สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ธรรมชาติกับตลาดทุน (จบ) : ต้นทุนของการนิ่งดูดาย

ธรรมชาติกับตลาดทุน (จบ) : ต้นทุนของการนิ่งดูดาย

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ซีรีส์ย่อย “ธรรมชาติกับตลาดทุน” ดำเนินมาสามตอนแล้ว ตอนแรกว่าด้วยการสำรวจวงการประเมิน “มูลค่าของธรรมชาติ” ซึ่งเติบโตอย่างน่าตื่นเต้น

ส่งผลต่อให้รัฐและเอกชนตัดสินใจอย่างรัดกุม มองเห็นผลกระทบระยะยาวมากกว่าเดิม ต่อมาผู้เขียนยกตัวอย่างรูปธรรมของการนำผลการประเมินมูลค่าของธรรมชาติมาใช้ ในตอน สาธารณูปโภค “เขียว” vs. “เทา”

ตอนที่แล้วผู้เขียนพูดถึง “ฟองสบู่คาร์บอน” (carbon bubble) ซึ่งนักวิจัยหลายคน รวมทั้ง อัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ นักรณรงค์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศชื่อดัง ออกมาเตือนว่าอาจเป็นฟองสบู่ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติสำรองราวร้อยละ 60-80 ของปริมาณสำรองทั้งหมดของบริษัทจดทะเบียนทั่วโลก “ขุดขึ้นมาเผาผลาญไม่ได้” ถ้าหากเราจะมีโอกาสยับยั้งภาวะโลกร้อน ไม่ให้อุณหภูมิสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส

แน่นอน สินทรัพย์อะไรก็ตามในบัญชีจะเป็น “สินทรัพย์” ที่แท้จริงก็ต่อเมื่อบริษัทเชื่อมั่นว่ามีโอกาสสร้างรายได้จากมันในอนาคต ถ้าหากบริษัทขุดแหล่งกำเนิดคาร์บอนมาใช้ไม่ได้ ก็แปลว่ามันเป็น “หนี้สิน” ไม่ใช่ “สินทรัพย์” - หนี้ดอกเบี้ยแพงที่ต้องจ่ายคืนให้กับธรรมชาติ

คำถามอยู่ที่ว่า เมื่อไรนักลงทุนจะมองเห็นว่า “ความเสี่ยง” ข้อนี้สูงเสียจนตัดสินใจขายหุ้นทิ้งหรือเรียกร้องให้บริษัทเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ ภาวะ “สายตาสั้น” อันเป็นธรรมชาติของตลาดทุนจะฉุดรั้งการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ-ธุรกิจที่ยั่งยืน-เศรษฐกิจสีเขียว ไปอีกนานเพียงใด

คำถามข้อนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่เราต้องหาคำตอบไปอีกนาน และถามคำถามอย่างไม่หยุดยั้ง แต่วันนี้ผู้เขียนคิดว่าถึงเวลาจบซีรีส์ย่อยนี้ชั่วคราว ด้วยการพูดถึง “ต้นทุน” ของการนิ่งดูดาย

หากธรรมชาติมี “มูลค่า” ซึ่งเราต้องคิดคำนวณอย่างรัดกุมขึ้นเรื่อยๆ การทำลายธรรมชาติอย่างไม่บันยะบันยัง และการนิ่งดูดายปล่อยให้ธรรมชาติถูกทำลาย ก็ย่อมมี “ต้นทุน” ต่อเศรษฐกิจและสังคมเช่นกัน

ล่วงถึงกลางเดือนพฤศจิกายน 2013 คงไม่มีตัวอย่างใดดีกว่าความเสียหายจากพายุไห่เยี่ยน พายุที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งพัดเข้าถล่มประเทศฟิลิปปินส์อย่างย่อยยับ ด้วยความเร็วลมถึง 275 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุหมุน (storm surge) สูงกว่า 20 ฟุต นอกจากจะทำให้คนล้มตายกว่า 4,000 คน สูญหายอีก 1,600 คน และบาดเจ็บกว่า 18,000 คนแล้ว พายุลูกนี้ยังก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่าร้อยละ 8-10 ของผลผลิตประชาชาติในบริเวณที่ถูกถล่ม ตามการคาดการณ์ของ ซีซาร์ พูริสมา รัฐมนตรีคลังฟิลิปปินส์ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่าสี่แสนล้านบาท

เช่นเดียวกับภัยธรรมชาติจำนวนนับไม่ถ้วน พายุไห่เยี่ยนส่งผลกระทบต่อคนจนมากกว่าคนรวยเหลือคณานับ ชาวนาในจังหวัดเลย์เต จังหวัดที่ได้รับความเสียหายหนักที่สุด ถูกพายุถล่มก่อนที่จะได้เก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวและน้ำตาล นอกจากจะสูญเสียชีวิต ที่พักอาศัยและทรัพย์สินแล้วยังต้องสิ้นเนื้อประดาตัว

ในที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ณ กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ นาเดเรฟ ซาโน นักวิทยาศาสตร์และหัวหน้าคณะผู้แทนฟิลิปปินส์ ซึ่งออกเดินทางไปร่วมประชุมไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่พายุไห่เยี่ยนจะถล่ม กล่าวคำวิงวอนทั้งน้ำตาต่อผู้ร่วมประชุมจากทั่วโลกว่า ถึงเวลาแล้วที่ทั้งโลกจะบรรลุข้อตกลงร่วมกัน รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง เขากล่าวตอนหนึ่งว่า

“ภัยพิบัติหลายครั้งไม่ใช่ธรรมชาติ มันคือรอยต่อของหลายปัจจัยนอกเหนือจากกายภาพ คือการสั่งสมของการรุกล้ำเส้นแบ่งทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน ภัยพิบัติส่วนใหญ่คือผลพวงจากความเหลื่อมล้ำ คนยากจนที่สุดในโลกคือกลุ่มเสี่ยงที่สุด เนื่องจากความอ่อนแอและการพัฒนาอย่างผิดปกติมานานหลายทศวรรษ ซึ่งผมขอยืนยันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวโยงกับการแสวงหาการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบงำโลก และการเติบโตทางเศรษฐกิจและการบริโภคอย่างไม่ยั่งยืนนี้เองที่ทำให้ระบบสภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนไป”

นอกจากนี้ ซาโนยัง “...ได้เรียกร้องให้นิยามคำว่า ภัยพิบัติ เสียใหม่ ต้องหยุดเรียกว่า ภัยพิบัติธรรมชาติเสียที เพราะนี่ไม่ใช่ วิทยาศาสตร์ได้บอกเราแล้วว่า โลกที่กำลังร้อนขึ้นจะก่อพายุที่รุนแรงกว่าเดิม เมื่อมนุษยชาติได้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสภาพอากาศอย่างลึกซึ้งแล้ว มันไม่ใช่ธรรมชาติ พร้อมท้าให้คนที่ยังปฏิเสธเรื่องอากาศโลกเปลี่ยนแปลงให้ไปฟิลิปปินส์ ไปดูให้เห็นกับตาตัวเองว่าเกิดอะไรขึ้นที่นั่น”

(สองย่อหน้าบนคัดจากคอลัมน์ เปิดโลกวันอาทิตย์ ตอน “โศกนาฏกรรมไห่เยี่ยน เพราะอากาศโลกเปลี่ยนแปลง?” หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน 2556)

ถึงแม้นักวิทยาศาสตร์จะไม่อาจเชื่อมโยงภัยธรรมชาติขนาดสาหัสทุกครั้งเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พวกเขาก็เห็นตรงกันว่า สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงเกิดจากน้ำมือมนุษย์ ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงเป็นประวัติการณ์ น้ำแข็งขั้วโลกหลอมละลาย และทำให้พายุเขตร้อนทั้งมวลรวมทั้งไห่เยี่ยนทวีความรุนแรงมากกว่าเดิม เนื่องจากได้รับพลังงานความร้อนจากมหาสมุทรซึ่งกำลังอุ่นขึ้นทั่วโลก

การนิ่งดูดายต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมมีต้นทุนมหาศาลสำหรับประเทศที่เผชิญความเสี่ยงสูงมากอย่างฟิลิปปินส์และไฮติ แต่ต้นทุนของประเทศที่เสี่ยงน้อยกว่าอย่างไทยก็ใช่ว่าน้อยนิดเดียว

กรณีที่เราน่าจะรู้จักกันมากกว่านี้คือ ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) และ Japan's International Co-operation Agency (ไจก้า) ร่วมกันออกรายงานเตือนตั้งแต่ปลายปี 2011 ว่า กรุงเทพฯ เผชิญความเสี่ยงที่จะจมอยู่ใต้น้ำ นักวิทยาศาสตร์บางคนมองว่าเหตุการณ์นี้อาจเกิดเร็วถึงปี 2030 เลยก็ได้ หรืออย่างช้าไม่เกินปี 2100

แผ่นดินในกรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล กำลังทรุดตัวราว 1.5 - 5 เซนติเมตรต่อปี จากหลากหลายปัจจัยผสมกัน ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การกัดเซาะชายฝั่ง การใช้ที่ดินอย่างไม่เหมาะสม ชนิด “ใครใคร่สร้าง สร้าง” ตลอดจนการสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้อย่างเกินขนาดและผิดกฎหมาย

ถึงแม้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจเป็นปัจจัยส่วนน้อยที่ทำให้กรุงเทพฯ สุ่มเสี่ยงว่าจะจมอยู่ใต้น้ำ (นักวิทยาศาสตร์บางท่านมองว่าเป็นปัจจัยไม่ถึงหนึ่งในห้า) มันก็แปลว่าตราบใดที่เรายังนิ่งดูดาย ความเสียหายจะยิ่งมาก รายงานบางชิ้นคำนวณว่า อาคารกว่า 1 ล้านหลังในกรุงเทพฯ ซึ่งร้อยละ 90 เป็นที่อยู่อาศัย ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วมเกือบฟุตทุกปี

จนถึงวันนี้รัฐไทยยังไม่มีแนวโน้มที่จะดำเนินมาตรการใดๆ ในการรับมือกับความเสี่ยงข้อนี้ ภาคธุรกิจโดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ยังโหมโฆษณาขายคอนโด “ทำเลทอง” ในกรุงเทพฯ ต่อไปอย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาว ราคาหุ้นของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นยังไม่สะท้อนความเสี่ยงข้อนี้ และประชาชนตาดำๆ ก็ยังไม่ตระหนักถึงความเสี่ยง เพราะสื่อไทยโดยรวมทำข่าวสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะข่าวเชิงวิเคราะห์ น้อยลงเรื่อยๆ สวนทางกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น

ธรรมชาติมีมูลค่า และการทำลายธรรมชาติก็มีราคาที่ต้องจ่าย แต่เมื่อไรตลาดทุนจึงจะสะท้อนมูลค่าและราคาเหล่านี้ในราคาของหลักทรัพย์ - ยังเป็นคำถามใหญ่ที่คำตอบยังไม่ชัดเจน แต่ธรรมชาติจะบังคับให้นักลงทุนต้องสนใจศึกษามากขึ้นเรื่อยๆ ในศตวรรษที่ 21


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ธรรมชาติกับตลาดทุน ต้นทุนของการนิ่งดูดาย

view