สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เส้นทางเศรษฐกิจจีน : โอกาส หรือ วิกฤติ ?

เส้นทางเศรษฐกิจจีน : โอกาส หรือ วิกฤติ ?

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สำหรับการประชุมครั้งสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพื่อวางกรอบการพัฒนาทางเศรษฐกิจในอีก 5 ปีข้างหน้า

หลายคนมองว่า ทางการจีนในขณะนี้มีแนวทางทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ต่างจากเดิมอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบายการเงิน การคลัง หรือ การธนาคาร ต้องบอกว่าปีนี้เป็นปีแรกที่ตลาดทั่วโลกเริ่มคลายความกังวลอาการ Hard Landing ของจีนไปเยอะ แม้ว่าเมื่อดูภายนอกแล้ว เศรษฐกิจจีนกำลังดูประหนึ่งว่าจะไปได้สวย ข้อมูลไตรมาสล่าสุด ปรากฏว่า จีดีพีเติบโตร้อยละ 7.8 สูงกว่าที่ทางการได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ร้อยละ 7.5 ทว่า จากรายงานของมอร์แกน แสตนลีย์ ความไม่แน่นอนของจีน ยังคงมีอยู่ โดยมาจากปัจจัยความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ดังนี้

ในมุมความน่าเชื่อถือของตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีน แต่ไหนแต่ไรมา จีนขึ้นชื่อว่ามีตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ดูไม่ค่อยน่าเชื่อถือเท่าไรนัก หลายปีที่ผ่านมา ตัวเลขเศรษฐกิจของจีนดูจะนิ่งกว่าประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ มาถึงปีนี้ ตัวเลขการเติบโตจีดีพีของจีนห่างจากตัวเลขเป้าหมายแค่ตัวเลขจุดทศนิยมเท่านั้น

นอกจากนี้ วิกิลีกส์ ยังเปิดเผยโดยอ้างว่า มีคนเคยได้ยินคำกล่าวจากปากของนายกรัฐมนตรีจีน นาย หลี่ เค่อ เฉียง ต่อทูตสหรัฐ ในสมัยเป็นผู้ว่าการเมืองเหลียวหนิง ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าจะสอดคล้องกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจีนมากกว่า ได้แก่ ปริมาณสินเชื่อรวมของธนาคาร มูลค่ารวมของสินค้าที่ส่งผ่านทางรถไฟ และค่าใช้จ่ายการบริโภคกระแสไฟฟ้า ถึงขนาดที่มีคนขนานนาม ดัชนีดังกล่าวว่า “ดัชนี LKQ” ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าวเศรษฐกิจจีนในขณะนี้ ไม่ได้เติบโตมากเท่ากับที่จีดีพีได้แสดงไว้

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาเหมือนจะมีแรงกดดันจากทางการให้จีนยังมีเป้าหมาย การเติบโตให้สูงไม่น้อยกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ด้วยอัตราส่วนรายได้ต่อประชากรที่ประมาณ 7 พันดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับเดียวกับที่อดีตประเทศคลื่นลูกใหม่ อย่าง ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน ได้เคยประสบมาและก็เป็นจุดที่เศรษฐกิจเริ่มจะชะลอตัวเหลือเพียงร้อยละ 5-6 อาจกล่าวได้ว่าเป้าหมายการเติบโตของจีนในขณะนี้ เป็นอัตราที่ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ตามธรรมชาติ

โดยนับตั้งแต่ต้นปีนี้ ทางการจีนได้ส่งสัญญาณให้มีการปั๊มเงินเข้าไปในระบบ เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้กระทำจริงในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทว่าส่วนใหญ่ไม่ได้ลงไปในสินค้าอุตสาหกรรมใหม่ๆ แต่ไปตกที่การลงทุนที่มีความซ้ำซ้อนกับโครงการที่มีอยู่ จะเห็นได้อีกว่า ประสิทธิภาพของการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวลดถอยลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเมื่อ 5 ปีก่อน จีนใช้เงินกระตุ้น 1 ดอลลาร์ สามารถทำให้เศรษฐกิจขยายตัว 1 ดอลลาร์เช่นกัน ทว่า ปัจจุบัน จีนต้องใช้เงินกระตุ้นถึง 4 ดอลลาร์ สามารถทำให้เศรษฐกิจขยายตัว 1 ดอลลาร์

ณ ปัจจุบัน รัฐบาลจีนได้อัดเงินให้การลงทุนเติบโตถึงร้อยละ 20 สวนทางกับนโยบายเป้าหมายที่จะให้การเติบโตของการบริโภคเป็นตัวนำ ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากรัฐบาลจีนกังวลว่าจะเกิดความวุ่นวายจากมวลชน อันเนื่องมาจากการว่างงานอันเป็นผลพวงจากเศรษฐกิจเติบโตช้าเกินไป ซึ่งในปัจจุบัน ดูจะไม่เป็นความจริง เนื่องจากในยามเศรษฐกิจที่เข้าสู่จุดอิ่มตัว จีดีพีที่เติบโตทุกๆ ร้อยละ 1 สามารถเพิ่มการจ้างงาน 1.6-1.7 ล้านคน แทนที่จะเพิ่มเพียง 1 ล้านคน อย่างเมื่อ 10 ปีก่อน นับได้ว่าเพียงพอต่อการหลั่งไหลของแรงงานใหม่ๆ ที่เข้าสู่ตลาด นอกจากนี้ แทนที่การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนจะช่วยเพิ่มการจ้างงาน แต่แท้จริงแล้ว กลับทำให้หนี้เสียของธนาคารสูงขึ้นและไปเพิ่มขนาดของฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์

ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนเติบโตด้วยการใช้แรงงานที่ยังถูกในการผลิตสินค้า เพื่อส่งออก รวมถึงการสร้างอุตสาหกรรมซึ่งมีระดับผลิตภาพที่สูงๆ ในการแข่งขันกับประเทศต่างๆ ทว่าโมเดลดังกล่าวตอนนี้ก็เริ่มถึงทางตัน เหมือนกับที่ญี่ปุ่นและเยอรมันเคยประสบมาก่อนหน้านี้ ที่อัตราการเติบโตของการส่งออกที่ร้อยละ 12 ดังเช่นจีนในปัจจุบัน และอัตราส่วนของภาคอุตสาหกรรมที่ร้อยละ 30 ของเศรษฐกิจประเทศ ทำให้การเติบโตของการบริโภคที่ร้อยละ 7-8 หรือมากกว่านั้น ก็ยากที่จะไปต่อ จึงส่งผลให้การเติบโตของจีดีพีหากจะดึงดันให้สูงกว่านี้ เพื่อจะให้เศรษฐกิจจีนเพิ่มเป็น 2 เท่าในปี 2020 ตามความต้องการของพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้น ย่อมเสี่ยงต่อการล้มทั้งยืน ของเศรษฐกิจจีนในอนาคต

ผมเห็นด้วยในภาพใหญ่ของแนวการวิเคราะห์ดังกล่าว แต่ขอตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมดังนี้

หนึ่ง ขนาดของเศรษฐกิจของจีนที่ใหญ่กว่าญี่ปุ่น เกาหลีใต้และไต้หวันเป็นอันมาก อาจทำให้จีนสามารถที่จะขยับขยายข้อจำกัดทางการเจริญเติบโตเศรษฐกิจดังกล่าวข้างต้นที่ทั้ง 3 ประเทศเคยประสบมา ด้วยการกระจายทรัพยากรที่มีปริมาณมากกว่าทั้ง 3 ประเทศข้างต้นให้มีความประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

สอง การลงทุนในต่างประเทศของจีนล้วนมีผลตอบแทนสูง จะเห็นได้ว่าการลงทุนไม่ว่าจะเป็นการซื้อแหล่งพลังงาน ทรัพยากรทางธรรมชาติต่างๆ เป็นต้น ล้วนแต่ทำให้จีนยังมีผลผลิตในอนาคตที่มีมูลค่าเพิ่มสูงอยู่อีกนาน

ท้ายสุด จะเห็นได้ว่า หากพิจารณาในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา ตอนนี้ น่าจะถือได้ว่าเป็นช่วงที่สหรัฐอเมริกากำลังอ่อนแรงมากที่สุด ไม่ว่าจะมองจากในมุมเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศ หรือในแง่ความได้เปรียบในการเป็นสกุลเงินหลักของโลกที่เริ่มจะสั่นคลอน ซึ่งนับว่าเป็นช่วงที่จีนน่าจะสบโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวหน้ากว่าสหรัฐได้ง่ายกว่าทุกๆ ประเทศที่เป็นคลื่นลูกใหม่ซึ่งเคยพลาดมาในอดีต

ผมขอบอกว่า ณ วันนี้ สามารถมองจีนได้ทั้งในแบบที่เป็นวิกฤติและโอกาสในเชิงเศรษฐกิจก่อนปี 2020 ครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เส้นทางเศรษฐกิจจีน โอกาส วิกฤติ

view