สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ขอให้ความเห็นต่างกันเป็นความรุ่มรวยของสังคม

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ภัทระ คำพิทักษ์

พระไพศาล วิสาโล ท่านให้สติแก่ผู้มีความเห็นต่างกันไว้ว่า ไม่ว่า จะเป็นพุทธ เป็นคริสต์ เป็นซ้าย เป็นขวา เหลือง-แดง อำมาตย์-ไพร่ ก่อนที่เราจะเป็นอะไรพวกนี้ เรา "เป็นมนุษย์" และ "ความเป็นมนุษย์" สำคัญกว่าอะไรทั้งหมดที่กล่าวมา เมื่อยึดถืออุดมการณ์อะไรก็ตาม เราก็ควรรักษาความเป็นมนุษย์เอาไว้และพยายามมองเห็นคนอื่นให้เป็นมนุษย์ด้วย

ในการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา นอกจากมีฉากเรียกร้องโดยสันติบ้าง ขัดแย้งกันรุนแรงบ้างแต่ในโลกปัจจุบันซึ่งสื่อสารกันอย่างแพร่หลายด้วยโซเซียลมีเดีย ได้มีหลายเรื่องหลายเหตุการณ์ที่เป็นเรื่องเล็กๆแต่ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ของกันและกัน แม้ว่าแต่ละคนจะมีหน้าที่หรือมีความเห็นทางการเมืองต่างกันซึ่ง หากได้มีการสื่อสารเรื่องราวเหล่านี้ก็จะทำให้เราเข้าใจกันมากขึ้นและนำความสันติมาสู่สังคมมากขึ้น

กระทู้สองสามกระทู้ที่มีการโพสต์กันในเฟสบุ๊คที่สะท้อนเรื่องดังกล่าวมีดังนี้

1.

สมาชิกเฟซบุ๊กชื่อ Jatuporn Wisitchotiaungkoon ได้โพสต์ภาพตำรวจที่ต้องมาปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของรัฐบาล ขณะที่แม่มาเป็นหนึ่งในผู้ชุมนุม ทั้งสองคนได้มาพบกันโดยบังเอิญและแม่ก็เป็นแม่ที่เหมือนกับแม่ทุกคนในโลกนี้ที่ยังห่วงลูกเลยหาอาหารมาให้ลูกได้รับประทาน ภาพนี้ควรอุทิศ แด่แม่ทุกท่านในโลกนี้ แด่ลูกทุกคนในโลกนี้ แด่นักการเมืองทุกคนในโลกนี้ โดยแท้
 
ผู้โพสต์ได้ระบุว่า

โพสไปน้ำตาคลอไป "เจ้าลูกชายของเเม่"...................เมื่อลูกชายที่เป็นตำรวจจากต่างจังหวัดต้องมาปฏิบัติภารกิจเพื่อปกป้องตามคำสั่งของนายเเละแม่ก็มาทำหน้าที่คนไทยคนหนึ่งที่มาทวงถามความถูกต้อง ตามอุดมการณ์คนละฝั่ง คนละภารกิจ...เมื่อเหตุการณ์คลี่คลายลงไป ...ควันจากแก้สน้ำตาจางลงทั้งสองฝ่ายก็ได้พบกันในบรรยากาศแห่งสันติทั้งสองได้เจอกันโดยบังเอิญผู้เป็นเเม่นำอาหารให้ลูกชายได้กินให้อิ่มหนำลูกชายของเเม่...

2.

อาจารย์ทวี สุรฤทธิกุล มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กลับจากเวทีราชดำเนินแวะรับประทานอาหารที่ตลาดข้างทาง ทำให้พบว่า มีสาวโรงงานผลัดกันลางานไปชุมนุม อาจารย์ทวีนึกถึงเพลโตและจิตวิญญาณของพลเมืองซึ่งเป็นคนเล็กคนน้อยที่ไม่ใครเคยมองเห็นด้วยความซึ้งใจ

อาจารย์ใช้นามปากกาว่า นักรัฐศาสตร์ข้างถนน เล่าเรื่องดังกล่าวไว้ว่า

เมื่อกี้ก่อนกลับบ้านไปกินข้าวต้มตลาดรามอินทรา กม.2 มีสาววัยรุ่นกลุ่มหนึ่งแต่งตัวประดับธงชาติ เลยถามว่ามาจากไหน เขาบอกว่า มาจากสะพานชมัยฯ แล้วเล่าการสู้กับแก๊สน้ำตาอย่างตื่นเต้น โชว์แผลและคราบโคลนที่เอามาโปะบรรเทาพิษ พร้อมรูปถ่ายนับร้อย

ผมถามว่าทำไมมากินข้าวแถวนี้ เขาบอกว่าทำงานโรงงานและเช่าคอนโดพักอยู่แถวนี้ วันนี้ลางานได้ 5 คน พรุ่งนี้ก็จะมีลาไปอีก 5 ทำอย่างนี้มา 3 วันแล้ว ถ้าชุมนุมอยู่เป็นเดือน เพื่อนที่โรงงานก็จะได้ไปร่วมชุมนุมทุกคน ถามว่าทำเอาสนุกหรือเปล่า เพื่อถ่ายรูปแชร์อวดกันใช่ไหม

คำตอบของพวกเขาที่จบแค่มัธยมต้น ทำเอาผมที่จบปริญญาโทต้องอึ้ง

"น้า(สรรพนามที่เขาเรียกผม)คิดว่ามันสนุกหรือ ทั้งยังต้องขาดรายได้อีกหลายร้อย พ่อแม่ก็ด่า

หนูเคยอ่านเรื่อง 14 ตุลา ข่าว พฤษภา 35 หนูว่ามันเป็นประวัติศาสตร์ พวกหนูคงไม่มีชื่อในประวัติศาสตร์หรอกถ้าไม่ตาย แต่แค่พวกหนูรู้กันว่าเราได้ไปร่วมสู้ในประวัติศาสตร์ แค่นี้หนูก็ภูมิใจแล้ว ไม่ต้องการชื่อเสียงอะไรหรอก"

บางทีคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่สูง แต่มีจิตวิญญาณของความเป็นพลเมืองสูงส่งอย่างนี้ แม้แต่เพลโต เจ้าตำรับคุณธรรมนำการเมืองก็คงซูฮกยกย่องนับถือ

3.

พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร นักหนังสือพิมพ์อาวุโส ได้เรื่องเล่าของผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า

ประสบการณ์ ศ.นพ.นรินทร์ ผช.อธิการบดี จุฬา :

เพิ่งกลับจากสะพานมัฆวานถึงบ้านหลังจากดมและวิ่งหนีแก๊สน้ำตาตอนหัวค่ำ ส่วนช่วงบ่ายเราตั้งหน่วยพยาบาลในนามของจุฬาฯที่บชน. มีเรื่องดีๆที่อยากเล่าให้พวกเราฟังแก้เครียดครับ. ผมเจอผอ.ศูนย์นเรนทรที่ดูแลเรื่องภัยพิบัติ ซึ่งเป็นนิสิตแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มศว. เขาแปลกใจมากและประทับใจที่จุฬาฯส่งทีมมาช่วยอย่างแข็งขันไม่ไปไหน(โดยเฉพาะมีผู้บริหารมากำกับด้วยตนเอง) บนเวทีที่ บ.ชน.ก็ประกาศว่าพี่น้องครับ พวกเรามีกองหนุนชั้นดี จุฬาฯมาช่วยดูแลสุขภาพพี่น้องตลอดเวลาครับ พวกเราทีมแพทย์พยาบาล รู้สึกปลื้มใจ (และยึดนิดฯ) แต่ที่ผมรูสึกดีมากฯคือตอนเดิมไปช่วยประชาชนแบกน้ำไปส่งแนวหน้า ตาและปากยังแสบอยู่จากแก๊สน้ำตา ได้ยินผู้ชาย 2 คนที่เดินผ่านคุยกันว่า กูได้ยินว่าทางจุฬามาช่วยพวกเราแล้ว ดีใจจังโว้ย

ผมบรรยายความรู้สึกตอนนั้นไม่ถูก รู้แต่ว่าความแสบร้อนที่หน้าและปากหายเป็นปลิดทิ้ง ที่ตามมาคือความภูมิใจและเป็นสุขใจกับความเป็นจุฬาที่ได้มาดูแลประชาชนแม้อาจจะช่วยเขาไม่ได้ทั้งหมดก็ตาม และผมรู้สึกในส่วนตัวว่า วิกฤตครั้งนี้ สังคมได้เห็นว่าจุฬาเราไม่ทอดทิ้งเขาและมาเผชิญความทุกข์ยากร่วมกับเขา..

ขออภัยที่ระบายมากไป คงเป็นเพลาเครียดมาทั้งวัน...

4.

ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ ผู้ใช้นามว่า Watinee Kharnwong เขียนเรื่อง “เมื่อคืนนี้ที่สตช.” เธอไปชุมนุมที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วยความมุ่งมั่นและในหัวมีความทรงจำถึงภาพพจน์ด้านเลวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่เมื่อเธอกลับจากที่นั่นเธอได้เห็นตำรวจอีกในมุมหนึ่งในความเป็นคนเหมือนกัน เธอยังมุ่งมั่นในการต่อสู่แต่ไปแต่เธอไม่ได้สู้เพราะความเกลียดชังตำรวจแบบเดิมอีกต่อไป เรื่อง “เมื่อคืนนี้ที่สตช.” มีว่า

แม้จะเคยถูกรีดไถจากตำรวจหลายครั้ง (แต่ไม่เคยได้เงินเราไปสักครั้ง) และได้ยินเรื่องราวเลวร้ายของตำรวจมาโดยตลอด บ้างก็เปรียบเทียบว่ามือตำรวจข้างหนึ่งถือเตารีด อีกข้างถือคันไถ ก็ยังเชื่อเสมอว่าตำรวจดียังมีอยู่ จนมาเกลียดตำรวจจับใจเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่นศ.รามคำแหงถูกยิงเสียชีวิต แถมผ่านไปทั้งคืนก็ไม่มีตำรวจมาช่วยนศ.อีก 2,000 กว่าคนให้ออกจากมหาวิทยาลัย อธิการบดีรามคำแหงประกาศยืนอยู่คนละข้างกับรัฐบาล สำหรับเรา ตำรวจไม่เหลือคุณค่าความเป็นคนอีกต่อไป

เมื่อวานไปชุมนุมที่หน้าสตช.เป็นวันที่ 2 ไปถึงได้ฟังกำนันสุเทพบอกว่าถ้าชนะ จะล้างระบบของตำรวจทั้งหมด แอบสงสัยว่าจะเป็นไปได้มั้ยในภพชาตินี้ เพราะกระบวนการที่สลับซับซ้อนและฝังรากลึกในวงการตำรวจ ทำให้ความเป็นคนดีอาจไม่ได้หมายถึงความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน คำว่า "ตามน้ำ" จึงเป็นคำที่รู้กันในหมู่ตำรวจไทย ภาพลักษณ์ของตำรวจไทยตกต่ำที่สุดในรอบหลายๆ ปีที่ผ่านมา

ระหว่างฟังปราศรัย จำเป็นต้องออกไปรับโทรศัพท์เรื่องงาน คุยเสร็จกำลังเดินกลับไป ผ่านพี่ผู้หญิงกลุ่มหนึ่งที่ยืนยั่วเย้าตำรวจที่ยืนเรียงแถวรักษาการณ์อยู่ในรั้วสตช. ด้วยถ้อยคำที่ไม่หยาบ แต่ไม่เหมาะสม เราทนไม่ไหวเลยเข้าไปห้ามพี่ๆ อย่างสุภาพ คิดถึงใจเขาใจเรา เขากับเราก็ต่างทำหน้าที่ของตัวเองอยู่ สุดท้ายพี่ๆ ก็เลิกทำ

พอชุมนุมเสร็จ แกนนำเชิญทุกคนให้ยืนขึ้นและร่วมกันร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ร้องเพลงไปก็น้ำตาคลอ ชำเลืองมองเข้าไปในรั้วลวดหนามของสตช. แอบเห็นตำรวจคนหนึ่งร้องเพลงตาม พอร้องเสร็จ มีตำรวจบางคนตบมือให้ม็อบนกหวีด เรียกเสียงหัวเราะจากคนนอกรั้วกันถ้วนทั่ว จากนั้นทุกคนก็แยกย้ายกันกลับบ้าน

ระหว่างเดินกลับ แอบถามตัวเองว่าจริงๆ แล้วตำรวจชั้นผู้น้อยเหล่านี้ ถ้าเค้าถอดเครื่องแบบ เค้าก็คือประชาชนคนหนึ่งเหมือนเรา เป็นพ่อของลูก เป็นพี่เป็นน้อง ที่สำคัญเป็นคนไทยเหมือนกันไม่ใช่หรือ หลายคนที่ยืนอยู่ในนั้น ถ้าเลือกได้เค้าอาจจะอยากวางปืนเดินออกจากรั้วมาเป่านกหวีดเหมือนเรา ถ้าเลือกได้เค้าอาจจะเลือกวางแก๊สน้ำตา แล้วมาร่วมกูัชาติกับเรา แต่เพราะนายสั่งมา เพราะตำรวจผู้ใหญ่บางคนที่ขายเกียรติแลกกับเงินและอำนาจ ตำรวจถึงได้โดนสาปแช่งและถูกเปรียบเทียบกับสรรพสัตว์ที่น่ารังเกียจอยู่ทุกวันนี้

ถ้าขออะไรได้ในตอนนี้ อยากขอให้มีฮีโร่มาช่วยกวาดล้างระบบเก่าๆ ที่เน่าเฟะของตำรวจไทย อยากให้ตำรวจที่ดีได้แสดงฝีมือ ได้ทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ไม่ใช่ผู้พิทักษ์สันติทรราชย์อย่างที่ถูกเปรียบเปรย

เรากับพี่ตะโกนขอบคุณตำรวจที่ยืนเรียงอยู่ในรั้วตลอดทางที่เดินกลับ หลายคนในนั้นโค้งคำนับให้และตะโกนขอบคุณกลับออกมาเช่นเดียวกัน บางคนถามด้วยว่าพรุ่งนี้จะมาอีกรึเปล่า อยากตอบไปว่าถ้ามาก็อยากจะมาด้วยความหวังว่าพี่ๆ จะอยู่เคียงข้างประชาชน ไม่ได้อยู่ตรงข้ามประชาชนอย่างที่เห็นและเป็นอยู่....

รักและหวัง

ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่ง

ทั้ง 4เรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กๆที่จมอยู่ท่ามกลางของโลกแห่งข่าวสารนับแสนนับล้านที่พร่างพรูอยู่ในเฟซบุ๊ก ยังมีเรื่องทำนองนี้อยู่อีกไม่น้อย ซึ่งถ้าไม่มองข้ามไปมันก็จะนำมาซึ่งความงอกงามในจิตใจของเรา

พระไพศาล กล่าวไว้ในปาฐกถางานครบรอบ 40ปี 14 ตุลาคม เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาตอนหนึ่งว่า ไว้ว่า “ความเห็นต่างกันนั้นมีได้และอาจเป็นความรุ่มรวยของสังคมแต่ไม่ควรเห็นต่างอย่างแบ่งข้างแยกขั้วอย่างสุดโต่งเพราะนั่นไม่เพียงหมายถึง การปฏิเสธคุณค่าอันดีงามที่บังเอิญอีกฝ่ายหนึ่งยึดถือเท่านั้นแต่ยังเป็นการปฏิเสธบางส่วนของตัวเราด้วย เพราะในส่วนลึกของเราด้วยเพราะในส่วนลึกของเรา คุณค่าที่อีกฝ่ายยึดถือนั้น เราเองก็เห็นดีเห็นงามด้วยเช่นกัน แต่พอมันถูกตีตราว่าเป็นของฝ่ายตรงข้าม เราก็ต้องละทิ้งมันไปอย่างน่าเสียดายใช่หรือไม่ว่า การทำเช่นนั้น ทำให้โลกทัศน์เราคับแคบลง ชีวิตด้านในเราอับจนลง แม้กระทั่งความเป็นมนุษย์ของเราอาจลดน้อยถอยลงด้วย”

ขอให้ความเห็นต่างกันเป็นความรุ่มรวยของสังคม
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ขอให้ความเห็นต่างกัน ความรุ่มรวย สังคม

view