สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เมื่อ 250 บริษัทเอกชนจับมือปฏิเสธคอร์รัปชัน

เมื่อ 250 บริษัทเอกชนจับมือปฏิเสธคอร์รัปชัน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




สองอาทิตย์ก่อนผมได้รับเชิญในฐานะกรรมการผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือไอโอดี ไปพูดในงานประชุมประจำปี

ของ สภาหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย เรื่องคอร์รัปชัน และผมได้พูดถึงโครงการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต เท่าที่ประเมินจากการตอบรับวันนั้นชัดเจนว่า ความสนใจและความพร้อมของบริษัทธุรกิจเอกชนที่จะร่วมแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันขณะนี้มีมาก เพราะทุกคนตระหนักว่าคอร์รัปชันเป็นปัญหารุนแรงของประเทศ จำเป็นต้องแก้ไข และการแก้ไข ทุกคนต้องช่วยกันทั้งภาครัฐ บริษัทเอกชน และภาคประชาชน

บริษัทเอกชนนั้นสามารถมีบทบาทได้โดยตรง เพราะเอกชนมักถูกมองว่าอยู่ในสมการด้านจ่ายของคอร์รัปชัน ถ้าบริษัทเอกชนร่วมกันปฏิเสธไม่จ่าย ไม่ให้ในการทำธุรกิจ โอกาสของการเกิดคอร์รัปชันก็จะลดลง แต่บริษัทเอกชนบริษัทเดียวคงทำไม่ได้ ต้องอาศัยบริษัทจำนวนมากๆ ร่วมมือกัน พร้อมใจกันปฏิเสธคอร์รัปชัน รวมพลังกันเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำธุรกิจ อันนี้คือสิ่งที่บริษัทเอกชนทำได้ และต้องทำ ขณะนี้มีโครงการแบบนี้ขึ้นแล้ว ที่บริษัทเอกชนมาร่วมกันปฏิเสธคอร์รัปชัน ซึ่งการตอบรับดีมาก ทั้งจากบริษัทเอกชนไทย และต่างประเทศ และโครงการก็มีโมเมนตั้มมากขึ้นเรื่อยๆ และสมาชิกหอการค้าอเมริกันที่เข้าฟังวันนั้น ก็แสดงความเห็นสนับสนุนโครงการ อันนี้คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

โครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริต เริ่มจากการริเริ่มโดยบุคคลสองคนที่ปัจจุบันน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านทั้งสองไม่ได้อยู่กับเราแล้ว คือ คุณชาญชัย จารุวัสตร์ อดีตกรรมการผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย และคุณดุสิต นนทะนาคร อดีตประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นโครงการความร่วมมือขององค์กรธุรกิจที่สำคัญของประเทศแปดองค์กรที่ร่วมกันผลักดันโครงการให้เกิดขึ้น เพื่อให้บริษัทเอกชนมีเวทีที่จะช่วยแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันอย่างถาวรและเป็นระบบ ได้แก่ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือไอโอดี สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าต่างประเทศ สมาคมธนาคารไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย และสภาการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ส่งเสริมการทำธุรกิจที่สะอาด โปร่งใส และปลอดคอร์รัปชัน เพื่อสร้างสนามแข่งขันธุรกิจที่เป็นธรรม และรักษาไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือของการทำธุรกิจในประเทศ โครงการนี้เริ่มต้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554 โดยมีบริษัทเอกชนประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมโครงการครั้งแรก 27 บริษัท

พันธกิจของบริษัทที่เข้าร่วมโครงการมีสามข้อ คือ หนึ่ง ต้องประกาศนโยบายการทำธุรกิจ “สะอาด” หรือไม่มีการทุจริตคอร์รัปชันของบริษัท พร้อมมีระบบป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันภายในบริษัทอย่างชัดเจน สอง พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ นโยบาย และวิธีการดำเนินการเพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันกับบริษัทอื่นๆ ที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้บริษัทที่เข้าร่วมโครงการต่อๆ มาสามารถเรียนรู้และวางระบบป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในบริษัทของตนได้ง่ายขึ้น และ สาม เชิญชวนบริษัทอื่นๆ ที่ทำธุรกิจด้วย ให้เข้าร่วมโครงการ เพื่อขยายวงธุรกิจสะอาดให้กว้างขวาง

จุดเด่นสำคัญของโครงการ ก็คือ กระบวนการรับรองว่า บริษัทที่ประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมได้ทำตามพันธกิจของการเป็นสมาชิกโครงการครบถ้วน คือ มีนโยบายและมีการวางระบบป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันภายในบริษัท กระบวนการรับรองดังกล่าวจะต้องผ่านการตรวจสอบประเมินโดยบุคคลที่สาม ซึ่งอาจเป็นบริษัทตรวจสอบจากภายนอก หรือประธานคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทเอง ซึ่งปรกติจะเป็นกรรมการอิสระว่ามีนโยบายจริง มีระบบจริง และมีการปฏิบัติใช้จริง เมื่อมีการยืนยันชัดเจนว่าบริษัทมีนโยบายและมีระบบการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน คณะกรรมการโครงการแนวร่วมก็จะประกาศรับรองการมีนโยบายและการมีระบบการป้องกันการทุจริตดังกล่าว โดยถือเป็นบริษัทที่มีเจตนารมณ์ชัดเจนที่จะทำธุรกิจโดยไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน และเป็นตัวอย่างของบริษัทในประเทศไทยที่พร้อมมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน สมควรที่คนไทยทุกคนควรต้องสนับสนุน

จากปลายเดือนพฤศจิกายน 2554 ถึงขณะนี้ มีบริษัทเอกชนไทยและต่างประเทศเข้าร่วมโครงการนี้แล้ว 250 บริษัท เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 91 บริษัท และบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ 149 บริษัท มีทั้งบริษัทไทย บริษัทต่างประเทศ บริษัทในกรุงเทพมหานคร และบริษัทในต่างจังหวัด บางบริษัทมาเข้าร่วมด้วยตนเอง บางบริษัทมาเป็นสมาคม สมาคมที่ได้นำบริษัทสมาชิกเข้าร่วมแล้วมี 5 สมาคม คือ สมาคมธนาคารไทย สมาคมบริษัทจัดการกองทุน สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ สมาคมบริษัทประกันชีวิต และสมาคมประกันวินาศภัยไทย ที่สำคัญใน 250 บริษัทที่เข้าร่วมโครงการขณะนี้มี 22 บริษัทที่ได้มีนโยบายและมีการวางระบบป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทางคณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริตได้ประกาศรับรองไปเรียบร้อยแล้ว แสดงถึงความตั้งใจของบริษัทเหล่านี้ที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของประเทศ ผมเองมั่นใจว่า จำนวนบริษัทที่เข้าร่วมโครงการแนวร่วมปฏิบัติจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และจำนวนบริษัทที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการโครงการแนวร่วมปฏิบัติก็จะเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน ทำให้สนามการทำธุรกิจในประเทศในที่สุดจะเริ่มเปลี่ยนแปลง จะมีบริษัทที่ต้องการทำธุรกิจสะอาด และไม่เอาด้วยกับคอร์รัปชันมากขึ้นจนสามารถมีผลอย่างสำคัญต่อพฤติกรรมคอร์รัปชันของประเทศ

ท้ายสุดจากที่ได้สัมผัสกับบริษัทเอกชนมากมาย ในการทำโครงการนี้ ผมคิดว่า มีหลายอย่างที่เป็นสิ่งที่ดีที่พวกเราควรทราบ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้คนไทยและบริษัทเอกชนอื่นๆ เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของประเทศ

ประเด็นแรกคือ ลึกๆ แล้วไม่มีบริษัทไหนนักธุรกิจคนไหนชอบหรือเห็นด้วยกับคอร์รัปชัน เพราะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เป็นเรื่องของระบบการทำธุรกิจที่ไม่มีอนาคต ทำลายการแข่งขัน ทำลายความคิดสร้างสรรค์ ทำลายพัฒนาการของธุรกิจ และทำลายความน่าเชื่อถือของการทำธุรกิจของประเทศในสายตาต่างประเทศ ดังนั้น บริษัทเอกชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยและพร้อมช่วยแก้ไขปัญหา ประเด็นนี้ เห็นได้ชัดจากข้อมูลที่ไอโอดีทำการสำรวจภาคเอกชนเมื่อต้นปีและพบว่าร้อยละ 51 ของบริษัทเอกชนไทยที่สำรวจพร้อมเข้าร่วมในโครงการแนวร่วมปฏิบัติ เทียบกับร้อยละ 14 ที่สำรวจเมื่อสองปีก่อน ถือว่าขณะนี้บริษัทเอกชนไทยส่วนใหญ่พร้อมแสดงตนไม่เอาด้วยกับการทุจริตคอร์รัปชันในการทำธุรกิจ

สอง การมีนโยบายธุรกิจสะอาด ไม่ทุจริตคอร์รัปชัน เป็นเรื่องที่บริษัทสามารถเลือกได้ และการเลือกดังกล่าวจะต้องมาจากส่วนสูงสุดของบริษัท ก็คือ คณะกรรมการบริษัทที่กำหนดเป็นนโยบายชัดเจน เมื่อนโยบายชัด พนักงานทุกคนของบริษัทก็จะเดินไปด้วยอย่างพร้อมเพรียงกัน ดังนั้น บริษัทเอกชน 250 บริษัทที่เข้าร่วมโครงการได้เลือกแล้วที่จะทำธุรกิจสะอาด ไม่ทุจริตคอร์รัปชัน อันนี้ตรงข้ามกับสิ่งที่เรามักจะได้ยินนักธุรกิจบางพวกพูดว่า “ประเทศคอร์รัปชันกันมาก ถ้าผมไม่จ่ายก็อยู่ไม่ได้” แต่ 250 บริษัทนี้ได้เลือกแล้วว่า จะไม่จ่าย กำหนดชัดเจนเป็นนโยบายบริษัท และถ้าบริษัทไม่จ่ายมีจำนวนมาก พลังของบริษัทเหล่านี้ก็สามารถผลักดันให้พฤติกรรมในการทำธุรกิจเปลี่ยนแปลงได้

สาม คำถามหนึ่งที่ผมได้จากผู้ฟังวันนั้น ก็คือ ความสำคัญของการแก้คอร์รัปชันกับเออีซี (AEC) ที่จะมีขึ้นในอนาคต ในเรื่องนี้ผมคิดว่าจากนี้ไปบริษัทที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีนโยบายชัดเจนที่จะทำธุรกิจโดยไม่ทุจริตคอร์รัปชัน จะเป็นบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันดีกว่าบริษัทที่มีธรรมาภิบาลอ่อนแอ หรือที่หากินโดยการทุจริตคอร์รัปชัน เพราะนักลงทุนและตลาดการเงินพร้อมสนับสนุนบริษัทที่มีนโยบายไม่ทุจริตคอร์รัปชันมากกว่าบริษัทที่ไม่มีนโยบาย เพราะการมีนโยบายแสดงชัดเจนถึงความต้องการที่จะทำธุรกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว แตกต่างกับบริษัทที่ทุจริตคอร์รัปชันที่ไม่รู้ว่าวันหนึ่งข้างหน้าอะไรจะเกิดขึ้นกับบริษัท กับเจ้าของและกับผู้บริหาร เพราะคอร์รัปชันไว้มาก

จึงอยากเชิญชวนบริษัทเอกชนให้เข้ามาร่วมกับโครงการนี้มากขึ้น เพื่อร่วมกันสร้างอนาคตที่ดีกว่านี้ให้กับประเทศ ข้อมูลต่างๆ ของโครงการติดต่อได้ที่คุณกิตติเดช ฉันทังกูล Email : kittidej@thai-iod.com โทรศัพท์ : 0-2955-1155 ต่อ 302


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : บริษัทเอกชน จับมือ ปฏิเสธคอร์รัปชัน

view