สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คำนวณจำนวนคนร่วมม็อบยังไง?

จาก โพสต์ทูเดย์

คำนวณจำนวนคนร่วมม็อบยังไง?

โดย...ทีมข่าวในประเทศ

การชุมนุมทางการเมืองไม่ว่าครั้งใด แสนยานุภาพและศักดาล้วนถูกประกาศผ่านจำนวนผู้เข้าร่วมการชุมนุม ตัวเลขเรือนหมื่นหรือกระทั่งเรือนแสนตามที่ฝากฝั่งม็อบอ้าง มักตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับตัวเลขหลักร้อยหลักพันที่เจ้าหน้าที่รัฐประเมิน ... เกิดเป็นคำถามชวนให้สงสัย เหตุใดจึงมีคาดเคลื่อนมากมายและแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน

แหล่งข่าวความมั่นคง อธิบายว่า วิธีที่ฝ่ายความมั่นคงใช้ในการประเมินจำนวนผู้ชุมนุมคือการใช้สูตรทาง คณิตศาสตร์ กล่าวคือคำนวณว่า 1 ตารางเมตร จะมีคนยืนได้กี่คนหรือคนนั่งได้กี่คน ซึ่งสูตรโดยทั่วไปคือ 1 ตารางเมตร ยืนได้ 4 คน ถ้านั่งจะได้ 2 คน

จากนั้นก็จะให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจความหนาแน่นของม็อบว่าอยู่กัน อย่างเบียดเสียด หรือกระจายตัวอย่างหลวมๆ และหัวขบวนจนถึงท้ายขบวนมีความยาวเท่าไร จากนั้นก็จะประเมินออกมาเป็นตัวเลขคร่าวๆ ได้

แหล่งข่าวรายนี้ อธิบายต่อว่า ทุกวันนี้เจ้าหน้าที่รัฐไม่มีเครื่องมือหรือเทคโนโลยีอะไรในการประเมิน ทั้งหมดล้วนแต่ใช้วิธีพื้นฐานข้างต้น ส่วนการรายงานข้อมูลนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ หากภาวะปกติก็จะรายงานเฉพาะช่วงที่มีคนชุมนุมสูงสุด คือระหว่าง 18.00-21.00 น. แต่ถ้าเป็นช่วงสถานการณ์สุกงอมสุ่มเสี่ยง ก็จะต้องรายงานทุกชั่วโมง หรือทุกครึ่งชั่วโมง

ข้อเท็จจริงคือตำรวจและรัฐมักจะประเมินต่ำ กว่าความเป็นจริง ส่วนผู้ชุมนุมก็จะกล่าวอ้างสูงเกินความเป็นจริง ดังนั้นอาจจะเชื่อตัวเลขทั้งคู่ไม่ได้ทั้ง 100%” แหล่งข่าวรายนี้ระบุ 

ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจ พล.ต.ต.สำเริง สุวรรณพงษ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รองผบช.น.) รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง อธิบายว่า วิธีการที่ตำรวจใช้จะมีอยู่ 2 วิธีหลักๆ คือแบบหยาบ และแบบละเอียด

สำหรับแบบหยาบ จะนำแผนที่มากางหรือลงพื้นที่ดูสภาพความเป็นจริงในสถานที่ชุมนุมว่ามีขนาด เท่าไร แผ่นปูนถนนกว้างยาวเท่าไร หรืออาจจะเปิดดูพื้นที่จากเว็บไซต์กูเกิลก็ได้ จากนั้นจะคำนวณพื้นที่ออกมาเป็นตารางเมตร โดยระบุให้ชัดว่ามีประชาชนในพื้นที่กี่ตารางเมตร

เมื่อได้มาก็จะดูที่สถานการณ์จริงว่าผู้ชุมนุมอยู่กันอย่างไร อยู่แบบไหน อัดแน่นหรือไม่ หรือแค่เป็นลักษณะหลวมๆ นั่งหรือยืน หลังจากนี้เราก็จะได้ตัวเลขที่ใกล้เคียงกับความจริงเพื่อวางแผนได้ต่อไป

“สมมุติว่าตารางเมตรนั้นมีคนอยู่ 2 คน เราก็เอาจำนวนตารางเมตรที่ได้มานั้นทั้งหมดคูณสองเข้าไป ก็จะได้ตัวเลขแบบคร่าวๆ ออกมา นี่คือวิธีแบบหยาบๆ” พล.ต.ต.สำเริง อธิบาย

พล.ต.ต.สำเริง อธิบายต่ออีกว่า ขณะที่แบบละเอียดนั้น จะวางตำรวจในพื้นที่เพื่อนับหัวผู้ชุมนุม เช่น จากเสาไฟฟ้าต้นที่ 1 ไปถึงต้นที่ 2 ก็ให้ตำรวจเดินนับตามระยะที่ได้รับคำสั่ง อาจจะนับทุกๆ ครึ่งชั่วโมง ได้เท่าไรก็จะเอามารวมกัน ซึ่งแน่นอนว่าจะได้ตัวเลขที่ดีกว่าแบบแรก

สำหรับวิธีเพื่อที่ให้ได้จำนวนอย่างละเอียดที่สุด พล.ต.ต.สำเริง บอกว่า ถ้าเป็นพื้นที่จำกัดมีทางเข้าออกชัดเจนก็จะให้ตำรวจไปประจำจุด ใช้เครื่องนับจำนวนกดผู้ชุมนุมที่เดินเข้าเดินออกพื้นที่ชุมนุมในแต่ละเวลา ที่กำหนด เช่น  1 ชั่วโมง หรือ 2 ชั่วโมง ก็จะเอาตัวเลขมารวมกัน

“ทั้ง 2 วิธีนี้ ตำรวจใช้ตามแต่สถานการณ์ และเป็นตัวเลขที่เชื่อถือได้ เพราะได้จากผู้ที่ปฏิบัติงานอย่างแท้จริง แต่แน่นอนว่าหลายครั้งที่ผู้ชุมนุมเมื่อรู้ตัวเลขจากทางการก็จะมีอาการไม่พอ ใจ แต่เราก็ใช้ตัวเลขนี้เพื่อวางแผนและใช้ปฏิบัติงานเพื่อให้มีประสิทธิภาพมาก ที่สุด ยืนยันว่าเชื่อถือได้แน่นอน”พล.ต.ต.สำเริง ระบุ

ด้าน ปณิธาน วัฒนายากร อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรียุครัฐบาลอภิสิทธิ์ ให้ข้อมูลการประเมินจำนวนผู้ชุมนุมของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ว่า สามารถแบ่งออกเป็น 3 วิธี ซึ่งมีข้อดีและข้อด้อยแตกต่างกัน โดยขณะนั้น ศอฉ. นำข้อมูลทั้ง 3 วิธีนี้มาเฉลี่ยกัน

สำหรับวิธีแรก คือการประเมินอย่างเป็นทางการ โดยให้เจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายสำรวจจากสถานที่ชุมนุมในช่วงเวลาใดเวลา หนึ่งในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เช่น คำนวณออกมาว่าจำนวนคนต่อตารางเมตรเป็นเท่าไร จากนั้นนำมาพิจารณาร่วมกับภาพถ่ายจากสื่อมวลชนและภาพถ่ายทางอากาศ รวมทั้งประกอบกับข้อมูลจากสายข่าวในพื้นที่

“วิธีนี้จะคลาดเคลื่อนถ้าหากเจ้าหน้าที่ไม่ระบุช่วงเวลาที่ชัดเจน เช่น พื้นที่ 1 ตารางเมตร อาจยืนหลวมๆ ได้ 5-8 คน แต่ในช่วงหัวค่ำที่มวลชนเนืองแน่น ขนาดพื้นที่เท่าเดิมอาจยืนกันได้ถึง 15 คน ดังนั้นตัวเลขที่รายงานออกมาต้องชัดเจนว่าประเมินจากเวลาเท่าใด แต่วิธีนี้อาจมีปัญหาคือบางครั้งเจ้าหน้าที่เข้าพื้นที่ไม่ได้ เช่น ถนนราชดำเนิน เจ้าหน้าที่อาจเห็นเฉพาะต้นราชดำเนิน ไม่ใช่ราชดำเนินกลาง” อาจารย์ปณิธานกล่าว

ส่วนวิธีที่สอง คือการประเมินจากสายข่าว เป็นการประเมินจากการจัดตั้งของคน เช่น จังหวัดนี้จะส่งคนมาเท่าไร กลุ่มผู้ชุมนุมมีท่อน้ำเลี้ยงจากไหน การจัดตั้งของการเมืองเป็นอย่างไร รายงานรถบัสวิ่งเข้าพื้นที่กี่คัน อย่างไรก็ตามวิธีนี้จะไม่ค่อยมีตัวเลขเปิดออกมาสู่สาธารณะชนสักเท่าใด

“จุดอ่อนของวิธีนี้คือถ้าหากม็อบยังไม่นิ่ง ยังไม่ยืนระยะหลายๆ วัน ก็อาจจะมีการคลาดเคลื่อนได้สูง แต่ถ้าชุมนุมนาน มวลชนนิ่ง ดูจากเสบียงอาหาร รถห้องน้ำ ก็จะง่ายขึ้น โดยที่ผ่านมาจะพบว่ามีไม่กี่จังหวัดใหญ่ๆ ที่จะส่งคนเข้ามาชุมนุม ซึ่งวิธีนี้อาจใช้ในการชุมนุมครั้งนี้ยาก เพราะมวลชนส่วนใหญ่มาจากกทม.ไม่ได้ถูกจัดตั้งมา” ปณิธานกล่าว

วิธีสุดท้ายคือการประเมินจากตัวเลขของสื่อมวลชน โดยสื่อมวลชนจะใช้ประสบการณ์จากการทำงานในการรายงานตัวเลขอย่างอิสระ เจ้าหน้าที่ก็จะหยิบตัวเลขดังกล่าวขึ้นมาเทียบเคียงกันหลายๆ สื่อ แล้วนำมาสอบทานกับภาพถ่ายอีกครั้ง

ทั้งนี้ สนามหลวงมีพื้นที่ประมาณ 1.2 แสนตารางเมตร ลานพระบรมรูปทรงม้ามีพื้นที่ 25,596 ตารางเมตร


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คำนวณ จำนวนคนร่วมม็อบ

view