สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ ปี 2013

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ คนเดินตรอก โดย วีรพงษ์ รามางกูร

รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปี 2013 นี้ คณะกรรมการรางวัลโนเบลของราชบัณฑิตสภาด้านวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน ได้ลงมติมอบรางวัลโนเบลให้กับนักเศรษฐศาสตร์อเมริกัน 3 ท่าน คือ ดร.อูจีน เอฟ. ฟามา ดร.ลาร์ส ปีเตอร์ แฮนเซน และ โรเบิร์ต เจ. ชิลเลอร์

Dr.Eugene F. Fama เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1939 ที่เมืองบอสตัน มลรัฐแมสซาชูเซตส์ สำเร็จปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยชิคาโกเมื่อปี 1964 ขณะนี้เป็นศาสตราจารย์ทางด้านการเงิน หรือ Robert R. McCormick Distin-guished Service Professor of Finance ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก

Dr.Lars Peter Hansen เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1952 ที่สหรัฐอเมริกา สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยมินนิโซตา เมืองมินเนอาโปลิส สหรัฐอเมริกา เป็นศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์และสถิติ หรือ David Rockefeller Distinguished Service Professor in Economics and Statistics ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับ ดร.ฟามา

Dr.Robert J. Shiller เกิดที่เมืองดีทรอยต์ เมื่อปี ค.ศ. 1946 สหรัฐอเมริกา ได้รับปริญญาเอกจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ หรือ เอ็ม.ไอ.ที.เมืองบอสตัน เมื่อปี ค.ศ. 1972 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์ หรือ Steering Professor of Economics ที่มหาวิทยาลัยเยล เมืองนิวเฮเวน มลรัฐคอนเนกทิคัต สหรัฐอเมริกา

ศาสตราจารย์ ทั้ง 3 ท่านได้ทำงานค้นคว้าวิจัย สร้างผลงานที่จะพยายามวัด หรือคาดการณ์ราคาตลาดของสินทรัพย์ทางการเงินในตลาดทุนหลาย ๆ ตลาด เพื่อสร้างเป็นทฤษฎีและวิธีวัดราคาตราสารทางการเงิน เพื่อจะได้ทราบผลตอบแทนต่อการลงทุนในตลาดทุน เช่น ตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร และตลาดการเงินอื่น ๆ


ได้มีความพยายามมาเป็นเวลานาน โดยนักเศรษฐศาสตร์และนักสถิติที่พยายามสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ใช้เครื่องมือในทางสถิติที่จะอธิบายพฤติกรรมของตลาดหลักทรัพย์ต่าง ๆ เช่น ตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร และตลาดตราสารหนี้ แต่ก็ไม่มีใครสามารถอธิบายพฤติกรรมของตลาดเหล่านี้ได้อย่างแจ่มชัดเป็นที่ ยอมรับได้ เพราะเหตุว่าตลาดหลายตลาดมีกฎระเบียบข้อบังคับ รวมทั้งทัศนคติของผู้กำกับควบคุมตลาดที่ต่างกัน

วัฒนธรรมการดำเนิน การทางธุรกิจและความสมบูรณ์ของการรับรู้ข่าวสารต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน แม้แต่ในตลาดเดียวกัน เช่น ตลาดหลักทรัพย์ที่นิวยอร์ก ลอนดอน ปารีส โตเกียว เมื่อเวลาเปลี่ยนไป สิ่งต่าง ๆ ที่เป็นกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ วัฒนธรรม และทัศนคติของผู้กำกับควบคุมก็เปลี่ยนไปด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับกันว่าการคาดคะเนราคาหลักทรัพย์ในระยะสั้น เช่น วันพรุ่งนี้ สัปดาห์หน้า หรือเดือนหน้าจะเป็นอย่างไร เท่าใดนั้น เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้หรือทำได้ยาก ราคา ณ จุดนี้วันนี้จะเป็นอย่างไร เป็นการเคลื่อนไหวแบบ "สุ่ม" หรือ "Random Walk" ไม่มีทิศทางหรือแบบแผนที่แน่นอน ที่จะนำมาสร้างเป็นทฤษฎีได้

นัก เศรษฐศาสตร์ทั้ง 3 ท่านได้ทำวิจัยและพิมพ์ผลงานออกมายืนยันว่า ในระยะสั้นการเคลื่อนไหวของราคาหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินทางการเงินเป็นสิ่ง ที่ทำได้ยากมาก หรืออาจจะทำไม่ได้เลย เพราะการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์เหล่านี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐาน ของหลักทรัพย์เหล่านี้ แต่ขึ้นอยู่กับ "ข้อมูลข่าวสาร" ที่เกี่ยวกับบริษัทที่เป็นเจ้าของตราสารทางการเงินเหล่านี้

ตราสาร ทางการเงินที่มีผลตอบแทนสูง ก็จะเคลื่อนไหวขึ้นลงมากและเร็วกว่าตราสารการเงินที่มีผลตอบแทนต่ำ ดังนั้นเมื่อนำเอาค่าความเสี่ยงมาคำนวณรวมเข้ากับผลตอบแทน "ผลตอบแทนที่คาด" หรือ "Expected Return" อาจจะไม่ต่างกันมากอย่างที่คิด

นอกจากนั้น การคาดคะเนหรือการพยากรณ์ราคาหรือผลตอบแทนในตลาดที่มีประสิทธิภาพ หรือ Efficient Market ทำได้ยากกว่าตลาดที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ตลาดในประเทศกำลังพัฒนาที่ข้อมูลข่าวสารรั่วไหลง่าย หรือมีการปั่นตลาดโดยนักลงทุนรายใหญ่ หรือมีการแทรกแซงตลาดโดยทางการบ่อย ๆ ซึ่งเป็นความคิดที่ตรงกันข้ามกับความคิดเดิมที่ว่า ตลาดที่ยังไม่พัฒนานั้นคาดการณ์ได้ยากกว่าตลาดที่พัฒนาแล้ว ความจริงตลาดที่พัฒนาการขึ้นลงของราคาหลักทรัพย์คาดคะเนได้ยากกว่า

เหตุผล ที่พฤติกรรมของตลาดที่พัฒนาแล้ว การคาดการณ์ทำได้ยากกว่าก็เพราะว่า เมื่อมีข่าวสารเรื่องใดประกาศออกไป ตลาดที่พัฒนาแล้วหรือตลาดที่มีประสิทธิภาพ

จะปรับตัวทันทีไม่ปรับตัว แบบค่อยเป็นค่อยไป และเมื่อปรับตัวไปสู่จุดใหม่แล้วจะเคลื่อนไหวไปทางไหนต่อไปไม่มีใครบอกได้ เป็น "การเคลื่อนไหวแบบสุ่ม" หรือ "Random Walk" อย่างที่กล่าวมาแล้ว แต่ตลาดที่กำลังพัฒนาจะปรับตัวช้ากว่าด้วยปัจจัยความไม่สมบูรณ์ของตลาด จึงคาดคะเนได้ง่ายกว่า

แต่ในระยะยาวนักเศรษฐศาสตร์ทั้ง 3 ท่านได้แสดงให้เห็นโดยงานวิจัยและทดสอบว่า พอจะพยากรณ์หรือพอจะทำนายได้ว่าทิศทางของราคาหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ทางการ เงินจะเคลื่อนไหวไปในทางใด อย่างไร

โดยปกติทุกสังคมโดยส่วนรวม ครัวเรือนและภาคธุรกิจจะเป็นภาคที่มีรายได้ส่วนที่เหลือจากการบริโภค ซึ่งเรียกว่า การออม เงินออมเหล่านี้จะถูกใช้ไปเพื่อการลงทุน รัฐบาลส่วนมากจะเป็นผู้ที่ใช้เงินออมเพื่อใช้จ่ายในการบริหารประเทศและการลง ทุน และมักจะใช้จ่ายมากกว่ารายได้ที่มาจากภาษีอากร ส่วนธุรกิจที่เป็นผู้ลงทุนส่วนใหญ่จะระดมทุนจากธนาคารพาณิชย์หรือจากตลาดทุน

สำหรับตลาดทุนที่พัฒนาแล้วก็จะเป็นแหล่งพบกันของผู้ออมและผู้ที่ ใช้ทุน โดยการออกเป็นหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ หุ้นพันธบัตร และตราสารหนี้ต่าง ๆ ตลาดทุนจึงเกิดขึ้น เกิดการซื้อขายหลักทรัพย์และราคาหลักทรัพย์

ราคาหลักทรัพย์โดยทฤษฎี น่าจะเป็นไปตามมูลค่าพื้นฐานหรืออัตราผลตอบแทน ซึ่งจ่ายในงวดต่าง ๆ ในอนาคตตลอดอายุของหลักทรัพย์นั้น ถ้าผลตอบแทนของหลักทรัพย์นั้นสูงกว่าอัตราดอกเบี้ย ราคาหลักทรัพย์ก็จะสูงขึ้น ถ้าอัตราผลตอบแทนต่ำกว่าราคาก็จะต่ำลง ผู้ลงทุนก็จะคาดได้ว่าราคาควรจะเป็นเท่าใด โดยการคิดผลตอบแทนแต่ละงวดในอนาคต โดยการใช้อัตราลด หรือ Discount Rate อันหนึ่งสำหรับรายได้ที่ห่างจากปัจจุบันเรื่อย ๆ ไป

แต่ราคาหลัก ทรัพย์แต่ละช่วงเวลามิได้เป็นไปตามทฤษฎี เพราะอัตราลดที่ผู้ลงทุนคิดว่าเหมาะสมเปลี่ยนไป ไม่คงที่ตามทฤษฎีดั้งเดิม ตามข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ

ที่คาดว่าจะกระทบต่อผลประกอบการของบริษัท นั้น ๆ ราคาจึงขึ้นลงอยู่ตลอดเวลา แต่อย่างไรก็ตามในระยะยาว ราคาของหลักทรัพย์จะมีความโน้มเอียงที่จะเป็นไปตามพื้นฐานของผลประกอบการของ บริษัท คำอธิบายอีกอย่างหนึ่งซึ่งก็เป็นเรื่องเดียวกัน เรียกกันในตำราว่า "พฤติกรรมทางการเงิน" หรือ "Behavioral Finance"

หรือ "การเงินเชิงพฤติกรรม" กล่าวคือ ราคาขึ้นลงของหลักทรัพย์ต่าง ๆ เกิดขึ้นเพราะการคาดการณ์ที่มักจะผิดพลาดของผู้ลงทุนถือหลักทรัพย์ กล่าวคือ ราคาหลักทรัพย์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผลประกอบการจริง ๆ ของบริษัท แต่ขึ้นอยู่กับการคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทในตลาด ราคาขึ้นลงไม่ราบเรียบ

ทั้ง ๆ ที่ผลประกอบการของบริษัทไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ตลาดมักจะคาดการณ์ดีเกินไปหรือแย่เกินไปจากการประกอบการที่แท้จริง ด้วยเหตุนี้ราคาของหลักทรัพย์เวลามีข่าวดีจึงขึ้นเกินความจริง หรือที่เรียกว่า "Overshoot" เมื่อรู้ว่าราคาสูงกว่าความเป็นจริง ราคาก็ตกเกินความเป็นจริงไปอีก หรือเมื่อผู้ลงทุนคิดว่าผลประกอบการจะไม่ดี ราคาหุ้นก็ถูกเกินความจริง

เมื่อรู้ว่าถูกเกินความจริง ราคาก็จะขึ้นเกินความจริงอีก ราคาจึงขึ้นลงอย่างมาก ทั้งหลายเหล่านี้เป็นเรื่องที่ผู้ลงทุนคิดเอาเองหรือคาดการณ์เอาเองจาก ข้อมูลข่าวสารที่ตนได้รับ ในขณะเดียวกันก็จะมีผู้ลงทุนที่มีเหตุผลจะทำตรงกันข้ามก็จะได้กำไรมาก

แต่ อาจจะถูกจำกัดด้วยขนาดของเงินทุนและกฎระเบียบต่าง ๆ ทำให้ไม่สามารถหยุดยั้งการขึ้นลงในระยะสั้นได้อย่างเต็มที่ แต่ในระยะยาวก็พอจะทำนายหรือสร้างแบบจำลองและเครื่องมือที่จะทำนายหรือ พยากรณ์แนวโน้มของราคาหลักทรัพย์ได้

งานของนักเศรษฐศาสตร์ทั้ง 3 ท่านมีผลต่องานวิจัยทางนี้เป็นอันมาก และชี้ให้เห็นว่า "กองทุนรวม" หรือ "Mutual Funds" ต่าง ๆ ยากที่จะทำกำไรถ้าหากเรารวมค่าความเสี่ยงและค่าธรรมเนียมที่คุ้มกับการ จัดการบริหาร ผลตอบแทนในระยะยาวจะติดลบ นอกจากกองทุนนั้นจะเป็นกองทุนเฉพาะกิจที่อาจจะลงทุนในตลาดระยะยาว โดยคำนึงถึงผลตอบแทนที่คงที่มั่นคงแน่นอน เช่น พันธบัตรรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการใหญ่ ๆ ที่มั่นคง หวังผลตอบแทนระยะยาวเป็นหลัก ไม่หวังจะได้ "ลาภลอย" หรือ "Capital Gain" ในระยะสั้น

ผลงานของ 3 ท่านนี้ นักเล่นหุ้นควรจะอ่าน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : รางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ ปี 2013

view