สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อเมซอนและเบซอส จะครองโลก ?

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ระดมสมอง โดย ไสว บุญมา

โดย ไสว บุญมา sboonma@msn.com

ใน ช่วงนี้หลายวงการพูดถึงเรื่องราวของบริษัทอเมซอนและผู้ก่อตั้ง เจฟฟรี่ เบซอส บ่อยมาก ปัจจัยคงมีหลายอย่างด้วยกัน รวมทั้งการซื้อหนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ เมื่อเดือนสิงหาคม และการพิมพ์หนังสือชื่อ The Everything Store : Jeff Bezos and the Age of Amazon ของแบรดสโตนออกมาเมื่อกลางเดือนตุลาคม

วอชิงตัน โพสต์ เป็นหนังสือพิมพ์เก่าแก่ที่มีชื่อเสียงโด่งดังของครอบครัวเศรษฐีในย่านกรุง วอชิงตันมานาน แต่ความเปลี่ยนแปลงของตลาดซึ่งเป็นผลของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้หนังสือพิมพ์นี้ประสบปัญหาสาหัส เจ้าของมองหาผู้ซื้อมาเป็น เวลาระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังหาผู้ซื้อที่ตัวเองคิดว่าน่าจะรักษามาตรฐานของหนังสือพิมพ์ไว้ได้ไม่ พบ จนกระทั่งเบซอสแสดงความสนใจ เนื่องจากเบซอสมีชื่อเสียงโด่งดังในด้านรักษามาตรฐานของการทำธุรกิจ และรู้จักกับเจ้าของหนังสือพิมพ์มาก่อน พวกเขาจึงตกลงซื้อขายกันด้วยราคา 250 ล้านดอลลาร์ ทั้งที่เบซอสไม่มีประสบการณ์ทางด้านการทำสื่อหนังสือพิมพ์มาก่อน

เบซอส ไม่ให้เหตุผลกับสื่อว่าเขาคิดอย่างไรจึงซื้อหนังสือพิมพ์ เขาจึงถูกวิจารณ์ไปในหลายแง่มุม แต่เมื่อมองให้ลึกลงไป การซื้อธุรกิจแนวใหม่ไม่น่าแปลก เนื่องจากอเมซอนเองก็ได้ขยายธุรกิจ ออกไปในหลายด้าน นอกจากจะทำกิจการขายปลีกผ่านการใช้ระบบอินเทอร์เน็ต หรือ "อีคอมเมิร์ซ" เช่น ทำคอมพิวเตอร์พกพาขนาดเล็กแข่งกับแอปเปิลและซัมซุง และให้บริการด้านคอมพิวเตอร์แข่งกับไอบีเอ็ม นอกจากนั้น เบซอสเองยังมีความสนใจในด้านการทำธุรกิจอื่นอีกด้วย เช่น เป็นเจ้าของบริษัทวิจัยด้านอวกาศชื่อ Blue Origin มากว่า 12 ปี การก่อตั้งบริษัทอวกาศนี้มีที่มาจากความสนใจตั้งแต่ในสมัยเขาเป็นเด็ก ซึ่งครั้งหนึ่งเขาคิดว่ามนุษย์ควรออกไปตั้งอาณานิคมอยู่นอกโลก การกระทำเช่นนั้นจะส่งผลให้โลกมีสภาพเป็นสวนอันสวยงามตามธรรมชาติ

หนังสือ เล่มดังกล่าวเล่าทั้งเรื่องราวส่วนตัวของเบซอสเองและของบริษัทอเมซอน ข้อมูลมาจากการค้นคว้าของผู้เขียน โดยเบซอสเองมิได้ให้ข้อมูลโดยตรงแต่อย่างใด

เขาให้เหตุผลว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จะสรุปว่าเขาและอเมซอนจะมีบทบาทมากน้อยเพียงไรในประวัติ ศาสตร์ นอกจากนั้นเขายังมองอีกว่าหนังสือแนวนี้มักมีปัญหาที่ไม่สามารถนำเรื่องราว อันสลับซับซ้อนมาเสนออย่างจะแจ้งได้ ส่วนตัวเขายังไม่คิดจะเขียนหนังสือเพื่อเล่าเรื่องราวและแนวคิดของเขาเอง ต่างกับนักธุรกิจชื่อดังในยุคนี้ที่เขียนหนังสือออกมาแล้วหลายคน บางคนเขียนมากกว่าหนึ่งเล่ม (ย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน ประชาชาชาติธุรกิจได้นำหนังสือของนักธุรกิจดัง ๆ จำนวนหนึ่งมาคัดย่อและเสนอไว้ในคอลัมน์ "ผ่ามันสมองของปราชญ์" ตอนนี้บทคัดย่อของหลายเล่มอาจหาอ่านได้ในหนังสือชื่อ "มหาเศรษฐีขี้ไม่เหนียว") อย่างไรก็ตาม เบซอสอนุญาตให้ผู้เขียนสัมภาษณ์พนักงานของอเมซอนและญาติพี่น้องของเขาได้

ในด้านส่วนตัว เรื่องราวของเบซอสคล้ายนวนิยายเรื่องหนึ่ง เขาเกิดเมื่อตอนพ่อกับแม่ยังเป็นวัยรุ่นอยู่ในโรงเรียนมัธยม พ่อชื่อเทด จอร์เกนเซน ซึ่งเป็นนักขี่จักรยานล้อเดียวชั้นเยี่ยม และสนใจในการนำจักรยานนั้นไปแสดงในที่ต่าง ๆ การชอบดื่มเหล้าทำให้เขาต้องหย่ากับภรรยาเมื่อเบซอสอายุได้ 3 ขวบ แม่ของเขาแต่งงานใหม่กับชายชาวคิวบาชื่อมิเกล เบซอส ซึ่งอพยพเข้าไปเสี่ยงโชคในอเมริกาแบบตัวเปล่าเมื่ออายุ 18 ปี มิเกลมีความมานะสูงจนได้ทำงานชั้นผู้บริหารในบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่เอ็กซอน และรับเจฟฟรี่เป็นลูก นั่นคือที่มาของนามสกุลของเจฟฟรี่ ส่วนเทดยอมยกลูกชายให้พ่อเลี้ยง เพราะเห็นว่ามิเกลเป็นคนดี ตั้งแต่นั้นมาเจฟฟรี่และเทดก็ห่างหายจากกันไป จนกระทั่งผู้เขียนหนังสือไปตามหา ปรากฏว่าตอนนี้เทดอายุ 69 ปี และเป็นเจ้าของร้านซ่อมจักรยานเล็ก ๆ อยู่ในรัฐแอริโซนา โดยไม่รู้เลยว่าลูกชายได้กลายเป็นนักธุรกิจโด่งดังระดับโลก และมีศูนย์ส่งสินค้าอยู่ไม่ห่างจากบ้านเขานัก

ทางด้านบริษัทอเมซอน ข้อมูลจำนวนมากอาจหาได้ในระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งส่วนหนึ่งเปลี่ยนรายวันเนื่องจากยอดขายและจำนวนพนักงานเปลี่ยนตลอดเวลา เมื่อก่อตั้งครั้งแรก บริษัทชื่อ "คาดาบรา" ในปีต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นอเมซอนเพื่อสะท้อนความยิ่งใหญ่ที่มีอยู่ในชื่อของ แม่น้ำสายใหญ่ที่สุดในโลกนั้น หลังก่อตั้งมา 19 ปี อเมซอนได้แสดงความยิ่งใหญ่ให้ปรากฏ ในปีนี้คาดว่าจะมียอดขายถึง 7 หมื่นล้านดอลลาร์ และมีพนักงานเกือบ 1 แสนคน อย่างไรก็ตาม บริษัทจะทำกำไรได้ไม่มากนัก เมื่อเทียบกับบริษัทขนาดยักษ์ด้วยกัน อันที่จริงเมื่อปีที่ผ่านมา อเมซอนขาดทุนสุทธิ 39 ล้านดอลลาร์ และปีนี้ยังไม่แน่ว่าจะทำกำไรได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นของอเมซอนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะนักลงทุนเชื่อว่าในวันหนึ่งข้างหน้าพวกตนจะได้กำไรจากการครองหุ้นอเม ซอน ที่เป็นเช่นนั้นคงเพราะพวกเขาเชื่อมั่นในฝีมือการบริหารจัดการของเบซอส ซึ่งเน้นการขยายกิจการต่อไปในระยะยาวมากกว่าผลกำไรในระยะสั้น

หลัก การบริหารจัดการของเบซอสเป็นอย่างไรยากที่จะสรุปออกมาสั้น ๆ นอกจากจะเป็นที่รู้กันในวงการธุรกิจว่าอเมซอนมีหลัก 14 ข้อสำหรับผู้บริหารและพนักงาน เรื่องนี้อาจเข้าไปเปิดอ่านได้ในอินเทอร์เน็ตในหัวข้อ Amazon Leadership Principles ในจำนวน 14 ข้อนั้น ข้อที่เป็นอันดับต้นและถูกเน้นย้ำสูงสุด ได้แก่ ความพอใจของลูกค้าตามธรรมดา บริษัทห้างร้านโดยทั่วไปต่างบอกว่าความพอใจของลูกค้าคือเป้าหมายของตน แต่ไม่ค่อยมีใครปฏิบัติอย่างจริงจังและจริงใจในแนวเดียวกับเบซอส เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ เขามีอีเมล์ที่ลูกค้าสามารถเขียนไปถึงเขาโดยตรงได้ที่ jeff@amazon.com เขาอ่านจดหมายจำนวนมากจากลูกค้า ถ้าเขาเห็นว่าลูกค้ามีประเด็นสำคัญ เขาจะส่งจดหมายนั้นต่อไปให้พนักงานและ
ผู้บริหารที่รับผิดชอบทันที พนักงานและผู้บริหารเหล่านั้นต้องมีคำตอบที่เขาพอใจภายในเวลาอันสั้น มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาใหญ่ เรื่องนี้คงเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งซึ่งทำให้พนักงานใหม่อยู่กับอเมซอน ได้ไม่ถึงปี และอเมซอนเป็นบริษัทขนาดใหญ่ในบัญชี "ฟอร์จูน 500" ที่พนักงานอยู่สั้นที่สุดเป็นอันดับสองรองจากบริษัทประกันภัยแห่งเดียวเท่า นั้น

เบซอสมักใช้หลักความขัดแย้งกดดันพนักงานและบริษัทคู่แข่งแบบ เอาเป็นเอาตายอยู่ตลอดเวลาจนพนักงานบางคนบอกว่าเขาขาดความเป็นมนุษย์ แต่ความเห็นเช่นนั้นดูจะขัดแย้งกับเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง นั่นคืออเมซอนยอมให้บริษัทขนาดเล็กขายสินค้าผ่าน "หน้าร้าน" อิเล็กทรอนิกส์ของตน

ด้วยเหตุนี้ ภาพโดยรวมที่ออกมาเกี่ยวกับอเมซอนและเบซอสได้แก่ความขัดแย้งภายในตัวเอง หากความขัดแย้งภายในนี้เป็นภาพที่สะท้อนความเป็นจริงอย่างแม่นยำ มันอาจทำให้อเมซอนประสบปัญหาสาหัสจนไม่สามารถเป็นใหญ่เหนือบริษัทขนาดยักษ์ อื่น ๆ ได้ เช่นเดียวกับแม่น้ำอเมซอนซึ่งใหญ่กว่าแม่น้ำทุกสายในโลก


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อเมซอน เบซอส จะครองโลก

view