สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เป้าไหน? คว่ำนิรโทษหรือ ไล่รัฐบาล

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เฉลา กาญจนา



ใครจะเชื่อว่า พลังต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของรัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะกลายเป็นดาวกระจาย

ในห้วงเวลาอันรวดเร็ว เพราะกลุ่มต่อต้านไม่เพียงแต่พลัง ที่เกิดจากฝ่ายการเมืองอย่างพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น แต่แทบทุกกลุ่มในสังคมมีอารมณ์ร่วมจนออกมาร่วมเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นหมู่ข้าราชการ นักธุรกิจ นักวิชาการ นักศึกษา แพทย์ ตุลาการ ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)รวมไปถึงพลังในโซเชียล มีเดีย ที่ร่วมกัน"เขย่า"มาอย่างต่อเนื่อง

พลังหลักของงานนี้ เห็นทีจะต้องยกให้"พลังโซเชียล มีเดีย"เสียแล้ว ที่เป็นเครื่องมือปลุกระดมกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย

ณ จุดเริ่มต้นการชุมนุมประท้วง ทุกกลุ่มต่างมีเป้าหมายตรงกัน คือ"ไม่ต้องการ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย"อย่างที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคร่วมรัฐบาล ใช้เวลาใน "ยามวิกาล" ปกติสุขเวลานี้เป็น "เวลานอน" ไม่ใช่เวลาลุกลี้ลุกลนผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซ้ำร้ายมีการย้อนความผิดไปถึงปี 2547 มีเจตนาอะไร?

จริงๆ ถามว่า ถ้าจะนิรโทษกรรมผู้กระทำและผู้ถูกกระทำจากเหตุการณ์ชุมนุม ก็ไม่น่าจะลุกฮือขนาดนี้ แต่ปมประเด็นที่ทำให้ผู้คนในสังคมลุกฮือคือการขอ"นิรโทษกรรมความผิดทุจริตคอร์รัปชัน"ที่เป็นตัวจุดพลุ ตรงนี้อาจเป็นเพราะความทรงจำของผู้เสียภาษีทุกกลุ่ม ยังคงมีความทรงจำอะไรอยู่กับเรื่องราวในอดีต จนมิอาจจะมองข้ามไปได้

ภักดี โพธิศิริกรรมการป.ป.ช. ถึงกับต้องยื่นหนังสือต่อ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNODC เพื่อแสดงเจตจำนงของป.ป.ช.ต่อ UNODC ปฎิเสธการนิรโทษกรรมทุจริตคอร์รัปชัน จะทำให้คดีเกี่ยวทุจริตที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)สอบสวน รวมไปถึงคดีที่ตัดสินไปแล้วและอยู่ระหว่างการพิจารณาของป.ป.ช."ตกไป"โดยปริยาย

สำคัญยิ่ง ป.ป.ช.ได้ลงนามอนุสัญญาต่อต้านการทุจริตของสหประชาชาติ หากพ.ร.บ.นิรโทษฉบับนี้ผ่านไปเท่ากับว่าไม่สามารถกระทการในสิ่งที่ลงนามไว้ได้ เช่นเดียวสถาบันการศึกษามองว่า จะส่งผลต่อการต้านการคอรัปชันในสังคม สร้างบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้องให้กับการปราบปรามการทุจริต ขัดกับหลักการปลูกฝังค่านิยมให้นักศึกษา

แน่นอน ณ วันนี้ แรงกดดันคงอยู่ที่วุฒิสภา ว่าจะลงเอยอย่างไร ...คว่ำ พ.ร.บ.ฉบับนี้ หรือรับร่างพ.ร.บ.ไว้พิจารณา แต่ที่แน่ๆ วันที่ 11 พ.ย.นี้ การประชุมวุฒิสภามีข้อตกลงร่วมกัน ที่จะให้สมาชิกวุฒิอภิปรายกันละคนละ 10 นาที ตรงนี้น่าจะมีผู้อภิปราย 30-40 คน ก่อนที่จะลงมติ สถานการณ์อย่างนี้เชื่อขนมกินได้เลยว่า วุฒิคงเลือกที่จะคว่ำพ.ร.บ.ฉบับนี้ 100%

แม้มติวิปรัฐบาล จะประกาศจะถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ที่คาอยู่ในสภาฯ ทั้ง 5 ฉบับก็ตาม รวมทั้งจะไม่ยืนยันร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่จะกลับเข้าสู่สภาฯอีก แต่ในหลักคำว่า 180 วัน กฎหมายไม่ได้บอกชัดเจนว่า เลยไปเท่าไหร่ ฉะนั้นหากมีส.ส.คนไหนหยิบขึ้นมาเสนออีกก็เป็นไปได้ เรียกว่าตรงนี้ ยังต้องตีความอีกพอสมควร

ส่วนประเด็นที่จะให้ถอนพ.ร.บ.ฉบับนี้ออกไปเลย คำตอบสั้นๆ"ใครก็ถอนออกไปไม่ได้"แม้แต่ วรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ก็ทำไม่ได้

ตรงกันข้าม เมื่อรัฐบาลยอม"ถอยสุดซอย"ถามว่าการชุมนุมในแต่ละกลุ่มจะทำอย่างไร ? หรือจะม็อบไปเรื่อยๆ เพื่อให้ครบ180 วัน เพื่อให้เกิดความแน่ใจอย่างนั้นหรือไม่

ฉะนั้นอุณหภูมิการเมืองยามนี้ ร้อนยิ่งกว่าอากาศ เป้าหมายใหญ่ของการชุมนุม คงจะมีการพัฒนาไปไกล ไม่ได้หยุดอยู่ที่คว่ำ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเสียแล้วกระมัง ในสถานการณ์ที่ร้อนแรงอย่างนี้ เห็นทีเป้าหมายใหญ่ของการชุมนุมน่าจะอยู่ที่การ"ไล่รัฐบาล"

ทว่า..รัฐบาลก็ยังได้เปรียบตรงที่ถือ "ไพ่ยุบสภา"อยู่ในมือ หากสถานการณ์สุดซอยเมื่อไหร่ เชื่อแน่ "ไพ่ยุบสภา" จะถูกหยิบขึ้นมาใช้ แม้จะสถานการณ์ไม่บวกก็ตาม


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เป้าไหน คว่ำนิรโทษ ไล่รัฐบาล

view