สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พ.ร.บ.มั่นคงฯกระทบคนกรุงแค่ไหน?

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ตรวจสอบเนื้อหาพ.ร.บ.มั่นคงฯกระทบคนกรุงแค่ไหน? รัฐบาลยิ่งลักษณ์ประกาศใช้เที่ยวนี้ จะถือเป็นการนับถอยหลังอายุของรัฐบาลหรือไม่!

การประกาศขยายเวลาและพื้นที่บังคับใช้ "พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ" หรือเรียกด้วยภาษาทางการว่า "พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร" โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) ของรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เที่ยวล่าสุดนั้น ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ทั้ง 50 เขต จ.นนทบุรี ทั้งจังหวัด อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ และ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี กินเวลายาวนานไปจนถึงสิ้นปี 2556

การประกาศเที่ยวนี้ เป็นการประกาศเพิ่มเติมจากประกาศเก่าที่บังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ในพื้นที่ กทม.ชั้นใน 3 เขต ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา และเขตพระราชฐาน ระหว่างวันที่ 19 ต.ค. 2556 ถึง 30 พ.ย. 2556

การที่นายกรัฐมนตรีถึงกับออกแถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจด้วยตนเองเมื่อค่ำวันที่ 25 พ.ย. ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยแตกตื่นว่ารัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวแล้วหรือ บ้างก็ว่าคนทั่วไปอาจไม่สามารถสัญจรผ่านพื้นที่บังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯได้

จากการตรวจสอบเนื้อหาในคำประกาศของรัฐบาล และขอบเขตอำนาจตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ พบว่า กฎหมายพิเศษฉบับนี้มีวัตถุประสงค์มุ่งให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) หรือหน่วยงานอื่นตามที่รัฐบาลมอบหมาย สามารถระดมสรรพกำลังจากทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกัน ระงับยับยั้ง หรือบรรเทาเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรได้

อย่างไรก็ดี การประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ของรัฐบาลชุดนี้ เลือกใช้บริการเจ้าหน้าที่ตำรวจ และครั้งนี้ก็เช่นกัน รัฐบาลได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ทำหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ผอ.ศอ.รส.)

พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มาตรา 18 ให้อำนาจ ผอ.ศอ.รส. มีอำนาจออกข้อกำหนดได้ 6 ข้อ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติการตามกฎหมาย ได้แก่

1.ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการหรืองดเว้นการปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใด

2.ห้ามเข้าหรือให้ออกจากบริเวณพื้นที่ อาคาร หรือสถานที่ที่กำหนดในห้วงเวลาที่ปฏิบัติการ

3.ห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด

4.ห้ามนำอาวุธออกนอกเคหสถาน

5.ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ

6.ให้บุคคลปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดอันเกี่ยวกับเครื่องมือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของประชาชน

ข้อกำหนดดังกล่าวเปรียบเสมือน "กรอบ" หรือ "เช็คเปล่า" เพื่อให้ ศอ.รส.กำหนดรายละเอียดหรือกรอกตัวเลขเอาเอง แต่ต้องอยู่ในกรอบของข้อกำหนดทั้ง 6 ข้อนี้ ซึ่งล่าสุดเมื่อวาน (26 พ.ย.) ศอ.รส. ได้ประกาศรายละเอียดที่เป็นข้อกำหนดเพิ่มเติมแล้วในข้อที่ว่าด้วยการห้ามเข้าหรือออกจากบริเวณพื้นที่ใดๆ โดยได้ประกาศกำหนดพื้นที่ ได้แก่ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ กระทรวงการต่างประเทศ และกรมประชาสัมพันธ์ นอกจากนั้นยังรวมไปถึงส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐอื่น รวมถึงศาลและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญด้วย พร้อมกำหนดเวลาตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย. เป็นต้นไป

ผลก็คือกลุ่มผู้ชุมนุมที่บุกรุกเข้าไปในสถานที่ราชการต่างๆ ดังกล่าว ทั้งที่บุกเข้าไปแล้ว คือ ที่กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ กระทรวงการต่างประเทศ และกรมประชาสัมพันธ์ รวมทั้งผู้ชุมนุมที่เตรียมจะบุกสถานที่ราชการอื่นๆ หลังจากนี้ ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย

สำหรับผู้กระทำการฝ่าฝืน จะต้องได้รับโทษตามมาตรา 24 คือ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้เป็นความผิดเฉพาะขัดประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เท่านั้น ยังไม่รวมความผิดอาญาอื่นๆ หากผู้นั้นได้กระทำ เช่น บุกรุกสถานที่ราชการ ทำลายทรัพย์สินของทางราชการ (ถ้ามี)

จะเห็นได้ว่าข้อกำหนดอื่นๆ ที่เหลืออีก 4-5 ข้อ รัฐบาลยังไม่ได้ประกาศเป็นข้อกำหนดเพิ่มเติม ยังคงใช้เพียงข้อเดียวเท่านั้น ซึ่งหากสถานการณ์ทวีความรุนแรงหรือยืดเยื้อ ก็สามารถประกาศเพิ่มได้ตามสถานการณ์ เช่น เพิ่มสถานที่ห้ามบุคคลใดเข้าหรือออก ปิดกั้นเส้นทาง หรือแม้แต่มาตรการเคอร์ฟิว หรือการห้ามออกนอกเคหสถานตามเวลาที่กำหนด

อย่างไรก็ดี แม้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ จะให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนอย่างมากมาย ด้วยเหตุผลของการป้องกัน ระงับยับยั้ง และบรรเทาเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคง แต่ก็ยังถือว่ามีดีกรีการจำกัดสิทธิเสรีภาพน้อยกว่าพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือที่รู้จักกันดีในนาม "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ"

ทั้งนี้เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดเพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินได้มากกว่า โดยแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ

- สถานการณ์ฉุกเฉินทั่วไป มีข้อกำหนดคล้ายๆ กับ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แต่เพิ่มอำนาจในการห้ามชุมนุมมั่วสุม ห้ามเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด (มาตรา 9)

- สถานการณ์ฉุกเฉินมีความร้ายแรง ถึงขั้นก่อการร้าย การใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน กฎหมายยังให้อำนาจเพิ่มเติมแก่นายกรัฐมนตรีอีกหลายประการ เช่น จับกุมโดยไม่ต้องมีหมายจับ (ควบคุมตัวได้คราวละ 7 วัน ต่อเนื่องได้ไม่เกิน 30 วัน), ออกคำสั่งเรียกตัวบุคคล, ออกคำสั่งยึด อายัดอาวุธ สินค้า หรือวัตถุอื่นใด, ออกคำสั่งตรวจค้น รื้อ ถอน หรือทำลายอาคาร หรือสิ่งปลูกสร้าง, ออกคำสั่งให้ตรวจสอบการสื่อสารทุกรูปแบบ (มาตรา 11) เป็นต้น

และที่สำคัญคือการให้อำนาจออกคำสั่งให้ใช้กำลังทหารเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจระงับเหตุการณ์ร้ายแรง หรือควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบโดยด่วน

ส่วนในแง่การรับผิดของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติตามกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กำหนดคุ้มครองพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย

กระนั้นก็ตาม จากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษทั้ง 2 ฉบับเพื่อควบคุมสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองหลายครั้งที่ผ่านมา แทบทุกครั้งไร้ผลในการบรรเทาสถานการณ์ ซ้ำบางครั้งยังนำไปสู่ความรุนแรงเกินควบคุม

จึงต้องติดตามดูว่าการประกาศใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เที่ยวนี้ จะถือเป็นการนับถอยหลังอายุของรัฐบาลหรือไม่!


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พ.ร.บ.มั่นคงฯ กระทบคนกรุง แค่ไหน

view