สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไอเอ็มเอฟประเมินเศรษฐกิจไทย (2)

ไอเอ็มเอฟประเมินเศรษฐกิจไทย (2)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ครั้งที่แล้วผมมีข้อสังเกตว่าแม้ไอเอ็มเอฟจะประเมินเศรษฐกิจไทยโดยใช้ตัวเลขเศรษฐกิจไม่ถึงครึ่งแรกของปี แต่ก็คาดการณ์ค่อนข้างแม่นยำ

ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเพียง 3.1% ในปีนี้ ซึ่งเมื่อตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ถูกประกาศออกมาเมื่อ 18 พ.ย. สภาพัฒน์ก็ต้องยอมปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจลง กล่าวคือประเมินว่าจีดีพีไทยจะขยายตัวเพียง 3.0% ในปีนี้ ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจมาโดยตลอดและในระยะหลังนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่าความเสี่ยงสำหรับเศรษฐกิจไทยนั้นมาจากปัจจัยภายใน (การเมือง) มากกว่าปัจจัยภายนอกดังที่เคยประเมินเอาไว้ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีนี้ สำหรับภัทรฯ นั้นเราก็ได้ปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจลงเช่นกัน กล่าวคือเราประเมินว่าจีดีพีจะขยายตัวเพียง 2.7% ในปีนี้และขยายตัว 4.3% ในปีหน้า

ประเด็นที่สำคัญคือ ความเป็นห่วงว่าการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะต่อเนื่องไปกระทบต่อเศรษฐกิจในปีหน้า เห็นได้จากการปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ควบคู่ไปกับการคงการคาดการณ์การขยายตัวในปีหน้าหรือ การปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวในปีหน้าลงเหลือต่ำกว่า 5% ซึ่งผิดปกติ เพราะโดยทั่วไปแล้วหากจีดีพีปีนี้โตน้อยลงก็มักจะมองกันว่าฐานการคำนวณการขยายตัวในปีหน้าต่ำลง ทำให้จีดีพีในปีหน้าขยายตัวได้ดีขึ้น แต่ในปีนี้หลายฝ่าย (รวมทั้งภัทรฯ) มีความกังวลว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะเริ่มต้นด้วยความเปราะบางและมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งแตกต่างจากต้นปีนี้ซึ่งเกือบทุกฝ่ายมองกันไปในทางเดียวกันว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 5% หรือมากกว่านั้น

ในขณะเดียวกันก็คาดการณ์กันว่าราคาหุ้นจะปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์กันว่าจะได้เห็นดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้นจาก 1410 จุดตอนต้นปีมาที่ 1650-1700 จุดตอนปลายปีนี้ แต่มาถึงตรงนี้ก็คงจะต้องทำใจแล้วว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ตอนต้นปีกับปลายปีคงจะไม่แตกต่างกันมากนัก ทำให้ผมตั้งข้อสังเกตว่าทำไมไอเอ็มเอฟจึงเสนอแนะให้ทางการไทยเตรียมตัวปรับดอกเบี้ย (stand ready to normalize interest rates) และในขณะเดียวกันก็เสนอแนะให้หาทางรัดเข็มขัดทางการคลังเพื่อ “เก็บกระสุน” เอาไว้ใช้ในคราวจำเป็น เพราะดูเสมือนว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะรองรับนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ตึงตัวขึ้น ซึ่งในช่วงหลังนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ส่งสัญญาณชัดเจนมากขึ้นว่าไม่ได้มีแนวคิดที่จะปรับดอกเบี้ยขึ้น (แต่ก็ไม่ได้บอกว่าพร้อมจะปรับดอกเบี้ยลงแต่อย่างใด)

อย่างไรก็ตาม ผมก็เห็นด้วยกับไอเอ็มเอฟ ในหลายเรื่องซึ่งจะขอสรุปหัวข้อหลักๆ ดังนี้

1. สถานะการคลัง : ไอเอ็มเอฟประเมินว่ารัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นข้อสรุปที่แย้งกับข้อสรุปของรัฐบาลว่าการขาดดุลงบประมาณจะลดลง (และงบประมาณจะสมดุลในปี 2017) โดยรัฐบาลให้เหตุผลว่าจะลดรายจ่าย เพิ่มภาษีสรรพสามิต (สินค้าฟุ่มเฟือยและพลังงาน) และจะขยายฐานภาษีโดยการเก็บภาษีอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งผมเห็นว่าพูดง่ายแต่ทำยาก ไอเอ็มเอฟประเมินว่าหนี้สาธารณะจะปรับสูงขึ้นถึง 53% ของจีดีพีในปี 2018 โดยการขาดดุลของรัฐบาลจะปรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะการลดภาษีรายได้นิติบุคคล นอกจากนั้นไอเอ็มเอฟก็ยังคำนวณการใช้จ่ายนอกงบประมาณของรัฐบาล ทำให้ประเมินว่ารัฐบาลจะขาดดุลเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการลงทุนโครงการ 2 ล้านล้านและโครงการบริหารจัดการน้ำ 350,000 ล้าน นอกจากนั้น ไอเอ็มเอฟก็ยังเสนอแนะให้ยกเลิกมาตรการจำนำข้าวและการอุดหนุนภาคพลังงานโดยให้ปรับเปลี่ยนไปใช้มาตรการที่ให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเฉพาะเจาะจงแทน

ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะตรงนี้ของไอเอ็มเอฟ เพราะภาคการเมืองมักจะนึกว่าการแทรกแซงกลไกตลาดเสรีและบิดเบือนราคาเป็นเรื่องที่ดี เช่น กรณีน้ำมันดีเซล ก๊าซธรรมชาติและแอลพีจีราคาแพงก็ไปอุดหนุนทำให้ราคาถูก ผลคือคนไทยใช้พลังงานมากเกินไป ขณะที่อีกด้านหนึ่งคือข้าวราคาถูกรัฐบาลก็ไปกำหนดราคาสูงกว่าราคาตลาดมาก ทำให้มีการผลิตข้าวมากเกินไปแต่ขายไม่ได้ ทำให้มีสต็อกข้าวเพิ่มขึ้นและเป็นภาระต่อรัฐบาลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กล่าวโดยสรุปคือการแทรกแซงกลไกตลาดทำให้การจัดสรรทรัพยากรของไทยบิดเบี้ยว ขาดประสิทธิภาพ ซึ่งน่าจะมีส่วนทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าที่ควรจะเป็น

2. การจัดการกับการไหลเข้า-ออกของเงินทุน ไอเอ็มเอฟมองว่าการไหลเวียนโดยเสรีของเงินทุนนั้นเป็นประโยชน์กับไทยเพราะทำให้ต้นทุนการเงินลดลง แต่ทางการไทยแสดงความเป็นห่วงว่าการไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้นทำให้เงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วและเกินปัจจัยพื้นฐานในต้นปีนี้ โดยประกาศให้สาธารณชนทราบว่าไทยเตรียมมาตรการควบคุมการไหลเข้าของเงินทุนเอาไว้แล้ว ในขณะที่ไอเอ็มเอฟแสดงความเห็นว่าอยากให้มาตรการควบคุมเงินทุนเป็นมาตรการขั้นสุดท้าย โดยลำดับมาตรการดังนี้

- ปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นกลไกปรับตัว

- อาจมีการแทรกแซงค่าเงินได้บ้างเพื่อควบคุมมิให้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนเกินปัจจัยพื้นฐาน

- จากนั้นอาจพิจารณาปรับดอกเบี้ยโดยต้องให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจด้วย (ตรงนี้ผมเห็นว่าขัดกับนโยบายการเงินแบบ inflation targeting ที่ธปท.ใช้อยู่)

- ใช้มาตรการควบคุมการปล่อยกู้ของสถาบันการเงิน (macro-prudential policies) จะได้ลดการนำเงินทุนเข้าจากต่างประเทศ มาตรการเช่นนี้ฝ่ายไทยก็ยังไม่ได้นำออกมาใช้มากนัก เพียงแต่มีการกล่าวตักเตือนมากกว่า

- หากใช้มาตรการข้างต้นไปทั้งหมดแล้วเงินทุนก็ยังไหลเข้าและค่าเงินแข็งค่าเกินปัจจัยพื้นฐาน จึงควรพิจารณาใช้มาตรการจำกัดการไหลเข้าของเงินทุน ทั้งนี้โดยควรใช้มาตรการจากเบาไปหนักและควรสื่อสารให้ตลาดได้รับรู้ทิศทางของนโยบายอย่างชัดเจน

3. ความมั่นคงของภาคการเงิน (Financial Sector Resilience) ผมคิดว่าการประเมินเศรษฐกิจไทยของไอเอ็มเอฟรอบนี้มีความแตกต่างจากครั้งก่อนๆ ในการให้ความสำคัญกับการประเมินความมั่นคงของภาคการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโยงไปถึงการประเมินธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) และสหกรณ์ออมทรัพย์ (saving cooperatives) ซึ่งขยายตัวอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กล่าวคือการปล่อยสินเชื่อของ SFIs นั้นเพิ่มขึ้นจาก 18% ของสินเชื่อทั้งหมดในปี 2003 มาเป็น 27% ในปี 2012 ทั้งนี้ ได้วิเคราะห์ส่วนนี้รวมทั้งสิ้น 4 หน้า (ในขณะที่เรื่องข้าวที่ถูกนำมาลงข่าวกันอย่างแพร่หลายนั้น ไอเอ็มเอฟกล่าวถึงเพียง 2-3 ย่อหน้า) ไอเอ็มเอฟตั้งหัวข้อว่า “SFIs could be a source of contingent fiscal liability and financial risk” หรือสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (ของรัฐ) อาจเป็นภาระทางการคลังที่อยู่นอกงบประมาณและเป็นความเสี่ยงของระบบการเงิน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อีกคือ

- การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของหนี้สินของภาคครัวเรือนจาก 63% ของจีดีพีในปี 2010 มาเป็น 78% ของจีดีพีในปี 2012

- การขยายตัวของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (สหกรณ์ออมทรัพย์) ที่มีสินทรัพย์มูลค่าเท่ากับ 15% ของจีดีพี และสถาบันการเงินดังกล่าวมีความเชื่อมโยงทางการเงินกับสถาบันการเงินประเภทอื่นเพิ่มมากขึ้นผ่านตลาดกู้ยืมเงินระหว่างธนาคารและได้มีการปล่อยกู้ซึ่งกันและกัน ตลอดจนการลงทุนในสถาบันการเงินอื่นๆ

ข้อสรุปหลักคือ ควรมีการกำกับดูแล SFIs และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารที่เข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเอามาตรฐานการตั้งสำรองและเงินทุนที่ใช้กับธนาคารพาณิชย์มาใช้กับ SFIs ในที่สุด


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ไอเอ็มเอฟ ประเมินเศรษฐกิจไทย

view