สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ยุโรปเล็งงัดแผนคิวอีกระตุ้นเศรษฐกิจ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

โล่งอกกับวิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐที่คลี่คลายลงชั่วคราวได้ไม่นาน ดูท่าว่า นักลงทุนจากทั่วโลกมีประเด็นน่าระทึกให้ต้องจับตาดูกันอีกระลอก สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจในภูมิภาคยุโรป โดยเฉพาะในกลุ่ม 17 ชาติสมาชิกผู้ใช้เงินสกุลยูโร (ยูโรโซน) ที่ไม่ค่อยกระเตื้องก้าวหน้าอย่างที่หลายฝ่ายคาดหวังเอาไว้

ผลลัพธ์ข้างต้นจึงมีแนวโน้มนำไปสู่การคาดการณ์กันว่าสหภาพยุโรป (อียู) น่าจะได้ฤกษ์ลงมือหาทางกระตุ้นเศรษฐกิจกันอีกระลอก รวมถึงการเปิดทางให้ธนาคารกลางแห่งยุโรป (อีซีบี) งัดสารพัดนโยบายทางการเงินต่างๆ เช่นมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ออกมาใช้ตามธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ซึ่งลงมือดำเนินการกันมาก่อนแล้ว

สาเหตุเพราะสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันของยูโรโซนเริ่มเป็นภาวะกดดัน ให้อีซีบีต้องเร่งออกมาตรการเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาก่อนที่เหตุการณ์ จะเลวร้ายจนกลายเป็นข้อจำกัดให้อีซีบีไร้เครื่องมือในการแก้ไขปัญหา

ทั้งนี้ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเริ่มมีสัญญาณอ่อนแอทางเศรษฐกิจของยูโรโซนปราก ฎให้เห็นชัดเจน ทั้งๆ ที่ เพิ่งจะมีข่าวดีว่าภูมิภาคแห่งนี้ได้หลุดจากภาวะถดถอยแล้ว โดยสัญญาณกดดันอีซีบีแรกสุดก็คืออัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนในเดือนต.ค. ที่ปรับตัวลดลงที่ 0.7% จาก 1.1%ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งถือว่าเป็นจุดปรับตัวที่ต่ำที่สุด ตั้งแต่เดือน ก.พ. 2553 นับเป็นการปรับลดต่อเนื่องเกือบ 4 ปีและยิ่งทำให้เป้าเงินเฟ้อ 2%ยากบรรลุมากยิ่งขึ้น

นักวิเคราะห์อธิบายว่าอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่ากำลัง การบริโภคของ ประชาชนภายในประเทศ หนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตกอยู่ในภาวะอ่อนแอคือ ผู้บริโภคไม่อยากหรือไม่สามารถจับจ่ายหาซื้อสินค้าได้

ปัจจัยกดดันต่อมาก็คืออัตราการว่างงาน โดยสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้ว่าอัตราว่างงานในยูโรโซน เดือน ก.ย. อยู่ที่ระดับ 12.2% เพิ่มจากเดือนก่อนหน้าที่ 11.6% ทำสถิติสูงสุดในรอบ 18ปี โดยมีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นราว 60,000 คน ทำให้ยอดรวมสะสมผู้ว่างงานในยูโรโซนมีมากกว่า 19 ล้านคน

สำหรับอีกหนึ่งแรงกดดันที่สำคัญคืออัตราการเติบโตของยูโรโซน ที่แม้จะมีรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (พีเอ็มไอ) ในเดือนต.ค. เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 51.3 จากเดือนก.ย. ที่ 51.1 บ่งชี้ให้เห็นว่าภาคการผลิตมีการขยายตัว แต่กระนั้นสถานการณ์การเติบโตโดยรวมกลับไม่ได้ฟื้นอย่างรวดเร็วแข็งแกร่งตาม ที่หลายฝ่ายคาดหวัง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปีนี้จะหดตัวลงที่ 0.4% ก่อนปรับตัวดี ขึ้นเล็กน้อยในปี 2557 ที่ 1%

ขณะที่ปัจจัยกดดันสุดท้ายก็คือค่าเงินสกุลเงินยูโร ซึ่งปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอย่างเหรียญสหรัฐ อันเป็นผลสืบเนื่องจากการที่สหรัฐยังคงดำเนินมาตรการคิวอีลากยาวอย่างน้อย ถึงต้นปีหน้า

เงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.3501 เหรียญสหรัฐต่อยูโร จากระดับของวันจันทร์ที่ 4 พ.ย. ที่ 1.3441 เหรียญสหรัฐ โดยการแข็งค่าของเงินยูโรที่เร็วเกินไปส่งผลต่อเศรษฐกิจที่กำลังฟื้น ตัวอย่างช้าๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคการส่งออก ที่ยังจำเป็นต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากภาครัฐเพื่อสร้างความได้เปรียบด้าน การแข่งขันกับบรรดาคู่แข่งจากภูมิภาคอื่นๆ

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากสัญญาณทางเศรษฐกิจข้างต้นรวมกัน นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า อีซีบีไม่น่าจะทนนิ่งเฉยดูดายได้นานนัก และมีความเป็นไปได้อย่างมากที่การประชุมคณะกรรมการอีซีบีในวันพฤหัสบดีที่ 7 พ.ย. นี้จะมีการส่งสัญญาณใช้มาตรการช่วยเหลืออื่นๆ เพิ่มเติม โดยรวมถึงนโยบายผ่อนคลายทางการเงินอย่างคิวอี และการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ออกมา

กุยเซปเป มาราฟฟิโน นักวิเคราะห์พันธบัตรจากบาร์คเลย์สแสดงความเห็นผ่านรอยเตอร์สระบุว่า แรงกดดันหลักต่อการปรับนโยบายของอีซีบีครั้งนี้คืออ้ตราเงินเฟ้อในซึ่งอยู่ ในระดับต่ำจนน่าวิตกว่ายูโรโซนจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดเหมือนญี่ปุ่นได้ง่าย ยิ่งเมื่ออัตราเงินเฟ้อหลัก ที่ไม่รวมพลังงาน อาหาร เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ยังปรับตัวลดลงในอัตรารายปีจาก 1.4% เหลือ1.1% ก็ยิ่งทำให้อีซีบีจำเป็นต้องผ่อนคลายนโยบายเชิงการเงินเพื่อเลี่ยงภาวะเงิน ฝืดที่จะส่งผลกระเทือนต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของยูโรโซนในระยะยาว

สำหรับมาตรการคิวอีของอีซีบีนี้ หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า น่าจะรวมถึงการใช้มาตรการปล่อยเงินกู้ระยะยาวเป็นกรณีพิเศษ (แอลทีอาร์โอ) ที่อีซีบีเคยดำเนินการมาแล้วก่อนหน้านี้ 2ระลอกเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดในยุโรปด้วยการเปิดโอกาสให้ธนาคารทุก แห่งของยุโรปกู้เงินระยะยาวไม่จำกัดจำนวนจากอีซีบี ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยการใช้ก่อนหน้านี้ทำให้นักลงทุนคลายความวิตกกังวลและหันกลับมาลงทุนใน ภูมิภาคอีกครั้ง ซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง

ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญจากหลายสำนักกล่าวตรงกันว่า นอกเหนือจากนโยบายคิวอีแล้วอีซีบียังมีทางเลือกในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมจากระดับปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 0.5% โดยนักวิเคราะห์จากธนาคารอาร์บีเอสและยูบีเอสคาดการณ์ว่า อีซีบีน่าจะตัดลดอัตราดอกเบี้ยภายในการประชุมครั้งนี้ ขณะที่ นักเศรษฐศาสตร์อีกส่วนหนึ่งเชื่อว่ามาริโอ ดรากี ประธานอีซีบีน่าจะรอดูสถานการณ์และปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธ.ค. ปีนี้

ซาราห์ เฮวิน นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ส ในกรุงลอนดอนยอมรับว่าอัตราเงินเฟ้อในระดับต่ำถือเป็นภาคบังคับให้อีซีบี ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยการตัดลดหลักน่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 0.5%มาอยู่ที่ 0.25%

ขณะที่อีกทางเลือกหนึ่งที่พอเป็นไปได้ก็คือการลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากให้ อยู่ต่ำกว่า 0% ซึ่งเชื่อว่าน่าจะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่ออัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับเงินกู้ ระยะสั้น

ทั้งนี้ ทั้งนั้น เมื่อพิจารณาจากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ทยอยออกมา ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อต่ำ อัตราการว่างงานสูง อัตราการเติบโตชะลอตัว โดยกอปรกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในระยะยาวที่มหาอำนาจอันดับหนึ่งอย่างสหรัฐ ยังฟื้นตัวได้ช้า ส่วนอันดับสองอย่างจีนก็มีแนวโน้มจะชะลอตัว จนซ้ำเติมความต้องการบริโภคสินค้าในตลาดโลก กระทบต่อการส่งออกของยูโรโซน อีซีบีจึงแทบเรียกว่าตกอยู่ใต้ภาวะบีบบังคับที่ถ้าไม่ใช้ตัดสินใจใช้คิวอี ตอนนี้ ก็คงต้องพึ่งคิวอีอีกไม่นาน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ยุโรป งัดแผนคิวอี กระตุ้นเศรษฐกิจ

view