สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แจเน็ต เยลเลน.. จะบริหารเศรษฐกิจอย่างไร

แจเน็ต เยลเลน.. จะบริหารเศรษฐกิจอย่างไร

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




น่าจะเป็นที่แน่นอนแล้วว่า ประธานธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดคนต่อไป ได้แก่ ดร. แจเน็ต เยลเลน

ผมจำได้ว่าเคยได้เห็นตัวจริงของเธอครั้งแรกเมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้ว โดยผมเข้าไปฟังนางเยลเลนกล่าวปาฐกถาในงานสัมมนาทางวิชาการในสหรัฐอเมริกา วินาทีที่เธอกล่าวจบ ผมรู้ทันทีว่าแบ็คกราวนด์ความคิดของเธอในการมองและวิเคราะห์เศรษฐกิจและการเงิน นำมาจากวิชาทางวิศวกรรมศาสตร์ที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ ที่เรียกกันว่า “Optimal Control”

ในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การเงินยุคใหม่นั้น การคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่นั้นตั้งแต่ปัจจุบันไปจนกระทั่งอนาคต สามารถวิเคราะห์ได้จากการให้เฟดทดลองดูว่าหากกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วยค่าต่างๆ และให้งบดุลของเฟดที่มีขนาดต่างๆ กันแล้วใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ลองคำนวณค่าตัวแปรทางเศรษฐกิจมหภาคตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงอนาคต โดยเฟดจะเลือกนโยบายการเงิน (อัตราดอกเบี้ยนโยบายและขนาดงบดุลของเฟด) ที่เหมาะสมซึ่งจะทำให้อัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อแตกต่างจากเป้าหมายของตนเองให้น้อยที่สุด รวมเรียกวิธีการดังกล่าวว่า “Optimal Control Method”

ที่น่าสนใจ คือ ด้วยวิธีการดังกล่าว ผลลัพธ์ของอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงอนาคตที่มีความเหมาะสมนั้น ยังต้องอยู่ในระดับต่ำมากจนกระทั่งปี 2017 ซึ่งถือว่ายาวนานกว่าความคิดเห็นของบรรดาสมาชิกธนาคารกลางสหรัฐทั้งหมด

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ดูจะเป็นข้อจำกัดของแนวทางการวิเคราะห์ดังกล่าว ได้แก่ สมมติฐานที่ว่าความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางจะมีอยู่สูงโดยตลอด ที่สำคัญ การวิเคราะห์ข้างต้นยังอยู่ภายใต้สมมติฐานที่ว่าอัตราเงินเฟ้อของเศรษฐกิจอยู่ภายใต้กรอบร้อยละ 2 ไม่ว่าเฟดจะผ่อนคลายนโยบายการเงินหรือคงอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากด้วยระยะเวลายาวนานมากเพียงใดก็ตามเพื่อให้เป็นผลดีต่อผลผลิตและการว่างงานเพียงใดก็ตาม

ปัญหา คือ ในโลกแห่งความเป็นจริง หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ แม้แต่นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรที่เชี่ยวชาญวิธี Optimal Control เอง ยังตั้งข้อสงสัยในความเหมาะสมสำหรับการนำเอาวิธีดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับวิชาเศรษฐศาสตร์ อาทิ การวิเคราะห์ดังกล่าวภายใต้สมมติฐานที่ไม่คิดว่าเฟดจะมีโอกาสสูญเสียความน่าเชื่อถือจากการบริหาร จัดการเงินเฟ้อ จากการกดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำเป็นระยะเวลานาน ย่อมมีโอกาสให้ผลการวิเคราะห์เศรษฐกิจที่ได้มีความแตกต่างจากความเป็นจริงเป็นอันมาก

ล่าสุด ได้มีการประชุมทางวิชาการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF โดยมีบทความทางวิชาการจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดที่กล่าวถึงข้อจำกัดดังกล่าว ที่ผมขอเรียกรวมๆ ว่าเป็นข้อจำกัดจากความไม่แน่นอนของแบบจำลองที่ใช้ในการวิเคราะห์ภาพเศรษฐกิจของสหรัฐ

เริ่มจากบทความของ ดร. จอห์น วิลเลียม ประธานเฟด สาขาซานฟรานซิสโก ได้กล่าวว่าความไม่แน่นอนของแบบจำลองได้ทำให้การวิเคราะห์ของเฟดในปัจจุบันผิดเพี้ยนไป ส่งผลให้นโยบายเฟดที่น่าจะมีการปรับปรุง มีดังนี้

ประการแรก เฟดควรจะเลือกใช้เครื่องมือของนโยบายการเงินที่ให้ผลลัพธ์ที่ให้ผลแน่นอน ต่อตัวแปรทางเศรษฐกิจ กล่าวโดยง่ายได้ว่า หากเปรียบเทียบระหว่างการดำรงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำกับการขยายงบดุลของเฟด จะพบว่า คณะกรรมการเฟดส่วนใหญ่เห็นว่าเครื่องมืออัตราดอกเบี้ยให้ผลกระทบที่ให้ผลแน่นอนต่อตัวแปรทาง เศรษฐกิจกว่า ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เฟดรีบจะลดขนาด QE และขยายช่วงเวลาการคงอัตราดอกเบี้ยต่ำออกไป

ประการที่สอง จากการที่มีความไม่แน่นอนดังกล่าวสำหรับการวิเคราะห์ของเฟด ส่งผลให้ต้องมีความระมัดระวังในการใช้เครื่องมือต่างๆ เนื่องจากหากเกิดความผิดพลาดขึ้นมาแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะสูงกว่าที่คาดเอาไว้ เนื่องจากมีความไม่แน่นอนของกรอบการวิเคราะห์นั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงนี้ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่เศรษฐกิจสหรัฐติดอยู่ในสภาวะที่เงินท่วมระบบ การที่จะใช้ตัวอย่างในอดีตมาพิจารณาประกอบการวิเคราะห์นั้นไม่สามารถทำได้ ดังนั้น เฟดจึงต้องมีความระมัดระวังในการใช้นโยบายการเงินมาก อาทิ การปรับอัตราดอกเบี้ยก็ต้องทำให้มีขนาดที่เล็กกว่าที่เคยวิเคราะห์ไว้ในทุกครั้งที่ผ่านมาด้วย

ท้ายสุด ในมุมของการคาดการณ์แนวโน้มของนโยบายการเงินของเฟดต่อการลงทุน ในยุคของนางเยลเลนนั้น ต้องคำนึงถึงปัจจัยต่อไปนี้

หนึ่ง นโยบายการเงินสหรัฐมีแนวโน้มจะผ่อนคลายลงกว่ายุคของนายเบอร์นันเก้อีก โดยการลดขนาด QE นั้น เรียกได้ว่าน่าจะเกิดขึ้นแน่นอนในช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่ ดร. เบน เบอร์นันเก้ เคยระบุไว้ คำถามที่คงต้องหาคำตอบในตอนนี้ คืออัตราดอกเบี้ยระดับต่ำของสหรัฐในตอนนี้จะเริ่มขยับสูงขึ้นในช่วงเวลาใด และเฟดจะใช้สัญญาณใดให้ตลาดรับรู้ว่าใกล้จะเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว

สอง การดำรงอัตราดอกเบี้ยต่ำนั้น น่าจะกินเวลายาวนานกว่าที่หลายคนคาดกันไว้ โดยที่แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อหรืออัตราการว่างงานจะเกินเป้าหมายที่วางไว้ก็ตาม เพื่อชดเชยความไม่แน่นอนของการวิเคราะห์ของเฟดดังกล่าว

สาม การคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายไว้ยาวนานกว่าที่คาดกันไว้ ยังให้ผลดีต่อการเพิ่มอุปสงค์ซึ่งจะไปเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยอัตโนมัติ อันเป็นแนวคิดที่หลายฝ่ายเชื่อกันมากขึ้นๆ ในขณะนี้

อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่านางเยลเลนมีกึ๋นที่ถือได้ว่าไม่ธรรมดา เธอย้ำอยู่เสมอว่า แม้เธอจะเชื่อในแนวคิด “Optimal Control” ทว่าเธอก็ไม่เชื่อแบบหัวปักหัวปำครับ

หมายเหตุ : หนังสือด้านการลงทุนด้วยข้อมูลเชิงมหภาค (Macro Investing) เล่มล่าสุดของผู้เขียน “เล่นหุ้นต้องใช้ใจ... รวยได้ไม่รู้จบ” วางจำหน่ายทั่วประเทศแล้ว และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประเด็นการลงทุน ได้ที่ www.facebook.com/MacroView และ LINE ID : MacroView ครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แจเน็ต เยลเลน บริหารเศรษฐกิจ

view