สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มติศาลรธน. 6:3 แก้รธน.ที่มาส.ว.เป็นการกระทำโดยมิชอบ แต่ยกฟ้องยุบพรรคไม่เข้าเงื่อนไข

มติศาลรธน. 6:3 แก้รธน.ที่มาส.ว.เป็นการกระทำโดยมิชอบ แต่ยกฟ้องยุบพรรคไม่เข้าเงื่อนไข

จากประชาชาติธุรกิจ

เวลา 13.20 น. วันที่ 20 พ.ย. ศาลรัฐธรรมนูญนั่งบังลังก์อ่านคำวินิจฉัยแก้ไขรธน.ที่มาส.ว. โดยนายสุพจน์ ไข่มุกด์ ตุลาการรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย โดยในประเด็นแรก ศาลรธน. วินิจฉัยว่าเมื่อพิจารณาแล้วผู้ร้องใช้สิทธิพิทักษ์รธน.มาตรา 68 วรรค 2 โดยอ้างว่าผู้ถูกร้องทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์เป็นประมุขหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจปกครองประเทศโดยวิธีการไม่ได้ เป็นไปตามวิถีทางบัญญัติในรธน.ในประเด็นนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัย ได้ 


ทั้งนี้เรื่องขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า

(1)มีการแก้ไขเอกสารร่างรัฐธรรมนูญจากขั้นเสนอญัตติและขั้นพิจารณารับหลักการจึงถือว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 291

(2) มีการกำหนดเวลาการแปรญัตติและอภิปรายจำกัด จึงผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 และ มาตรา 3

(3) มีการแสดงตนในการลงมติไม่ถูกต้อง มีพยานเห็นการใช้บัตรประจำตัวหลายใบเสียบแสดงตนเพื่อลงคะแนนแทนกัน ผิดปกติวิสัยแจ้งชัด มีสมาชิกหลายรายไม่มาลงคะแนน แต่มีการให้ผู้อื่นใช้อำนาจแทน เป็นการลงคะแนนที่ทุจริต จึงผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 126 (3) และช้อบังคับการประชุม

ทั้ง นี้ศาลรัฐธรรมนูญลงมติ 6 : 3 ว่าร่างแก้ไขที่มาส.ว. เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และมีมติ 5 : 4 การแก้ไขมีเนื้อความที่เป็นสาระสำคัญขัดแย้งรัฐธรรมนูญปี2550 อันทำให้ผู้ถูกร้องได้อำนาจปกครองประเทศโดยวิถีทางไม่เป็นธรรม

ส่วนคำร้องขอยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิเห็นว่ายังไม่เข้าเงื่อนไขตามรธน.แห่งราชอาณาจักรไทยศาลจึงยกคำร้องส่วนยุบพรรค


ดูชัดๆ ส.ส.-ส.ว.รวมหัวฟื้น"สภาทาส" ผิด รธน.มาตราไหน

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

สรุปประเด็นสำคัญ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว.แฉพฤติกรรม ส.ส.-ส.ว.ทาสแม้ว หักดิบหลักกฎหมาย หวังฟื้นชีพ “สภาทาส-สภาผัวเมีย” ผิดรัฐธรรมนูญมาตราใดบ้าง
       
       ศาลฯ เห็นว่า คดีนี้ ผู้ร้องใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรค 2 ด้วยการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่า ผู้ถูกร้องได้กระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง โดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้
       
       ประเด็นการวินิจฉัย
       
       ประเด็นที่ 1
       กระบวนการพิจารณาร่างรัฐ ธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... มีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่
       
       (1) ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ที่ใช้ระหว่างพิจารณาประชุมร่วมกันของรัฐสภา เป็นฉบับเดียวกันกับที่มีการยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต่อสำนักงานเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎรในฐานะสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาหรือไม่ (กรณีการปลอมร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ)
       ศาลวินิจฉัยว่า เมื่อข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า ในการพิจารณาของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา มิได้นำเอาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาฉบับ ที่ นายอุดมเดช รัตนเสถียร และคณะ เสนอต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2556 มาใช้ในการพิจารณาในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ แต่ได้นำร่างที่มีการจัดทำขึ้นใหม่ ซึ่งมีหลักการแตกต่างจากร่างเดิมที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร เสนอ หลายประการ โดยได้ปรากฏว่า มีสมาชิกรัฐสภามาร่วมลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้น ใหม่แต่อย่างใด มีผลเท่ากับว่า การดำเนินการในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่รัฐสภารับหลักการตามคำร้องนี้ เป็นไปโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 วรรค 1
       
       (2) การกำหนดวันแปรญัญัติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่...พ.ศ…..ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
       ในการพิจารณาวาระที่ 1 และวาระที่ 2 ผู้ถูกร้องที่ 1 (นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์) และผู้ถูกร้องที่ 2 )นายนิคม ไวยรัชพานิช) ได้ผลัดกันทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ได้มีการตัดสิทธิผู้ขออภิปรายถึง 57 คน โดยอ้างว่าความเห็นดังกล่าวขัดต่อหลักการ ทั้งที่ยังไม่ได้มีการฟังการอภิปราย และผู้ถูกร้องที่ 1 และผู้ถูกร้องที่ 2 ได้ใช้เสียงข้างมากในที่ประชุมปิดการอภิปราย เห็นว่า แม้การเปิดการ อภิปรายจะเป็นดุลพินิจของประธาน และแม้เสียงข้างมากมีสิทธิที่จะลงมติให้ปิดการอภิปรายก็ตาม แต่การใช้ดุลพินิจและการใช้เสียงข้างมากดังกล่าวจะต้องไม่ตัดสิทธิการทำ หน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา หรือละเลยไม่ฟังความเห็นของฝ่ายข้างน้อย การรวบรัดปิดการอภิปรายและปิดการประชุมเพื่อให้มีการลงคะแนนเสียง จึงเป็นการใช้อำนาจไปในทางที่้ไม่ชอบ เอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายข้างมากโดยไม่เป็นธรรม อันเป็นการขัดต่อหลักนิติธรรม
       
       นอกจากนี้ การนับระยะเวลาในการแปรญัตติย้อนหลัง 15 วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2556 วันที่สภาฯ รับหลักการ ทำให้ระยะเวลาการแปรญัตติเหลือเพียง 1 วัน
       ศาลฯ เห็นว่า เป็นการดำเนินการที่ขัดต่อข้อบังคับการประชุม และไม่เป็นกลาง จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 125 วรรค 1 และวรรค 2 ทั้งขัดต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรค 2 ด้วย การกำหนดเวลาแปรญัตติร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรค 2 และมาตรา 125 วรรค 1
       
       (3) วิธีการในการแสดงตนและลงมติในการพิจารณาญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐ ธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ (กรณีการเสียบบัตรแทนกัน) ศาลเห็นว่า
       
       1.เป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็นสมาชิกรัฐสภา ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ซึ่งจะต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือการครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามบทบัญญัติ มาตรา 122 รัฐธรรมนูญแล้ว
       
       2.ขัดต่อข้อบังคับการประชุมของรัฐสภา ขัดต่อหลักความซื่อสัตย์สุจริตที่สมาชิกรัฐสภาได้ปฏิญาณตนไว้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 123
       
       3.ขัดต่อหลักการออกเสียงลงคะแนนตามบทบัญญัติ มาตรา 126 วรรค 3 ที่ให้สมาชิกคนหนึ่งมีเสียง 1 เสียง ในการออกเสียงลงคะแนน มีผลทำให้การออกเสียงลงคะแนนในการประชุมนั้นๆ เป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ทุจริต ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของปวงชนชาวไทย เนื่องจากมาจากกระบวนการลงคะแนนเสียงที่ไม่ชอบ ขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภา และขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ระบุมาแล้วข้างต้น ถือว่า เป็นมติที่ชอบของรัฐสภาในกระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม

       
       สรุป ประเด็นที่ 1 ศาลฯ วินิจฉัยโดยมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ว่า การดำเนินการพิจารณาและล้มมติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของผู้ถูกร้องทั้งหมด ในคดีนี้ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบโดยกฎหมายรัฐธธรมนูญ โดยกฎหมายมาตรา 122 มาตรา 125 วรรค 1 และ วรรค 2 มาตรา 126 วรรค 3 มาตรา 291 และมาตรา 3 วรรค 2
       
       ประเด็นที่ 2
       การแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาของ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ... ) พ.ศ. ... มีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่
       
       ศาลฯเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามคำร้องนี้
       
       1.เป็นการแก้กลับไปสู่จุดบกพร่องที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต เป็นจุดบกพร่องที่ล่อแหลม เสี่ยงต่อการสูญสิ้นศรัทธา และสามัคคีของมวลหมู่มหาชนชาวไทย เป็นความพยายามนำประเทศชาติให้ถอยหลังเข้าคลอง ทำให้วุฒิสภากลับไปเป็นสภาญาติพี่น้อง สภาของครอบครัว และสภาผัวเมีย สูญเสียสถานะ และศักยภาพแห่งการเป็นสติปัญญาให้แก่สภาผู้แทนราษฎร กลายเป็นเพียงเสียงสะท้อนของมวลชนกลุ่มเดียวกันทำลายสารสำคัญของการมี 2 สภา นำพาไปสู่การผูกขาดอำนาจรัฐ ตัดการมีส่วนร่วมของปวงประชาหลากสาขา หลายอาชีพ เป็นการกระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันทรงมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข และเปิดช่องให้ผู้ร่วมกระทำการครั้งนี้ กลับมีโอกาสได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองด้วยวิธีการที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทาง ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากการออกเสียงแสดงประชามติของมหาชนชาวไทย
       
       2.การแก้ไขที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ได้มาจากการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว อันมีที่มาเหมือนกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงย่อมเป็นเสมือนสภาฯ เดียวกัน ไม่เกิดเป็นความแตกต่าง และเป็นอิสระซึ่งกันและกันของทั้ง 2 สภาฯ เป็นการทำลายลักษณะ และสาระสำคัญของระบบ 2 สภาฯ สูญสิ้นไป
       
       3.การแก้ไขที่มาและคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภามีความเกี่ยว ข้องกับฝ่ายการเมือง หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ ย่อมทำให้หลักการตรวจสอบ และถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันของระบบ 2 สภาฯ ต้องสูญเสียไปอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ฝ่ายการเมืองสามารถควบคุมอำนาจเหนือรัฐสภาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ปราศจากการตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน อันเป็นการกระทบต่อการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเปิดทางให้ผู้เกี่ยวข้องกับการดำเนินการครั้งนี้ ได้อำนาจในการตอบแทนต่อประเทศด้วยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิธีที่บัญญัติไว้ ในหมวดนี้
       
       4.เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 11 และมาตรา 11/1 ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในเรื่องกระบวนการตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาที่จะบัญญัติขึ้นใหม่ โดบรวบรัดให้มีการประกาศใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว โดยไม่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 141 ที่ จะต้องส่งร่างกฎหมายดังกล่าว ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตรวจสอบความชอบของรัฐธรรมนูญเสียก่อน ซึ่งขัดกับการถ่วงดุลและคานอำนาจ อันเป็นหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทำให้ฝ่ายการเมืองสามารถออกกฎหมายได้ตามอำเภอใจ โดยอาศัยเสียงข้างมากจากการตรวจสอบ
       
       สรุป ประเด็นที่ 2 ศาลฯ วินิจฉัยโดยมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ว่ามีเนื้อความเป็นสาระสำคัญขัดแย้งต่อหลักการพื้นฐานและเจตนารมณ์ของรัฐ ธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 อันเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกร้องได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศด้วยวิธีการ ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ฝ่าฝืนรัฐธธรมนูญมาตรา 68 วรรค 1
       
       ส่วนที่ผู้ร้องขอยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมืองเหล่านั้น เห็นว่ายังไม่เข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 68 วรรค 3 และวรรค 4 จึงยกคำร้องในส่วนนี้


คำต่อคำ ศาลรัฐธรรมนูญชี้แก้ที่มา ส.ว.ผิดมาตรา 68 แต่ไม่เข้าเงื่อนไขยุบพรรค

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

เปิดรายละเอียดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ชี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.แปลงวุฒิสภาเป็นสภาผัวเมีย ผิดทั้งกระบวนการ ปลอมร่างฯ ตัดสิทธิผู้อภิปราย เสียบบัตรแทนกัน พร้อมผิดมาตรา 68 วรรค 1 เป็นการกระทำให้ได้มาซึ่งอำนาจปกครองโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทาง ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ยังไม่เข้าเงื่อนไขยุบพรรคการเมือง
              วันนี้ (20 พ.ย.) ที่ศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อเวลา 13.26 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้เริ่มออกนั่งบัลลังก์เพื่อวินิจฉัยคดีแก้ไขรัฐ ธรรมนูญที่มา ส.ว.แล้ว โดยนายสุพจน์ ไข่มุกด์ ตุลาการ เป็นผู้อ่านคำวินิจฉัยรวม โดยได้กล่าวถึงอำนาจของการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุถึงรัฐธรรมนูญปี 50 หลักการประชาธิปไตย และยังกล่าวถึงการใช้เสียงข้างมากจนเป็นปัญหาย่อมขัดรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 3 วรรค 2 ขณะที่มาตรา 216 วรรค 5 ก็ได้ระบุชัดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันต่อรัฐสภา เมื่อพิจารณาแล้วผู้ร้องใช้สิทธิตามมาตรา 68 วรรค 2 ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจรับคำร้องไว้ในวินิจฉัยได้
       
       นายสุพจน์กล่าวต่อว่า ประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างแก้ไขมิใช่ร่างเดิมที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย และคณะ ยื่น แต่เป็นร่างที่จัดพิมพ์ขึ้นใหม่ และมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาที่เป็นหลักการสำคัญในมาตรา 116 (2) ที่ให้ ส.ว.ซึ่งสิ้นสุดวาระ สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ทันที การกระทำตังกล่าวถือว่ามีเจตนาที่จะปกปิดข้อเท็จจริง ซึ่งเมื่อได้ข้อยุติว่าร่างที่ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ไม่ใช่ร่างเดิมที่นายอุดมเดชเสนอ จึงเท่ากับว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยขัดบทบัญญัติมาตรา 291 (1) นอกจากนี้ การตัดสิทธิการอภิปรายของผู้ที่ยื่นสงวนคำแปรญัตติถึง 51 คนทั้งที่ยังไม่มีการฟังการอภิปรายเลย แม้ประธานรัฐสภาจะมีอำนาจในการสั่งให้ปิดการอภิปราย แต่ถือเป็นการใช้อำนาจไม่ชอบ และเอื้อประโยชน์ฝ่ายเสียงข้างมากอย่างไม่เป็นธรรม ขณะที่การนับวันแปรญัตติที่มีการสรุปให้ย้อนหลังไปถึงวันที่ 4 เม.ย. ส่งผลให้วันแปรญัตติตามข้อบังคับการประชุมที่กำหนดไว้ 15-20 วันนับแต่วันที่รับหลักการวาระที่ 1 เหลือเพียง 1 วัน ส่งผลให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 125 และขัดต่อหลักนิติธรรม ที่ขัดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 3
       
       ต่อมานายจรูญ อินทจาร ตุลาการ กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นของการเสียบบัตรแสดงตนและลงคะแนนแทนกัน ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มีประจักษ์พยานชัดเจน ทั้งผู้ที่เห็นเหตุการณ์ และวิดีทัศน์บันทึกการประชุมเพื่อลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบว่ามีสมาชิกรัฐสภารายหนึ่ง คือ นายนริศร ทองธิราช ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์หลายใบเสียบในช่องลงคะแนนและแสดงตน ทั้งที่การใช้สิทธิลงคะแนนตามหลักกฎหมายและข้อบังคับการประชุมรัฐสภานั้น ระบุว่า สมาชิก 1 คนสามารถลงคะแนนได้เพียง 1 เสียงเท่านั้น เมื่อพบว่ามีการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 และข้อบังคับการประชุม รวมไปถึงขัดต่อความซื่อสัตย์สุจริตของสมาชิกรัฐสภาที่ได้ปฏิญาณตนไว้เมื่อ ครั้งเข้ารับหน้าที่ ส่งผลให้การลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย
       
       นายจรูญแถลงอีกว่า ในส่วนการกระทำดังกล่าวถือว่าเข้าข่ายเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจใน การปกครองโดยวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ ปี 50 กำหนดให้มี ส.ว.สรรหาที่มาจากหลากหลายวิชาการในสัดส่วนที่เท่ากับ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งมีแม่แบบมาจากรัฐธรรมนูญ ปี 40 และได้นำข้อบกพร่องในเรื่องคุณสมบัติของผู้ลงสมัคร ส.ว.จากรัฐธรรมนูญ ปี 40 มากำหนดไว้ว่า ผู้ที่จะลงสมัครต้องไม่เป็นสามีภรรยาและบุตรของผู้ที่เป็น ส.ส.และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งหากพ้นจากตำแหน่ง ส.ว.แล้วต้องเว้นวรรคการลงสมัครรอบใหม่ไม่น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับว่ารัฐธรรมนูญมีเจตนาให้องค์กรวุฒิสภาเป็นองค์กรที่เป็นอิสระ และกลั่นกรองตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวที่มีการแก้ไขคุณสมบัติผู้ลงสมัคร ส.ว.ให้ใกล้เคียงกับผู้ลงสมัคร ส.ส. เท่ากับเป็นการแก้ไขไปสู่จุดสูญสิ้น เป็นการนำพาชาติถอยหลังเข้าคลอง กลายเป็นสภาผัวเมีย นำไปสู่การผูกขาด กระทบต่อการปกครองประเทศ เปิดช่องให้ผู้ที่สามารถควบคุมกลไกดังกล่าวใช้วุฒิสภาให้ได้มาเพื่ออำนาจใน การปกครอง อีกทั้งยังเป็นการำลายการเป็นสภาถ่วงดุลของ ส.ว.ให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จ
       
       นายจรูญแถลงด้วยว่า เมื่อพิจารณาถึงเนื้อหา และกระบวนการของการแก้ไข ที่พบว่ารวบรัดไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ว่าการแก้ไขรับธรรมนูญดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 122, มาตรา 125 วรรค 1 และ 2, มาตรา 126 วรรค 1, มาตรา 291 และมาตรา 3 วรรค 2 และมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เห็นว่าเนื้อหาการแก้ไขเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง ประเทศ โดยวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรค 1 แต่ทั้งนี้ยังไม่เข้าเงื่อนไขที่จะยุบพรรค จึงให้ยกคำร้องในส่วนของการยุบพรรคด้วยมติเสียงเดียวกัน
       
       รายละเอียดคำวินิจฉัย คำต่อคำ
       
       ในการนี้ศาลมอบหมายให้ท่านสุพจน์ ไข่มุกด์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และนายจรูญ อินทจาร เป็นผู้อ่านคำวินิจฉัย
       
       สุพจน์ ไข่มุกด์
       
        ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้อง และเอกสารหลักฐานประกอบของผู้ร้อง และไต่สวนพยานหลักฐาน อีกทั้งสั่งให้คู่กรณียื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีเป็นหนังสือแล้ว เห็นว่า คดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้แล้ว จึงกำหนดประเด็นวินิจฉัยรวม 2 ประเด็น คือ
       
       ประเด็นที่ 1 กระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... มีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่
       
        ประเด็นที่ 2 การแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ... ) พ.ศ. ... มีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่
       
        ก่อนพิจารณาประเด็นดังกล่าว ต้องพิจารณามีปัญหาข้อพิจารณาเดิมเบื้องต้นว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการวินิจฉัยเกี่ยวกับกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐ ธรรมนูญหรือไม่
       
        ประเทศที่นำเอาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยมาใช้ในการปกครองประเทศ ล้วนมีวัตถุประสงค์และมุ่งหมายที่จะออกแบบหรือสร้างกลไกในการคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพของประชาชน ในอันที่จะทำให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ และตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ อีกทั้งสร้างระบบ ตรวจสอบ และถ่วงดุล ระหว่างองค์กร หรือสถาบันทางการเมือง ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดดุลยภาพในการใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของประชาชน ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ ที่แบ่งออกเป็น 3 อำนาจ คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ดังจะเห็นได้จากความตอนหนึ่งที่ปรากฏในคำปรารภของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ไทย พ.ศ.2550 อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จัดทำใหม่นี้ มีสาระสำคัญ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกันของประชาชนชาวไทย ในการธำรงรักษาไว้ซึ่งเอกราช และความมั่นคงของชาติ การทำนุบำรุงรักษาศาสนาทุกศาสนา ให้สถิตสถาพร การเทิดทูนพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและเป็นมิ่งขวัญของชาติ การยึดถือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นวิถีทางในการปกครองประเทศ
       
        การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ให้ประชาชนมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่าง เป็นรูปธรรม การกำหนดกลไกสถาบันทางการเมือง ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร ให้มีดุลยภาพและประสิทธิภาพตามวิถีการปกครองแบบระบบรัฐสภา รวมทั้งให้สถาบันศาลและองค์กรอิสระอื่นสามารถปฏิบัติหน้าที่โดยถูกต้อง สุจริต และเป็นธรรม
       
        จากหลักการดังกล่าวนี้ ย่อมแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความมุ่งหมายที่จะให้องค์กร หรือสถาบันการเมือง ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้อง ชอบธรรม มีความเป็นอิสระ และซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ไม่ประสงค์ที่จะให้องค์กร หรือสถาบันการเมืองใดบิดเบือนการใช้อำนาจโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ปราศจากความชอบธรรมทุกรูปแบบ อีกทั้งไม่ประสงค์ที่จะให้องค์กร หรือสถาบันการเมือง หยิบยกบทกฎหมายใดมาเป็นข้ออ้าง เพื่อใช้เป็นฐานสนับสนุน ค้ำจุนในอันที่จะแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน หรือพวกพ้องจากการใช้อำนาจนั้นๆ
       
        อย่างไรก็ดี ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย แม้จะให้ถือเอามติฝ่ายเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ก็ตาม แต่หากละเลย หรือใช้อำนาจอำเภอใจ กดขี่ ข่มเหงฝ่ายเสียงข้างน้อย โดยไม่ฟังเหตุผล และขาดหลักประกัน จนทำให้ฝ่ายเสียงข้างน้อยไม่มีที่อยู่ที่ยืนตามสมควรแล้วไซร้ จะถือว่าเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร หากแต่จะกลับกลายเป็นระบอบเผด็จการฝ่ายข้างมาก ขัดแย้งต่อระบอบการปกครองของประเทศอย่างชัดแจ้ง ซึ่งหลักการพื้นฐานสำคัญนี้ ได้รับการยืนยันมาโดยตลอดว่า กรณีต้องมีมาตรการในการป้องกันการใช้อำนาจบิดเบือน หรืออำนาจอำเภอใจของบุคคล หรือกลุ่มบุคคลฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ที่เข้ามาใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน โดยให้ตั้งมั่นอยู่บนหลักการ แบ่งการ แยกการใช้อำนาจอธิปไตยอันเป็นอำนาจของปวงชนชาวไทย เพื่อให้แต่ละองค์กร หรือสถาบันการเมืองที่ใช้อำนาจดังกล่าวอยู่ อยู่ในสถานะที่จะตรวจสอบ และถ่วงดุล เพื่อทัดทานและคานอำนาจซึ่งกันและกันได้อย่างเหมาะสม มิใช่แบ่งแยกให้เป็นพื้นที่อิสระของแต่ละฝ่าย ที่จะใช้อำนาจตามอำเภอใจอย่างไรก็ได้ เพราะหากปล่อยให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยปราศจากการตรวจสอบและถ่วงดุลแล้ว ย่อมเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดความเสียหาย และนำพาประเทศชาติให้เกิดเสื่อมโทรมลง เพราะความผิดหลงและมัวเมาในอำนาจของผู้ถืออำนาจรัฐ
       
        ซึ่งในการนี้ อาจกล่าวได้ว่า องค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นประมุขของรัฐ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือศาล ล้วนถูกจัดตั้งขึ้น หรือได้รับมอบอำนาจมาจากรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น ดังนั้น การใช้อำนาจขององค์กรเหล่านี้จึงต้องถูกจำกัดการใช้อำนาจ ทั้งในด้านรูปแบบ และเนื้อหา จึงมีผลให้การใช้อำนาจขององค์กรทั้งหลายเหล่านี้ ไม่สามารถที่จะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้ โดยเหตุนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2550 จึงได้นำหลักนิติธรรมมากำกับการใช้อำนาจของทุกฝ่าย ทุกองค์กร และทุกหน่วยงานของรัฐบาล ภายใต้หลักการที่ว่า นอกจากการใช้อำนาจตามบทกฎหมายที่มีอยู่ทั่วไปแล้ว ยังจะต้องใช้อำนาจ และปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามหลักนิติธรรม กรณีนี้จึงใช้การปฏิบัติตามบทกฎหมาย ที่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือหลักเสียงข้างมากแต่เพียงเท่านั้น หากจะต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรมควบคู่กันไปด้วย
       
        การอ้างหลักเสียงข้างมาก โดยที่มิได้คำนึงถึงเสียงข้างน้อย เพื่อหยิบยกมาใช้อำนาจอำเภอใจ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย หรือวัตถุประสงค์ของผู้ใช้อำนาจท่ามกลางความซับซ้อนระหว่างผลประโยชน์ส่วนตน หรือกลุ่มบุคคล กับผลประโยชน์ของประเทศชาติ และความสงบสุขของประชาชนโดยรวม และการใดก็ตามที่จะนำมาซึ่งนำไปสู่ความเสียหาย และความเสื่อมโทรมของประเทศชาติ หรือการวิวาทบาดหมาง แยกแตกสามัคคีกันอย่างรุนแรงระหว่างประชาชน การนั้นย่อมขัดต่อหลักนิติธรรมตามมาตรา 3 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ซึ่งหมายถึงรัฐธรรมนูญนี้ ตามนัยมาตรา 68 นั่นเอง การใช้กฎหมาย และการใช้อำนาจทุกกรณีต้องเป็นไปโดยสุจริต จะใช้โดยทุจริต ฉ้อฉล มีประโยชน์ทับซ้อน หรือวาระซ่อนเร้นมิได้ เพราะมิฉะนั้นจะทำให้บรรดาสุจริตชนคนส่วนใหญ่ของประเทศ อาจสูญเสียประโยชน์อันพึงมีพึงได้ ให้ไปตกอยู่แก่บุคคล หรือคณะบุคคลผู้ใช้อำนาจ โดยปราศจากความชอบธรรม หลักนิติธรรม หรือเป็นแนวทางในการปกครองที่มาจากหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติ อันเป็นความเป็นธรรมที่บริสุทธิ์ ปราศจากอคติ โดยไม่มีผลประโยชน์ส่วนตนเข้ามาเกี่ยวข้อง และแอบแฝง หลักนิติธรรมจึงเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของกฎหมายที่อยู่เหนือบทบัญญัติที่ เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งรัฐสภาก็ดี คณะรัฐมนตรีก็ดี ศาลก็ดี รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานต่างๆ ของรัฐก็ดี จะต้องยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติ
       
        ส่วนหลักการการปกครองแบบประชาธิปไตย หมายถึงการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน มิใช่การปกครองตามแนวความคิดของบุคคลใด หรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และมิใช่การปกครองที่อ้างอิงแต่เพียงฐานอำนาจที่มาจากระบบการเลือกตั้งเท่า นั้น
       
        ทั้งนี้ เนื่องจากหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยยังมีองค์ประกอบสำคัญอีกประการ การที่องค์กร หรือสถาบัน ในฐานะผู้ใช้อำนาจรัฐมักจะอ้างอยู่เสมอว่า ตนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่กลับนำแนวความคิดของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง มาปฏิบัติ หาใช่วิธีการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่มีความมุ่งหมายเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนโดยส่วนรวม ภายใต้หลักนิติธรรม ไม่ เนื่องจากประชาธิปไตยมิได้หมายถึงเพียงการได้รับเลือกตั้ง หรือชนะการเลือกตั้งของฝ่ายการเมืองเท่านั้น เพราะเสียงส่วนใหญ่จากการเลือกตั้งมีความหมายเพียงสะท้อนถึงความต้องการของ ประชาชน ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในแต่ละครั้งเท่านั้น หาใช่เป็นเหตุให้ตัวแทนใช้อำนาจได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงความถูกต้องและชอบธรรม ตามหลักนิติธรรมแต่อย่างใด
       
        ในขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ได้กำหนดให้มีศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจหน้าที่สำคัญในการตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจ เพื่อให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม ภายใต้หลักการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย อันเป็นปรัชญาของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในอันที่จะทำให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นรูปธรรม ควบคู่ไปกับการธำรงและรักษาไว้ซึ่งความเป็นสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 วรรค 5 ที่ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ ประกอบมาตรา 27 ที่ว่า สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดเจนโดยปริยาย หรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง
       
        เมื่อพิจารณาโดยตลอดแล้วเห็นว่า คดีนี้ ผู้ร้องใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรค 2 ด้วยการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่า ผู้ถูกร้องได้กระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง โดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้
       
        ประเด็นที่ 1 กระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... มีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่
       
       (1) ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ที่ใช้ระหว่างพิจารณาประชุมร่วมกันของรัฐสภา เป็นฉบับเดียวกันกับที่มีการยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต่อสำนักงานเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎรในฐานะสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาหรือไม่ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ที่ผู้เสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และได้มีการแจกจ่ายสำเนาให้สมาชิกรัฐสภา ในวันประชุมรัฐสภาวาระ 1 รับหลักการ ซึ่งผู้ร้องอ้างว่าไม่ตรงกับที่ได้มีการเสนอให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ โดยมีข้อแตกต่างหลายประการ
       
        ในกรณีนี้ ศาลมีคำสั่งให้เลขาธิการรัฐสภาส่งต้นฉบับของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอให้ รัฐสภาพิจารณาในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ เพื่อประกอบการพิจารณาของศาล ซึ่งนายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการรัฐสภา ได้ส่งต่อศาลแล้ว เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 เมื่อตรวจสอบแล้วปรากฏว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติมที่เสนอให้รัฐสภาพิจารณา ตามที่เลขาธิการสภาฯ ส่งให้ศาล มีการใส่เลขหน้าเรียงตามลำดับด้วยลายมือ ตั้งแต่หนังสือ ถึงประธานรัฐสภา รายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้เข้าชื่อเสนอญัตติ รายชื่อสมาชิกรัฐสภาผู้ร่วมเสนอ จนถึงหน้าที่ 33 แต่ในหน้าถัดไป ซึ่งเป็นบันทึกหลักการและเหตุผลตัวร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่แก้ไข และบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างที่แก้ไข ไม่ปรากฏว่า มีการลงเลขหน้ากำกับไว้ อีกทั้งไม่มีการเขียนข้อความใดๆ ด้วยลายมือ และเมื่อตรวจสอบปรากฏว่า อักษรที่ใช้ตั้งแต่หน้าที่ 1 ถึงหน้าที่ 33 มีความแตกต่างกันกับตัวอักษรที่ใช้ในบันทึกหลักการและเหตุผล ตัวร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไข และบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไข เมื่อนั้น เอกสารประกอบคำร้องของผู้ร้องที่ 1 และผู้ร้องที่ 2 ที่อ้างว่า ได้รับแจกเพื่อใช้ในการประชุมรัฐสภาทั้ง 2 ฉบับ มีข้อความและเลขหน้าตรงกัน และมีการเติมข้อความต่อท้ายชื่อร่างรัฐธรรมนูญ ในหน้าบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างที่แก้ไขด้วยลายนิ้วมือ และมีการใส่เลขหน้าเรียงลำดับทุกหน้าตั้งแต่หนังสือถึงประธานรัฐสภา เพื่อขอเสนอร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้เข้าชื่อเสนอญัตติรายชื่อสมาชิกรัฐสภาผู้เข้าชื่อเสนอญัตติ บันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไข ตัวรัฐธรรมนูญที่แก้ไข และบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญรวม 41 หน้า สำหรับอักษรที่ใช้พิมพ์ก็ปรากฏว่าได้ใช้ตัวอักษรแบบเดียวกันตั้งแต่หน้าแรก จนถึงหน้าสุดท้าย
       
        นอกจากนี้ เมื่อนำเอกสารญัตติที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับมาตรา 190 ที่นายประสิทธิ์ โพธสุธน และพวก เป็นผู้เสนอตามที่เลขาธิการได้นำส่งศาลมาประกอบการพิจารณามาตรวจสอบ ปรากฏว่ามีการใส่หน้าเลขหน้าเรียงตามลำดับด้วยลายมือ ตั้งแต่หน้าหนังสือ ประธานรัฐสภา รายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้เข้าชื่อเสนอญัตติ รายชื่อเสนอสมาชิก รัฐสภาผู้ร่วมเสนอ บันทึกหลักการและเหตุผลตัวร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่แก้ไขจนถึงหน้าสุดท้าย ซึ่งเป็นบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างที่แก้ไขอีก ทั้งมีการเติมข้อความในชื่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเพิ่มเติมคำว่าแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ในหน้า บันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญที่แก้ไข
       
        ส่วนตัวอักษรที่ใช้ในการพิมพ์ ก็เป็นตัวอักษรที่มีลักษณะเดียวกัน ตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย ลักษณะของการใส่เลขหน้า ตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย การแก้ไขชื่อร่างที่แก้ไขการใช้ตัวอักษรที่พิมพ์ ตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้ายจะเหมือนกับเอกสารที่ผู้ร้องอ้างว่าได้รับ แจกต่อการประชุมของรัฐสภา จากข้อเท็จจริงหลักฐานดังกล่าวช่วงต้น เชื่อได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ที่เสนอให้สภาพิจารณาในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการไม่ใช่ร่างเดิม ที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร ยื่นต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2556 และได้ส่งสำเนาให้สมาชิกรัฐสภาประกอบการประชุม แต่เป็นร่างที่พิมพ์ขึ้นใหม่ ซึ่งมีข้อความต่างจากร่างเดิมหลายประการ ถึงแม้ว่านายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย จะเบิกความว่าที่บรรจุวาระหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขก็ยังสามารถแก้ไขได้ ก็น่าจะมีการแก้ไขในเรื่องผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ เช่น พิมพ์ผิด มิใช่เป็นการแก้ไข ซึ่งขัดกับหลักการเดิม หากเป็นการแก้ไขเรื่องที่ขัดกับหลักการเดิม ก็ชอบที่จะมีผู้ร่วมลงชื่อเสนอญัตติการที่บัญญัติไว้จากการตรวจสอบข้อความ ของร่างที่มีการแก้ไขปรากฏว่า มีการเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงหลักการที่สำคัญจะร่างเดิมหลายประการคือ การเพิ่มเติมหลักการโดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 196 วรรค 2 และวรรค 1 ของมาตรา 241 ด้วย ประการสำคัญการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 196 จะมีผลให้บุคคลผู้เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกภาพสิ้นสุดลง สามารถสมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภาได้อีก โดยไม่ต้องรอให้พ้นระยะเวลา 2 ปี และมีการดำเนินการในลักษณะที่มีเจตนาปกปิดข้อเท็จจริง โดยไม่แจ้งความจริงว่า ได้มีการจัดทำร่างขึ้นใหม่ให้สมาชิกรัฐสภาทราบทุกคน เมื่อข้อเท็จจริงความเป็นที่ยุติว่า ในการพิจารณาของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา มิได้นำเอาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาฉบับ ที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร และคณะ เสนอต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2556 มาใช้ในการพิจารณาในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ แต่ได้นำร่างที่มีการจัดทำขึ้นใหม่ ซึ่งมีหลักการแตกต่างจากร่างเดิมที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร เสนอ หลายประการ โดยได้ปรากฏว่า มีสมาชิกรัฐสภามาร่วมลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้น ใหม่แต่อย่างใด มีผลเท่ากับว่า การดำเนินการในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่รัฐสภารับหลักการตามคำร้องนี้ เป็นไปโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 291 วรรค 1
       
       (2)การกำหนดวันแปรญัญัติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่ม เติม ฉบับที่...พ.ศ…..ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ การอภิปรายหรือการแสดงความคิดเห็นในการบัญญัติกฎหมาย เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของสมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะผู้ที่แปรญัตติ สงวนคำแปรญัตติ หรือกรรมาธิการที่สงวนความเห็นไว้ ย่อมมีสิทธิที่จะอภิปรายแสดงความเห็น หรือให้เหตุผลในประเด็นที่ได้แปรญัตติ สงวนคำแปรญัตติ หรือที่ได้แสดงความเห็นไว้ สำหรับประเด็นนี้ จากพยานหลักฐานในสำนวนและจากการเบิกความต่อศาลในชั้นไต่สวน ปรากฏในการพิจารณาวาระที่ 1 และวาระที่ 2 ผู้ถูกร้องที่ 1 และผู้ถูกร้องที่ 2 ได้ผลัดกันทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ได้มีการตัดสิทธิผู้ขออภิปรายในวาระที่ 1 และตัดสิทธิผู้ขอแปรญัตติ ผู้สงวนคำแปรญัตติ และผู้สงวนความเห็น เป็นจำนวนถึง 57 คน โดยอ้างว่าความเห็นดังกล่าวขัดต่อหลักการ ทั้งที่ยังไม่ได้มีการฟังการอภิปราย ทั้งนี้ ผู้ถูกร้องที่ 1 และผู้ถูกร้องที่ 2 ได้ใช้เสียงข้างมากในที่ประชุมปิดการอภิปราย เห็นว่า แม้ การเปิดการอภิปรายจะเป็นดุลพินิจของประธาน และแม้เสียงข้างมากมีสิทธิที่จะลงมติให้ปิดการอภิปรายก็ตาม แต่การใช้ดุลพินิจและการใช้เสียงข้างมากดังกล่าวจะต้องไม่ตัดสิทธิการทำ หน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา หรือละเลยไม่ฟังความเห็นของฝ่ายข้างน้อย การรวบรัดปิดการอภิปรายและปิดการประชุมเพื่อให้มีการลงคะแนนเสียง จึงเป็นการใช้อำนาจไปในทางที่้ไม่ชอบ เอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายข้างมากโดยไม่เป็นธรรม อันเป็นการขัดต่อหลักนิติธรรม
       
        นอกจากนี้ ผู้ร้องยังอ้างอีกว่า การนับระยะเวลาในการแปรญัตติของผู้ถูกร้องที่ 1 ไม่ถูกต้อง โดยอ้างว่า เมื่อที่ประชุมพิจารณารับหลักการในวาระ 1 แล้ว เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2556 มีผู้เสนอกำหนดเวลาในการขอแปรญัตติ 15 วัน และ 60 วัน ซึ่งตามข้อบังคับการประชุม จะต้องให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติว่า จะใช้กำหนดเวลาใด แต่ก่อนที่จะมีการลงมติ เกิดปัญหาเรื่ององค์ประชุมในขณะนั้น ไม่ครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด จึงยังมิได้มีการลงมติ ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้สั่งให้กำหนดเวลายื่นญัตติภายใน 15 วัน นับแต่วันที่สภาฯ รับหลักการ แต่มีผู้ทักท้วง ผู้ถูกร้องที่ 1 จึงได้นัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 18 เมษายน 2556 ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้ลงมติให้กำหนดเวลาแปรญัตติ 15 วัน แต่ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้สรุปให้เริ่มต้นนับย้อนหลังไปโดยให้นับระยะเวลา 15 วันนั้น ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2556 ทำให้ระยะเวลาการแปรญัตติไม่ครบ 15 วัน ตามมติที่ประชุม ก็จะเหลือระยะเวลาให้สมาชิกรัฐสภาเสนอคำแปรญัตติเพียง 1 วันเท่านั้น เห็นว่า การแปรญัตติเป็นสิทธิของสมาชิกรัฐสภาที่เสนอความคิดเห็น การแปรญัตติจึงต้องมีเวลาพอสมควรเพื่อให้สมาชิกประสงค์จะขอแปรญัตติได้ทราบ ระยะเวลาที่แน่นอนในการยื่นขอแปรญัตติ อันเป็นสิทธิในการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ การนับระยะเวลาในการแปรญัตติย่อมไม่อาจนับเวลาย้อนหลังได้ แต่ต้องนับตั้งแต่วันที่ที่ประชุมมีมติเป็นต้นไป
       
        การเริ่มนับระยะเวลาย้อนหลังไปจนทำให้เหลือระยะเวลาขอแปรญัตติ เพียง 1 วัน เป็นการดำเนินการที่ขัดต่อข้อบังคับการประชุม และไม่เป็นกลาง จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 125 วรรค 1 และวรรค 2 ทั้งขัดต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรค 2 ด้วย การกำหนดเวลาแปรญัตติร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรค 2 และมาตรา 125 วรรค 1
       
       (3) วิธีการในการแสดงตนและลงมติในการพิจารณาญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐ ธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เมื่อพิจารณาหลักการสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภาแบบมีผู้แทนแล้ว จะเห็นว่าสมาชิกรัฐสภานับว่าเป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อระบบนี้เป็นอย่าง ยิ่ง เนื่องจากบุคคลเหล่านี้มีฐานะเป็นผู้แทนของปวงชนที่ได้รับการเลือกตั้งโดย ประชาชน หรือได้รับการสรรหาให้เข้าไปใช้อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภาแทนประชาชน
       
        อย่างไรก็ดี ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 122 ได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างชัดแจ้งว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายหรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ อีกทั้งต้องบัญญัติให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรค 2 ที่ว่า การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม
       
        ส่วนการใช้อำนาจของสมาชิกรัฐสภา ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงนั้น รัฐธรรมนูญมาตรา 126 วรรค 3 ได้กำหนดหลักการสำคัญ ประการหนึ่งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการตรากฎหมาย ว่า สมาชิกรัฐสภาคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งในการออกเสียงลงคะแนน เว้นแต่ถ้ามีคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด ย่อมเข้าใจได้ว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภานั้น การแสดงตนในการออกเสียงลงคะแนนถือเป็นเรื่องเฉพาะตัวของสมาชิกรัฐสภาแต่ละคน ที่จะต้องมาแสดงตนในการประชุมเพื่อพิจารณาญัตติต่างๆ แต่ละครั้งด้วยตนเอง และในการนี้ย่อมมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในแต่ละเรื่องได้เพียงครั้งละ 1 เสียงเท่านั้น
       
        การกระทำใดที่มีผลให้การลงคะแนนผิดไปจากความเป็นจริง ย่อมไม่ชอบด้วยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องมีประจักษ์พยาน ผู้เห็นเหตุการณ์ มาเบิกความ พร้อมทั้งพยานหลักฐานสำคัญ คือ แผ่นวิดีทัศน์ที่บันทึกภาพเหตุการณ์ขณะที่มีการกระทำดังกล่าวถึง 3 ตอน ที่นำมาแสดงให้เห็นว่ามีสมาชิกรัฐสภาบางคนใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลง มติแทนผู้อื่นในเครื่องออกเสียงลงคะแนน ระหว่างที่มีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของ สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งในการนี้ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะพยานบุคคลของผู้ร้องที่ 2 และที่ 4 ได้เบิกความประกอบคลิปวิดีทัศน์รวม 3 ตอน เพื่อยืนยันว่าในขณะนั้นได้มีบุคคลตามที่ปรากฏในคลิปวิดีทัศน์กระทำการใช้ บัตรแสดงตนอิเล็กทรอนิกส์ใส่เข้าไปในเครื่องออกเสียงลงคะแนน และกดปุ่มเพื่อแสดงตน และลงมติคราวละหลายใบ ซึ่งขัดแย้งกับหลักการและวิธีการที่ถูกต้องในเรื่องนี้ ตามคำเบิกความของนางอัจฉรา จูยืนยง ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานโสตทัศนูปกรณ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ให้การไว้ว่า รัฐมนตรีและบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ยืนยันหรือแสดงตนในการนับองค์ประชุม และลงคะแนนของสมาชิกรัฐสภานั้น จะมีประจำตัวคนละ 1 ใบ และมีบัตรสำรองอีกคนละ 1 ใบ ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่เจ้าหน้าที่ กรณีสมาชิกรัฐสภามิได้นำบัตรประจำตัวมา ประกอบกับเสียงที่ปรากฏในคลิปวิดีทัศน์ขณะกระทำการดังกล่าว ก็สอดคล้องกับเสียงที่ปรากฏในแผ่นวิดีทัศน์บันทึกถ่ายทอดสดการประชุมรัฐสภา และรายงานการประชุมรัฐสภา ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาเดียวกันกับที่มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อ พิจารณาญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ที่ระบุไว้ในคำร้อง ซึ่งเป็นพยานหลักฐานที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรส่งให้แก่ศาลรัฐธรรมนูญ อีกทั้งในการไต่สวนพยานบุคคล เลขาธิการสภา ซึ่งได้ดูและฟังภาพและเสียงในคลิปวิดีทัศน์นั้นแล้ว ได้เบิกความว่า จำได้ว่าเป็นเสียงของรองประธานรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมในขณะนั้น ประกอบกับ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะพยานบุคคลของผู้ร้องที่ 2 และที่ 4 ซึ่งเบิกความประกอบภาพถ่ายที่ปรากฏในคลิปวิดีทัศน์ ที่ผู้ร้องที่ 2 ยื่นต่อศาล ชี้ให้เห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ 162 ซึ่งเป็นสมาชิกรัฐสภา ได้ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและออกเสียงลงคะแนนคราวละหลายใบ หมุนเวียนใส่เข้าไปในเครื่องอ่านบัตรและกดปุ่มแสดงตนติดต่อกันหลายครั้ง
       
        นอกจากนี้ พยานบุคคลฝ่ายนี้ยังเบิกความยันข้อเท็จจริงว่า สามารถจดจำผู้ถูกร้องรายนี้ได้เป็นอย่างดี โดยไม่มีเหตุโกรธเคืองกันเป็นการส่วนตัวแต่อย่างใด และหลังจากที่พยานร้องเรียนเรื่องนี้แล้ว ก็ยังคงทักทายกันเป็นปกติ เนื่องจากตนเป็นสมาชิกรัฐสภามาเป็นเวลา 10 ปี ได้ติดตามตรวจสอบและร้องเรียนเรื่องการใช้บัตรแสดงตน และออกเสียงลงคะแนนแทนกันมาโดยตลอด โดยเฉพาะพฤติกรรมของนายนริศร ทองธิราช ถึงกับใช้ให้คนของตนคอยถ่ายภาพและวิดีทัศน์ เพื่อให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐานประกอบการร้องเรียน และเมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายที่พยานนำสืบต่อศาล ก็เห็นภาพบุคคลปรากฏใบหน้าด้านข้าง ซึ่งสามารถยืนยันได้ว่าเป็น นายนริศร ทองธิราช ผู้ถูกร้องที่ 162 ซึ่งสวมสูทสีเดียวกันกับภาพที่ปรากฏในคลิปวิดีทัศน์ ที่ถือบัตรแสดงตนและลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ไว้ในมือจำนวนหนึ่ง ซึ่งมากกว่า 2 บัตร เกินกว่าจำนวนบัตรแทนตนที่สมาชิกรัฐสภาคนหนึ่งจะพึงมีได้ และยังใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวใส่เข้า-ออกในช่องอ่านบัตร พร้อมกดปุ่มบนเครื่องอ่านต่อเนื่องกันทุกบัตร เห็นได้ว่า การกระทำเช่นนี้มีลักษณะผิดปกติวิสัย และการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาในการใช้บัตรแสดงตน และออกเสียงลงคะแนนในระบบอิเล็กทรอนิกส์หลายใบ
       
        จากการรับฟังพยานหลักฐาน และการเบิกความในชั้นการพิจารณาไต่สวนคำร้อง เป็นเรื่องที่แจ้งชัด ทั้งภาพวิดีทัศน์ และประจักษ์พยานที่มาเบิกความประกอบการถ่ายทอดการประชุมรัฐสภา ระหว่างที่มีการออกเสียงลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับที่มาของวุฒิสมาชิกว่า มีสมาชิกรัฐสภาหลายราย ไม่ได้มาออกเสียงลงมติในที่ประชุมรัฐสภาในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไข เพิ่มเติมฉบับนี้ และได้มอบให้สมาชิกรัฐสภาบางรายใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนน แทนในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม
       
        การดำเนินการดังกล่าว นอกจากจะเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็นสมาชิกรัฐสภา ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ซึ่งจะต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือการครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามบทบัญญัติ มาตรา 122 รัฐธรรมนูญแล้ว ยังขัดต่อข้อบังคับการประชุมของรัฐสภา ขัดต่อหลักความซื่อสัตย์สุจริตที่สมาชิกรัฐสภาได้ปฏิญาณตนไว้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 123 และขัดต่อหลักการออกเสียงลงคะแนนตามบทบัญญัติ มาตรา 126 วรรค 3 ที่ให้สมาชิกคนหนึ่งมีเสียง 1 เสียง ในการออกเสียงลงคะแนน มีผลทำให้การออกเสียงลงคะแนนในการประชุมนั้นๆ เป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ทุจริต ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของปวงชนชาวไทย เนื่องจาก มาจากกระบวนการลงคะแนนเสียงที่ไม่ชอบ ขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภา และขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ระบุมาแล้วข้างต้น ถือว่า เป็นมติที่ชอบของรัฐสภาในกระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม
       
        ปัญหาที่ต้องพิจารณาประเด็นที่ 2 มีว่า การแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... มีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ผู้ร้องเสนอให้ศาลรัฐ ธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยนั้น มีเนื้อหาสาระสำคัญเป็นการแก้ไขพึงปฏิบัติของสมาชิกวุฒิสภา โดยเปลี่ยนแปลงแก้ไขสาระในหลายประเด็น จึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยว่า ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือให้บุคคลใดได้มาซึ่งอำนาจการปกครองของประเทศ โดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ เห็นว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 เป็นแม่แบบ โดยได้แก้ไขหลักการในเรื่องคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภาฉบับเดิมไว้หลายประการ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา เหมือนเช่นการใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540
       
        กล่าวคือ บัญญัติให้มีสมาชิกวุฒิสภาสรรหา มาเป็นองค์ประกอบร่วมกับสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน เพื่อให้โอกาสแก่ประชาชนทุกภาคส่วน ทุกสาขาอาชีพได้มีส่วนร่วมในการทำหน้าที่ของวุฒิสภาให้เกิดประโยชน์แก่ ประเทศชาติได้อย่างรอบคอบ ทั้งยังได้กำหนดคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภาให้เป็นอิสระจากการเมือง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เช่น ห้ามบุพการี คู่สมรส บุตรของผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เข้ามาเป็นสมาชิกวุฒิสภา และตลอดเวลาห้ามเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง และตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เป็นต้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 กำหนดให้รัฐสภาประกอบด้วย 2 สภา คือ วุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร ให้มีดุลยภาพระหว่างกัน โดยได้กำหนดบทบาทของสมาชิกวุฒิสภา ให้เป็นองค์กรตรวจทาน กลั่นกรองการทำงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และถ่วงดุลอำนาจต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาในการตรวจสอบถอดถอนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ ในกรณีที่ถูกกล่าวหาว่า มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ทั้งที่บัญญัติไว้ในมาตรา 270 เมื่อพิจารณาจากอำนาจหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาแล้ว จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้สมาชิกวุฒิสภา เป็นอิสระจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างแท้จริง จึงได้บัญญัติห้ามความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันดังกล่าว เพราะหากยอมให้สมาชิกวุฒิสภา หรือสภาผู้แทนราษฎร มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน ย่อมไม่อาจหวังได้ว่า จะมีการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา อันเป็นการขัดกับหลักการดุลและคานอำนาจซึ่งกันและกัน อันเป็นหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญนี้
       
        สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามคำร้องนี้ เป็นการแก้กลับไปสู่จุดบกพร่องที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต เป็นจุดบกพร่องที่ล่อแหลม เสี่ยงต่อการสูญสิ้นศรัทธา และสามัคคีของมวลหมู่มหาชนชาวไทย เป็นความพยายามนำประเทศชาติให้ถอยหลังเข้าคลอง ทำให้วุฒิสภากลับไปเป็นสภาญาติพี่น้อง สภาของครอบครัว และสภาผัวเมีย สูญเสียสถานะ และศักยภาพแห่งการเป็นสติปัญญาให้แก่สภาผู้แทนราษฎร กลายเป็นเพียงเสียงสะท้อนของมวลชนกลุ่มเดียวกันทำลายสารสำคัญของการมี 2 สภา นำพาไปสู่การผูกขาดอำนาจรัฐ ตัดการมีส่วนร่วมของปวงประชาหลากสาขา หลายอาชีพ เป็นการกระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันทรงมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข และเปิดช่องให้ผู้ร่วมกระทำการครั้งนี้ กลับมีโอกาสได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองด้วยวิธีการที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทาง ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากการออกเสียงแสดงประชามติของมหาชนชาวไทย
       
        นอกจากนี้ การแก้ไขที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ได้มาจากการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว อันมีที่มาเหมือนกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงย่อมเป็นเสมือนสภาฯ เดียวกัน ไม่เกิดเป็นความแตกต่าง และเป็นอิสระซึ่งกันและกันของทั้ง 2 สภาฯ เป็นการทำลายลักษณะ และสาระสำคัญของระบบ 2 สภาฯ สูญสิ้นไป การแก้ไขที่มา และคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภามีความเกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมือง หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ ย่อมทำให้หลักการตรวจสอบ และถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันของระบบ 2 สภาฯ ต้องสูญเสียไปอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ฝ่ายการเมืองสามารถควบคุมอำนาจเหนือรัฐสภาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ปราศจากการตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน อันเป็นการกระทบต่อการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเปิดทางให้ผู้เกี่ยวข้องกับการดำเนินการครั้งนี้ ได้อำนาจในการตอบแทนต่อประเทศด้วยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิธีที่บัญญัติไว้ ในหมวดนี้
       
        นอกจากนี้ เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 11 และมาตรา 11 /1 ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในเรื่องกระบวนการตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาที่จะบัญญัติขึ้นใหม่ โดบรวบรัดให้มีการประกาศใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว โดยไม่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 141 ที่จะต้องส่งร่างกฎหมายดังกล่าว ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตรวจสอบความชอบของรัฐธรรมนูญเสียก่อน ซึ่งขัดกับการถ่วงดุลและคานอำนาจ อันเป็นหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทำให้ฝ่ายการเมืองสามารถออกกฎหมายได้ตามอำเภอใจ โดยอาศัยเสียงข้างมากจากการตรวจสอบ
       
       อาศัยเหตุดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น จึงวินิจฉัยโดยมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ว่า การดำเนินการพิจารณาและล้มมติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของผู้ถูกร้องทั้งหมด ในคดีนี้ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบโดยกฎหมายรัฐธธรมนูญ โดยกฎหมายมาตรา 122 มาตรา 125 วรรค 1 และ วรรค 2 มาตรา 126 วรรค 3 มาตรา 291 และมาตรา 3 วรรค 2 และวินิจฉัยโดยมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ว่ามีเนื้อความเป็นสาระสำคัญขัดแย้งต่อหลักการพื้นฐานและเจตนารมณ์ของรัฐ ธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 อันเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกร้องได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศด้วยวิธีการ ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ฝ่าฝืนรัฐธธรมนูญมาตรา 68 วรรค 1
       
        ส่วนที่ผู้ร้องขอยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมืองเหล่านั้น เห็นว่ายังไม่เข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 68วรรค 3 และวรรค 4 จึงยกคำร้องในส่วนนี้
       
        นัดฟังคำวินิจฉัยของศาลวันนี้ ฝ่ายผู้ร้องมีนายสมชาย แสวงการ ผู้ร้องที่ 1 นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ผู้ร้องที่ 2 น.ส.รสนา โตสิตระกูล ผู้ร้องที่ 3 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ผู้ร้องที่ 4 มาศาล
       
        ฝ่ายผู้ถูกร้อง มีนายปฏิพล อากาศ ผู้แทนผู้ถูกร้องอีก 293 มาศาล ส่วนผู้ถูกร้องที่ 1 ถึงผู้ถูกร้อง 292 และผู้ถูกร้องที่ 294 - 312 ทราบนัดโดยชอบและมาศาล ศาลได้อ่านคำวินิจฉัย คู่กรณีที่มาศาล 2 คน แล้ว ถือว่าได้อ่านให้ผู้ถูกร้องที่ไม่มาศาลฟังโดยชอบแล้ว ให้คู่กรณีคัดค้านถ่ายสำเนาคำวินิฉัยได้เมื่อพ้นกำหนด 15 วัน นับจากวันที่ศาลอ่านคำวินิจฉัย


เผยเสียงข้างน้อยปล่อยผีแก้รัฐธรรมนูญ “ชัช-อุดมศักดิ์-เฉลิมพล-บุญส่ง”

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

เผยเสียงของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยประเด็นกระบวนการแก้ไข เพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ นึกแล้วต้องมี “ชัช ชลวร” พร้อมด้วย “อุดมศักดิ์-เฉลิมพล” ส่วน “บุญส่ง” เห็นแย้งเนื้อหาสาระสำคัญ เผยที่ไม่ยุบพรรคเพราะกระทำเข้าข่ายวรรคหนึ่งของมาตรา 687 แต่ยังเป็นอำนาจ ส.ส.-ส.ว.แก้ไขรัฐธรรมนูญได้
       
       วันนี้ (20 พ.ย.) ที่ศาลรัฐธรรมนูญ รายงานข่าวแจ้งว่าสำหรับเสียงของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยประเด็น กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของ ส.ว.ที่ศาลมีมติ 6 ต่อ 3 นั้น 3 เสียงข้างน้อย ประกอบด้วย นายชัช ชลวร นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี และนายเฉลิมพล เอกอุรุ ส่วนในประเด็นเนื้อหาสาระสำคัญของการแก้ไขที่ศาลมีมติ 5 ต่อ 4 ว่าขัดหรือแย้งต่อหลักการพื้นฐานและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ อันเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิ ได้เป็นไปตามวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้รัฐธรรมนูญนั้น 4 เสียงข้างน้อย ประกอบด้วย นายชัช นายอุดมศักดิ์ นายเฉลิมพล และนายบุญส่ง กุลบุปผา ส่วนเหตุที่ศาลไม่วินิจฉัยยุบพรรค เนื่องจากเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคสองบัญญัติว่าหากพรรคการเมืองกระทำการตามล้มล้างการปกครอง หรือกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศฯ ตามวรรคหนึ่ง จึงจะยุบพรรคการเมืองได้ แต่กรณีนี้คณะตุลาการฯยังเห็นว่าเป็นการกระทำของ ส.ส.และ ส.ว.ที่มีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น จึงยังไม่เข้าเงื่อนไขที่จะยุบพรรคการเมือง


“บรรเจิด” ชี้ร่าง กม.รธน.ตกทันที ยัน “ปู-312 ส.ส.-ส.ว.” ต้องรับผิดชอบ ถูกถอดถอน ฟ้องอาญา

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

คณบดีนิติศาสตร์ นิด้า ชี้คำวินิจฉัยศาล รธน.ทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.ตกไปทันที ระบุหากจะยกร่างแก้ไขฉบับใหม่ต้องไม่มีเนื้อหาซ้ำรอยที่ศาลฯวินิจฉัย ชี้นายกฯควรต้องรับผิดชอบในทางกฎหมาย ปธ.วุฒิฯ-ปธ.สภา-สมาชิกรัฐสภา 312 คน มีสิทธิถูกถอดถอน ฟ้องอาญา เชื่้อ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน จะเข้าข่ายเดียวกัน
       
       วันนี้ (20 พ.ย.) นายบรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า กล่าวถึงผลคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาว่า การที่ศาลฯมีคำวินิจฉัยว่า กระบวนการในการแก้ไข และเนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวตกไปโดยปริยาย ไม่สามารถที่สมาชิกรัฐสภาจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ หรือหากจะดำเนินการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ต้องไม่มีเนื้อหาสาระดังเช่นฉบับที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย และการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเช่นนี้ เห็นว่านายกรัฐมนตรีควรต้องรับผิดชอบในทางกฎหมายหรือไม่ เพราะเป็นผู้นำเอาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทูลเกล้าฯให้พระ มหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ส.ส.และ ส.ว.ที่แถลงไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ถือว่ากระทำขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 216 และมาตรา 270 ที่สามารถถูกถอดถอนได้ ขณะเดียวกันก็อาจเข้ามาตรา 123/1 ของ พ.ร.ป.ป.ป.ช.ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางเมืองสามารถวินิจฉัยได้ และยังเข้าข่ายผิดจริยธรรมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่สามารถยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบได้
       
       ส่วนที่ศาลฯวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 แต่กลับไม่สั่งยุบพรรคการเมืองนั้น ส่วนตัวเห็นว่าการจะยุบพรรคได้ ต้องเป็นกรณีที่พบว่าพรรคการเมืองนั้นทุจริตเลือกตั้ง มีนโยบายหรือการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐธรรมนูญ การที่ศาลมีคำวินิจฉัยคดีนี้ได้ถึงขนาดนี้ถือว่าสุดทางของศาลฯที่จะทำได้ แล้ว
       
       “ผมว่า พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน ก็จะเหมือนกัน แล้วยังการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 อีก ซึ่งกรณีปราสาทพระวิหาร คำพิพากษาของศาลโลกไทยยังไม่เสียดินแดน ตราบใดที่เรายังไม่ไปเจรจา เพราะการกั้นรั้วลวดหนามตามมติ ครม. 2505 เท่ากับว่ากัมพูชาได้ละทิ้งอำนาจอธิปไตยในพื้นที่นั้นแล้ว แต่ถ้าเราไปเจรจา มันจะเท่ากับเราสละสิทธิ์แล้วหลังศาลโลกมีคำพิพากษากัมพูชา บอกว่าจะไม่รีบเจรจา ก็ทำให้รู้สึกว่า หรือว่าเขารู้ว่าเรากำลังจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เลยจะรอให้การแก้ไขนี้สำเร็จก่อนหรือเปล่า 2-3 เรื่องนี้มันเกี่ยวพันกัน และทำให้ทั้งหมดทั้งมวลชี้ได้ว่ารัฐบาลและฝ่ายเสียงข้างมาก ไม่มีความชอบธรรมในการที่จะใช้อำนาจบริหารบ้านเมืองนี้อีกต่อไป


“รสนา” เสนอ ป.ป.ช.รับไม้ต่อฟัน 312 ส.ส.-ส.ว.ทำขัด รธน. บี้ “ปู” รับผิดชอบ รีบนำขึ้นทูลเกล้าฯ

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

“รสนา” เผยพอใจผลการตัดสินศาลรัฐธรรมนูญ เป็นบทเรียนเสียงข้างมากลากไปไม่ถูกต้อง แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและหลักนิติธรรม เสนอ ป.ป.ช.รับไม่ต่อฟัน 212 ส.ส.และ ส.ว.ตามคำร้องที่เคยเสนอไป ขณะเดียวกัน จี้ “นายกฯ ยิ่งลักษณ์” แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก เหตุเคยท้วงติงแล้วกระบวนการตรวจสอบยังไม่เสร็จ แต่รีบนำขึ้นทูลเกล้าฯ ให้ทรงลงพระปรมาภิไธย
       
       วันนี้ (20 พ.ย.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพมหานคร ผู้ยื่นคำร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว.ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 กล่าวหลังศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยว่าเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราดัง กล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรค 1 แต่ยังไม่เข้าเงื่อนไขที่จะยุบพรรคว่า คำวินิจฉัยเป็นไปตามที่พวกตนร้องไป เพื่อให้ร่างแก้ไขดังกล่าวเป็นโมฆะไม่ได้เรียกร้องเรื่องการยุบพรรค ซึ่งถือว่าคำวินิจฉัยของศาลที่ออกมาตนพอใจแล้ว และคิดว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต้องนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไปประกอบในการพิจารณากรณี ส.ว.ได้ยื่นเรื่องถอดถอน 310 ส.ส.เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.โดยมิชอบ
       
       สำหรับความรับผิดชอบของ ส.ส.และ ส.ว.ทั้ง 312 คนที่ร่วมลงชื่อและเห็นชอบผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้นั้น น.ส.รสนากล่าวว่า ที่ผ่านมานักการเมืองของไทยไม่เคยรับผิดชอบทางการเมืองจากการกระทำของตัวเอง ต้องใช้ข้อกฎหมายบังคับ
       
       อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ตนเห็นว่าผู้ที่ต้องแสดงความรับผิดชอบที่ชัดเจน คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เนื่องจากพวกตนได้ท้วงติงแล้วว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวยังไม่เรียบ ร้อย ยังไม่ได้รับรองอย่างถูกต้อง อยู่ระหว่างเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังนำขึ้นทูลเกล้าฯ ให้ทรงลงพระปรมาภิไธย ดังนั้นต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ด้วยการลาออกจากตำแหน่ง และให้ผู้อื่นที่มีความรู้ความสามารถขึ้นมาทำหน้าที่ ซึ่งในพรรคเพื่อไทยก็มีหลายคน เช่น พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี
       
       “เรื่องนี้จะเป็นบทเรียนสำหรับเสียงข้างมากในสภาว่า การมีเสียงข้างมากไม่ใช่ว่าจะทำได้ถูกต้องเสมอไป ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย และหลักนิติธรรม”


เปิดรายชื่อเสียงข้างน้อยมติศาลรธน.ปมแก้รธน.

เปิดรายชื่อเสียงข้างน้อยมติศาลรธน.6ต่อ3 ชี้ขาดปมแก้รธน.ที่มาส.ว.ขัดรธน.มาตรา68

รายงานข่าวแจ้งว่าสำหรับการเสียงของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยประเด็นกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่ศาลมีมติ 6 ต่อ 3 นั้น 3 เสียงข้างน้อย ประกอบด้วย นายชัช ชลวร นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี และนายเฉลิมพล เอกอุรุ ส่วนในประเด็นเนื้อหาสาระสำคัญของการแก้ไขที่ศาลมีมติ 5 ต่อ 4 ว่าขัดหรือแย้งต่อหลักการพื้นฐานและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ อันเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้รัฐธรรมนูญนั้น 4 เสียงข้างน้อยประกอบด้วย นายชัช นายอุดมศักดิ์ นายเฉลิมพล และนายบุญส่ง กุลบุปผา

ส่วนเหตุที่ศาลไม่วินิจฉัยยุบพรรค เนื่องจากเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคสองบัญญัติว่าหากพรรคการเมืองกระทำการตามล้มล้างการปกครอง หรือกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศฯตามวรรคหนึ่ง จึงจะยุบพรรคการเมืองได้ แต่ กรณีนี้คณะตุลาการยังเห็นว่าเป็นการกระทำของส.ส.และส.ว. ที่มีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น จึงยังไม่เข้าเงื่อนไขที่จะยุบพรรคการเมือง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มติศาลรธน. แก้รธน. ที่มาส.ว. การกระทำโดยมิชอบ ยกฟ้องยุบพรรค ไม่เข้าเงื่อนไข

view