สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มาตรฐานคน-การบังคับใช้ จุดตายกฎหมาย..ไร้ประสิทธิภาพ

มาตรฐานคน-การบังคับใช้ จุดตายกฎหมาย..ไร้ประสิทธิภาพ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




วันนี้ กระแสค้าน "พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย" เดินมาเกินกว่าครึ่งทางแล้ว หลายคนเริ่มมองเห็นแสงรำไร

ของการยอมถอยจากฝ่ายรัฐบาล! เมื่อจุดยืนของประชาชนและกลุ่มองค์กรต่างๆ ออกมาแสดงพลังเรียกร้องเพิ่มขึ้นทุกขณะ สถานะล่าสุดของร่างกฎหมายฉบับนี้ จึงรอเพียงคำตัดสินจากที่ประชุมวุฒิสภาฯวันที่ 8-11 พ.ย.นี้ว่า จะโหวตคว่ำร่าง พ.ร.บ.นี้ ตามที่ประธานวุฒิฯให้สัมภาษณ์หรือไม่

เรื่องนี้ทำให้เห็นว่า ขั้นตอนการออกกฎหมายกว่าจะสำเร็จมาได้ แต่ละฉบับไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ยิ่งหากเป็นกฎหมายที่มีผลโดยตรงต่อส่วนรวม และสะท้อนความไม่ชอบมาพากลแล้ว ใช่ว่าใครจะแกล้งหลับตาข้างเดียว แอบสอดไส้แก้ไขใจความสำคัญ แล้วทำให้ผ่านออกมาโดยง่ายคงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น กฎหมายที่ผ่านออกมาทุกฉบับ ย่อมมีความศักดิ์สิทธิ์ รอบคอบ รัดกุม

แต่ในความเป็นจริงทุกวันนี้ กฎหมายที่มีใช้กันอยู่กลับไม่ศักดิ์สิทธิ์ ความเข้มงวดของข้อบังคับในกฎหมายหลายฉบับยังเป็นเพียง "กฎเหล็กในกระดาษ" ที่ไม่อาจบังคับได้ตามที่มันควรเป็น ไม่ใช่กฎหมายไม่ดี แต่"ผู้บังคับใช้"ต่างหากที่ปล่อยปละละเลย การนำมาใช้บังคับ กฎหมายหลายๆ ฉบับที่มีอยู่ จึงเป็นได้เพียง "ข้อกำหนดในกระดาษ ที่ไร้ประสิทธิภาพ"

ตัวอย่างล่าสุด คือ กรณีเรือโดยสารท่องเที่ยวล่มที่เกาะล้าน พัทยา เรื่องนี้หากมองที่ปลายเหตุ ความผิดคงเป็นผู้ขับเรือและเจ้าหน้าที่ท่าเรือ ที่ชะล่าใจปล่อยให้เรือบรรทุกผู้โดยสาร เกินกำลังที่รับได้จากจำนวนผู้โดยสารไม่เกิน 150 คน กลับบรรทุกมากกว่า 200 คน ดูจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เรืออับปาง จนมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ถึง 6 คน บาดเจ็บสาหัสกว่า 10 คน สูญเสียใหญ่อีกครั้ง จากอุบัติเหตุทางน้ำที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าในรอบไม่กี่เดือน

แต่ถ้ามองกันให้ชัด ปัญหาพลขับและเจ้าหน้าที่ชายฝั่งประมาท คือประมาทเลินเล่อ ไม่ใช่กฎหมายไม่รัดกุมแต่ปัญหามันอยู่ที่ตัวบุคคล ผู้ที่ต้องบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งควรจะเป็นเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า ผู้รับผิดชอบดูแลกิจกรรมทางน้ำทุกประเภท และพลขับเรือที่ต้องมีสำนึกการให้บริการ ที่ต้องยึดปฏิบัติตามข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด ต้องไม่บรรทุกน้ำหนักเกิน จนนำมาซึ่งความเสียหายใหญ่ นอกจากนี้ ในข่าวยังระบุด้วยว่า พลขับมีอาการเมาจากสารบางอย่าง ยิ่งสะท้อนความบกพร่องของตัวบุคคลมากเข้าไปอีก ทั้งเจ้าตัวเองที่ต้องรู้ว่าไม่ควรทำงานที่ต้องรับผิดชอบชีวิตคนอื่นในขณะมึนเมา ซึ่งผิดทั้งกฎหมายและจรรยาบรรณ

เช่นเดียวกันเจ้าของกิจการเดินเรือ ก็บกพร่องในกรณีที่ไม่ตรวจตราเข้มงวดกับพนักงาน ทั้งพลขับและลูกเรือ ให้ปฏิบัติหน้าที่โดยยึดกรอบกฎหมายให้รัดกุม อย่างน้อยเจ้าของกิจการเรือก็ไม่ควรปล่อยให้ "คนเมา" ออกเรือเพราะต้องรับผิดชอบชีวิตผู้โดยสารจำนวนมาก หรือแม้แต่จะขับเรือเปล่าออกทะเลก็ไม่ควรอนุญาตให้ทำได้ เรื่องนี้ผู้ผิดจริงและต้องรับผิดชอบโดยตรง คือเจ้าของกิจการเดินเรือ พลขับ เจ้าหน้าที่ชายฝั่ง และลูกเรือ ทุกคนที่เกี่ยวข้อง ผิดที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จนก่อโศกนาฏกรรมขึ้น

เหตุการณ์นี้เป็นตัวอย่าง "จุดตายของกฎหมายบ้านเรา ซึ่งก็คืออยู่ที่คนและการบังคับใช้.. ต่อให้กฎหมายเข้มงวดแค่ไหน ก็ไร้ประสิทธิภาพ หากคนไม่สำนึกและปฏิบัติตาม"


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มาตรฐานคน การบังคับใช้ จุดตายกฎหมาย ไร้ประสิทธิภาพ

view