สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นักสันติวิธี แนะทางออก เลี่ยงวิกฤต สุดซอย

จากประชาชาติธุรกิจ

หมายเหตุ - หนังสือพิมพ์ "มติชน" ฉบับวันที่ 3 พ.ย.56 สำรวจความเห็นของนักสันติวิธี ว่าจะมีทางออกโดยสันติอย่างไร ต่อสถานการณ์การคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับ "สุดซอย" ที่มีเนื้อหาลบล้างความผิดครอบคลุมทุกกลุ่ม ซึ่งกำลังลุกลามทั้งจากการชุมนุมเคลื่อนไหวในพื้นที่ต่างๆ และสังคมโซเชียลเน็ตเวิร์ก กระทั่งหวั่นเกรงกันว่าอาจจะเป็นความขัดแย้งบานปลายรุนแรง 

ศ.สุริชัย หวันแก้ว

ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

ความ ขัดแย้งอันเกิดขึ้นเนื่องจาก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไม่ได้สร้างความปรองดองในสังคมอย่างที่คาดคิด เป็นเพราะเกิดจากการตัดสินใจของเสียงข้างมากในสภาเพียงอย่างเดียว ในขณะเดียวกันผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมไม่ได้มีความเห็นที่เห็นด้วยกับสิ่งที่ เกิดขึ้น ไม่ได้มีความสุขกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่รัฐบาลกลับต้องการลบทุกอย่างไปให้เหลือศูนย์ ซึ่งไม่ได้เป็นผลดีกับการที่ผู้คนในสังคมจะก้าวไปด้วยกันอย่างสันติเลยแม้ แต่น้อย

รัฐ ไม่ได้เคารพความเป็นมนุษย์ ไม่ได้เปิดใจรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เอะอะก็จะกดปุ่มเพื่อลบ กดปุ่มเพื่อล้างให้เหลือศูนย์ ทำลายความเชื่อมั่นของผู้คนในสังคมต่อรัฐสภา เอาเสียงข้างมากเป็นที่ตั้ง เสียงข้างน้อยอย่าโวย ไม่เปิดรับฟังเสียง หรือความคิดเห็นของฝ่ายใดๆ ดังนั้น การชุมนุมต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะประชาชนไม่มีที่พึ่ง ไม่รู้จะเชื่อถือใคร จึงต้องออกมาแสดงสิทธิ แสดงความคิดเห็นในสังคม

จาก สถานการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้น ในแง่ของความรุนแรงยังไม่ค่อยน่าเป็นห่วง แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การที่รัฐบาลกำลังผลักสังคมเข้าไปสู่ความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงครั้ง ใหม่ ดังนั้น ต้องหาทางออกโดยจับหลักให้ได้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากอะไร เมื่อเรารู้ว่าหลักที่แท้จริงของปัญหาคืออะไรเราจึงจะแก้ปัญหานั้นได้ อย่าทำให้สังคมไทยเป็นสังคมกดปุ่ม ต้องมีสำนึก มีความรับผิดชอบ ในหน้าที่ของตนเองที่มีต่อสังคมต่อประชาชน ผู้นำรัฐบาลต้องตรวจสอบตัวเอง ต้องลงมารับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมถึงผู้คนในสังคมไทยจำเป็นต้องเคารพตนเอง เคารพคนอื่น เลิกนำเรื่องหนี้บุญคุณมาเป็นข้ออ้างในการกระทำ และทำให้ตนเองสามารถถูกกดปุ่มสั่งได้



ถาม ว่า พ.ร.บ.แบบนี้ ควรจะไปต่อได้หรือ ตอบได้ว่าเรากำลังไปทำลายบทเรียนที่คนไทยจะต้องเรียนรู้ร่วมกันจากสิ่งที่ เกิดขึ้น เรากำลังจะทำให้เรื่องนี้ถูกลืมไปจากสังคม ด้วยการนำเหตุผลปรองดองมากล่าวอ้าง จะไม่มีผู้รับผิดชอบ ไม่มีผู้กระทำผิดจากเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ซึ่งสิ่งนี้จะพาเราไปสู่ความรุนแรงครั้งใหม่ที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าเดิม ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปสู่คนรุ่นหลังที่ต้องแบกรับกันต่อไปอีกยาวนาน

สิ่ง ที่รัฐควรทำคือ ไม่ดึงดันที่จะตัดตอนบทเรียนนี้ไปจากสังคม ต้องเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นร่วมกัน ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นและก้าวต่อไป จึงจะเป็นการปรองดองที่แท้จริง 

พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ

ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล แห่งสถาบันพระปกเกล้า

สถานการณ์ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในตอนนี้เป็นการต่อสู้กันทางการเมือง ที่ต่างฝ่ายต่างต้องการที่จะเล่นในลักษณะสุดโต่งกันไปข้างหนึ่ง ทางฝ่ายรัฐบาลก็ต้องการที่นิรโทษไปให้สุดซอย ไปสู่เป้าหมายหลักที่แท้จริง ทางฝ่ายตรงข้ามเมื่อเห็นอย่างนั้นก็เล่นให้สุดซอยเหมือนกัน คือต้องการให้อีกฝ่ายหลุดออกจากการเป็นรัฐบาล ไม่สนใจการนิรโทษ ดังนั้น การที่ทั้งสองฝ่ายต่างต้องการไปสุดซอยในทางตรงข้ามทั้งคู่ จึงเกิดสถานการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นมาอย่างที่เห็น

มอง ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ยังไม่น่าจะมีการปะทะ หรือความรุนแรงเกิดขึ้น เพราะวิธีการที่ทางฝั่งตรงข้ามรัฐเรียกผู้คนออกมาเข้าร่วมนั้น พยายามที่จะเรียกคนออกมาให้มาก แต่ยังไม่มีความเป็นเอกภาพกัน แตกออกเป็นกลุ่มเป็นก้อน ทั้งสามเสน อุรุพงษ์ ตามหัวเมืองต่างจังหวัดต่างๆ ที่ยังไม่สามารถรวมกันเป็นหนึ่งได้ ด้านฝั่งรัฐบาล คนเสื้อแดง ก็ไม่สามารถรวมเป็นเอกภาพได้เช่นกัน และยิ่งเห็นได้ชัดเจนขึ้นในทุกวัน เพราะคนในต่างระดับชั้นในหมู่คนเสื้อแดงมีความเห็นที่แตกต่าง แบ่งเป็นฝ่ายที่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.นิรโทษ กับคนที่ไม่เห็นด้วย 



หาก มองถึงการแก้ปัญหา ในตอนนี้สังคมไทยก้าวถลำลึกมากเกินที่จะหาทางออกด้วยสันติวิธีอีกต่อไป เราไม่สามารถที่จะหาทางออกด้วยสันติวิธีได้อีกแล้ว เพราะสันติวิธีคือการเจรจา การพูดคุยในลักษณะเปิดอก เปิดใจคุยกัน แต่จากสิ่งที่เกิดขึ้นคือทั้งสองฝ่ายต่างมุ่งที่จะไปในทางของตนเองชนิดสุด โต่งทั้งคู่ ปัญหานี้จะไม่สามารถจบลงได้ง่ายๆ เพราะไม่ว่าวิธีอะไรก็จะทำให้เกิดปัญหาตามมาทั้งสิ้น หากมีการปฏิวัติเพื่อล้มกระดานไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล หรือแม้กระทั่งฝ่ายเดียวกับรัฐบาลเองก็ตาม มีโอกาสที่จะล้มกระดานเพื่อจัดระเบียบใหม่ 

แต่ สุดท้ายจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นอีกในสังคมไม่จบสิ้น หรือแม้กระทั่งการยุบสภาเพื่อไปตั้งต้นกันใหม่ แต่สุดท้ายปัญหาก็ยังจะคงค้างคาและวนกลับมาในลักษณะเช่นนี้อีกครั้ง ดังนั้น การที่จะก้าวต่อก็ไม่ควรมีการสูญเสียเกิดขึ้นอีกแล้ว มิเช่นนั้นก็จะเกิดสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

รศ.โคทม อารียา

ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติวิธีและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล

สำหรับ การชุมนุมในครั้งนี้เป็นการใช้สิทธิทางการเมืองซึ่งอยู่ในกรอบปราศจากอาวุธ โดยสาเหตุนั้นเกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองมีทั้งความขัดแย้งเฉพาะหน้าและ ระยะยาว ซึ่งความขัดแย้งเฉพาะหน้าก็คือเรื่องของการร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย ที่ยังคงมีขั้นตอนอยู่อีกอย่างน้อย 2 วิธี คือ การพิจารณาของสมาชิกวุฒิสภา และอีกขั้นตอนคือการนำเสนอเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งในขั้นตอนนี้มองว่าฝ่ายค้านต้องยื่นหนังสือเพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หากผ่านทุกขั้นตอนก็จะกลายเป็นกฎหมายที่สามารถใช้เป็นข้อบังคับใช้ได้ ซึ่งตรงนี้ก็ไม่รู้ว่าจะใช้วิธีการอะไร เพราะมันเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย แต่ถึงอย่างไรสำหรับประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บนี้ ก็มีสิทธิที่จะคัดค้านเพราะเป็นสิทธิของการต่อสู้ในระบอบประชาธิปไตย สำหรับผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบก็ควรที่จะรับผิดชอบ 

จาก ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นแนวทางที่จะใช้เพื่อหาทางออก ยังมีโอกาศที่จะคลี่คลายปัญหาข้อนี้ คือแม้จะมีหรือไม่มีพ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะสุดซอยหรือไม่ก็แล้วแต่ ก็ต้องพิสูจน์ความจริงให้ปรากฏในสังคม เพื่อที่จะช่วยประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่หรือผู้ชุมนุมที่เสียชีวิต ซึ่งตรงนี้ต้องทำความจริงให้ปรากฏ

แม้ ว่าจะมีกฎหมายนิรโทษกรรม คนที่ทำผิดก็ควรจะต้องออกมายอมรับผิด รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องต้องออกมาให้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นให้มากที่ สุด เพื่อจะได้บันทึกไว้ สำหรับผู้กระทำความผิดถึงจะรับผิดหรือไม่รับผิดในทางกฎหมาย แต่สิ่งที่สำคัญคือต้องรับผิดชอบทางสังคม หากมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดแล้วเกิดความเสียใจ ก็ให้ออกมาสารภาพแล้วขอโทษกับสังคม ซึ่งดีกว่าไม่ทำอะไรเลย 

นอก จากนี้ หากมองในตัวร่างกฎหมายแล้ว เห็นได้ชัดว่าเป็นการช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ใครจะได้รับผลประโยชน์มากกว่ากันนั้น ไม่ทราบ เชื่อว่าทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์ ส่วนผู้ที่เสียประโยชน์คือประชาชนผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ เขาอาจจะต้องการรับรู้ถึงความจริง โดยต้องการให้สังคมยอมรับว่าเขาถูกกระทำและผู้กระทำคือใคร และถ้าผู้กระทำยอมรับผิด ก็ให้ออกมาแสดงความรับผิดชอบ

การค้นหาความจริงหากรับข้อเสนอนี้ก็อาจจะเป็นไปได้

ที่มา นสพ.มติชนรายวันฉบับวันที่ 3 พ.ย.56


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : นักสันติวิธี แนะทางออก เลี่ยงวิกฤต สุดซอย

view