สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จีน-อาเซียน-ไทย โวยUS-ออสซี่ใช้ สถานทูต ดักฟังทั่วทั้งเอเชีย

จีน-อาเซียน-ไทย’โวยUS-ออสซี่ใช้‘สถานทูต’ดักฟังทั่วทั้งเอเชีย

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

      เอ เจนซีส์ - จีน ไทย มาเลเซีย รวมถึงอินโดนีเซีย เรียกร้องอเมริกาและพันธมิตรให้ความกระจ่าง หลังมีรายงานว่า สถานเอกอัครราชทูตของสหรัฐฯและของออสเตรเลียในเอเชีย ถูกใช้เป็นศูนย์สอดแนมดักฟังการติดต่อสื่อสารระบบอิเล็กทรอนิกส์
       
       ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายเข้ามาเล่นงานแดนอินทรี เพราะนอกจากยังแก้ตัวไม่ขึ้นเรื่องดักฟังโทรศัพท์ของผู้นำชาติต่างๆ รวม 35 ชาติแล้ว นิตยสารแดร์ ชปีเกล ของเยอรมนี ยังแฉซ้ำด้วยการเสนอรายงานข่าวในวันอังคาร (29 ต.ค.) ซึ่งอ้างอิงเอกสารลับที่ เอดเวิร์ด สโนว์เดน นำออกมาเปิดโปง พูดถึงโปรแกรมสอดแนมที่ใช้ชื่อรหัสว่า “สเตทรูม” (STATEROOM) โดยมีการใช้สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลของสหรัฐฯทั่วโลกเป็นสถานที่ในการ ปฏิบัติการใช้โปรแกรมดักจับสัญญาณวิทยุ, โทรคมนาคม, และอินเทอร์เน็ตนี้ ไม่เพียงเท่านั้น สถานเอกอัครราชทูตและสำนักงานการทูตของอีก 4 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย, อังกฤษ, แคนาดา, นิวซีแลนด์ ซึ่งจับมือเป็นพันธมิตรทางด้านข่าวกรองกับสหรัฐฯ โดยขนานนามว่า “ไฟฟ์ อายส์” (Five Eyes) ก็มีการปฏิบัติการดักฟังด้วยโปรแกรมนี้เช่นกัน
สถานทูตออสเตรเลียประจำกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
       หนังสือพิมพ์ซิดนีย์มอร์นิ่งเฮรัลด์ ของออสเตรเลีย ได้เสนอรายงานข่าวในวันอังคารเช่นกัน เปิดโปงขยายเพิ่มเติมว่า เว็บไซต์ของ แดร์ ชปีเกล นั้น ยังได้ตีพิมพ์แผนที่ลับสุดยอดระบุศูนย์สอดแนมอิเล็กทรอนิกส์ที่ตั้งอยู่ตาม ที่ทำการทางการทูตของสหรัฐฯ 90 แห่งทั่วโลก โดยที่ทางแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็มีทั้งที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯในกรุงเทพฯ, กัวลาลัมเปอร์, จาการ์ตา, พนมเปญ, และย่างกุ้ง ขณะที่ในเอเชียตะวันออกนั้น สหรัฐฯให้ความสำคัญกับการหาข่าวกรองในจีนเป็นอย่างยิ่ง โดยที่มีศูนย์สเตทรูม ทั้งที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯในปักกิ่ง และสถานกงสุลอเมริกันในเซี่ยงไฮ้ และเฉิงตู ตลอดจนในที่ทำการทางการทูตอย่างไม่เป็นทางการของสหรัฐฯที่ไทเป บนเกาะไต้หวันด้วย
       
       ซิดนีย์มอร์นิ่งเฮรัลด์ ซึ่งเป็นกิจการในเครือ “แฟร์แฟกซ์มีเดีย” ระบุด้วยว่า สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯในกรุงเทพฯนั้นยังมีทีมสนับสนุนทางเทคนิค (สำหรับโปรแกรมสเตทรูม) ส่วนที่สถานกงสุลอเมริกันในจังหวัดเชียงใหม่ ก็มีศูนย์ปฏิบัติการสอดแนมอิเล็กทรอนิกส์แบบควบคุมทางไกล
       
       ต่อมาในวันพฤหัสบดี (31 ต.ค.) ซิดนีย์มอร์นิ่งเฮรัลด์ได้เสนอรายงานข่าวอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งอ้างข้อมูลจาก “จอมแฉ” สโนว์เดน และอดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของออสเตรเลียรายหนึ่ง บอกว่าสถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียหลายแห่งในเอเชีย ก็กำลังถูกใช้เป็นที่ดักจับสัญญาณโทรศัพท์และข้อมูล โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายตามโปรแกรมสเตทรูม เป็นต้นว่า สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียในจาการ์ตา, กรุงเทพฯ, ฮานอย, ปักกิ่ง, และ ดิลี ในติมอร์ตะวันออก รวมทั้งสำนักงานข้าหลวงใหญ่ในกัวลาลัมเปอร์, และใน พอร์ต มอร์สบี ในปาปัวนิวกินี
       
       ภายหลังรายงานข่าวเหล่านี้แพร่ออกไป หลายชาติเอเชียก็ได้ออกมาแสดงความไม่พอใจ มาร์ตี นาตาเลกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ออกคำแถลงในวันพุธ (30 ต.ค.) ระบุว่า อินโดนีเซียรับไม่ได้และคัดค้านอย่างรุนแรงต่อการติดตั้งอุปกรณ์ดักฟังใน สถานเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำจาการ์ตา ซึ่งหากเป็นจริง จะถือเป็นการละเมิดความมั่นคง บรรทัดฐานและจรรยาบรรณทางการทูต รวมทั้งจิตวิญญาณของมิตรภาพระหว่างประเทศ
       
       ขณะที่ หวา ชุนอิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงในวันพฤหัสบดี (31 ต.ค.) ว่า ปักกิ่งกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับรายงานนี้ และเรียกร้องให้ประเทศที่มีรายชื่อในข่าวชี้แจงข้อเท็จจริง
       
       ทางด้าน อาหมัด ซาฮิด ฮามิดี รัฐมนตรีมหาดไทยมาเลเซียกล่าวว่า รัฐบาลกังวลอย่างมากกับรายงานนี้ และจะสอบสวนว่า สถานเอกอัครราชทูตอเมริกันในกัวลาลัมเปอร์ถูกใช้เป็นศูนย์จารกรรมจริงหรือ ไม่ ขณะที่ฝ่ายค้านแดนเสือเหลืองเรียกร้องให้รัฐบาลยื่นเอกสารประท้วงต่อสถาน ทูตอเมริกันและออสเตรเลีย
       
       สำหรับไทย พลโทภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงระบุว่า รัฐบาลไทยแจ้งกับอเมริกาว่า การสอดแนมเข้าข่ายผิดกฎหมายของไทย และไทยจะไม่ให้ความร่วมมือหากได้รับการร้องขอให้ช่วยในการดักฟัง
       
       อย่างไรก็ดี พลโทภราดรไม่เชื่อว่า สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียมีความสามารถในการดำเนินการสอดแนมที่ต้องใช้เทคโนโลยีซับซ้อนได้
แผนที่แสดงประเทศที่เป็นเป้าหมายถูกจารกรรมข้อมูล
       ทั้งนี้ตามเอกสารลับ ซึ่ง สโนว์เดน อดีตพนักงานสัญญาจ้างของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (เอ็นเอสเอ) นำออกมาแฉนั้น มีการระบุว่า ในการแอบสอดแนมทางอิเล็กทรอนิกส์ในสถานที่ซึ่งตั้งอยู่ตามที่ทำการทางการทูต นั้น มีการซุกซ่อนอุปกรณ์ดักฟังในรูปแบบต่างๆ เช่น เสาอากาศที่ซ่อนอยู่ในโครงสร้างปลอม และศูนย์ปฏิบัติการก็มักใช้ห้องขนาดเล็กที่มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องเป็น จำนวนน้อย โดยเจ้าหน้าที่ในที่ทำการทางการทูตเหล่านั้นส่วนใหญ่ไม่ล่วงรู้ภารกิจสอดแนม นี้ด้วยซ้ำ
       
       ด้าน เดส บอลล์ ศาสตราจารย์จากศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และการทหาร มหาวิทยาลัยแห่งชาติของออสเตรเลีย เผยว่า เคยเห็นเสาอากาศที่ว่าซ่อนอยู่ในสถานเอกอัครราชทูตของทั้ง 5 ประเทศตามที่ถูกระบุ แต่ปฏิเสธที่จะระบุเฉพาะเจาะจงว่าเป็นสถานทูตในประเทศใด บอกเพียงว่า หลายประเทศใช้สถานทูตเป็นฐานดักฟังโทรศัพท์กันมานานแล้ว
       
       ส่วนนายกรัฐมนตรีโทนี แอ็บบอตต์ของออสเตรเลียกล่าวถึงเรื่องนี้เพียงว่า หน่วยงานทุกแห่งและเจ้าหน้าที่ทุกคนของรัฐบาลออสเตรเลียไม่ได้ละเมิดกฎหมาย ใดๆ
       
       ขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์รายงานในวันพุธ (30 ต.ค.) ว่า เอ็นเอสเอร่วมกับ จีซีเอชคิว ที่เป็นหน่วยงานความมั่นคงของอังกฤษ ได้แอบแฮกศูนย์ข้อมูลทั่วโลกของยาฮูและกูเกิล ภายใต้โปรแกรมที่ใช้ชื่อว่า “มัสคูลาร์” (MUSCULAR) ซึ่งสามารถเข้าถึงข้อมูลจากเครือข่ายใยแก้วนำแสงที่บริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ ใหญ่ของอเมริกา 2 รายนี้ใช้อยู่ได้โดยตรง
       
       รายงานยังระบุว่า โปรแกรมมัสคูลาร์นี้ต่างจาก “ปริซึม” (PRISM) ซึ่งเป็นโปรแกรมสอดแนมระบบอิเล็กทรอนิกส์ของเอ็นเอสเอที่สโนว์เดนเปิดโปง ตั้งแต่เมื่อหลายเดือนที่แล้ว ตรงที่ปรึซึมต้องอาศัยคำสั่งศาลเพื่อเข้าถึงข้อมูลของบริษัทไฮเทค
       
       จากเอกสารลับลงวันที่ 9 มกราคม 2013 ที่วอชิงตัน โพสต์อ้างอิง มัสคูลาร์ได้เก็บบันทึกการสื่อสารถึง 181 ล้านรายการในช่วง 30 วันก่อนหน้านั้น ซึ่งมีทั้งข้อมูลอีเมล เสียง และวิดีโอ
       
       หลังจากข่าวนี้แพร่ออกมา สองยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตต่างแสดงความไม่พอใจ โดยผู้บริหารกูเกิลชี้ว่า ข่าวนี้ตอกย้ำความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการปฏิรูปปฏิบัติการข่าวกรองของ รัฐบาล
       
       ขณะที่ พล.อ. คีธ อเล็กซานเดอร์ ผู้อำนวยการเอ็นเอสเอ ตอนแรกกล่าวแบบแบ่งรับแบ่งสู้ว่า เท่าที่รู้ เรื่องนี้ไม่เคยเกิดขึ้น ทว่า ในคำแถลงของเอ็นเอสเอที่ออกตามมาเมื่อค่ำวันพุธระบุว่า เอ็นเอสเอมีอำนาจในลักษณะต่างๆ เพื่อให้ภารกิจในการปกป้องประเทศลุล่วง และเป้าหมายของเอ็นเอสเอคือ การค้นหาและพัฒนาข่าวกรองเกี่ยวกับเป้าหมายด้านข้าวกรองที่แท้จริงของต่าง ชาติเท่านั้น
       
       วอชิงตันยังตีหน้าไม่ถูก หลังจากสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แถลงเมื่อวันพุธว่า ได้รับการรับรองจากหน่วยงานของอเมริกาว่า จะไม่ดักฟังการสื่อสารในยูเอ็นในอนาคต
       
       วันเดียวกัน เอ็นเอสเอยังต้องออกมาแก้ข่าวของสื่อแดนมักกะโรนีที่ว่า เอ็นเอสเอดักฟังการสื่อสารในสำนักวาติกัน ของพระสันตะปาปา ประมุขคริสตจักรคาทอลิก

จะ เอายังไงดีนายกฯปู ? “NSA” ใช้ “สถานทูตออสเตรเลีย” ดักฟังทั่ว “เอเชีย” และ “ไทย” โดนตั้งแต่ยุค 80 - “จีน”ต้องการคำอธิบายจาก “วอชิงตัน”

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

      เอ เจนซีส์/รอยเตอร์ - The Sydney Morning Herald ของออสเตรเลีย รายงานวันนี้ (31) ว่า หน่วยงาน NSA สหรัฐฯที่เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลง FIVE EYES กับประเทศสมาชิกทั้ง 5 ได้ใช้ที่ทำการสถานทูตออสเตรเลียทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ทำการจารกรรมข้อมูลใน อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน อินเดีย ปาปัวนิวกินี และมาเลเซีย รวมถึงสถานทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทยด้วย โดยออสเตรเลียนั้นพุ่งเป้าไปที่อินโดนีเซีย เพื่อต่อต้านก่อการร้ายและการแอบลักลอบขนคนเข้าเมือง ในขณะที่กรุงเทพฯ นั้นพบว่ามีการติดตั้งระบบดักฟังขึ้นตั้งแต่ในยุค 80 อ้างจากเอกสารลับของ NSA ที่ถูกเปิดเผยโดยเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ในขณะที่จีนนั้นต้องการคำอธิบายจากวอชิงตันในเรื่องการถูกดักฟังนี้ รวมทั้งขอให้ออสเตรเลียทำตามอนุสัญญาเวียนนา
       
       มีการพบว่าข้อมูลการสื่อสารนั้นจะถูกรวบรวมจากสถานทูตออสเตรเลียใน แถบเอเชียและแปซิฟิก รวมถึง กรุงจาการ์ตา กรุงฮานอย กรุงปักกิ่ง กรุงนิวเดลี รวมถึงกรุงเทพฯ อ้างจากสำนักข่าวแฟร์แฟกซ์ นอกจากนี้ สถานทูตออสเตรเลียที่ตั้งอยู่ในประทศเครือจักรภพอังกฤษ เช่น กรุงกัวลาลัมเปอร์ และกรุงพอร์ตมอร์สบี
       
       จากการเปิดเผยของนิตยสารเยอรมัน แดร์สปีเกล พบว่ามีการรวบรวมข้อมูลชั้นความลับที่สำคัญเป็นจำนวนมากผ่านช่องทางสถานทูต ของสหรัฐฯ และของประเทศสมาชิกทั้ง 5 ตามข้อตกลง FIVE EYES หรือ FVEY ที่มี สหรัฐฯ แคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นประเทศสมาชิก
       
       โดย FIVE EYES นั้นกำเนิดมาจากกฎบัตรแอตแลนติกตั้งแต่ปี 1941 ซึ่งปฏิบัติการร่วมมือสอดแนมของ FIVE EYES นี้อยู่ภายใต้ชื่อรหัสโครงการ “STATEROOM” ที่มุ่งดักฟังทางวิทยุ การสื่อสาร และทางจราจรบนอินเทอร์เน็ต โดยเอกสารลับของ NSA ได้ระบุว่า ปฏิบัติการ Australian Defence Signals Directorate ภายใต้โครงการ STATEROOM นั้นปฏิบัติการภายในสถานทูตออสเตรเลีย
       
       นอกจากนี้เอกสารลับยังบ่งชี้ว่า หน่วยปฏิบัติการล้วงความลับของออสเตรเลียนั้น “เล็กทั้งขนาดและกำลังคน” ซึ่งเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ในสถานทูตนั้นจะไม่ทราบถึง “ภารกิจที่แท้จริงของหน่วยงานนี้” นอกจากนี้เอกสารลับของหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐฯยังชี้ว่า มีการซ่อนอุปกรณ์ดักฟังต่างๆ ภายในสถานทูตเพื่อให้กลมกลืนกับสถานที่ เช่น อาจมีการซ่อนเสาอากาศไว้กับตัวอาคารสถานที่ให้กลมกลืน เช่น สิ่งตกแต่งอาคาร หรือหลังคา เป็นต้น ในขณะที่กระทรวงต่างประเทศออสเตรเลียปฏิเสธที่จะยืนยันข้อมูลในเรื่องนี้ โดยโฆษกประจำกระทรวงกล่าวเพียงว่า “มันเป็นข้อปฏิบัติของออสเตรเลียมานานแล้วที่จะไม่ตอบคำถามเกี่ยวข้องกับ ข้อมูลทางความมั่นคง”
       
       แต่ถึงแม้ว่าเอกสารลับของสหรัฐฯไม่ได้ระบุถึงสถานที่ตั้งที่ของ ปฏิบัติการสอดแนม Australian Defence Signals Directorate ที่แน่ชัด แต่ทว่าอดีตเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการในหน่วยนี้ได้เผยกับสำนักข่าวแฟร์แฟกซ์ว่า ปฏิบัติการนั้นทำขึ้นภายในที่ทำการสถานทูตออสเตรเลียตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และยังเผยต่อไปว่า การรวบรวมข้อมูลในกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย นั้นถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการต่อต้านก่อการร้ายและป้องกันการแอบลักลอบ นำคนเข้าเมือง แต่จุดมุ่งหมายหลักนั้นอยู่ที่การเมือง การทูต และการค้า โดยอดีตเจ้าหน้าที่ชาวออสเตรเลียผู้นี้ยังเผยต่อว่า “การเพิ่มจำนวนเครือข่ายการใช้โทรศัพท์มือถือในอินโดนีเซียนั้นมาก และคนระดับสูงของอินโดนีเซียเป็นพวกชอบพูดไม่หยุดถึงแม้ว่าพวกเขาจะรู้ว่า หน่วยงานการข่าวของประเทศตนเองอาจแอบดักฟังอยู่ พวกเขาเหล่านั้นยังคงพูดต่อไป” และอดีตเจ้าหน้าที่ผู้นี้ยังเผยต่อว่า กงสุลออสเตรเลียประจำเดนปาร์ซาร์ และบาหลี นั้นใช้เป็นแหล่งในการรวบรวมข่าวความมั่นคงด้วยเช่นกัน

แผนที่แสดงประเทศที่เป็นเป้าหมายถูกจารกรรมข้อมูล

       นอกจากนี้ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลติมอร์ตะวันออกได้ออกมาเปิดเผยต่อสาธารณะว่า โดนออสเตรเลียแอบสอดแนม รวมถึงการดักฟังทางการสื่อสาร และจารกรรมข้อมูลในระหว่างที่ทางรัฐบาลติมอร์ตะวันออกกำลังทำข้อตกลงเกี่ยว กับทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของประเทศ นอกจากนี้ยังพบว่า ในช่วงยุคปี 80 นั้นมีการติดตั้งเครื่องมืออุปกรณ์สอดแนมพิเศษในสถานทูตออสเตรเลียประจำ ปาปัวนิวกินี จาการ์ตา และกรุงเทพฯ
       
       และเอกสารลับยังเผยต่อว่า ยังมีการแอบจารกรรมข้อมูลลับสุดยอดด้านการทหารของอินโดนีเซีย และติมอร์ตะวันออก ในปี 1999 โดยระบุว่าออสเตรเลียสามารถดักฟังการสื่อสารความลับที่สำคัญทางทหารและการ สื่อสารของประชาชนชาวอินโดนีเซียได้อย่างกว้างขวาง
       
       ผู้เชี่ยวชาญข่าวกรอง ศาสตราจารย์ เดส บอล เผยกับแฟร์แฟกซ์ว่า หน่วย Australian Defence Signals Directorate นั้นได้มีความร่วมมือกับ NSA ของสหรัฐฯมานานแล้วในการแอบมอนิเตอร์การสื่อสารของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก รวมถึงการมีหน่วยปฏิบัติการคอยสอดแนมดักฟังประจำสถานทูตหรือสถานกงสุลในต่าง แดน โดยผู้เชี่ยวชาญท่านนี้ย้ำว่า “การได้รู้ว่าเพื่อนบ้านของเรากำลังคิดอะไรจริงๆ อยู่นั้นมีความสำคัญกับการทูต และข้อตกลงทางการค้า”
       
       และหลังจากที่ข่าวการดักฟังทั่วเอเชียและแปซิฟิกจากสถานทูต ออสเตรเลียนั้นแพร่ออกไป จีนรู้สึกเป็นกังวลต่อข่าวนี้มาก และต้องการฟังคำอธิบายจากรัฐบาลของประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา ในเรื่องนี้ โดยโฆษกประจำกระทรวงการต่างประเทศจีนเผยว่า “จีนมีความวิตกต่อข่าวการสอดแนมที่รายงานออกมาจากสื่อ และเรียกร้องให้สหรัฐฯมีคำอธิบายที่ชัดเจนในเรื่องนี้” และเธอยังกล่าวต่อไปว่า “ทางจีนยังเรียกร้องให้ทั้งสถานทูตต่างชาติตลอดจนเจ้าหน้าที่ประจำสถานทูต นั้นๆ ประจำจีนให้เคารพอนุสัญญาเวียนนาและกฎหมายสนธิสัญญาต่างๆ และไม่ข้องเกี่ยวกับกิจกรรมใดก็ตามที่ไม่มีความเกี่ยวพันกับทางสถานทูต หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อจีนหรือผลประโยชน์ของจีน” และเธอกล่าวตบท้ายว่า “จีนหวังว่าทางออสเตรเลียจะให้ความร่วมมืออย่างมากต่อคำขอนี้”


แฉข่าวกรองสหรัฐฯแอบเจาะศูนย์ข้อมูลทั่วโลก‘กูเกิล-ยาฮู’

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

      เอ เจนซีส์ -สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ (เอ็นเอสเอ) หน่วยงานรับผิดชอบเรื่องการสอดแนมอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐบาลอเมริกัน ได้แอบปฏิบัติการดักจับสัญญาณจากศูนย์ข้อมูลต่างๆ ในทั่วโลกของ กูเกิล และยาฮู ทั้งนี้ตามรายงานของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์เมื่อวันพุธ (30 ต.ค.)
       
       วอชิงตันโพสต์ซึ่งอ้างเอกสารลับที่นำออกมาเปิดโปงโดย “จอมแฉ” เอดเวิร์ด สโนว์เดน บวกกับการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่หลายๆ ราย รายงานว่า เอ็นเอสเอร่วมกับ จีซีเอชคิว ที่เป็นหน่วยงานความมั่นคงของอังกฤษ ได้แอบแฮกศูนย์ข้อมูลทั่วโลกของยาฮูและกูเกิล ภายใต้โปรแกรมที่ใช้ชื่อว่า “มัสคูลาร์” (MUSCULAR) ซึ่งสามารถเข้าถึงข้อมูลจากเครือข่ายใยแก้วนำแสงที่บริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ ใหญ่ของอเมริกา 2 รายนี้ใช้อยู่ได้โดยตรง
       
       รายงานยังระบุว่า โปรแกรมมัสคูลาร์นี้ต่างจาก “ปริซึม” (PRISM) ซึ่งเป็นโปรแกรมสอดแนมระบบอิเล็กทรอนิกส์ของเอ็นเอสเอที่สโนว์เดนเคยเปิดโปง ไว้ตั้งแต่เมื่อหลายเดือนที่แล้ว ตรงที่ปรึซึมต้องอาศัยคำสั่งศาลเพื่อเข้าถึงข้อมูลของบริษัทไฮเทค
       
       ทั้งนี้จากเอกสารที่วอชิงตันโพสต์นำมาอ้างอิงบ่งบอกให้เห็นว่า การสอดแนมตามโปรแกรมมัสคูลาร์ เป็นการปฏิบัติการนอกสหรัฐฯ โดยที่มีผู้ให้บริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมซึ่งไม่มีการระบุนามรายหนึ่ง เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ เนื่องจากเป็นการแอบดักฟังนอกอเมริกา เอ็นเอสอีจึงไม่ต้องร้องขอคำสั่งศาลก่อน

       จากเอกสารลับลงวันที่ 9 มกราคม 2013 ที่วอชิงตันโพสต์อ้างอิง มัสคูลาร์ได้เก็บบันทึกการสื่อสารถึง 181 ล้านรายการในช่วง 30 วันก่อนหน้านั้น ซึ่งมีทั้งข้อมูลอีเมล เสียง และวิดีโอ
       
       หลังจากข่าวนี้แพร่ออกมา สองยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตต่างแสดงความไม่พอใจ โดยที่ เดวิด ดรัมมอนด์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของกูเกิลบอกว่า บริษัทไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมเช่นนี้ และนี่เป็นเหตุผลที่ทำให้กูเกิลใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อเข้ารหัส บริการและลิงก์ต่างๆ ของกูเกิลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกันนี้ข่าวนี้ก็ยิ่งตอกย้ำความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการปฏิรูปปฏิบัติ การข่าวกรองของรัฐบาล
       
       ส่วนยาฮูออกคำแถลงว่า บริษัทได้พยายามใช้มาตรการควบคุมอันเข้มงวดมาปกป้องความปลอดภัยของศูนย์ ข้อมูลของตน และไม่ได้ยินยอมให้เอ็นเอสเอหรือหน่วยงานรัฐบาลอื่นๆ เข้าถึงศูนย์ข้อมูลเหล่านี้
       
       ขณะที่ พล.อ. คีธ อเล็กซานเดอร์ ผู้อำนวยการเอ็นเอสเอ ตอนแรกกล่าวแบบแบ่งรับแบ่งสู้ว่า เท่าที่รู้ เรื่องนี้ไม่เคยเกิดขึ้น ทว่า ในคำแถลงของเอ็นเอสเอที่ออกตามมาเมื่อค่ำวันพุธระบุว่า เอ็นเอสเอมีอำนาจในลักษณะต่างๆ เพื่อให้ภารกิจในการปกป้องประเทศลุล่วง และเป้าหมายของเอ็นเอสเอคือ การค้นหาและพัฒนาข่าวกรองเกี่ยวกับเป้าหมายด้านข้าวกรองที่แท้จริงของต่าง ชาติเท่านั้น


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : จีน-อาเซียน-ไทย US-ออสซี่ สถานทูต ดักฟัง ทั่วทั้งเอเชีย

view