สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การขยายบทบาทของจีนและญี่ปุ่นในพม่า ผ่านโครงการท่าเรือสำคัญ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ เลียบรั้วเลาะโลก

โดย ขวัญใจ เตชเสนกุล ผอ.ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธสน.


จีน และญี่ปุ่น 2 ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของเอเชีย ต่างให้ความสำคัญในการรุกคืบขยายบทบาททางเศรษฐกิจเข้าสู่ภูมิภาคอาเซียน เห็นได้จากจีนเป็นตัวตั้งตัวตีสำคัญร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) ในการรวมกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion : GMS)

ขณะที่ญี่ปุ่นเดินหน้าจัดตั้งความร่วม มือMekong-Japan Cooperation เพื่อสร้างความสัมพันธ์และขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับไทยและกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว พม่า และเวียดนาม) หลังจากกลุ่มประเทศ CLMV มีแนวโน้มเปิดรับการค้าการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น ทั้งจีนและญี่ปุ่นก็ไม่พลาดที่จะคว้าโอกาส

โดยเฉพาะพม่าที่กำลัง เนื้อหอม "คอลัมน์เลียบรั้วเลาะโลก" ฉบับนี้ จะนำท่านผู้อ่านไปสำรวจบทบาทของจีนและญี่ปุ่นในพม่าจากโครงการท่าเรือสำคัญ 3 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือจ้าวผิ่ว (Kyaupyu) ท่าเรือติละวา(Thilawa) และท่าเรือทวาย (Dawei)

โครงการท่าเรือจ้าวผิ่ว ตั้งอยู่ในรัฐยะไข่ห่างจากเมืองย่างกุ้งราว 400 กิโลเมตร ได้รับการสนับสนุนอย่างเงียบ ๆ จากจีนมาตั้งแต่ปี 2552 มีพื้นที่กว่า 120 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยท่าเรือน้ำลึก พื้นที่อุตสาหกรรมปิโตรเลียม ท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงเส้นทางรถไฟยาว 1,160 กิโลเมตร เชื่อมต่อท่าเรือจ้าวผิ่วกับมณฑลยูนนานของจีน มูลค่าโครงการลงทุนรวม 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ กำหนดแล้วเสร็จในปี 2560 ปัจจุบันท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์

ทั้งนี้ จีนตั้งใจให้โครงการนี้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของประตูสู่ทะเลทิศตะวัน ตกรวมถึงเป็นท่าเรือที่ใช้นำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลางและแอฟริกา ตลอดจนอาจใช้เป็นเส้นทางส่งออกสินค้าที่มีฐานการผลิตอยู่ในมณฑลฝั่งตะวันตก ของจีนไปยุโรปและเอเชียใต้

โครงการท่าเรือติละวา ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองย่างกุ้งราว 25 กิโลเมตร มีญี่ปุ่นเป็นผู้สนับสนุนหลักผ่าน 3 บริษัท ได้แก่ Mitsubishi, Marubeni และ Sumitomo โครงการนี้มีพื้นที่ 24 ตารางกิโลเมตร (คลัสเตอร์ A มีพื้นที่ 4 ตารางกิโลเมตร และคลัสเตอร์ B มีพื้นที่ 20 ตารางกิโลเมตร) ประกอบด้วยท่าเทียบเรือ โรงงานอุตสาหกรรม พื้นที่ธุรกิจค้าปลีก และพื้นที่วางตู้คอนเทนเนอร์

ในส่วนของ Cluster A จะแล้วเสร็จในปี 2558 ส่วนหนึ่งจะเป็นโรงงานผลิตรถยนต์ของ Suzuki แม้โครงการนี้มีจุดแข็ง
ที่ อยู่ใกล้กับเมืองย่างกุ้ง ซึ่งดึงดูดภาคธุรกิจให้เข้ามาลงทุน รวมถึงใช้เป็นจุดนำเข้าสินค้า แต่ระดับน้ำบริเวณท่าเรือติละวามีความลึกเพียง 9 เมตร จึงเป็นข้อจำกัดในการขนส่งสินค้าที่มีน้ำหนักมาก

โครงการท่าเรือทวาย อยู่ห่างจากเมืองย่างกุ้งราว 610 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 330 กิโลเมตร ทำให้รัฐบาลไทยให้ความสำคัญและใช้เป็นยุทธศาสตร์ท่าเรือน้ำลึกฝั่งตะวันตก โดยยกระดับโครงการเป็นรัฐต่อรัฐ (G to G) จากเดิมเป็นระดับเอกชน โครงการนี้มีพื้นที่มากถึง 204 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยท่าเรือน้ำลึก และพื้นที่อุตสาหกรรม

ความคืบหน้าล่าสุดมีการจัดตั้ง SPV (Special Purpose Vehicle) ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลพม่า ทำหน้าที่ดูแลภาพรวมและคัดเลือกนักลงทุน

ขณะที่ญี่ปุ่นแม้แสดงท่าที สนใจ แต่ยังไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เนื่องจากหันไปให้ความสำคัญกับการพัฒนาท่าเรือติละวาเป็นหลัก อีกทั้งคาดว่าโครงการนี้ต้องใช้

เม็ดเงินลงทุนสูงถึง 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และใช้ระยะเวลาพัฒนาอีกนานพอสมควร แต่หากญี่ปุ่นต้องการลงทุนในอุตสาหกรรมหนัก อาจหันมาสนใจท่าเรือทวายที่มีพื้นที่รองรับ ประกอบกับท่าเรือทวายยังเป็นเส้นทางโลจิสติกส์สำคัญเชื่อมโยงกับ Eastern Seaboard ของไทย ซึ่งนักธุรกิจญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนเป็นจำนวนมากแล้ว

ปัจจุบัน จีนเป็นผู้ลงทุนอันดับ 1 ในพม่า มีสัดส่วนถึง 32% ขณะที่ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับ 11 มีสัดส่วนไม่ถึง 1% แต่ผู้เขียนมองว่าหลังจากนี้เม็ดเงินลงทุนจากญี่ปุ่นน่าจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากโอกาสการลงทุนในพม่ายังมีอยู่มาก ทั้งความพร้อมด้านทรัพยากร พื้นที่ และแรงงาน เหลือเพียงระบบสาธารณูปโภค และปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ ให้เป็นสากล

ทั้งนี้ สถานการณ์ที่จีนและญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนในพม่าเป็นจำนวนมาก น่าจะส่งผลดีต่อการค้าการลงทุนของไทยในฐานะเพื่อนบ้านและหุ้นส่วนเศรษฐกิจ

โดย เฉพาะโอกาสจากการค้าชายแดนและการลงทุนในอุตสาหกรรมหนักที่ไทยเผชิญข้อจำกัด อยู่ ตลอดจนประโยชน์จากการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์จากท่าเรือฝั่งตะวันตกของพม่า ถึง 4 ท่า (รวมท่าเรือย่างกุ้ง)

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าไทยอาจต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรงด้วยเช่นกัน หากแรงงานพม่าย้ายกลับไปทำงานในประเทศของตนมากขึ้น

Disclaimer : คอลัมน์นี้เผยแพร่เพื่อให้ความรู้ ซึ่งเป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคลจึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ ธสน.


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การขยายบทบาท จีนและญี่ปุ่น พม่า โครงการท่าเรือสำคัญ

view