สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ธุรกิจชายแดน

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ พร้อมรับAECหรือยัง? โดย ณกฤช เศวตนันท์

ใน การรวมเป็นประชาคมอาเซียน (AEC) ที่จะเกิดขึ้นอีกใน 3 ปีข้างหน้านั้น ธุรกิจตามแนวด่านชายแดนเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมาก เพราะด่านชายแดนคือประตูที่จะเชื่อมต่อความสัมพันธ์ด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว

หรือการค้ากันระหว่าง 10 ประเทศสมาชิก AEC ด่านชายแดนเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะต้องพัฒนาให้ดีก่อนจะมีการเข้าสู่ AEC สำหรับประเทศไทยของเรานั้นมีด่านชายแดนอย่างเป็นทางการทั้งหมด 16 แห่ง โดยแต่ละแห่งนั้นกระจายตัวอยู่ตามภาคต่าง ๆ ที่มีเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านต่าง ๆ ของเรา อันได้แก่ ประเทศพม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย โดยในแต่ละด่านชายแดนนั้นก็จะมีลักษณะที่

แตก ต่างกันออกไป ในบทความฉบับนี้จะขอนำเสนอถึงแนวทางในการพัฒนาชายแดนของไทย และธุรกิจชายแดนที่น่าสนใจให้นักธุรกิจไทยได้ใช้เป็นแนวทางประกอบการตัดสิน ใจลงทุนทำธุรกิจใน AEC

ขณะนี้ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างให้ความสำคัญ กับการพัฒนาจังหวัดตามแนวชายแดนอย่างมาก โดยภาครัฐมีแนวทางที่จะพัฒนาเขตนิคมอุตสาหกรรมใหม่เพื่อรองรับกิจกรรมทาง เศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า เช่น การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมีแผนการที่จะจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ (ได้แก่ ขอนแก่น อุดรธานี และนครพนม เป็นต้น) รวมทั้งในภาคตะวันตกเพื่อรองรับการลงทุนของทั้งนักลงทุนชาวไทย และนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการขยายโอกาสทางธุรกิจจากการเปิดประเทศของพม่า รวมทั้งการเชื่อมโยงกับท่าเรือทวายและนิคมอุตสาหกรรมทวาย นอกจากนี้ภาครัฐยังมีแนวคิดที่จะจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนระหว่าง ไทย-พม่า และระหว่างไทย-กัมพูชา ในขณะที่ภาคเอกชนนั้นเห็นได้ว่าทั้งผู้ประกอบการในท้องถิ่นและผู้ประกอบการ รายใหญ่จากกรุงเทพมหานครต่างได้ให้ความสนใจขยายการลงทุนในจังหวัดติดชายแดน ดังกล่าวนี้ค่อนข้างมาก

ได้มีการวิเคราะห์กันโดยผู้เชี่ยวชาญหลาย สำนักว่า 3 ธุรกิจหลักที่ไทยมีโอกาสจะประสบความสำเร็จด้วยดีในตลาดชายแดนนั้น อันดับแรกคือธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ลาว กัมพูชา และพม่า มีการนำเข้า

สินค้ากลุ่มนี้จากไทยค่อนข้างมาก กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เช่น เครื่องดื่มประเภทที่มีแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำตาลทราย อาหารสดและอาหารสดแช่แข็ง กลุ่มผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายกับถนอมผิวพรรณ และเครื่องสำอาง เป็นต้น ผลิตภัณฑ์จากไทยเหล่านี้เป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคในประเทศเพื่อนบ้าน อันดับต่อมาคือธุรกิจสินค้าเครื่องจักรกลประเภทต่าง ๆ เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านของไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา ทำให้มีความต้องการใช้เครื่องจักรกลเป็นจำนวนมาก และใช้เครื่องจักรกลเกือบทุกประเภท รวมทั้งเครื่องจักรกลในภาคการเกษตร ขณะที่ในปัจจุบันความต้องการเครื่องจักรกลในภาคอุตสาหกรรมมีเพิ่มขึ้นจากการ ขยายการลงทุนของประเทศในสมาชิกอาเซียน และประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกอาเซียนที่ต้องการเข้ามาขยายฐานการลงทุนในอาเซียน ธุรกิจสุดท้ายได้แก่ ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สินค้ากลุ่มนี้ยังมีโอกาสในการขยายการส่งออก เนื่องจากตลาดในหลาย ๆ ประเทศยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และอัตราการครอบครองสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศกลุ่ม CLMV อันประกอบด้วย กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ

นอกจากนั้น ยังมีธุรกิจอื่น ๆ ที่คาดหมายว่าน่าจะยังมีโอกาสเติบโตได้อีก เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ สำหรับภาพรวมของธุรกิจการท่องเที่ยวตามชายแดนมีการเติบโตเพิ่มขึ้น เห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านด่านศุลกากรในปัจจุบันมีจำนวน สูงขึ้นต่อเนื่อง อาทิ ด่านมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร ในปีงบประมาณ 2554 มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้า-ออก 2,230,058 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.8 เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2553 ที่ผ่านมาซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างน่าจะพอใจ อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการที่ต้องการทำธุรกิจหรือขยายธุรกิจในด้านการท่อง เที่ยวตามแนวชายแดนนั้นก็มีข้อควรคำนึงและต้องศึกษาให้รอบคอบ เช่น ศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของด่านการค้าชายแดนนั้น ๆ รูปแบบหรือวัตถุประสงค์ของการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวในพื้นที่ ดังกล่าว ศักยภาพความพร้อมของที่พักและจำนวนห้องพักที่รองรับในพื้นที่ดังกล่าว แนวโน้มความสัมพันธ์ของประเทศที่ติดกับชายแดน รวมถึงการประเมินความต้องการท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

สำหรับ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า หรือการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อปล่อยเช่า เช่น ศูนย์การค้าพลาซ่าขนาดเล็กก็เป็นธุรกิจที่น่าสนใจ อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการควรที่จะต้องศึกษาองค์ประกอบที่สำคัญ เช่น ที่ตั้งของศูนย์การค้า องค์ประกอบร้านค้าที่จะเข้ามาตั้งในศูนย์การค้า ต้องพิจารณาจำนวนของผู้คนที่เดินทางผ่านเข้ามา และระยะเวลาการเปิด-ปิดด่านชายแดนด้วยว่าจะเอื้ออำนวยต่อการเปิดห้างแค่ไหน

ข้อมูล ข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้วเมื่อ AEC เปิดตัวเชื่อมั่นว่ายังมีธุรกิจอีกหลายประเภทที่จะได้รับประโยชน์ผ่านทางชาย แดน แต่ความสำเร็จของธุรกิจนั้นยังขึ้นอยู่กับองค์ประกอบด้านอื่น ๆ ที่จะเข้ามาสนับสนุนเช่นกัน นโยบายของภาครัฐก็นับเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่ง การศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน และการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมตลอดถึงการมีความรู้ที่แม่นยำเกี่ยวกับกฎเกณฑ์และกฎระเบียบต่าง ๆ ของแต่ละประเทศอาเซียนจะเป็นปัจจัยช่วยให้นักธุรกิจไทยที่อยากลงทุนใน AEC ประสบความสำเร็จด้วยดี


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ธุรกิจชายแดน

view