สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความยากจนในสหรัฐอเมริกา

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ คนเดินตรอก โดย วีระพงษ์ รามางกูร

พวกเราที่อยู่ข้างนอก ไม่ได้อยู่ในสหรัฐอเมริกาเป็นเวลานานจนได้เห็นส่วนลึกของอเมริกา ก็คงจะนึกว่าสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลกนั้น ประชาชนอเมริกันทุกคนคงจะมีความสุขสบายร่ำรวยไปหมด ความจริงมิได้เป็นอย่างนั้น

คนอเมริกันโดยเฉลี่ยต่อหัวเป็นผู้ที่ใช้จ่ายเพื่อความอยู่ดีกินดีมาก ที่สุดในโลก มีบ้านสวย ๆ แพง ๆ อยู่ มีเครื่องปรับอากาศทำความร้อนทำความเย็น เครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า มีเครื่องใช้ในครัวเรือน ระบบภายในบ้านเปิดปิดประตูโดยกลไกอัตโนมัติ มีเครื่องอำนวยความสะดวกทุกอย่างแม้กระทั่งเครื่องบินส่วนตัว ยกเว้นไม่มีคนคอยรับใช้ในบ้าน แต่ก็มีคนมาทำความสะอาด มาจัดการต่าง ๆ ในครัวเรือนให้สำหรับคนชั้นกลางระดับสูง

เกษตรกรของสหรัฐส่วนมากเป็น คนมีฐานะดี เพราะมีพื้นที่ทำการเกษตรขนาดใหญ่ ใช้เครื่องมือเครื่องจักรทั้งหมด ใช้เครื่องบินหว่านเมล็ดพืชและยาฆ่าแมลง และเกษตรกรก็มีจำนวนจำกัดรัฐบาลโดย CCC หรือ Commodity Credit Cooperation หรือบรรษัทสินเชื่อเพื่อสินค้าโภคภัณฑ์ รับประกันราคาพืชผลทั้งหมดโดยเฉลี่ยสูงกว่าราคาตลาดโลกถึง 5 เท่า แต่ใครจะเป็นชาวไร่ชาวนาได้ต้องเป็นผู้ที่รัฐรับจดทะเบียนเท่านั้น

จู่ ๆ จะประกาศตัวเป็นเกษตรกรแล้วไปขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลไม่ได้ รัฐบาลกลางเป็นผู้กำหนดพื้นที่และประเภทของสินค้าเกษตร กำหนดให้เกษตรกรแต่ละครัวเรือนพื้นที่ไหน เพาะปลูกอะไร มากน้อยเท่าไหร่ รัฐบาลกลางจะจัดงบประมาณจากภาษีอากรมาช่วยอุดหนุน บรรษัทสินเชื่อเพื่อสินค้าโภคภัณฑ์ให้เกษตรกรทั่วประเทศจำกัดจำนวนเกษตรกร ไว้เพียง 3 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด ประมาณอีก 97 เปอร์เซ็นต์มิได้เป็นเกษตรกร


ประชากร 97 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่ได้เป็นเกษตรกร ส่วนใหญ่ก็เป็นพนักงานลูกจ้างของบริษัทห้างร้านต่าง ๆ รวมทั้งพนักงานรัฐวิสาหกิจและพนักงานของรัฐ ทั้งในระดับส่วนกลาง ส่วนมลรัฐ และส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมด ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพอิสระหรือค้าขาย ใหญ่บ้างเล็กบ้างแต่ก็มีไม่มากเช่นกัน


พนักงานของบริษัททั้งใหญ่น้อยก็มีระดับผู้บริหาร หรือพนักงานที่นั่งโต๊ะที่เรียกว่าพนักงานปกเสื้อขาว หรือ White Collar Workers กับพนักงานที่เป็นนายช่าง กรรมกรผู้ใช้แรงงาน เรียกกันว่าพนักงานเสื้อน้ำเงิน หรือ Blue Collar Workers

ผู้คนส่วน ใหญ่ทำงานเป็นพวกพนักงานปกเสื้อสีน้ำเงิน ไม่ว่าจะเป็นในภาคอุตสาหกรรมหรือภาคบริการ และที่สำคัญคนผิวสีส่วนใหญ่จะเป็นพวกพนักงานปกเสื้อน้ำเงิน

คนจนส่วน มากจะเป็นพวกนี้ บางทีต้องหาเช้ากินค่ำ เช่าห้องอยู่ในเขตชุมชนยากจน หรือในสลัมซึ่งยังมีอยู่จำนวนไม่น้อย สลัมในสหรัฐอเมริกาไม่ใช่บ้านที่ทำด้วยเศษสังกะสีหรือเศษไม้อัดแผ่นป้าย โฆษณาอย่างบ้านเรา แต่เป็นตึกอาคารชุดที่เสื่อมโทรม ห้องขนาด 4 คูณ 4 เมตร หรือ 5 คูณ 5 เมตร บางที่อัดกันอยู่ถึง 4-5 ครอบครัว นึกไม่ออกเหมือนกันว่าอยู่กันได้อย่างไร หลาย ๆ แห่งไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีน้ำประปาให้ เพราะผู้อยู่อาศัยไม่มีเงินจ่ายค่าน้ำค่าไฟ

เขตคน จนราคาที่ดินก็ต่ำหรือไม่มีราคาเอาเสียเลย ภาษีที่ดินก็เลยต่ำไปด้วย ส่วนที่อยู่ของเขตคนรวยที่สามารถจ่ายภาษีที่ดินแพง ๆ ได้ ก็จะไปรวมตัวกันอยู่ในเขตชานเมือง เช้าขึ้นก็นั่งรถไฟใต้ดินหรือบนดินเข้ามาทำงาน เย็นลงก็กลับบ้าน ส่วนคนจนทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะค่าโดยสารเดินทางมีราคาแพง

ในเมือง ใหญ่ ๆ เราจะเห็นเขตคนจนเป็นเขตที่ไม่ปลอดภัย มียาเสพติด มีโจรผู้ร้าย ฉกชิงวิ่งราวปล้นจี้กันมาก มีตำรวจคอยเฝ้าระวังเป็นจำนวนมาก เย็นลงจะเห็นคนเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง สวมเครื่องนุ่งห่มเก่า ๆ เดินสะเงาะสะแงะ ข่มขู่แกมขอเงินกับผู้เดินทางสัญจรไปมา หรือนอนอยู่ข้างถนน น่าสังเวชและน่ากลัวไปพร้อม ๆ กัน

สำหรับค่ารักษาพยาบาลนั้น สหรัฐเป็นประเทศที่ค่ารักษาพยาบาลแพงที่สุดในโลก เพราะสาเหตุหลายประการ แพทยสมาคมสหรัฐจะผลักดันให้รัฐบาลกีดกันบุคลากรทางการแพทย์จากโรงเรียนแพทย์ ทั้งในและต่างประเทศ ตัวแพทยสมาคมสหรัฐก็กีดกันชาวต่างประเทศโดยไม่ยอมออกใบประกอบโรคศิลปะให้โดย ง่าย เพื่อจำกัดจำนวนแพทย์และพยาบาลในสหรัฐ ขณะเดียวกันพวกทนายก็มักจะยุให้คนไข้ฟ้องร้องโรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล เรียกค่าเสียหายแพง ๆ ความสัมพันธ์ระหว่างคนไข้กับแพทย์ในเชิงเพื่อนมนุษย์จึงหมดไป แพทย์ต้องระวังตัวอยู่เสมอ เมื่อคนไข้มาหาก็ต้องสั่งตรวจทุกอย่างหมดตามมาตรฐาน ทั้งที่บางเรื่องอาจจะใช้ดุลพินิจไม่ต้องตรวจก็ได้ แต่ก็ไม่มีใครกล้าทำ เพราะถ้าพลาดไปอาจถูกฟ้องร้องหมดเนื้อหมดตัวได้ ค่าทนายความก็แพง คิดค่าบริการเป็นรายชั่วโมง

แพทย์พยาบาลทุกคนจึงต้องซื้อประกัน เพื่อปกป้องตนเองจากการล้มละลายถ้าแพ้คดี ค่าประกันก็แพงขึ้นเรื่อย ๆ คนจนจึงไม่มีปัญญาที่จะรักษาพยาบาลในยามเจ็บป่วย

ดังนั้นคนอเมริกัน ทุกคนจึงต้องดิ้นรนหางานทำเพื่อมีรายได้ จ่ายค่าเช่าบ้าน จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าเครื่องทำความร้อนในฤดูหนาว ค่าอาหาร และที่สำคัญเพื่อจะได้มีประกันสุขภาพในยามเจ็บป่วย เพราะค่าประกันสุขภาพนายจ้างต้องออกให้ส่วนหนึ่ง แม้จะมีงานทำเพื่อสิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่ค่อยจะเพียงพอในการดำรงชีวิต

เมื่อ เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เกิดการว่างงาน แม้จะมีสวัสดิการ รัฐบาลจ่ายจากงบประมาณของทางการให้ก็ไม่พอจะจ่ายเพื่อการกินอยู่หลับนอนได้ คนเหล่านี้มีประมาณ 7-8 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 20-30 ล้านคน ซึ่งก็เป็นจำนวนมากพอสมควร

ไม่เหมือนบ้านเรา ถ้าตกงานก็สามารถกลับบ้าน ไปช่วยพ่อแม่พี่ป้าน้าอาทำไร่ไถนา ทำงานหัตถกรรม ภาคเกษตรกรรมของเราเป็นระบบเปิดเสรี ไม่ใช่ระบบปิดโดยรัฐแบบอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นระบบที่เกษตรกรก็คือเกษตรกร ไม่ใช่เกษตรกรก็ไม่ใช่เกษตรกร แยกกันชัดเจนเด็ดขาด

เมื่อมีข่าวว่า ขณะนี้ชาวอเมริกันตกงานถึง 7-8 เปอร์เซ็นต์ ที่ว่าตกงานคือคนทำงานได้และอยากทำงานแต่ไม่มีงานทำ ไม่รวมคนทำงานไม่ได้ เช่น คนเจ็บป่วยเรื้อรัง คนติดยาเสพติด และเด็ก จำนวนคนตกงานขนาดนี้ก็คงเดาได้ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายเพียงใด คงจะมีคนไม่มีที่อยู่จำนวนมาก กฎหมายของอเมริกาไม่เหมือนกฎหมายไทย กฎหมายไทยเอียงไปทางปกป้องผู้เช่า แต่กฎหมายอเมริกันเอียงไปในทางปกป้องนายทุนเจ้าของบ้านผู้ให้เช่า อากาศก็หนาว ถ้าไม่มีที่อยู่ก็ต้องนอนข้างถนน ตามบันไดตึก เก็บเศษอาหารหรือขโมยอาหารในตลาดสดกิน

สิ่งที่ต่อเนื่องกันมาก็คือ ปัญหาอาชญากรรมเพิ่มขึ้น ปัญหายาเสพติดรุนแรง ผู้คนต้องไปหาเศษอาหารตามถังขยะ ทั้งในยุโรปและอเมริกาจึงไม่แปลกใจ เพราะเคยพบเคยเห็นมาแล้วเมื่อครั้งทำงานอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

ที่ สำคัญก็คือ ทัศนคติของคนอเมริกันนั้นแย่กว่าคนยุโรป กล่าวคือคนอเมริกันมีความคิดในเรื่องเสรีนิยมอย่างรุนแรง ไม่อยากให้รัฐบาลเก็บภาษีสูงเอามาช่วยคนจน คำว่า "สังคมนิยม" หรือแม้แต่คำว่า "สวัสดิการ" จากรัฐ เป็น "คำสกปรก" หรือ "Dirty Word" ทุกคนมีสิทธิ์จะ "รวย" หรือ "จน" ได้อย่างเสรี ไม่มีใครช่วยใคร แม้ว่าทุกคนจะเกิดมาเท่าเทียมกัน หรือ "All Men Are Created Equal" ก็ตาม แต่เท่าเทียมกันทางการเมืองระหว่างพวกตนเท่านั้น คนผิวสีเพิ่งจะได้รับการยอมรับว่าเท่าเทียมกันเมื่อ 30-40 ปีนี้เอง แม้คำกล่าวนี้จะกล่าวมากว่า 250 ปีแล้วก็ตาม

เมื่อใดก็ตามที่รัฐบาล สหรัฐจะมีโปรแกรมช่วยคนยากจน ในเรื่องที่อยู่อาศัยก็ดี เครื่องนุ่งห่มก็ดี อาหารก็ดี ทั้ง ๆ ที่อเมริกามีเนื้อที่เพาะปลูกเหลือมากมาย แต่ก็จำกัดไว้เพราะกลัวราคาพืชผลตก หรือรัฐบาลจะมีโครงการรักษาพยาบาลฟรีก็ดี ก็จะรับการคัดค้านจากคนชั้นกลางและคนชั้นสูงผู้เสียภาษี เช่น โครงการสุขภาพดีทั่วหน้า โดยออกกฎหมายบังคับให้ประชาชนทุกคนต้องซื้อประกันสุขภาพ ถ้าไม่ซื้อของเอกชนก็ต้องซื้อของรัฐบาลซึ่งมีราคาถูกกว่า เพราะรัฐบาลตั้งงบประมาณอุดหนุนตัวแทนของผู้ที่มีปรัชญาอย่างนี้ คือพรรครีพับลิกันนั่นเอง

การแบ่งชนชั้นในสหรัฐอเมริกาตามฐานะทาง เศรษฐกิจ ตามเชื้อชาติ ตามถิ่นที่อยู่ แม้แต่อาชีพการงาน แม้ว่าจะเบาบางลงมากแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีอยู่ในส่วนลึกของจิตใจคนส่วนใหญ่ ยังไม่ได้หมดไป แต่ที่แย่มาก ๆ ก็คือ การที่จะยอมให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือคนยากจนจริง ๆ นั้น ที่ประเทศไหน ๆ แม้คนชั้นกลางและคนชั้นสูงจะไม่เห็นด้วยก็ไม่กล้าแสดงออก ทั้งในลักษณะส่วนตัว หรือในลักษณะอย่างเป็นทางการขององค์กรที่สำคัญ เช่น พรรคการเมือง หรือองค์กรอิสระ เป็นต้น สังคมอเมริกันเป็นสังคมตัวใครตัวมันจริง ๆ

การเปลี่ยนฐานะของบุคคล โดย "การศึกษา" ก็เป็นไปได้ยาก แม้ว่าปรัชญาหลักของสังคมประชาธิปไตย คือ การให้ "โอกาสที่เท่าเทียมกัน" แต่สถานศึกษาที่ดี ๆ ส่วนมากเป็นของเอกชน ตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยม ไปจนถึงมหาวิทยาลัย ค่าเล่าเรียนแพงมาก ทุนการศึกษาสำหรับคนจนก็น้อย สถานศึกษาของรัฐราคาถูกแต่คุณภาพก็ไม่ดีเท่า เพราะเงินเดือนครูอาจารย์ไม่สูงเท่าสถานศึกษาเอกชน อุปกรณ์การศึกษาก็ด้อยกว่า กลับกันกับของบ้านเรา โรงเรียนดี ๆ วิทยาลัยดี ๆ มหาวิทยาลัยดี ๆ เป็นของรัฐ และได้รับความนิยมดีกว่า โอกาสไต่เต้าผ่านการศึกษาของประเทศเราจึงมีมากกว่าถ้าเป็นคนจน จนอยู่บ้านเราดีกว่าสหรัฐ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ความยากจน สหรัฐอเมริกา

view