สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การแก้ปัญหาการเมืองเพื่อกอบกู้เศรษฐกิจ

การแก้ปัญหาการเมืองเพื่อกอบกู้เศรษฐกิจ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




หลังจากความขัดแย้งทางการเมืองมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจนกระทั่งเห็นได้ว่าเริ่มกระทบต่อเศรษฐกิจทำให้หลายฝ่ายมีข้อเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหาอย่างกว้างขวา

ผมรู้สึกดีใจที่หลายฝ่ายพยายามเร่งรีบหาทางกอบกู้ระบบการเมืองและเศรษฐกิจ ตลอดจนลดทอนรอยร้าวที่กำลังแบ่งแยกคนไทยออกเป็นสองฝ่ายอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ทำให้ต้อง “เลือกข้าง” และผู้ที่ต้องการจะ “เป็นกลาง” ในการเมืองหาที่ยืนได้ยาก

จุดยืนของผมคือ การเคารพระบอบประชาธิปไตยที่อาศัยการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรมาปกครองประเทศโดยเสียงข้างมากเป็นรัฐบาลและไม่สนับสนุนการยึดอำนาจหรือกลไกอื่นที่พยายามล้มล้างเจตนารมณ์ของเสียงข้างมาก (เพราะทุกประเทศและทุกองค์กรก็ใช้เสียงข้างมากตัดสินกันทั้งนั้น แม้กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญ) สิ่งที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาคือ ความพยายามของเสียงข้างน้อยที่จะต่อต้านความต้องการของเสียงข้างมาก โดยเสียงข้างน้อยจะมีเหตุผลและข้ออ้างหลายประการ แต่ในที่สุดแล้วก็ต้องเผชิญกับปัญหาและแรงต่อต้านมากมายโดยเสียงส่วนน้อยจะสรุปว่าปัญหาเกิดจาก "ทุนสามานย์" หรือ “ระบอบทักษิณ” และรู้สึกว่าฝ่ายตนมีความชอบธรรมที่จะล้มรัฐบาลที่ขาดคุณธรรม มีการซื้อเสียงโดยการมอมเมาประชาชนด้วยนโยบายประชานิยมและมีการคอร์รัปชันอย่างแพร่หลาย ฯลฯ

เสียงข้างน้อยมองว่าฝ่ายตนมีคุณธรรมมากกว่า มีการศึกษาดีกว่าและมีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าจึงต้องปกป้องรักษาประเทศไทยเอาไว้มิให้ถูกครอบครองโดยระบบที่มีความชั่วร้ายและหากต้องฝืนเสียงข้างมากก็ไม่เป็นไร แต่ปัญหาคือเมื่อฝืนเสียงข้างมากแล้ว การเมืองและเศรษฐกิจจะเกิดเสถียรภาพและจะเจริญรุ่งเรืองได้ยาก เพราะการฝืนความต้องการของเสียงส่วนใหญ่เป็นการฝืนธรรมชาติ ตัวอย่าง ประเทศแอฟริกาใต้ที่เคยพยายามกดคนผิวดำที่เป็นเสียงส่วนใหญ่นานหลายทศวรรษ แต่ในที่สุดก็ต้องยอมรับเสียงข้างมาก ในเมืองไทยก็มีการปฏิวัติรัฐประหารหรือการยึดอำนาจจากประชาชนเป็นระยะๆ ทำให้การฉีกรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องธรรมดา (ประเทศไทยจึงมีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 17 ฉบับหรือโดยเฉลี่ยมีการทำรัฐประหาร 1 ครั้งสลับกับการเลือกตั้ง 2-3 ครั้งตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาตั้งแต่ปี 2475)

แปลว่าอะไร? การจะหานักการเมืองที่เป็น “คนดี” ย่อมจะเป็นเรื่องยาก เพราะนักการเมืองนั้นต้องเป็นคนของสาธารณะโดนตรวจสอบและถูกวิจารณ์ได้ แต่อาชีพนักการเมืองไทยนั้นยังมีความเสี่ยงสูงที่อาจถูกแบนจากการเมืองและถูกปฏิวัติได้อีก ดังนั้น ผู้ที่ต้องการเข้าสู่เส้นทางการเมืองจึงต้องยอมรับความเสี่ยงสูงและต้องเข้าไปตักตวงผลประโยชน์โดยเร็ว เพราะอาจอยู่ในตำแหน่งได้ในระยะสั้นๆ ทำให้ “คนดีมีฝีมือ” ที่มีทางเลือกอื่นๆ ที่มั่นคงและปลอดภัยกว่าไม่รู้ว่าจะเข้าไปเปลืองตัวยึดอาชีพนักการเมืองทำไม กล่าวโดยสรุปคือ หากลดความพยายามปฏิวัติหรือปลดนักการเมือง จะทำให้เป็นอาชีพที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ก็อาจได้นักการเมืองที่มีคุณภาพมากขึ้นก็ได้

บางคนจะเถียงทันทีว่าหากเป็นเช่นนั้นก็ยิ่งจะทำให้นักการเมืองรวบอำนาจและ “กินเมือง” ได้สะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งคำตอบคือก็ต้องพยายามลดอำนาจและขนาดของรัฐบาลลงโดยเพิ่มความโปร่งใสไปพร้อมๆ กัน เช่น การเขียนกฎหมายต่อไปนี้ควรหลีกเลี่ยงการเขียนเพื่อความสะดวกและยืดหยุ่นของหน่วยราชการ เช่น “ทั้งนี้รายละเอียดให้กำหนดในประกาศของกระทรวง” หรือการให้อำนาจหลวมๆ กับรัฐมนตรี เป็นต้น หากสังเกตก็จะเห็นว่าผู้ที่เข้ามาเป็นนักการเมืองนั้นส่วนใหญ่จะเป็นผู้รับเหมาโครงการรัฐบาลและผู้ที่ได้รับสัมปทานของรัฐ เพราะเขาเห็นว่ารัฐบาลมีอำนาจที่แปลเป็นตัวเงินเป็นจำนวนมหาศาล ดังนั้น หากลงทุนเป็นนักการเมืองและได้ตำแหน่งรัฐมนตรีก็จะเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ได้

กล่าวโดยสรุปคือ ต้องลดขนาดของรัฐบาล (และลดขนาดของความเป็น “เจ้าของ” ของภาครัฐในรัฐวิสาหกิจด้วย) และเพิ่มความโปร่งใส (รัฐบาลต้องให้ข้อมูลข่าวสารโดยไม่ให้อ้างว่าเป็นความลับราชการ) ซึ่งจะทำให้นักการเมืองแสวงหาผลประโยชน์จากการคอร์รัปชันได้น้อยลง เพราะรัฐมีอำนาจจัดสรรทรัพยากรของประเทศลดลง ผมเชื่อว่าน่าจะแก้ปัญหา “คุณภาพนักการเมือง” ได้ดีกว่าการแย่งอำนาจจากนักการเมืองด้วยวิธีต่างๆ ที่ทำอยู่ในขณะนี้และทำให้รัฐบาลมีงบประมาณสำหรับนโยบายประชานิยมน้อยลงอีกด้วย แต่ทั้งนี้คนไทยต้องยอมรับสภาพว่าจะต้องช่วยตัวเองเพิ่มขึ้นไม่ใช่เอะอะอะไรก็จะให้รัฐบาลยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ

ล่าสุดผมเห็นข้อเสนอของทปอ.ให้รัฐบาลยุบสภาซึ่งผมเห็นด้วยแต่เสนอด้วยว่าเมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นรัฐบาลรักษาการแล้วให้ลาออกและให้มี “รัฐบาลรักษาการที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายมาบริหารประเทศ” ทำให้งงว่าทำไมรัฐบาลรักษาการจึงต้องลาออกเพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 180 (2) ก็เขียนเอาไว้ว่ารัฐมนตรีทั้งคณะพ้นตำแหน่งเมื่ออายุสภาฯสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาฯ และมาตรา 181 ก็ยังเขียนต่อไปอีกว่าคณะรัฐมนตรีที่พ้นตำแหน่งต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ โดยคณะรัฐมนตรีรักษาการนี้ไม่มีอำนาจแต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการ ไม่สามารถอนุมัติงบประมาณหรือโครงการและไม่ให้ใช้ทรัพยากรของรัฐเพื่อให้มีผลต่อการเลือกตั้ง

จึงต้องถามว่าจะให้มีรัฐบาลรักษาการที่เกิดขึ้นนอกกรอบของรัฐธรรมนูญ “มาบริหารประเทศ” ทำไม เพราะรัฐธรรมนูญก็มีกระบวนการที่ชัดเจนตามมาตรฐานสากลอยู่แล้วหรือจะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วงชิงอำนาจจากประชาชนเสียงข้างมากอีกครั้ง?


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การแก้ปัญหาการเมือง กอบกู้เศรษฐกิจ

view