลจากตรงนี้มากนักครับ

หมายเหตุ : หนังสือด้านการลงทุนด้วยข้อมูลเชิงมหภาค (Macro Investing) เล่มล่าสุดของผู้เขียน “เล่นหุ้นต้องใช้ใจ... รวยได้ไม่รู้จบ” วางจำหน่ายทั่วประเทศแล้ว และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประเด็นการลงทุน ได้ที่ www.facebook.com/MacroView และ LINE ID: MacroView ครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เส้นทาง Banking Union ยูโร

view