สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สมเด็จพระสังฆราช สุวัฑฒโนมหาเถระ

จากประชาชาติธุรกิจ

ข่าวการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก นั้นยังความเศร้าสลดใจมาสู่ปวงประชาชนไทยทุกหมู่เหล่า มิใช่แต่ชาวพุทธเท่านั้น แม้แต่ชาวมุสลิม ชาวคริสต์ ก็รูู้สึกอาลัยในพระองค์ท่านเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อทรงเจริญพระชนมายุครบ 100 พรรษา ในวันที่ 3 ตุลาคม 2556 พวกเราชาวพุทธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวลูกศิษย์วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร ก็รู้สึกปลาบปลื้มยินดีที่พระองค์ท่านทรงดำรงพระชนม์ชีพยั่งยืนนานกว่าสมเด็จพระสังฆราชพระองค์อื่นๆ มิใช่เฉพาะยุครัตนโกสินทร์เท่านั้น แต่ทั้งสยามประเทศเลยทีเดียว

โชคดีที่ได้เคยเป็นสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกของพระองค์ท่าน เมื่อคราวที่ได้อุปสมบทที่วัดบวรนิเวศราชวิหารวรวิหาร ในกาลพรรษาปี 2519 เพื่อเตรียมตัวจะไปทำงานในต่างประเทศ พระองค์ท่านทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ พระเทพกวี (บุญธรรม) และพระครูพุทธมนต์ปรีชา (ยนต์) เป็นพระคู่สวด พระองค์ท่านเป็นผู้ให้อนุศาสน์ 8 อันได้แก่ นิสสัย 4 และอกรณียกิจ 4 เป็นภาษาบาลี เมื่อออกจากโบสถ์พระที่เลี้ยงจะต้องมาอธิบายเป็นภาษาไทยอีกที และให้โอวาทแก่นวกะหรือภิกษุผู้มาใหม่ตลอดทั้งพรรษาคือประมาณ 4 เดือน ที่พำนักจำพรรษาอยู่วัดบวรนิเวศนั้น จึงได้เห็นปฏิปทาจริยวัตรของพระองค์ท่านอย่างไม่ใกล้ไม่ไกล ในฐานะสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิก

จำได้ว่าตลอดทั้งพรรษาได้เห็นพระองค์ท่านทรงออกบิณฑบาตทุกเช้า ถ้าพวกเราออกบินฑบาตไปทางถนนพระสุเมรุ อ้อมไปทางถนนสิบสามห้าง ผ่านตลาดยอด วกไปทางโรงเรียนสตรีวิทย์ เข้ามาทางถนนวันชาติ จะต้องเดินสวนทางกับพระองค์ท่านอยู่เสมอ สมัยนั้นพระองค์ท่านทรงสมณศักดิ์ที่พระสาสนโสภณ ชั้นรองสมเด็จแล้ว พร้อมกับทรงเป็นเจ้าอาวาส แต่ก็ยังทรงออกบิณฑบาตตอนเช้า ไม่ว่าฝนจะตกแดดจะออก ทรงเดินด้วยเท้าเปล่า ไม่สวมรองพระบาทเมื่อออกจากวัด ตามพระขนบธรรมเนียมของธรรมยุต แม้ถนนหนทางจะเฉอะแฉะและค่อนข้างสกปรกก็ตาม

พวกเราชาวนวกะ เมื่อฉันจังหัน ทำกิจธุระต่างๆ แล้ว ก็ด้วยเวลาประมาณ 8 นาฬิกาจะต้องเข้าโบสถ์ สวดมนต์ทำวัตรเช้า สมเด็จท่านก็มานำสวดมนต์ด้วยทุกวันมิได้ขาด หลังจากนั้นเข้าเรียนหนังสือของหลักสูตรนักธรรมตรี ซึ่งมีหลายวิชา เช่น พุทธประวัติ นวโกวาท หรือโอวาทสำหรับผู้มาใหม่ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งพิมพ์ติดต่อกันมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2442 จนถึงปัจจุบัน โดยสมเด็จท่านก็จะเสด็จมาเปิดชั้นเรียนในวันแรก เมื่อหยุดฉันเพลเวลาประมาณ 11 นาฬิกา พอบ่าย 2 โมง ก็ต้องเข้าห้องเพื่อรับการอบรมธรรมะโดยพระอุปัชฌาย์ ซึ่งก็คือพระองค์ท่านนั่นเอง พระองค์ท่านทรงลงมาเทศนาอบรมสั่งสอนพระบวชใหม่ทุกวัน จะหยุดเฉพาะวันโกนกับวันพระเท่านั้น เมื่อท่านทรงอบรมเสร็จก็จะให้พระใหม่ทุกรูปทำสมาธิวิปัสสนาพร้อมๆ กับพระองค์ท่านทุกวัน

เท่าที่จำได้พระโอวาทที่ท่านทรงประทานทุกวันตลอดทั้งพรรษานั้น จะครอบคลุมไปหมดทุกเรื่องที่พระภิกษุควรจะรู้ ควรจะปฏิบัติ และที่สำคัญคือ พระองค์ท่านทรงเป็นพระปฏิบัติด้วย ทรงทำกรรมฐานเจริญวิปัสสนาทุกวัน

ในวันเข้าพรรษา สมเด็จท่านจะทรงนำสิ่งของที่ผู้คนมาถวายทั้งปีก่อนเข้าพรรษา นำออกมาติดสลากให้พวกเรานวกะจับสลากทั้งหมด ส่วนผ้าไตรจีวรของพระองค์ท่านและของพระภิกษุอื่นๆ ที่รับถวายมาก็จะนำมารวบรวมเอาไว้ เพื่อไปแจกจ่ายถวายแก่พระภิกษุในชนบทที่ขาดแคลนเครื่องไตรจีวร พระนวกะเราจะเก็บไว้ใช้เพียง 2 ชุด คือ ชุดที่อธิษฐานและชุดสำรอง สมัยนั้นปฏิบัติกันอย่างนี้

ทุกรูปสิ่งที่พระอุปัชฌาย์ให้โดยการจับฉลากก็มักจะไม่ใช้แต่เก็บไว้เป็นของสิริมงคล เมื่อลาสิกขาออกมา

ทุกวันตอน 2 ทุ่ม เป็นเวลาทำวัตรเย็น สมเด็จจะทรงนำสวดมนต์ทำวัตรเย็นทุกวันมิได้ขาดตลอดทั้งพรรษา ธรรมเนียมของวัดบวรนิเวศวิหารเมื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้วจะไม่เรียกชื่อเดิมกัน แต่จะเรียกขานกันด้วยชื่อหรือฉายาที่พระอุปัชฌาย์ตั้งให้ ทุกวันตอนทำวัตรเช้าและทำวัตรเย็นจะมีการขานชื่อ พระที่ถูกเรียกชื่อก็จะตอบว่า ?อัคคโตภันเต? พระองค์ท่านก็จะทรงนั่งฟังการขานชื่อทุกวันไป พระทุกรูปจึงไม่กล้าขาดสวดมนต์ ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น

ทุกวันหลังจากทำวัตรเย็น หากผู้ใดสนใจจะไปทำสมาธิกรรมฐาน ก็จะไปร่วมกันทำที่ตำหนักของพระองค์ท่านก็ได้ สำหรับวันพระโดยเฉพาะวันพระใหญ่ขึ้นหรือแรม 15 ค่ำ พระทุกรูปทั้งวัดจะต้องลงฟังสวดปาฏิโมกข์ อันเป็นการสวดท่องพระวินัยทั้ง 227 ข้อ พระที่จะสวดปาฏิโมกข์ต้องฝึกฝนให้ออกเสียงภาษามคธได้อย่างแม่นยำถูกต้องคล่องแคล่วใช้เวลาไม่เกิน 45 นาที เมื่อพระภิกษุที่จำพรรษาอยู่ที่วัดมานั่งเป็นหัตถบาส คือ นั่งห่างกันไม่เกิน 1 ศอกกับ 1 คืบ พระที่จะสวดปาฏิโมกข์ก็จะขึ้นนั่งบนตั่ง สมเด็จจะทรงนั่งกำกับอยู่ทุกครั้ง ทรงคอยฟังว่าพระที่ยกขึ้นเป็นผู้สวดปาฏิโมกข์จะออกเสียงถูกต้องตามอักขระหรือไม่ ถ้าไม่ถูกก็จะทรงออกเสียงกระแอมในลำคอเบาๆ ให้ออกเสียงใหม่ พระผู้สวดก็จะออกเสียงใหม่สำหรับคำนั้นๆ ให้ถูกต้องก่อนจึงจะสวดต่อไปได้ แสดงว่าสมเด็จท่านคงจะแม่นยำในคำสวด ทั้งพรรษาจะเห็นพระองค์ท่านทรงนั่งกำกับการสวดปาฏิโมกข์อยู่ทุกครั้ง

ทุกวันพระจะมีญาติโยมเข้ามาร่วมสวดมนต์ทำวัตรเช้าและเย็นมากมายเต็มโบสถ์จนล้นออกไปด้านนอก หลังทำวัตรเย็นเสร็จจะมีเทศนาโปรดญาติโยมและพระภิกษุ สมเด็จก็จะทรงขึ้นธรรมมาสแสดงธรรมเทศนา ถ้าเป็นวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันอาสาฬหบูชา วันวิสาขบูชา วันเข้าพรรษา วันมาฆบูชา เนื้อหาก็จะเป็นเรื่องของวันสำคัญเหล่านั้น

เป็นธรรมเนียมของวัดบวรนิเวศอีกเหมือนกันที่สัทธิวิหาริกและอันเตวาสิก เมื่อบิณฑบาตครั้งแรกได้ภัตตาหารแล้วจะนำไปถวายพระอุปัชฌาย์ พระองค์ท่านก็จะอยู่คอยรับจากสัทธิวิหาริกทุกรูปไป ไม่ได้ขาด



สมเด็จท่านทรงนิยมสร้างพระกริ่งและพระพิมพ์ พระกริ่งและพระผงของวัดบวรนิเวศวิหารนั้นเป็นที่นิยมกันมาก เริ่มจากพระกริ่งรุ่นแรกคือพระกริ่งปวเรศ สร้างโดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สร้างเมื่อวันเพ็ญเดือนสิบสอง พ.ศ.2404 ตามกำลังวัน 22 องค์ ถวายแด่เจ้านายชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป กริ่งรุ่นที่ 2 คือ กริ่งไพรีพินาศ สร้างครั้งแรกเมื่อปี 2495 เมื่อครั้งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ยังทรงครองวัดบวรนิเวศวิหารอยู่ และมีการสร้างสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ปี 2533 จึงมีพระกริ่งและเหรียญไพรีพินาศรุ่น ?ญสส? รุ่นแรกออกมาหลังจากนั้นก็มีรุ่นต่อมาเรื่อยๆ ส่วนพระพิมพ์ก็นิยมเป็นรูปพระไพรีพินาศ พระนิรันตราย พระศรีศาสดา และพระพุทธชินสีห์

นอกจากพระกริ่งรุ่นต่างๆ แล้วยังมีพระพุทธรูปบูชา ?ภปร? ขนาด 9 และ 5 นิ้ว รุ่นแรกออกที่วัดเทวสังฆาราม จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นวัดที่สมเด็จทรงบรรพชาเป็นสามเณรและอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่นั่น ก่อนจะมา ?ญัตติ? ซ้ำในธรรมยุติกนิกาย เมื่อปี 2476 หลังจากนั้นมีการปั้นและหล่อพระพุทธรูป ?ภปร? ใหม่รุ่นแรกของวัดบวรนิเวศวิหารออกเมื่อปี 2508 และทยอยหล่อต่อมาอีกเรื่อยๆ แล้วแต่มีผู้มาจอง ซึ่งจะมีโลหะชนวนที่ปลุกเสกพร้อมกันเมื่อปี 2508 อยู่ทุกองค์ พระพุทธรูปบูชา ?ภปร? ขนาดหน้าตัก 9 นิ้ว และ 5 นิ้ว มีพุทธลักษณะแบบสุโขทัย ที่พบว่าสวยงามที่สุดเท่าที่เคยเห็นมาตราบจนทุกวันนี้ เมื่อพระบวชใหม่ขอลาสิกขาก็มักจะบูชากลับบ้านไปบูชาที่บ้านทุกคนไป

สำหรับพระผง ?ญสส? ทุกรุ่นจะมีผงจิตรลดาและพระเกศาของพระองค์ท่านที่เก็บไว้เมื่อวันโกนผสมอยู่ทุกรุ่น ดังนั้น จึงเป็นพระผงที่ได้รับความนิยมตลอดมา แม้ว่าจะมีการสร้างอยู่เรื่อยๆ ทุกปีก็ตาม

ที่วัดบวรนิเวศวิหารจะมีการจัดกุฏิให้พระต่างประเทศมาพำนักหรือจำพรรษาอยู่ที่ตึกในคณะสูง พระต่างประเทศมีทั้งพระเถรวาท พระมหายาน หรือแม้แต่พระลามะจากพม่า ลังกา ลาว กัมพูชา อินโดนีเซีย อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี เนปาล ภูฏาน อเมริกา ยุโรป

สมเด็จท่านจะเป็นผู้อบรมเทศนาธรรมกับพระภิกษุเหล่านั้นเอง โดยเปิดโอกาสให้พระภิกษุเหล่านั้นได้มีโอกาสตั้งปุจฉาและทรงวิสัชนาด้วยพระองค์เอง ทรงตรัสเป็นภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และเยอรมันกับพระภิกษุเหล่านั้นได้เป็นที่น่าอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง เคยอยากจะเข้าฟังธรรมะที่พระองค์ท่านสั่งสอนพระภิกษุต่างประเทศเหล่านั้นแต่ไม่กล้าขอ แต่ได้รับการยืนยันจากพระภิกษุต่างประเทศเหล่านั้นว่า ตนได้รับพระเมตตาให้เข้าเฝ้าเพื่อสนทนาธรรมกับพระภิกษุเหล่านั้นอยู่เสมอ และทรงให้เวลาคราวละนานๆ ด้วย



ในกาลพรรษาปี 2519 นั้น มีเหตุการณ์ต่างๆ ทางการเมืองที่วุ่นวาย เพราะจอมพลถนอม กิตติขจร ไปบวชเป็นสามเณรแล้วเดินทางมาบวชเป็นพระภิกษุ อยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร จึงเกิดความปั่นป่วนวุ่นวายอยู่ข้างนอก

ต่อมา พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ มีความขัดแย้งกันในกองทัพก็มาขอบวชที่วัดบวรนิเวศวิหารอีก ซึ่งก็ทรงมีเมตตาทำการบวชให้ เมื่อความปั่นป่วนวุ่นวายเกิดขึ้นพระองค์ท่านก็ทรงสงบนิ่งเยือกเย็น เป็นที่พึ่งของคนที่กำลังตกทุกข์ได้ยากทุกหมู่เหล่า เมื่อออกพรรษาแล้วก็ได้ข่าวว่าพระภิกษุ พล.อ.ฉลาดได้ไปลาสิกขา แล้วออกไปทำการปฏิวัติแต่ก็ไม่สำเร็จ

ตลอดกาลพรรษาที่ได้เข้าไปเป็นสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกของพระองค์ท่าน จึงได้เห็นพระปฏิปทาจริยวัตร การดำรงพระองค์ เป็นตัวอย่างที่ประเสริฐที่สุดสำหรับพระภิกษุสามเณรที่อยู่ในวัด ไม่เคยมีสิ่งใดที่จะขาดตกบกพร่องเลยแม้แต่น้อย

พระองค์ท่านจึงเป็นที่เคารพศรัทธาของผู้ที่ได้พบเห็นและมหาชนโดยทั่วไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทรงปฏิบัติกิจอบรมสั่งสอนสม่ำเสมอ ไม่เคยเห็นท่านว่างเว้นจากภารกิจต่างๆ ตั้งแต่ตื่นบรรทมจนกระทั่งเข้าสู่บรรทมทุกวัน

พระองค์ท่านคงจะถึงซึ่งพระนิพพานแล้ว


ที่มา นสพ.มติชน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สมเด็จพระสังฆราช สุวัฑฒโนมหาเถระ

view