สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พระองค์ภาทรงปาฐกถาหลักนิติธรรม

จาก โพสต์ทูเดย์

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงเป็นองค์ปาฐกเปิดงานเสวนาว่าด้วยหลักนิติธรรม ความยุติธรรมและความมั่นคง

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาภา เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาสมัยที่ 21 เจ้าหญิงนักกฎหมายแห่งประเทศไทย ทรงประทานพระดำรัสเปิดการงานเสวนาระดับนานาชาติว่าด้วยหลักนิติธรรม ความยุติธรรมและความมั่นคง เมื่อวันที่ 15 พ.ย.
โดยทรงกล่าวต้อนรับผู้ร่วมงาน และแสดงความปิติยินดีที่ได้รับเชิญมาเป็นประธานการประชุมเสวนาที่มีความสำคัญเพื่อร่วมหารือในประเด็นสำคัญในหัวข้อการเสริมสร้างหลักนิติธรรม ความยุติธรรม และความมั่นคงเพื่อเป็นรากฐานสำหรับการพัฒนาหลังปี 2558

"ข้าพเจ้ามั่นใจว่าการประชุมในครั้งนี้ นอกจากจะมีการอภิปรายอย่างกว้างขวางแล้ว  การอภิปรายดังกล่าวจะเป็นการนำไปสู่บทสรุปในทางปฏิบัติและข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อที่จะเป็นก้าวสำคัญในการมุ่งไปสู่วาระการพัฒนาระหว่างประเทศภายหลังปี 2558" พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาทรงพระดำรัส

นอกจากนี้ ทรงเน้นย้ำว่า ทรงเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าการพัฒนาที่ปราศจากหลักนิติธรรม การป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญานั้น ยังห่างไกลจากความหมายของความยั่งยืนมาก

"เราจะสามารถบรรลุเป้าหมายของความยั่งยืนได้อย่างไร หากความไม่เท่าเทียมกันยังคงสร้างความขัดแย้งในสังคมอยู่ และในขณะที่ยังมีประชากรอีกมากที่ยังคงถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงความยุติธรรม  องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ การคอร์รัปชั่น การค้า ยาเสพติด และความขัดแย้งต่างๆ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาในทุกๆ ประเทศทั่วโลก นอกจากนั้น เด็กและสตรียังคงถูกใช้ความรุนแรงและเลือกปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าช่องว่างในระบบยุติธรรมและหลักนิติธรรมที่ไม่มีประสิทธิภาพนั้นเป็นหัวใจสำคัญของปัญหาต่างๆ อยู่ในขณะนี้" เจ้าหญิงนักกฎหมายของไทยทรงพระดำรัส

พร้อมกันนี้ ทรงอ้างถึงปฎิญญาในที่ประชุมระดับสูงของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติว่าด้วยหลักนิติธรรมในระดับชาติและระดับนานาชาติ ซึ่งได้รับการรับรองในปี 2555 ว่า หลักนิติธรรมและการพัฒนามีความเชื่อมโยงและสนับสนุนซึ่งกันและกันเป็นอย่างมาก ซึ่งความก้าวหน้าของหลักนิติธรรมจะมีความสำคัญยิ่งต่อการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนของสังคม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยการมองแค่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เพื่อประเมินความสำเร็จทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ไม่เพียงพออีกต่อไป ทำให้ระบบยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพกลายเป็นตัวแปรที่จำเป็นเพื่อเป็นหลักประกันว่ามีการให้บริการสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพและประชากรทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียม

"ปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายดังกล่าวคือการจัดให้มีกรอบกฎหมายที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน และเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีปัจเจกชนหรือกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดถูกทอดทิ้งไว้เบื้องหลังหรือถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงความยุติธรรม ขณะที่ การเข้าถึงความยุติธรรมของคนยากจนและคนชายขอบควรจะได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจัง รวมไปถึงควรจัดให้คนเหล่านี้ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ที่ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจของกลุ่มคนดังกล่าว แต่รวมไปถึงการใช้สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองได้อย่างเต็มที่เช่นกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การเสริมสร้างสิทธิทางกฎหมายสำหรับคนยากจนและกลุ่มเปราะบางเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการสร้างสิทธิในการพัฒนา" พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาทรงประทานในพระดำรัส

ในครานี้ ทรงแสดงความเห็นถึงการเชื่อมโยงความยุติธรรม กับยาเสพติด อาชญากรรมและผลกระทบของความเชื่อมโยงนี้ต่อการพัฒนาและประเด็นด้านความมั่นคง โดยทรงพระดำรัสชัดว่า ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการใช้เงินที่ผิดกฎหมายมากถึง 9๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ และตลาดผิดกฎหมายนี้ (Black Market) ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อไป และได้รับการกระตุ้นโดยการดำเนินการขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น การลักลอบค้ามนุษย์และยาเสพติดซึ่งมีมูลค่าถึง 32,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ การค้าเฮโรอีนและโคเคนเพียงอย่างเดียวมีมูลค่ามากกว่า 153,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐทั่วโลก

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงพระดำรัสสืบต่อไปว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นมีส่วนเชื่อมโยงกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการบรรลุสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เนื่องจากการทุจริตคอร์รัปชั่นเบี่ยงเบนทรัพยากรที่ควรจะนำไปใช้ในการขจัดความยากจน ความอดอยากและการให้บริการสาธารณะ ในสังคมที่มีความขัดแย้งและสังคมหลังความขัดแย้ง หน่วยงานรัฐบาลยิ่งมีแนวโน้มในการทุจริตคอร์รัปชั่น เนื่องจากมีการปรับใช้หลักนิติธรรมอย่างไม่มีประสิทธิภาพ มีสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่ย่ำแย่ ความไม่มั่นคงทางการเมือง และการเพิ่มจำนวนของอาวุธขนาดเล็กและขนาดเบา  ล้วนเป็นปัจจัยที่เพิ่มโอกาสให้กลุ่มอาชญากรในการก่ออาชญากรรมได้อย่างมีอิสระและมีประสิทธิภาพ

"ในมุมมองของข้าพเจ้า ประเด็นเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิง เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าเพราะเหตุใดถึงต้องส่งเสริมหลักนิติธรรมเข้าสู่ระเบียบวาระการพัฒนา การปฏิบัติต่อผู้หญิงอย่างไม่เท่าเทียมคือปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกอายุ ชาติพันธุ์ ศาสนาและภูมิประเทศ  การเลือกปฏิบัติและความรุนแรงทางเพศ (gender-based discrimination and violence) หรือแม้แต่การฆ่าและการทารุณกรรมจนถึงแก่ชีวิตต่อสตรี (Femicide) ล้วนเป็นสิ่งที่ยังคงมีอยู่ในสังคม วัฒนธรรมและกฎหมายของหลายๆ ประเทศ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตจนถึงขีดสุดได้อย่างไรในเมื่อกว่าครึ่งของประชากรถูกเลือกปฏิบัติในการทำงานและมีแนวโน้มที่จะถูกกระทำความรุนแรง" พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาทรงพระดำรัส

ทั้งนี้ นอกจากทรงเน้นย้ำให้เห็นความสัมพันธ์สอดคล้องของหลักนิติธรรมกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนแล้ว พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภายังได้ทรงเชื่อมโยงถึงการรวมตัวกันเข้าสู่ยุคแห่งสังคมเอเชียอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ASEAN Political and Security Community ซึ่งมีหน้าที่ในการสนับสนุนการทำงานร่วมกันในด้านการป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติและการค้ายาเสพติด การส่งเสริมหลักนิติธรรมและโครงสร้างพื้นฐานด้านกฎหมาย และการสร้างสันติภาพภายหลังความขัดแย้งต่างๆ จึงจำเป็นที่จะทำงานร่วมกันในการปรับประสานกฎหมายและบทบัญญัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติและความยุติธรรมทางอาญา ไปพร้อมๆ กับการส่งเสริมการสร้างความรู้และขีดความสามารถในด้านนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับหลักนิติธรรมในวาระพัฒนาของสหประชาชาติภายหลังค.ศ.๒๐๑๕ นั้น จะส่งผลโดยตรงกับภูมิภาคแห่งนี้เช่นเดียวกัน

"โดยสรุปแล้วนั้น ข้าพเจ้าขอเน้นย้ำว่าการผลักดันหลักนิติธรรม การป้องกันอาชญากรรม และความยุติธรรมทางอาญานนั้นไม่เพียงแต่มีความสำคัญ แต่เป็นสิ่งที่ไม่สามารถละเลยได้บนเส้นทางที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เราจึงต้องมีความเข้าใจว่าความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจนั้นอาจเป็นหนทางหนึ่งสู่โอกาสที่จะเกิดอาชญากรรมได้ ประเทศต่างๆ ที่มีความเสี่ยงต่อภัยข้ามชาตินั้น มักจะเป็นประเทศที่มีความสามารถในการรับมือกับปัญหาเหล่านั้นน้อยกว่าประเทศอื่น ดังนั้น รัฐสมาชิกจึงมีความรับผิดชอบร่วมกันที่จะเปลี่ยนวิสัยทัศน์ด้านวาระพัฒนาแบบผสมผสานให้กลายเป็นความสิ่งที่สามารถปฏิบัติได้จริง หากว่าเราร่วมมือกัน เราจะสามารถสร้างวัฒนธรรมทางกฏหมายที่แข็งแกร่ง เพื่อประโยชน์สุขของลูกหลานในอนาคตสืบต่อไป" พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาทรงประทานพระดำรัสปิดท้าย พร้อมทรงกล่าวขอบใจผู้เข้าร่วมงานทุกคนที่ได้เดินทางมายังไทย และทรงหวังให้การประชุมประสบความสำเร็จและสัมฤทธิ์ผลอย่างสูงสุด

สำหรับเป้าหมายของการเสวนาครั้งนี้มีขึ้นเพื่อกระตุ้นการสร้างกรอบความร่วมมือระดับนานาชาติและให้ความสำคัญกับหลักนิติธรรมอันจะส่งผลต่อกำหนดวาระการพัฒนาของสหประชาชาติภายหลังปี 2558 โดย นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรแห่งประเทศไทย ซึ่งเข้าร่วมงานเสวนาในครั้งนี้ ยังได้ขึ้นกราบทูลรายงานโดยยกย่องการทรงงานทุ่มเทพระวิริยะอุตสาหะของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญ อีกทั้งผลักดันให้ไทยมีบทบาทมากขึ้นบนเวทีโลกในการป้องกันปัญหาอาชญกรรม ตลอดจนทำให้หลักนิติธรรมของไทยเป็นที่ยอมรับมากขึ้น 

ผู้นำของไทยกล่าวอีกว่า ประเทศไทยภาคภูมิยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้จัดเสวนาระดับโลกในครั้งนี้ ที่ได้นำเอาทุกภาคส่วนของสังคมโลกมารวมกัน เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นและความรู้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการเชื่อมโยงหลักนิติธรรม ความยุติธรรม ความมั่นคง ให้สอดคล้องสอดรับกับแนวทางการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

พร้อมกันนี้ ยังย้ำอีกว่ารัฐบาลไทยตระหนักดีอยู่แล้วที่จะนำเอาหลักนิติธรรมมาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาชาติ และด้วยความร่วมมือจากการเสวนาครั้งนี้ รัฐบาลไทยเชื่อว่าผลลัพธ์ที่ได้จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริงของไทยและของโลก รวมถึงทำให้ไทยมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในการส่งเสริมหลักนิติธรรมในระดับโลกต่อไป

ทั้งนี้ ภายในงานเสวนาระดับที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านหลักนิติธรรมเข้าร่วมครั้งนี้ อาทิ นายเชอร์ริ่ง ต๊อบเกย์ นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรภูฎาน นายมาร์ตี นาตาเลกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศแห่งอินโดนีเซีย นายคัตสึยูกิ นิชิกาวา ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่น นายโฮเซ ราโมส ฮอร์ตา อดีตประธานาธิบดีแห่งติมอร์-เลสเต นายยูริ เฟโดทอฟ ผู้อำนวยการบริหารสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ และนายกาเร็ธ อีแวนส์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งออสเตรเลีย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พระองค์ภา ทรงปาฐกถา หลักนิติธรรม

view