สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เศรษฐกิจกับความสุข

จากประชาชาติธุรกิจ

โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com

แทบจะทุกวันที่เราจะได้ยินการพูดถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างโน้นอย่างนี้ ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลก็จะต้องพูดถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ จนมันแทบจะกลายเป็นสามัญสำนึกไปแล้วว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะนำมาซึ่งชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีหรือความสุข คนในประเทศด้อยพัฒนาก็จะมองไปยังประเทศพัฒนาแล้วที่ร่ำรวยด้วยความหวังว่า วันหนึ่งจะร่ำรวยตามไปด้วย

เมื่อเร็วๆ นี้มีผลการศึกษาชิ้นหนึ่งของนักเศรษฐศาสตร์ 2 คนคือ ยูยีนิโอ โปรโต แห่งมหาวิทยาลัยวอริค และอัลโด รุสติชินี แห่งมหาวิทยาลัยมินเนโซตา ที่ให้ผลสรุปว่าการที่ประเทศมั่งคั่งร่ำรวยขึ้นไปเรื่อยๆ นั้นไม่ได้ยังผลให้ความสุขหรือความพึงพอใจของคนเพิ่มขึ้น เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วความสุขของคนกลับลดลงเสียด้วยซ้ำ

บางคนอาจจะคิดว่านี่เป็นวาทกรรมเก่าแก่ของนักอุดมคติที่วันๆ เอาแต่คิดเรื่องความพอเพียงก็เป็นได้ แต่ไม่ใช่หรอกครับ นี่เป็นการศึกษาในเชิงเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับความสุขที่อยู่ในแวดวงความสนใจ ของนักเศรษฐศาสตร์ที่ต้องการค้นหาคำตอบในแบบของนักเศรษฐศาสตร์ที่ต้องการคำ ตอบในเชิงประจักษ์

นักเศรษฐศาสตร์ 2 คนนี้ศึกษาแล้วได้ผลสรุปว่ารายได้ต่อหัวหลังจากปรับให้เงินซื้อสินค้าและ บริการได้เหมือนๆ กันทั่วโลกแล้วที่จะนำมาซึ่งความสุขในระดับสูงสุดอยู่ที่ราวๆ 36,000 เหรียญสหรัฐต่อปี หรือราวๆ 1 ล้านบาท

คนจะมีความสุขสูงสุดเมื่อมีรายได้แค่นั้น เกินจากนั้นไปความสุขความพึงพอใจของคนจะไม่เพิ่มตาม แถมยังลดลงอีกด้วย ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ที่ศึกษาบอกว่ามันเป็นผลลัพธ์ที่น่าแปลกใจและไม่เคยมีการ รายงานมาก่อน พวกเขาพบข้อมูลยืนยันชัดเจนว่าความมั่งคั่งเกินระดับหนึ่งไปแล้วความพึงพอใจ ของคนกลับลดลง

สาเหตุก็เพราะระดับความมุ่งมาดปรารถนาของคนเปลี่ยนแปลงไป เมื่อประเทศร่ำรวยขึ้น ระดับของจีดีพีก็จะนำไปสู่ความมุ่งมาดปรารถนาที่สูงขึ้นไปอีก เป็นเหมือนกับการไล่ตามเป้าเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างรายได้จริงกับสิ่งที่ไขว่คว้าต้องการซึ่งมากขึ้น ตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ

นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสองคนนำเอาข้อมูลที่ได้ มาเปรียบเทียบกับจีดีพีของประเทศต่างๆ และพบความเชื่อมโยงที่เด่นชัดระหว่างความสุขกับรายได้ ถ้าเกินจาก 36,000 เหรียญไปแล้วความสุขของคนในประเทศนั้นจะลดลง

คำถามที่ตามมาก็คือถ้าประเทศร่ำรวยแล้วคนกลับมีความสุขน้อยลง เราจะพัฒนาเศรษฐกิจกันไปทำไม คำตอบอย่างกำปั้นทุบดินคือประเทศเรายังไม่ร่ำรวย รายได้ต่อหัวในบ้านเรายังห่างไกลจากจุดนั้นมาก ชีวิตความเป็นอยู่ของเรายังไม่ดีถึงขั้นเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว

แต่ปัญหาที่มากไปกว่านั้นแม้ในประเทศร่ำรวยก็คือจีดีพีเป็นเพียงค่าเฉลี่ยที่ ไม่ได้สะท้อนความจริงทั้งหมด เมื่อนำรายได้จริงๆ มาซอยย่อยๆ จะเห็นโครงสร้างในรูปพีระมิด เป็นความจริงที่เหมือนกันไปทั้งโลกก็คือความมั่งคั่งไม่ได้กระจายไปอย่าง เท่าเทียมกัน มีความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้และความมั่งคั่งที่น่าตกใจ เพราะมันไปกระจุกอยู่บนยอดพีระมิดซึ่งมีคนรวยๆ อยู่ไม่กี่คนเท่านั้น เป็นสัดส่วนเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับพวกที่อยู่ข้างล่างของพีระมิดลงมา

คนบนยอดพีระมิดจะมีความสุขน้อยลงไม่ว่าจะยิ่งรวยล้นฟ้าขึ้นไปเท่าไหร่ตามผลการศึกษา ก็ไม่ได้เป็นเครื่องปลอบใจสำหรับคนที่อยู่ด้านล่างของพีระมิดอย่างแน่นอน

เพราะคนที่อยู่ด้านล่างยังทุกข์อยู่เหมือนเดิม



ที่มา : นสพ.มติชน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เศรษฐกิจ ความสุข

view