สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปัญญาชนกับ ยกเข่ง มองผ่าน แถลงการณ์

จากประชาชาติธุรกิจ

"เดินหมากพลาดตาเดียว แพ้ทั้งกระดาน"

นาทีนี้คงไม่มีคำเปรียบเทียบไหนเหมาะสมเท่ากับข้างต้นอีกแล้ว กับบทบาทของ "พรรคเพื่อไทย" เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

เพราะในการแปรญัตติวาระที่ 2 กรรมาธิการฝ่ายเสียงข้างมากได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหา และผ่านวาระ 3 อย่างเร่งรีบในค่ำคืนของวัน "ฮาโลวีน" 31 ตุลาคม ทำเอา "หลอน" ไปตามๆ กัน

จากเดิมนิรโทษเฉพาะผู้ชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง ไม่รวมผู้สั่งการและแกนนำ กลับกลายเป็น "เหมาเข่ง" เหมารวมครอบคลุมระยะเวลายาวนาน

นี่เองเป็น "ประเด็นร้อน" ที่ "เรียกแขก" จากทั่วทุกสารทิศออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาต่างๆ ไล่ตั้งแต่ผู้บริหาร นักศึกษา พร้อมใจกัน "ออกแถลงการณ์" ต่อต้านตามกันมาติดๆ

แต่จะ "ต้าน" ในประเด็นไหนบ้าง นี่สิคือเรื่องที่น่าสนใจ?

เริ่มต้นใน กลุ่มที่ 1 ด้วย แถลงการณ์ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ท้ายแถลงการณ์มีการลงชื่อของ 18 อธิการบดี ของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เน้นไปที่เรื่อง "ทุจริตคอร์รัปชั่น" ไม่พูดถึงเรื่อง "สลายการชุมนุม" ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมากเลยแม้แต่น้อย

"ทปอ.เห็นว่าการที่ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม มีเนื้อหาดังกล่าวข้างต้นเท่ากับเป็นการสร้างมาตรฐานที่ไม่ถูกต้องขึ้นในสังคมไทย เพราะจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นมิใช่สิ่งร้ายแรง และในท้ายที่สุดก็สามารถหลุดพ้นจากความรับผิดได้ด้วยการนิรโทษกรรม จะทำให้การต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชั่นในสังคมไทยในปัจจุบัน ไม่ประสบผลสำเร็จ และจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อไปในอนาคต"

ทำนองเดียวกับแถลงการณ์ของ มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยศิลปากร, คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษาและศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, มหาวิทยาลัยหาดใหญ่, สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ต่างก็พุ่งไปที่การคัดค้านประเด็น "ทุจริตคอร์รัปชั่น"

เช่นมหาวิทยาลัยมหิดล

"เห็นว่าร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม มีเนื้อหาที่เป็นการสร้างมาตรฐานไม่ถูกต้องขึ้นในสังคมไทย เพราะจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า การทุจริต คอร์รัปชั่นมิใช่สิ่งร้ายแรง และสามารถหลุดพ้นจากความรับผิดได้ด้วยการนิรโทษกรรม ทั้งนี้ จะทำให้การต่อต้านปัญหาคอร์รัปชั่นในสังคมไทยประสบผลสำเร็จและจะสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้อง ให้กับการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น"

หรือมหาวิทยาลัยศิลปากร

"เห็นว่า ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ดังกล่าว มีเนื้อหาสนับสนุนส่งเสริมต่อการสร้างมาตรฐานที่ไม่ถูกต้องขึ้นในสังคมไทย ส่งผลทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นและการกระทำผิดอาญาต่างๆ มิใช่เรื่องร้ายแรง และในที่สุดก็สามารถหลุดพ้นจากความผิดได้ด้วยการนิรโทษกรรม"

กลุ่มที่ 2 เป็นแถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยที่ค้านในหลายประเด็น ชี้ให้เห็นถึงความผิดในการแปรญัตติ ซึ่งขัดกับหลักการของกฎหมาย

ประกอบด้วย แถลงการณ์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ที่พูดถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลที่ถูกกระทำ ซึ่งรัฐต้องให้ความคุ้มครอง โดยไม่ออกกฎหมายยกเว้น รวมถึงยังค้านการนิรโทษกรรมแก่ความผิดในฐานทุจริตคอร์รัปชั่น

แถลงการณ์ คณาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่ชี้ให้เห็นถึงการขัดรัฐธรรมนูญของกฎหมาย การนิรโทษครอบคลุมหลากหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมทางการเมืองของประชาชน การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐโดยใช้อำนาจผู้สั่งการ รวมถึงเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมือง

ที่น่าสนใจคือ กลุ่มที่ 3 แถลงการณ์ที่ออกโดย "นิสิต-นักศึกษา"

ประเด็นคัดค้านค่อนข้างหลากหลาย อาทิ แถลงการณ์องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิพากษ์วิจารณ์ที่ตัวบทว่า "เป็นกฎหมายที่มีสภาพบังคับ ทำให้เกิดสิทธิและหน้าที่แก่ประชาชนหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง และมีผลกระทบต่อสังคมส่วนรวมเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการลบล้างความผิดให้กับผู้กระทำความผิดโดยมีขอบเขตที่กว้างเกินไป"

แถลงการณ์สภานักศึกษา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เนื้อหาตอนหนึ่งว่า "...เป็นการสร้างมาตรฐานที่ไม่ถูกต้องให้แก่สังคมไทย โดยการลบล้างความผิดให้แก่ผู้กระทำความผิด ความผิดในทรัพย์สินต่อการเผาทำลาย และความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชั่น"

ขณะที่แถลงการณ์องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน นอกจากพูดเรื่องหลักนิติรัฐ นิติธรรม กระบวนการยุติธรรม ที่ถูกทำลายแล้ว ยังมีอีกข้อหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะเป็นแถลงการณ์ฉบับเดียวที่ระบุคำว่า "ฆ่า"

เนื้อความระบุว่า "ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นการสร้างมาตรฐานที่ไม่ถูกต้องให้สังคมไทย โดยการลบล้างความผิดให้แก่ผู้กระทำความผิดให้อยู่เหนืออำนาจกฎหมาย ทั้งคดีความผิดต่อชีวิตในการฆ่า ความผิดต่อทรัพย์สินในการเผาและทำลาย และความผิดทุจริตคอร์รัปชั่น"

แต่ในรายพุ่งเป้าไปที่ประเด็นการชุมนุมทางการเมืองคือ แถลงการณ์ร่วมขององค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งให้นิรโทษกรรมแก่บรรดาการกระทำของประชาชนอันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง

ดังปรากฏในมติ 2 ข้อ ว่า

1.เรียกร้องให้วุฒิสภามีมติไม่ให้ความเห็นชอบต่อร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว และให้สภาผู้แทนราษฎรดำเนินกระบวนการให้ถูกต้องโดยยึดหลักการเดิม ตามที่ได้รับหลักการเอาไว้ตามวาระที่หนึ่ง

2.การตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ควรนิรโทษกรรมให้แต่เฉพาะบรรดาการกระทำของประชาชนอันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง อันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามวิถีทางประชาธิปไตยที่มีการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น

แถลงการณ์จากสถาบันที่แตกต่างจากกลุ่มอื่นคือ แถลงการณ์ของคณะผู้บริหาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะไปเน้นที่ความเห็นของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) โดยเห็นว่า การจัดทำร่างกฎหมายนิรโทษกรรมนี้ไม่เป็นไปตามที่ คอป.ได้ให้แนวทางเรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรมไว้...

สำหรับ คอป.มาจากการแต่งตั้งในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังสลายการชุมนุมเมื่อกลางปี 2553 จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

และทำงานต่อเนื่องมาถึงสมัยของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

รายงานของ คอป.เกี่ยวกับการสลายม็อบ ถูกตั้งคำถามเป็นอย่างมาก เมื่อเทียบกับรายงานขององค์กรอื่นๆ อาทิ ศูนย์ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบเหตุสลายชุมนุม เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.)

แถลงการณ์ของนิสิต-นักศึกษา รวมถึงมหาวิทยาลัยต่างๆ เหล่านี้ พิจารณาจากเนื้อหาแล้ว สะท้อนให้เห็นความแตกแยกในสังคมไทยที่ยังคงดำรงอยู่อย่างชัดเจน

ชัดเจนยิ่งจาก "ประเด็น" ในการ "คัดค้าน" พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับ เหมาเข่ง-สุดซอย



ที่มา : นสพ.มติชน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปัญญาชน ยกเข่ง มองผ่าน แถลงการณ์

view