สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เพ้ง ฟื้นท่อน้ำมันแลนด์บริดจ์ โครงการ3หมื่นล.บูมปากบารา

จากประชาชาติธุรกิจ

"เพ้ง" ปัดฝุ่นโครงการสะพานเศรษฐกิจ "แลนด์บริดจ์" ตั้งเป้าปีหน้าเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาเสนอแผนลงทุน วางท่อน้ำมันเชื่อมปากบารา-สงขลา จูงใจเรือบรรทุกน้ำมันหนีความแออัด ผ่านช่องแคบมะละกา ใช้เงินลงทุน 1,100 ล้านเหรียญ

นาย พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงความคืบหน้าในการดำเนินโครงการสะพานเศรษฐกิจ (Energy Land Bridge) เพื่อเป็นศูนย์กลางธุรกิจพลังงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการวางท่อขนส่งน้ำมันเชื่อมทะเลอันดามันกับฝั่งอ่าวไทยข้ามคาบสมุทรว่า ผลการศึกษาที่จ้างบริษัทปัญญาคอนซัลแตนท์ได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้นจะสามารถเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาเสนอการลงทุนวางท่อน้ำมันได้ในปี 2557

"โครงการ นี้รัฐบาลจะไม่ทำเอง แต่ให้เอกชนมาทำ แล้วเราเก็บผลประโยชน์แทน เช่น ค่าสัมปทาน และจะมีรายได้เกิดจากอุตสากรรมต่อเนื่องตามมา การขนน้ำมันดิบทางท่อผ่านคาบสมุทร จะมีจุดรับน้ำมันจากเรือบรรทุกน้ำมันขนาด 300,000 ตันนอกชายฝั่งยื่นออกไปในทะเลราว 10-20 กิโลเมตร รับน้ำมันดิบขึ้นฝั่งที่ทั้ง 2 ด้านจะมีคลังน้ำมันตั้งอยู่ เสร็จแล้วน้ำมันดิบจะไหลผ่านท่อมายังฝั่งอ่าวไทย วิธีการนี้จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนน้ำมันดิบผ่านช่องแคบมะละกา ผลศึกษามีตัวเลขออกมาแล้ว ต่อจากนั้นอาจจะมีโรงกลั่นน้ำมันขึ้นตามมา อุตสาหกรรมปิโตรเคมี นอกจากนี้ การขนส่งน้ำมันผ่านท่อและระบบคลังน้ำมัน 2 ฝั่งจะถือเป็นการสำรองน้ำมันตามนโยบายของรัฐบาลด้วย" นายพงษ์ศักดิ์กล่าว

โครงการ สะพานเศรษฐกิจมีความจำเป็นต้องทำ เพราะในอนาคตการขนส่งน้ำมันดิบด้วยเรือบรรทุกน้ำมันผ่านช่องแคบมะละกาจะมี ความแออัดมาก ในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีการขนส่งน้ำมันผ่านช่องแคบเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันอีกไม่ ต่ำกว่า 5 ล้านบาร์เรล/วัน ตรงนี้จะต้องหาทางขนส่งผ่านช่องทางอื่น ๆ ซึ่งหากประเทศไทยดำเนินโครงการวางท่อขนส่งน้ำมันข้ามคาบสมุทร ก็จะตอบโจทย์ความต้องการนี้ได้ทันที

"เบื้อง ต้นน้ำมันไหลผ่านท่อจะเริ่มที่ปริมาณ 2 ล้านบาร์เรล/วัน ต่อไปอาจจะขยายได้ถึง 10 ล้านบาร์เรล/วัน ใช้เวลา 1-2 วันไหลผ่านท่อเมื่อเทียบกับผ่านช่องแคบมะละกาจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 วัน โดยผมจะนำโครงการนี้เข้าหารือกับสภาพัฒน์เร็ว ๆ นี้ เพื่อพิจารณาว่าจะใช้เส้นทางใดวางท่อส่งน้ำมัน การเวนคืน การขออนุญาต ผลกระทบต่าง ๆ ส่วนการลงทุนยังไม่ได้ประเมินไว้ละเอียด เพราะผลการศึกษายังทำแค่แนวทางเหมาะสมก่อนเท่านั้น" นายพงษ์ศักดิ์

ด้าน นายเทียนไชย จงพีร์เพียร นักวิชาการพลังงาน ในฐานะส่วนหนึ่งของทีมที่ปรึกษาโครงการสะพานเศรษฐกิจ กล่าวเพิ่มเติมถึง ผลการศึกษาของบริษัทปัญญคอนซัลแทนท์ในโครงการศึกษาการจัดตั้งสะพานเศรษฐกิจ (Energy Land Bridge) เพื่อเป็นศูนย์กลางธุรกิจพลังงานของภูมิภาค ด้วยการวางท่อส่งน้ำมันใน 3 เส้นทางคือ 

1) เส้นทางทวาย-กาญจนบุรี-แหลมฉบัง ระยะทาง 471 กม. 2) เส้นทางกระบี่-ขนอม (ทับละมุ-สิชล) ระยะทาง 237 กม. และ 3) เส้นทางปากบารา-สงขลา ระยะทาง 156 กม. 

โดย ผลการศึกษาที่วิเคราะห์จากตัวแปรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคง ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วพบว่า เส้นทางปากบารา-สงขลาค่อนข้างมีความเป็นไปได้มากที่สุด ส่วนเรื่องของเงินลงทุนในแต่ละเส้นทางไม่แตกต่างกันมากนัก โดยเส้นทางปากบารา-สงขลาจะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ

ด้าน รูปแบบการลงทุนมี 3 แบบ คือภาคเอกชนลงทุน 100%, ภาครัฐลงทุนร่วมกับภาคเอกชน และลงทุนร่วมกัน แต่คืนบางส่วนให้กับภาครัฐ ในส่วนนี้เป็นหน้าที่ของสภาพัฒน์กับกระทรวงพลังงานจะต้องพิจารณากันต่อไป ว่าควรจะใช้แนวทางไหน

"โครงการ นี้เป็นโครงการที่จะเข้ามารองรับระบบการขนส่งน้ำมันดิบผ่านช่องแคบมะละกา ในอีก 10 ปีข้างหน้าจะแออัดมากจากสภาพของช่องแคบที่ยาวมากกว่า 900 กม. มีความกว้างตั้งแต่ 2.5 กม. ถึง 400 กม.ไม่สม่ำเสมอ ผลการศึกษาพบว่าในอีก 20 ปีขีดความสามารถในการขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบจะเต็มจากปัจจุบันอยู่ที่ 70,000-100,000 เที่ยว/ปี การขนส่งแม้จะสั้น แต่อาจต้องใช้เวลานานในการรอ ฉะนั้น ในหลายประเทศในกลุ่มอาเซียนก็มีความพยายามที่จะหาเส้นทางอื่น ๆ 

แม้ กระทั่งที่ทวายของเมียนมาร์ หลายประเทศก็จับตาดูความคืบหน้าในการพัฒนา ซึ่งหากไทยไม่ทำโครงการใด ๆ ก็อาจจะเสียโอกาสได้" นายเทียนไชยกล่าว

ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือปากบารา จ.สตูล (ระยะที่ 1) ตั้งอยู่บริเวณคลองปากบารา อ.ละงู จ.สตูล เป็นหนึ่งในที่อยู่ในแผนการลงทุนภายใต้พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาระยะเวลาดำเนินการเริ่มปีงบ ประมาณ 2557 สิ้นสุดปีงบประมาณ 2563 งบประมาณก่อสร้าง 11,426,742,000 บาท ค่าจ้างที่ปรึกษา 360,018,000 บาท รวม 11,786,760,000 บาท

เป้า หมายเพื่อเป็นประตูการค้าทางฝั่งทะเลอันดามัน เชื่อมโยงศูนย์กลางการขนส่ง ขนถ่ายสินค้าทางทะเลไปยังเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และยุโรป รวมทั้งเชื่อมโยงชายฝั่งทะเลอันดามัน อ่าวไทย และชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก 


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เพ้ง ท่อน้ำมันแลนด์บริดจ์ โครงการ3หมื่นล. บูมปากบารา

view