สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิกฤติสร้างโอกาส

วิกฤติสร้างโอกาส

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




นิยามของคำว่าความ“มั่งคั่ง”ดูจะเปลี่ยนไปมากเมื่อเทียบกับ100ปีที่แล้ว ที่เราเคยวัดความมั่งคั่งร่ำรวยจากสินทรัพย์ที่จับต้องได้เป็นหลัก

มหาเศรษฐีในยุคนั้นจึงมักเป็นเจ้าของทรัพยากรการผลิตมากมาย ทั้งที่ดิน ที่นา โรงงาน ฯลฯ รวมไปถึงสัมปทานต่างๆ จากรัฐบาล

มหาเศรษฐีของทุกประเทศทั่วโลกจึงหนีไม่พ้นเจ้าของสัมปทานทุกประเภท ทั้งป่าไม้ เหมืองแร่ การเดินรถไฟ การเดินเรือ ฯลฯ โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชีย จะเห็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งในหลายๆ ประเทศล้วนเป็นเจ้าของสัมปทานอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยกันทั้งนั้น

มาถึงวันนี้คงไม่มีใครปฏิเสธว่า รูปแบบของธุรกิจและอุตสาหกรรมใหม่เปลี่ยนโฉมไปจากเดิมชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ เราก้าวผ่านยุคของสินทรัพย์ที่จับต้องได้ มาสู่สินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้หรือ Intangible Asset อย่างเต็มที่

ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาก็คือการปรับตัว ปรับแนวคิด ให้เข้ากับความเป็นไปของโลกธุรกิจในทุกวันนี้ นั่นทำให้เราต้องพบกับการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้และความเข้าใจในโลกธุรกิจในปัจจุบันได้อย่างเท่าทัน ส่งผลให้องค์กรหลายๆ แห่งมีอัตราว่างแต่ไม่มีคนทำงานมากมายหลายอัตรา

ภาวะเช่นนี้เป็นสิ่งที่หลายๆ คนไม่เคยคาดคิด เพราะอัตราว่างงานในบ้านเราช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ 5%-10% มาโดยตลอด ขณะที่ปัจจุบันเหลือต่ำกว่า 1% งานหลายๆ ตำแหน่งจึงยังคงขาดแคลนอยู่และหาคนทำได้ยาก

หากเป็นตำแหน่งพื้นฐานหรือแรงงานทั่วไป ในอดีตเรามักพึ่งพิงแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก แต่มาถึงทุกวันนี้หลายๆ ประเทศเริ่มมีแนวโน้มการลงทุนที่ดีขึ้น เช่นประเทศลาวและประเทศพม่า ที่เริ่มดึงแรงงานของตัวเองกลับไปป้อนให้โรงงานในประเทศเป็นหลัก

ขณะที่บ้านเราเองก็จะเห็นว่านโยบายของรัฐในการรับจำนำข้าวและประกันราคาพืชผลอื่นๆ ทำให้แรงงานในระบบจำนวนไม่น้อยหันกลับไปทำนา ทำสวนในบ้านเกิด เพราะเชื่อว่าจะได้ผลตอบแทนดีกว่า โรงงานหลายๆ แห่งแม้จะเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำให้สูงกว่า 300 บาทก็ยังแทบหาคนงานไม่ได้

ระบบนิเวศน์ทางธุรกิจและอุตสาหกรรมในปัจจุบันจึงเปราะบางมากเป็นพิเศษ เมื่อหาคนไม่ได้ หลายๆ องค์กรจึงเลือกใช้วิถีการสับเปลี่ยนหน้าที่ หรือ Rotation เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น เช่นพนักงานบัญชี พนักงานขาย แคชเชียร์ ฯลฯ

แต่ก็มักจะเกิดปัญหาตามมาเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องความต่อเนื่อง เพราะการสับเปลี่ยนงานที่เกิดขึ้น ปีละ 1-2 ครั้ง จำเป็นต้องให้บุคลากรเรียนรู้งานใหม่ ซึ่งมีโอกาสที่จะต้องเผชิญกับปัญหาเดิมๆ ที่ได้รับมาจากพนักงานรุ่นก่อนหน้า และก็ยังคงแก้ไขไม่ได้ต่อไปเพราะแต่ละคนจะอยู่ในหน้าที่เพียงไม่นาน

ที่สำคัญหากไม่มีระบบเรียนรู้หรือฝึกอบรมที่ดีพอ หากพนักงานลาออก ก็มักจะมีข้อผิดพลาดซ้ำๆ เกิดขึ้นไม่มีที่สิ้นสุดเพราะไม่มีการถ่ายโอนงานกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งปัญหาหลายๆ อย่างอาจบานปลายกลายเป็นวิกฤติขึ้นมาได้ในท้ายที่สุด

ด้วยปัญหาเหล่านี้ ถ้าสังเกตให้ดีๆ ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาจะเห็นระบบไอทีสำหรับองค์กรเป็นจำนวนมากถูกพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เพราะวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นมักจะก่อให้เกิดโอกาสสำหรับผู้ที่มองเห็นและมีแนวทางรับมือกับวิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้นได้เหล่านั้น โปรดติดตามรายละเอียดอังคารหน้าครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : วิกฤติสร้างโอกาส

view