สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไอเอ็มเอฟของเศรษฐกิจไทย (1)

ไอเอ็มเอฟของเศรษฐกิจไทย (1)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ในสัปดาห์ที่แล้วมีการลงข่าวเกี่ยวกับการประเมินเศรษฐกิจไทยโดยไอเอ็มเอฟ ซึ่งเน้นเพียง 2 ประเด็นหลัก

คือการที่ไอเอ็มเอฟแนะนำให้ยกเลิกโครงการจำนำข้าวและการคาดการณ์ของไอเอ็มเอฟซึ่งมองว่ารัฐบาลไทยจะขาดดุลงบประมาณสูงกว่าการคาดการณ์ของรัฐบาลเอง ซึ่งเป็นข้อมูลที่ถูกต้องแต่ผมเห็นว่ายังมีประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการมองภาพเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีทั้งส่วนที่ผมเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับไอเอ็มเอฟ

ภาพรวมและแนวโน้มเศรษฐกิจไทย

ไอเอ็มเอฟมองคล้ายกับทางการไทยว่าเศรษฐกิจไทยถึงจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาส 2 ของปีนี้และจะฟื้นตัวในครึ่งหลังของปี แต่จะเป็นการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตรงนี้ต้องขอให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่าคณะผู้วิจัยของไอเอ็มเอฟนั้นเดินทางมาเก็บข้อมูลและพูดคุยกับฝ่ายไทยในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน (ดังนั้นเขาจึงรับรู้ข้อมูลไม่เต็มครึ่งแรกของปีนี้) แต่กว่ารายงานนี้จะเสร็จสมบูรณ์และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการไอเอ็มเอฟก็เลยมาถึงเดือนพฤศจิกายน แต่ก็ยังมีข้อมูลและการวิเคราะห์ที่สมควรที่จะศึกษาในรายละเอียด

ไอเอ็มเอฟยอมรับว่าการฟื้นตัวที่คาดการณ์เอาไว้นั้นตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่ายังมีความเสี่ยงบางประการที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่ำกว่าเป้าหมาย (downside risk) 4 ประการคือ

1. การชะลอตัวลงของประเทศตลาดเกิดใหม่ต่างๆ อาจรุนแรงมากกว่าที่คาดการณ์เอาไว้

2. ความผันผวนของเงินทุนเป็นผลมาจากการคาดการณ์การลดทอนคิวอีของสหรัฐอันจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น อัตราแลกเปลี่ยนและดอกเบี้ยระยะยาว

3. การลดทอนนโยบายกระตุ้นการบริโภคของรัฐบาลไทย (เช่นการยุติมาตรการรถยนต์คันแรก) อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการบริโภคมากกว่าที่คาดการณ์เอาไว้เดิม

4. การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลอาจล่าช้ากว่ากำหนด

ผมคิดว่าประเด็นที่น่าสนใจคือไอเอ็มเอฟเขียนรายงานออกมาในเชิงบวกว่าเศรษฐกิจกำลังจะฟื้นตัว แต่ก็บอกกล่าวถึงความเสี่ยงดังที่กล่าวข้างต้น แต่สรุปว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เพียง 3.1% ในปีนี้ ซึ่งเป็นการคาดการณ์ที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ของทางการไทยอย่างมาก (ซึ่งขณะนั้นยังคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 4.5-5.0%) และแม้จะมีการปรับลดลงแล้วในเดือนตุลาคม ธนาคารแห่งประเทศก็ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.7% ในปีนี้

นอกจากจะประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เพียง 3.1% ในปีนี้แล้ว ไอเอ็มเอฟก็ยอมรับว่าเงินเฟ้อของไทยปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่องและเงินเฟ้อไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับประเทศไทยเพราะเงินเฟ้อต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบายอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับผมนั้นหากสภาวการณ์เป็นเช่นนี้น่าสรุปว่าปัญหาหลักอยู่ที่อุปสงค์ (กล่าวคือกำลังซื้อไม่แข็งแรงมากนัก) แต่ไอเอ็มเอฟกล่าวถึงปัญหาอุปทาน (supply) คือกล่าวว่าไทยมีปัญหาขาดแคลนแรงงานมีฝีมือและข้อจำกัดของโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถขยายตัวได้อย่างเต็มที่ ซึ่งโดยปกติแล้วหากปัญหาอยู่ที่อุปทานเราก็น่าจะเห็นเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นหรืออย่างน้อยก็ไม่ปรับลดลงจาก 3% ตอนต้นปีมาเหลือเพียง 1.5% ในขณะนี้ แต่หากจะมองว่าเป็นเพราะราคาอาหารและพลังงานของโลกมีแนวโน้มลดลง ทำให้ราคาในไทยลดลงด้วย ก็ต้องปรับเปลี่ยนการวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยและยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจเปิด ราคาสินค้าของไทยถูกกำหนดมาจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก กล่าวคือเรากำหนดเงินเฟ้อของเราเองไม่ได้ยกเว้นโดยการปรับอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งก็จะไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่จะใช้นโยบายการเงินเพื่อกำหนดระดับเงินเฟ้อที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย

ข้อเสนอแนะของไอเอ็มเอฟ

จะเห็นได้ว่าไอเอ็มเอฟมองว่าเศรษฐกิจไทยกำลังจะฟื้นตัวแต่ก็ย้ำว่ามีปัจจัยหลายประการ (โดยเฉพาะปัจจัยภายนอก) ที่จะทำให้การฟื้นตัวต่ำกว่าคาดการณ์ (downside risk) แต่กลับมีข้อเสนอแนะดังนี้

1. การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลังในปี 2012-2013 นั้นถือว่าเป็นประโยชน์ (helpful) แต่ควรจะลดทอนลงเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างเต็มที่แล้ว (recovery is firmly in place) ทั้งนี้เพื่อให้ภาคการคลังมีศักยภาพ (รายได้) เหลือที่จะนำไปใช้ในการลงทุนที่มีความสำคัญและเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางการคลัง ถามว่าข้อเสนอแนะดังกล่าวถูกต้องและมีเหตุผลหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าใช่ เพราะหากเศรษฐกิจฟื้นตัวเต็มที่ก็สมควรที่จะลดการกระตุ้นด้วยนโยบายการคลัง แต่ประเด็นคือเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงอย่างมากในไตรมาส 2 และเกือบจะไม่มีวี่แววที่จะฟื้นตัวในไตรมาส 3 นอกจากนั้นไอเอ็มเอฟก็ยังมองว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบเศรษฐกิจอีกหลายประการ แต่กลับแนะนำให้คิดถึงการรัดเข็มขัดทางการคลัง เตรียม “เก็บกระสุน” เอาไว้ใช้ในอนาคต ข้อเสนอแนะเช่นนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับข้อเสนอแนะของไอเอ็มเอฟกับมาตรการคิวอีของสหรัฐ กล่าวคือไอเอ็มเอฟบอกสหรัฐให้คงมาตรการคิวอีเอาไว้นานๆ อย่าเพิ่งเริ่มลดทอนจนมั่นใจว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างชัดเจนจึงค่อยลดทอนอย่างค่อยเป็นค่อยไป

2. ไอเอ็มเอฟมองว่านโยบายการเงินปัจจุบันมีการผ่อนปรน (accommodative) เหมาะสมกับสภาวการณ์แล้ว แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยควรติดตามดูอุปสงค์และค่าจ้างอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ เมื่อเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างหนักแน่น (entrenched) หรือหากเงินเฟ้อเริ่มปรับตัวขึ้น นโยบายการเงินควรจะปรับเปลี่ยนไปสู่สภาวะปกติ (normalize) กล่าวคือธนาคารแห่งประเทศไทยควรจะปรับดอกเบี้ยขึ้นนั่นเอง

ข้อเสนอแนะดังกล่าวถูกต้องตามเหตุผลที่อ้าง กล่าวคือหากเงินเฟ้อปรับขึ้นก็ควรปรับดอกเบี้ยขึ้น แต่ข้อเท็จจริงคือเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 3% ในต้นปีเหลือ 1.5% ในเดือนตุลาคมเปรียบเทียบกับดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.75% ตอนต้นปีและ 2.5% ในขณะนี้แปลว่าดอกเบี้ยจริง (ดอกเบี้ยลบเงินเฟ้อ) เพิ่มขึ้นจาก -0.25% ตอนต้นปีมาเป็น 1.0% ในขณะนี้ กล่าวคือในความเป็นจริงนั้นนโยบายการเงินนั้นตึงตัวขึ้น ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจก็ฟื้นตัวล่าช้ากว่าคาด แต่ไอเอ็มเอฟกลับให้คำแนะนำเสมือนว่าไทยกำลังมีความเสี่ยงจะการปรับเพิ่มของเงินเฟ้อจึงต้องเตรียมตั้งท่าที่จะปรับดอกเบี้ยขึ้น

ไอเอ็มเอฟเองก็บอกว่าเงินเฟ้อพื้นฐานนั้นอยู่ภายในเกณฑ์ (within target band) ปัจจุบันเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงไปเหลือเพียง 0.6% นั้นเกือบจะตกเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่แล้ว ในส่วนของค่าจ้างที่ไอเอ็มเอฟให้ติดตามดูอย่างใกล้ชิดนั้น ไอเอ็มเอฟก็ยอมรับว่าแม้จะได้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2012 แต่ปรากฏว่าเงินเฟ้อพื้นฐานกลับปรับลดลงมาโดยตลอดจาก 2.75% ในต้นปี 2012 มาต่ำกว่า 1% ในเดือนมิถุนายน 2013 (ปัจจุบันเหลือเพียง 0.6%) ผมจึงมองไม่เห็นว่าทำไมจึงต้องเสนอแนะให้เตรียมตัวปรับดอกเบี้ยขึ้นในเมื่อเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ดีฝ่ายไทยแสดงความเห็นว่าจะไม่ปรับนโยบายการเงินให้ตึงตัวหรือผ่อนปรนมากขึ้นในระยะสั้น โดยจะกำหนดนโยบายการเงินตามข้อมูลและตัวเลขเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งผมตีความว่าฝ่ายไทยจะยังไม่พยายามคาดการณ์ว่าในอนาคตจะทำอย่างไร แต่จะรอดูสถานการณ์ต่อไป

ในตอนต่อไปผมจะกล่าวถึงการประเมินเศรษฐกิจไทยโดยไอเอ็มเอฟในส่วนอื่นๆ เช่น ระบบสถาบันการเงินและการบริหารจัดการเกี่ยวกับการไหลเข้า-ออกของเงินทุน ครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ไอเอ็มเอฟของเศรษฐกิจไทย (1)

view