สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นโยบายสาธารณะเพื่อเกษตรกรรมของไทย

นโยบายสาธารณะเพื่อเกษตรกรรมของไทย

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เมื่อวานนี้เราพูดถึงตำแหน่งแห่งที่ในโลกของภาคเกษตรของไทย วันนี้ลองมาดูในรายละเอียดเพิ่มขึ้นว่า เกษตรกรรมไทยวันนี้เป็นอย่างไร

จากงานวิจัยของ ศ. เบญจวรรณ ฤกษ์เกษม พบว่าในเวลาครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาภาคเกษตรของประเทศไทยได้มีพัฒนาการไปมากพร้อมๆ กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจากต้นพุทธศตวรรษที่ 2500 เกือบร้อยละ 40 ของจีดีพี มาจากเกษตรกรรมและประชากรไทย 27 ล้านคนอยู่ในภาคเกษตรร้อยละ 80 ในปัจจุบัน ถึงแม้ผลิตภัณฑ์มวลรวมจากภาคเกษตรจะมีมูลค่าถึงหนึ่งล้านล้านบาทแต่ก็นับเป็นเพียงร้อยละ 11 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ โดยมีคนไทยหนึ่งในสามคนอยู่ในภาคเกษตรแม้สัดส่วนในจีดีพีของภาคเกษตรกรรมไทยจะลดลง แต่มูลค่าและปริมาณมีการเติบโตอย่างมหาศาลนอกจากจะสามารถเลี้ยงประชากรที่เพิ่มขึ้นเป็นเกือบสามเท่าตัวมูลค่าจริงของสินค้าเกษตรส่งออกได้เพิ่มขึ้นในอัตรายกกำลัง (Exponential) แต่ปรากฏการณ์ใหม่ก็คือ เกษตรกรรมเป็นแหล่งรายได้เงินสดสุทธิส่วนน้อยของ “เกษตรกร” 5.9 ล้านครัวเรือนไปเสียแล้ว

ทุกวันนี้ ข้าวยังครองตำแหน่งที่หนึ่งในภาคเศรษฐกิจเกษตรของไทยด้วยมูลค่าร้อยละ 30 ของผลิตผล (เฉลี่ย พ.ศ. 2549 - 2553) ตามด้วยพืชไร่ (ร้อยละ 22) ปศุสัตว์ (ร้อยละ 20) ผักผลไม้ (ร้อยละ 15) และยางพารา (ร้อยละ 13) ด้วยอัตราการเติบโต 4.3 แสนตันต่อปีใน พ.ศ. 2553 ประเทศไทยผลิตข้าวเปลือกได้เป็นสามเท่าตัวเมื่อเทียบกับ พ.ศ. 2504 มูลค่าจากข้าว 2.5 แสนล้านบาทใน พ.ศ. 2553 มาจาก (ก) การเพิ่มปริมาณผลผลิตด้วยเทคโนโลยีข้าวสมัยใหม่ (รวมถึงการใช้ปุ๋ยและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช) และลงทุนในการพัฒนาระบบชลประทานซึ่งส่งผลถึงการเพิ่มผลผลิตข้าวต่อไร่และการทำนาปีละสองถึงสามครั้งและ (ข) การเพิ่มมูลค่าจากการเพิ่มคุณภาพของผลผลิตด้วยข้าวหอมเพราะข้าวหอมมะลิที่ได้ราคาสองเท่าของข้าวขาวธรรมดาในเกรดเดียวกัน การปรับปรุงคุณภาพการสีของข้าวด้วยการเก็บเกี่ยวทันเวลาด้วยเครื่องเกี่ยวข้าวการอบแห้งข้าวด้วยเครื่องอบและการผลิตข้าวนึ่งที่มีข้าวหักน้อยมากจากการสีข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร ข้าวสารส่งออกที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นปีละ 2.2 แสนตันตั้งแต่กลางทศวรรษ 2510 เป็นข้าวคุณภาพดีเป็นส่วนใหญ่นำด้วยข้าวนึ่ง (ร้อยละ 31 โดยน้ำหนัก) ข้าวขาวเกรดดี (ร้อยละ 26) และข้าวหอมมะลิ (ร้อยละ 25)

ศ. เบญจวรรณ อธิบายว่าความสำเร็จของเกษตรกรรมไทย ได้มีวิวัฒนาการแยกออกเป็นสองทางซึ่งมีความแตกต่างของวัตถุประสงค์หลักและผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพในเส้นทางหนึ่งเป็นเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์ที่ใช้เทคโนโลยีและปัจจัยการผลิตทันสมัยเป็น “เกษตรเชิงอุตสาหกรรม” มีแบบฉบับหลักคือการทำนาชลประทานปีละ 2-3 ครั้งการใช้เครื่องจักรทุ่นแรงและการจ้างเหมาในการดำเนินกิจกรรม (Outsource) ตั้งแต่การไถคราดไปจนถึงการเก็บเกี่ยวด้วยรถเกี่ยวทำให้สามารถขยายกิจการให้มีขนาดใหญ่ขึ้นการใช้เทคโนโลยีเข้มข้นที่เป็นเงื่อนไขสำคัญของความสามารถแข่งขันแต่กิจกรรมขนาดใหญ่ไฮเทคนี้มีผลกระทบในทางลบต่อสภาพแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพจากการใช้ปุ๋ยเคมีและสารกำจัดศัตรูพืชชาวนาเชิงอุตสาหกรรมหลายรายทำนาครั้งละหลายร้อยไร่ชาวนาในเขตชลประทานจำนวนมากไม่ใช่คนจนอีกต่อไปหากมีที่ดินทำนาถึง 40-50 ไร่

นโยบายสาธารณะที่กระตุ้นการผลิตโดยการเอื้อประโยชน์แก่เกษตรกรเป็นตัวเงินที่สูงขึ้นตามปริมาณผลผลิตเช่นโครงการจำนำข้าวมีผลกระทบร้ายแรงสองทางความพยายามเพิ่มผลผลิตด้วยเทคโนโลยีเข้มข้นและใช้ปุ๋ยและสารกำจัดศัตรูพืชมากขึ้นย่อมเป็นผลเสียต่อสภาพแวดล้อมในเบื้องต้นเกษตรกรเชิงอุตสาหกรรมจะได้รับผลประโยชน์จากโครงการอุดหนุนแต่ประเทศจะสูญเสียความสามารถแข่งขันไปในระยะยาวเมื่อผลผลิตที่เพิ่มขึ้นไม่อาจถูกส่งออกได้ในราคาต่ำกว่าราคาประกันตามข้อตกลงการค้าเสรี

ในอีกเส้นทางวิวัฒนาการประกอบด้วยเกษตรกรรมหลายรูปแบบอาทิเกษตรอินทรีย์เกษตรพอเพียงเกษตรผสมผสานชุมชนพอเพียงฯลฯที่รวมกันเป็น “เกษตรกรรมเชิงอนุรักษ์” หรือ “เกษตรยั่งยืน” ที่แม้จะขับเคลื่อนด้วยวัตถุประสงค์ทางสังคมและนิเวศที่แตกต่างกันแต่จากการใช้ปุ๋ยเคมีและสารกำจัดศัตรูพืชอย่างจำกัดจึงมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยและมีผลดีต่อความหลากหลายทางชีวภาพโดยการอนุรักษ์ถิ่นอาศัยความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางพันธุกรรมของพืชและสัตว์เกษตรชนิดต่างๆ ไว้ในท้องถิ่นเกษตรยั่งยืนนี้ไม่ใช่ระบบเกษตรล้าหลังและหมดความหมายสำหรับสังคมไทยในปัจจุบันแต่มีความสำคัญในการให้ความมั่นคงทางอาหารภายในครัวเรือนและหลักประกันความมั่นคงทางอาหารของประเทศภายใต้แรงกดดันจากความต้องการอาหารสัตว์และพลังงานชีวภาพตลอดจนการพุ่งสูงขึ้นของราคาปุ๋ยและสารกำจัดศัตรูพืชที่ผูกติดอยู่กับราคาพลังงานปิโตรเลียมที่นับวันจะสูญสิ้นไปยิ่งไปกว่านี้ยังจะมีบทบาทในอนาคตในการอนุรักษ์ภูมิทัศน์ชนบท เพื่อสันทนาการและการท่องเที่ยวอีกด้วย

เกษตรอินทรีย์มีข้อดีหลายอย่างก็จริงแต่ไม่สามารถให้ผลผลิตเพียงพอเลี้ยงโลกและยังจะเป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆ ของเกษตรกรรมไทย ผลผลิตเกษตรอินทรีย์ที่ส่งออกจากประเทศไทยยังมีปริมาณและมูลค่าน้อยมาก แต่จุดแข็งของเกษตรยั่งยืนของประเทศไทยคือความหลากหลายในรูปแบบและผลิตผลระบบนี้รักษามรดกทรัพยากรพันธุกรรมที่หลากหลายของประเทศทั้งพืช (นอกจากข้าวคุณภาพพิเศษชนิดต่างๆ ยังมีผักผลไม้พื้นเมือง/ท้องถิ่นหลากหลายชนิดและหลากหลายสายพันธุ์) และสัตว์ (ไก่ป่าหมูป่าปลาป่าหรือแม้แต่แมลงกินได้) ล้วนแต่มีโอกาสพัฒนาเป็นสินค้าเพื่อตลาดเฉพาะ (Niche Market) สำหรับผู้บริโภคที่มีกำลังซื้ออาหารจากระบบการผลิตที่เข้มข้นน้อยกว่า (เช่นไก่หมูที่เลี้ยงแบบปล่อยปลาป่าหรือผักผลไม้จากสวนผสม) ในราคาที่สูงกว่าอาหารที่ผลิตในระบบเกษตรอุตสาหกรรมเกษตรกรรมยั่งยืนในรูปแบบต่างๆ เหล่านี้จะพลาดโอกาสพัฒนาให้ดีขึ้นหากถูกมองข้ามในระดับนโยบายที่เน้นแต่ “พืชหลัก” และจะถูกเบียดขับออกจากระบบผลิตทางการเกษตรของไทยไปผลิตเพื่อรับผลประโยชน์ที่ไม่ยั่งยืนจากนโยบายยกระดับราคาอย่างโครงการจำนำข้าว

กระบวนการหลักที่เกิดขึ้นในเกษตรอุตสาหกรรมที่จะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคตคือ การควบรวมขยายกิจการ (เป็นขนาดกลางใหญ่และใหญ่มาก) ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อได้เปรียบจากขนาด (Economy of Scale) และความต้องการลงทุนที่สูงมากเพื่อการควบคุมโรคระบาดและความปลอดภัยของอาหารในกรณีของปศุสัตว์อุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์จะถูกครอบงำด้วยกิจการขนาดใหญ่ที่มักจะควบรวมกิจการอาหารสัตว์ การเพาะเลี้ยง ไปจนถึงการผลิตและจำหน่ายอาหารสำเร็จรูป ในขณะที่ปศุสัตว์ขนาดเล็ก-กลางที่ประกอบการแบบมีข้อตกลง โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจทางเทคโนโลยีและการจัดการตลอดจนการเชื่อมโยงเข้ากับห่วงโซ่อุปทานจะมีจำนวนลดลงหากขาดการแทรกแซงดูแลจากรัฐให้ได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะในด้านการรับผิดชอบร่วมกันในการรับความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและโรคระบาด

นโยบายสาธารณะเพื่อเกษตรกรและเกษตรกรรมรวมทั้งยุทธศาสตร์วิจัย จำเป็นต้องมีความเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างกลุ่มของเกษตรกรที่มีขีดความสามารถเป้าหมายโอกาสและข้อจำกัดต่างกันการดำเนินนโยบายสาธารณะเพื่อสนับสนุนการเติบโตต่อไปของเกษตรกรรมย่อมแตกต่างไปจากนโยบายเพื่อให้การอุดหนุนที่แตกต่างกันระหว่างการสนับสนุนผู้เป็น “เกษตรกรนายทุน” และ “เกษตรกรที่เลือกวิถีผลิตที่ยั่งยืน” หรือเพื่อความมั่นคงทางอาหาร นโยบายสำคัญสำหรับกลุ่มเกษตรรายย่อยจะเป็นเรื่องระบบสหกรณ์ การสนับสนุนการวิจัยเฉพาะพืชหลัก จะทำให้เราพลาดโอกาสสำคัญในการเป็นผู้นำด้านพืชรอง หรือระบบพืชอื่นๆ นโยบายเกษตรในอนาคตต้องมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน และเป็นนโยบายที่ไม่ทอดทิ้งกัน (Inclusive Policy)

พูดสั้นๆ ก็คือ นโยบายเกษตรในอนาคตไม่ควรเป็นนโยบายเหมาเข่งอีกต่อไป!!


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : นโยบายสาธารณะเพื่อเกษตรกรรม

view