สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เมื่อกระทรวงหมอเกียร์ว่างจะฝากความเป็น-ตายไว้กับใคร

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวในประเทศ

แม้ว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะตั้งศูนย์บัญชาการการแพทย์ขึ้นที่โรงพยาบาลสงฆ์เพื่อช่วยเหลือประชาชนระหว่างการชุมนุม แต่จนกระทั่งสถานการณ์คลี่คลายลงแล้ว ก็ไม่ปรากฎว่า นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ในฐานะ รมว.สาธารณสุข และ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. จะทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบความเป็นความตายของผู้คน

นอกจากตั้งโต๊ะชี้แจงตัวเลขผู้บาดเจ็บ-เสียชีวิตรายวัน และเดินสายเยี่ยมเยียนหน่วยแพทย์ภาคสนาม (ที่กระทรวงไม่ได้มีส่วนร่วมก่อตั้ง)

ซ้ำร้ายกว่านั้นการดำเนินงานภายใต้คำสั่งของหมอประดิษฐ และหมอณรงค์ ยังเป็นอุปสรรคต่อการทำงานเชิงรุกในภาพรวม

จำเพาะเจาะจงที่ “การบริหารหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน” หากเทียบเคียงกับเหตุความรุนแรงในการชุมนุมปี 2549 และปี 2553 ถือว่า สธ. ทำได้ต่ำกว่ามาตรฐานเดิมที่เคยทำไว้

ในอดีตสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จะทำหน้าที่หลักในการประสาน วางเครือข่าย และระบบการบัญชาการสถานการณ์ฉุกเฉิน (Incident Command System - ICS) ทว่าตั้งแต่ นพ.ประดิษฐ เข้าบัญชาการในกระทรวงแห่งนี้ กลับลดทอนบทบาท สพฉ. ให้เป็นเพียงหน่วยงานด้านวิชาการ และดึงอำนาจการบัญชาการไปไว้ที่ สธ. อย่างเบ็ดเสร็จ

ความบกพร่องจึงเกิดขึ้น

แหล่งข่าวระดับบริหารโรงพยาบาลสังกัด สธ. เล่าว่า สธ.จงใจไม่ให้ สพฉ. เข้ามามีส่วนร่วมในทุกกระบวน ทั้งที่จุดแข็งของ สพฉ. คือการประสานมูลนิธิ ทีมกู้ชีพ ศูนย์เอราวัณฯ โรงพยาบาลเอกชนในเขต กทม. เป็นเหตุให้ในสถานการณ์วิกฤต สธ. จึงไม่สามารถสั่งการให้เครือข่ายเหล่านี้ทำงานได้

ขณะเดียวกัน เครือข่ายต่างๆ ที่ต้องการเข้าพื้นที่ไปช่วยเหลือประชาชนที่ชุมนุมโดยเฉพาะจุดปะทะ ไม่ว่าจะเป็นกองบัญชาการตำรวจนครบาล สะพานชมัยมรุเชษฐ์ สะพานมัฆวานรังสรรค์ และสะพานอรทัย ก็ต้องทำงานกันไปตามอรรถภาพ เกิดการทับซ้อนระหว่างกัน

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ในฐานะกรรมการชมรมแพทย์ชนบท วิพากษ์ไว้ว่า ทั้งที่ สธ. ได้จัดตั้งวอร์รูมขึ้นมา แต่กลับตอบสนองวิกฤตช้ามาก หนำซ้ำยังระดมรถพยาบาลมาจอดทิ้งไว้ในสถานที่ห่างไกลจากจุดวิกฤต เช่น โรงพยาบาลสงฆ์ เมืองทองธานี หรือใน สธ. เอง

“เรามีหวังกับวอร์รูมที่โรงพยาบาลสงฆ์ แต่เอาเข้าจริงกลับพบว่าไม่สามารถตอบสนองการร้องขอหรือสนองอะไรได้ สุดท้ายแพทย์อาสาก็ต้องจัดการกันเอง เพราะ สธ. ไม่เคยสนใจหรือดูแลอะไรเลย”

นพ.สุภัทร นิยามปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นพฤติกรรม “เกียร์ว่าง” ของทั้ง นพ.ประดิษฐ และ นพ.ณรงค์

นอกจากนี้ แม้ว่า นพ.ณรงค์ จะยืนยันว่า สธ. ให้ความช่วยเหลือผู้ชุมนุมเต็มที่ โดยได้จัดแพทย์ไว้ 3 จุด จุดละ 1 ราย ประกอบด้วยสนามม้านางเลิ้ง กระทรวงการคลัง และบิ๊กซีแจ้งวัฒนะ พร้อมทั้งได้สนับสนุน “น้ำเกลือ” ให้กับหน่วยแพทย์สนาม แต่ นพ.สุภัทร กลับมีข้อมูลอีกชุดหนึ่ง

“จริงๆ แล้วเรื่องน้ำเกลือเกิดขึ้นจากเภสัชกรรมหลายรายที่ทราบว่าช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 องค์การเภสัชกรรม (อภ.) มีน้ำเกลือที่ขายไม่ออกร่วม 1 ล้านถุง และอายุการใช้งานกำลังจะหมดลง เขาจึงอยากนำน้ำเกลือดังกล่าวออกมาจากคลังเพื่อช่วยเหลือประชาชน แต่ นพ.ประดิษฐ มีคำสั่งห้าม”

“กระทั่งเกิดการกดดันอย่างหนักภายในองค์กร ที่สุดแล้ว อภ.จึงยอมนำออกมาบริจาคส่วนหนึ่ง แต่ก็บริจาคเข้าสู่กลไกของ สธ. คือมอบผ่านวอร์รูมโรงพยาบาลสงฆ์ และกรมการแพทย์ จึงถูกตัดตอนไปไม่ถึงประชาชนอย่างแท้จริง” แพทย์ชนบทระบุ

ทั้งหมดคือความชอกช้ำที่ประชาชนต้องแบกรับ ภายใต้การทำงานของ สธ.

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊กชมรมแพทย์ชนบท


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กระทรวงหมอเกียร์ว่าง ฝากความเป็นตาย ไว้กับใคร

view