สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คอร์รัปชันของไทยเทียบกับต่างประเทศ

คอร์รัปชันของไทยเทียบกับต่างประเทศ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




จากรายงานของ World Economic Forum ปี 2013-2014 ที่เพิ่งออกมาไม่นานนี้ เรามักจะกล่าวถึงแต่อันดับทางด้านการศึกษาของไทยที่ลดต่ำลง

แต่จริงๆ แล้วในรายงานของ WEF นั้นยังมีข้อมูลดีๆ ที่น่าสนใจซ่อนอยู่อีกมากครับ และข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจและน่าวิเคราะห์คือเรื่องปัญหาคอร์รัปชันครับ

จากรายงานของ WEF ที่สอบถามนักธุรกิจในประเทศไทยว่าอะไรคือปัญหาสำคัญที่สุดสำหรับการดำเนินธุรกิจในไทยนั้น ปรากฏว่าปัจจัยที่ขึ้นอันดับหนึ่งคือปัญหาเรื่องคอร์รัปชันครับ ได้คะแนนถึง 20.2 ตามมาห่างๆ ด้วยปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาลที่ 16.5 ความไม่มั่นคงทางการเมืองที่ 13.5 และระบบการทำงานของภาครัฐที่ 13.4 จะสังเกตได้ว่า Top 4 ของปัญหาในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยนั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องของคอร์รัปชัน การเมือง และภาคราชการทั้งสิ้น ยิ่งถ้ามองที่ตัวคะแนนแล้วจะพบว่า Top 4 นั้นมีคะแนนทิ้งห่างอันดับ 5 ซึ่งได้เพียงแค่ 7.5 คะแนนไปอย่างมากครับ

คราวนี้มาวิเคราะห์เจาะลึกคะแนนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของคอร์รัปชันครับ มีคำถามหนึ่งที่เขาถามว่า “การที่เงินของภาครัฐถูกจัดสรรหรือกระจายให้กับบริษัท กลุ่มบุคคล หรือ บุคคลอื่นๆ เนื่องจากปัญหาคอร์รัปชัน” ซึ่งจากผลสำรวจ 148 ทั่วโลก ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 101 หรือ 2.7 คะแนน (ในด้านท้ายนะครับ) และเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนแล้ว มีเพียงพม่า ที่อยู่อันดับต่ำกว่าเรา (อันดับที่ 128 หรือ 2.3 คะแนน) ส่วนประเทศเพื่อนบ้านอย่างเช่นมาเลเซียนั้นอยู่อันดับที่ 42 ได้ 4.2 คะแนน

พอมาคำถามอีกข้อที่ว่า “คะแนนนักการเมืองในด้านจริยธรรม” ลำดับของประเทศไทยยิ่งตกลงไปอีกครับ คราวนี้อยู่ในลำดับที่ 127 จาก 148 ประเทศ (ได้คะแนน 2.0) แถมคราวนี้เรารั้งอันดับท้ายสุดในกลุ่มประเทศอาเซียนครับ ฟิลิปปินส์เป็นประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ใกล้เคียงกับเรามากที่สุด แต่เขาก็อยู่ในอันดับที่ 90 ได้ 2.5 คะแนน หรือ ถ้าจะเทียบกับมาเลเซียเหมือนเดิม เขาก็อยู่ในอันดับที่ 20 ได้ 4.3 คะแนนครับ

คำถามถัดมาอาจจะพอดูดีขึ้นหน่อย นั้นคือ “การจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ” ซึ่งประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 77 ของโลก ได้คะแนน 3.8 คะแนน ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ได้อันดับต่ำกว่าไทยในด้านนี้มีทั้งลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา และ พม่า ส่วนมาเลเซียนั้นอยู่อันดับที่ 44 ได้ 4.7 คะแนน

คำถามต่อมาก็ดีขึ้นมาอีกครับ นั้นคือ “ความเป็นอิสระของหน่วยงานทางด้านตุลาการ” ซึ่งไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในลำดับที่ 67 ได้ 3.8 คะแนน เช่นเดียวกัน คราวเรามาดูว่าประเทศในอาเซียนที่ดีกว่าไทยในด้านความเป็นอิสระของหน่วยงานตุลาการบ้างครับ ประกอบไปด้วยลาว มาเลเซีย บรูไน และสิงคโปร์ครับ

ประเด็นถัดมาเราก็ตกค่าเฉลี่ยอีกแล้วครับ นั้นคือ “เจ้าหน้าที่ภาครัฐมีการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทหรือบุคคลที่มีความเกี่ยวข้อง ในการตัดสินใจด้านนโยบายหรือสัญญาต่างๆ” ซึ่งไทยอยู่อันดับที่ 93 จาก 148 ประเทศ ได้คะแนน 2.8 คะแนน ส่วนประเทศในอาเซียนอื่นที่ได้คะแนนต่ำกว่าไทยในประเด็นนี้มีเพียงพม่าที่อันดับ 136 หรือ 2.2 คะแนนเท่านั้นครับ สำหรับประเทศที่ได้อันดับหนึ่งของโลกในด้านนี้คือสิงคโปร์นั้นเองครับ

เรามาดูในประเด็นสุดท้ายกันครับ นั้นคือ “การใช้เงินของรัฐบาลนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ” ซึ่งไทยก็อยู่อันดับที่ 107 ครับ ได้คะแนน 2.7 คะแนน ซึ่งในประเด็นประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินของภาครัฐนั้น ไทยอยู่อันดับต่ำสุดของประเทศในกลุ่มอาเซียนเลยครับ

จริงๆ จากข้อมูลเหล่านี้ที่เกี่ยวข้องกับคอร์รัปชันและภาครัฐนั้น จะสังเกตว่าส่วนใหญ่คะแนนของประเทศไทยจะอยู่ในกลุ่มเลขสามหลัก หรือตกครึ่งทั้งสิ้น แต่เมื่อมองความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศแล้ว ไทยอยู่ในอันดับที่ 37 จาก 148 ประเทศทั่วโลก ได้คะแนน 4.5 คะแนน แสดงให้เห็นว่าคะแนนในด้านอื่นๆ นั้นสามารถฉุดไทยขึ้นมาได้พอสมควร ซึ่งถ้าเราสามารถแก้ไขปัญหาในด้านคอร์รัปชันลงได้แล้ว เชื่อว่าความสามารถในการแข่งขันของประเทศคงจะเพิ่มขึ้นอีกมากเลยครับ

บางท่านที่เห็นข้อมูลเหล่านี้อาจจะมีความรู้สึกไม่เชื่อถือต่อข้อมูล (เนื่องจากไม่เป็นไปตามที่ตนเองคิดหรือต้องการ) แต่อย่าลืมนะครับว่าข้อมูลเหล่านี้เก็บรวบรวมมาจากองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือระดับโลก และเป็นข้อมูลที่เผยแพร่ไปทั่วโลก การที่ธุรกิจจะตัดสินใจลงทุนในประเทศใด ข้อมูลเหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจของพวกเขา ดังนั้น ถ้าเราสามารถร่วมกันแก้ไขปัญหาที่ฉุดรั้งประเทศไว้ได้ นอกจากอันดับที่จะเพิ่มขึ้นแล้ว ประเทศไทยในสายตาชาวโลกก็จะดีขึ้นด้วยครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คอร์รัปชันของไทย เทียบกับ ต่างประเทศ

view