สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

7องค์กรเสนอตั้งคณะทำงาน ปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง

7องค์กรเสนอตั้งคณะทำงาน ปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

7 องค์กรเอกชน ออกแถลงการณ์เรียกร้องตั้งคณะทำงาน ปฏิรูปประเทศ ดึงทุกฝ่ายเข้าร่วม ก่อนมีเลือกตั้ง เชื่อการเลือกตั้งอย่างเดียวไม่ใช่ทางออก

ขณะที่ภาคเอกชนพร้อมร่วมมือสร้างเวทีกลาง ย้ำไม่อยากเห็นไทยเป็น 2 ประเทศ

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย แถลงข่าว หลังจากร่วมประชุมกับภาคเอกชน 7 องค์กรวานนี้ (9 ธ.ค.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการตั้งคณะทำงาน ในการปฏิรูปประเทศก่อนจะมีการเลือกตั้งใหม่ แม้รัฐบาลจะประกาศยุบสภาแต่เชื่อว่าคงไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ หากเลือกตั้งโดยไม่มีการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการแก้ปัญหาคอร์รัปชันก่อน

เหตุการณ์ครั้งนี้ต้องขอชมเชยทั้งสองฝ่ายที่พยายามยุติข้อขัดแย้ง โดยไม่ใช้ความรุนแรงทั้งในส่วนของภาครัฐ และกลุ่มผู้ชุมนุม การที่รัฐบาลตัดสินใจยุบสภาเป็นการดำเนินการตามวิถีประชาธิปไตย แต่ภาคเอกชนเป็นห่วงว่าการยุบสภายังไม่ทำให้สถานการณ์บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติได้สมบูรณ์ เพราะความขัดแย้งครั้งนี้ลึกมาก

ทั้งนี้ คณะทำงานจะทำงานควบคู่ไปกับกระบวนการเลือกตั้ง โดยเอกชนพร้อมให้ความร่วมมือในการสร้างเวทีกลาง เพื่อนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอันเป็นผลประโยชน์ร่วมกันกับทุกๆ ฝ่ายและพร้อมที่จะสนับสนุนวิธีการใดๆ ที่จะนำไปสู่ความสุขสงบสันติทันที นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป

เสนอตั้งวงปฏิรูปลดขัดแย้งก่อนเลือกตั้ง

นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ระบุว่า ภาคเอกชน 7 องค์กรไม่ใช่เป็นแกนนำการแก้ปัญหาความขัดแย้ง เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการมีส่วนร่วมแก้ปัญหา โดยรูปแบบของคณะทำงานในส่วนของภาคเอกชน จะไม่มีใครเป็นประธาน โดยจะเชิญให้ทุกฝ่ายเข้า ร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด จะไม่เน้นผลประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

สำหรับกลุ่มร่วมแสดงความเห็น มีทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่เป็นที่ยอมรับของคนในสังคม และสถาบันพระปกเกล้า เป็นต้น ต้องหาข้อยุติให้ได้ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหม่ แต่หากไม่สามารถดำเนินการปฏิรูปได้ทันภายใน 45-60 วันก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ก็อยากให้ทุกฝ่ายสามารถที่จะหาทางออกเพื่อเลื่อนระยะเวลาการเลือกตั้งออกไปก่อนได้ โดยความเห็นส่วนตัวเชื่อว่ากฎหมายสามารถยืดหยุ่นได้หากต้องการให้ประเทศชาติมีความสงบสุข

ค้านดึงต่างชาติร่วมสังเกตการณ์ปฏิรูป

ส่วนกรณีที่มีข้อเสนอให้ตัวแทนต่างชาติ มีส่วนร่วมในการเข้ามาสังเกตการณ์ปฏิรูปประเทศนั้น มองว่าไม่จำเป็น เชื่อว่าคนไทยสามารถแก้ปัญหาเองได้ แต่เมื่อได้ข้อสรุปอย่างไรสามารถเผยแพร่ให้ทั่วโลกรับทราบได้

ทั้งนี้ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสมาชิกที่ประกอบด้วยหอการค้าต่างประเทศ จากการสอบถามส่วนใหญ่ยังเข้าใจการประท้วงว่าเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่มีการแสดงความเห็นในเชิงลึก เพราะถือเป็นเรื่องการเมืองภายใน แต่หากได้ข้อสรุปต้องแจ้งให้หอการค้าต่างประเทศและหอการค้าทั่วประเทศรับทราบในฐานะสมาชิกร่วมองค์กร

สทท.หนุนตั้งคณะทำงาน

นางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า การตั้งคณะทำงานถือเป็นเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี สิ่งสำคัญขณะนี้ควรปฏิรูปหาแนวทางก่อนการเลือกตั้ง ขณะนี้ต่างประเทศยังไม่ได้ประกาศเตือนเดินทางเข้าไทยเพิ่ม ยังมีอยู่ 34 ประเทศ ที่มีการประกาศในระดับ 2-3

เชื่อว่าคณะทำงานฯ ชุดนี้ จะมีแนวทางที่ดี เพื่อนำเสนอต่อฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ส่วนผลกระทบต่อนักท่องเที่ยว จะมีการแถลงข่าววันที่ 20 ธ.ค. นี้

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่าหลังจากรัฐบาลประกาศยุบสภา ยังไม่มีสัญญาณทางเศรษฐกิจดีขึ้น เห็นได้จากดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยังปรับตัวลดลง หากยุบสภาแล้ว ปัญหาความขัดแย้งยังอยู่ และเศรษฐกิจก็จะยังได้รับผลกระทบต่อเนื่อง การตั้งคณะทำงานเพื่อเป็นจุดตรงกลางที่ควรหาแนวทางการปฏิรูปก่อนการมีการเลือกตั้ง

ชี้ไม่อยากเห็นคนไทยแยกเป็น2ประเทศ

นายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาของคนไทย เป็นปัญหาที่แตกแยกร้าวลึก ไม่ต้องการให้ทุกฝ่ายมองเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง เหมือนเป็นการเห็นแก่ตัวมากเกินไป ปัญหาใหญ่ขณะนี้คือไม่ต้องการให้คนไทยแยกเป็น 2 ประเทศ หากแก้ปัญหาจุดนี้และแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันได้เศรษฐกิจจะดีขึ้น

นายสุรงค์ บูลกุล นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวว่าในมุมของภาคการลงทุนยังถือว่า ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะเหตุการณ์การชุมนุม ยังไม่รุนแรง แต่ถ้าสถานการณ์ การชุมนุม ยังมีอยู่ต่อไป และเกิดเหตุความรุนแรง จะส่งผลให้ประเทศเกิดการพลาดโอกาสการค้าการลงทุน

สอท.สั่งสมาชิกแจงลูกค้ายันผลิตสินค้าได้

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาลูกค้าต่างประเทศได้ สอบถามตลอดเวลาว่าไทยจะมีการยุบสภาเมื่อไหร่ หลังจากที่มีผู้ชุมนุมออกมาจำนวนมาก เพราะต่างประเทศมองว่าช่วงหนึ่งเดือนกว่าๆ รัฐบาลไม่สามารถบริหารประเทศได้เต็มที่ หลังจากนี้ ส.อ.ท.ก็จะให้สมาชิกทั่วประเทศได้ชี้แจงกับสถานการณ์ทางการเมืองให้ลูกค้า เบื้องต้นให้ยืนยันความเชื่อมั่นกับลูกค้าว่าผู้ประกอบการสามารถผลิตและส่งสินค้าได้

การประท้วงถือเป็นแนวทางระบอบประชาธิปไตย ตราบใดที่ยังไม่รุนแรงก็ไม่น่าจะกระทบการค้า เอกชนทั้ง 7 องค์กรอยากเห็นการหาทางออกของประเทศระยะยาว อยากเห็นการแก้ปัญหาของประเทศมาก่อนเรื่องของคิดถึงการทำธุรกิจ หากประเทศไม่มีความสงบภาคธุรกิจก็ทำธุรกิจไม่ได้เช่นกัน

โครงการใหญ่สะดุดฉุดจีดีพี ปี 2557

นายธนิต โสรัตน์ รองประธาน ส.อ.ท. เปิดเผยว่า จากการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจหลังการยุบสภา พบว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เกิดจากการใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนโครงการต่างๆ จะเกิดสุญญากาศไม่น้อยกว่า 6 เดือน ส่งผลให้โครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท และโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทต้องชะงัก และยากที่รัฐบาลชุดต่อไปจะดำเนินการได้ เพราะพรรคเพื่อไทยอาจได้รับคะแนนเสียงลดลง จึงไม่อาจผลักดันโครงการขนาดใหญ่ได้รวดเร็ว แต่หากพรรคประชาธิปัตย์ได้บริหารประเทศ จะต้องรื้อเงื่อนไขโครงการใหม่ ซึ่งยังไม่รวมอุปสรรคที่อาจไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ภายใน 60 วัน

ทั้ง 2 โครงการมีสัดส่วนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 0.5% ต่อจีดีพีประเทศ ถือเป็นโครงการหลักในการผลักดันจีดีพี คาดการณ์เศรษฐกิจปี 2557 ที่ตั้งไว้ 5-6% จึงอาจเป็นไปได้ยาก

ขณะที่กลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา คือ ภาคส่งออกและภาคการบริโภคภายในประเทศเริ่มแผ่ว ทั้งจากปัจจัยภายนอกและปัญหาการเมืองภายใน แม้ปัญหาจะเริ่มคลี่คลายแต่กว่าภาคการส่งออกและการบริโภคจะกลับมา แต่ยังไม่เติบโตอย่างรวดเร็วเช่นที่เคยเป็นตัวหลัก เพราะคำสั่งซื้อจากลูกค้าต่างประเทศที่กลับมาอาจจะไม่ได้สั่งซื้อจากไทย ทั้งสินค้าหลักอย่าง สิ่งทอ เครื่องใช้ไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ รวมถึง สินค้าเกษตร ข้าวและยางพารา ที่คู่แข่งผลิตได้ในราคาถูกกว่าไทย เช่น กัมพูชา เวียดนาม และอินโดนีเซีย

ส่วนการบริโภคระยะสั้นภายในประเทศ รวมถึงภาคการท่องเที่ยว ไม่น่าเป็นห่วง แต่ที่น่าห่วงคือขีดความสามารถการแข่งขันระยะยาวของประเทศ

หนุนรัฐเดินหน้าเมกะโปรเจค

นายทาคายะ อาวาตะ ประธานบริษัท โทริดอลล์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ดำเนินการร้านอาหารอุด้ง แบรนด์มารุกาเมะเซเมง เชนใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น กล่าวว่า ไม่รู้สึกกังวลเกี่ยวกับการชุมนุมในไทย เพราะทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ก็ผ่านไปได้ทุกครั้ง นักลงทุนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังมีมุมมองที่เป็นบวกต่อการลงทุนในไทย และไม่คิดจะย้ายฐานการลงทุน

นายปรับชะรัน ซิงห์ ทักราล กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทบูทิค กล่าวว่า ปัญหาการเมืองไทยเป็นเรื่องปกติ การลงทุนของนักธุรกิจส่วนใหญ่มองระยะยาว ปัญหาการเมืองน่าจะเป็นประเด็นที่มีผลกระทบสั้นๆ เท่านั้น และเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยยังคงแข็งแกร่ง สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว


ภาคธุรกิจแนะรัฐบาลถอยสุดซอย

โดย...กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์

แม้รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะประกาศยุบสภาไปเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา แต่ยังไม่เป็นไปตามที่กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้อง ซึ่งต้องการให้มีการปฏิรูปประเทศไทย ผลดังกล่าวภาคธุรกิจได้ให้ความเห็นว่า

พิพัฒ พะเนียงเวทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรามาม่า กล่าวว่า ทางออกรัฐบาลขณะนี้ ควรใช้โมเดลถอยสุดซอยเพื่อยุติปัญหาการชุมนุม คือต้องลาออกและปล่อยให้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ หากปล่อยให้เหตุการณ์ยืดเยื้อจะเกิดความรุนแรง ส่วนสภาพเศรษฐกิจแม้ว่ารัฐบาลจะยุบสภา ก็ไม่ช่วยให้กำลังการซื้อของผู้บริโภคและภาวะเศรษฐกิจฟื้นขึ้นมาได้

บุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในเครือสหพัฒน์ กล่าวว่า แม้ว่ารัฐบาลประกาศยุบสภาลง แต่เชื่อว่าจะไม่สามารถยุติการชุมนุมลงได้ เพราะมวลชนต้องการให้รัฐบาลลาออกจากรักษาการรัฐบาลด้วย ดังนั้นจึงอยู่ที่ว่ารัฐบาลจะปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อไปนานแค่ไหน ที่ผ่านมารัฐบาลตัดสินใจช้าไปทุกก้าว ไม่ว่าจะเป็นการถอน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือการยุบสภา

ทั้งนี้ หากนายกฯ ตัดสินใจยอมแพ้ทุกอย่างจะจบเร็ว เศรษฐกิจก็จะฟื้นเร็วขึ้น ส่วนสถานการณ์ขณะนี้เชื่อว่าทหารไม่น่าจะออกมา เพราะไม่มีเหตุการณ์รุนแรง ขณะที่โครงการเมกะโปรเจกต์ 2.2 ล้านล้านบาท ที่ผ่านมามองว่าไม่ได้มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยให้มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น ดังนั้นแม้ว่าจะต้องเลื่อนออกไป ก็ไม่ได้ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศในปีหน้า

ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายคอนโดมิเนียม บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท กล่าวว่า ไม่ต้องการให้ปัญหาทางการเมืองที่ไม่สงบยืดเยื้อไปกว่านี้ ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรีประกาศลาออกแล้ว โดยจะต้องมีการจัดตั้งสภาประชาชน หรือการดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ตรงกันทั้งสองฝ่าย เพื่อให้เกิดการจัดการเลือกตั้งภายใน 60 วัน ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย และเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้

เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการและกรรมการ บริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ กล่าวว่า ความไม่ชัดเจนทางการเมือง หากยืดเยื้อคงส่งผลกระทบถึงไตรมาสแรกของปีหน้าอย่างเลี่ยงไม่ได้ สะท้อนให้เห็นว่าตลาดที่อยู่อาศัยจะต้องเผชิญหน้ากับปัจจัยลบที่เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากปัจจัยทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นมาแล้ว ปัจจัยเรื่องสถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยกู้ก็จะยังเป็นวิกฤตต่อเนื่อง เพราะภาระหนี้คนซื้อบ้านยังสูง

นอกจากนี้ การที่การเมืองยังไม่ชัดเจนอาจมีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ และเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว ก็จะยิ่งทำให้แบงก์เข้มกับการปล่อยสินเชื่อบ้านมากขึ้น โดยแม้ว่าหลายฝ่ายจะประเมินว่าแบงก์ยังคงแข่งขันกันหาสินเชื่อ ซึ่งในเชิงการตลาดอาจมีแคมเปญที่ดุเดือดชิงลูกค้า แต่ทุกแบงก์ก็มีเกณฑ์ในการอนุมัติสินเชื่อ หากผู้ขอกู้บ้านไม่ผ่านเกณฑ์ ก็ไม่สามารถกู้ได้ตามเป้าหมาย จึงยังเป็นประเด็นที่น่าห่วง

ทั้งนี้ ยอมรับว่ายังไม่เห็นปัจจัยบวกต่อภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปีหน้าเลย เพราะเมื่อยุบสภาแล้ว โครงการก่อสร้างระบบขนส่ง 2.2 ล้านล้านบาท ที่เคยประเมินว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจในปีหน้า ก็คงถูกชะลอออกไปตามสถานการณ์การเมือง ส่วนแผนการกระตุ้นยอดขายของกลุ่มเสนาฯ คงจะขยับไปทำในช่วงเดือน ก.พ.เลย เพราะโดยปกติ ก.พ.และ มี.ค.ของทุกปี จะเป็นช่วงที่ดีที่สุดของไตรมาสแรก

วุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิตี้วอล์ค ผู้บริหารธุรกิจสวนน้ำและสวนสนุก สวนสยาม และนายกสมาคมสวนสนุกและสวนพักผ่อนหย่อนใจ กล่าวว่า ขอบคุณทุกฝ่ายที่ไม่สร้างความรุนแรงใส่กัน เมื่อรัฐบาลยุบสภาถอยมาแล้วหนึ่งก้าว ช่วงนี้น่าจะเป็นเวลาที่กลุ่มแกนนำผู้ชุมนุมควรหารือให้ชัดเจนถึงแนวทางการตั้งสภาประชาชนว่าจะทำอย่างไร โดยที่อยู่ในหลักการรัฐธรรมนูญ ซึ่งควรอธิบายให้สังคมเข้าใจ และควรเชิญนักวิชาการกฎหมายมาหารือถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติของการตั้งสภาประชาชน

“ผลกระทบกับภาคท่องเที่ยวเกิดขึ้นไปแล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้ ก็ควรจะใช้จังหวะนี้คุยกันให้เรียบร้อยว่าจะเอาอย่างไรต่อไป เพราะหากไม่คุยให้เรียบร้อย แล้วจัดการเลือกตั้งใหม่ ก็จะมีปัญหาอีก เอกชนต่างก็รอดูความชัดเจนของเหตุการณ์อยู่ ไม่สามารถวางแผนงานปีหน้าได้ เพราะยังไม่รู้ความชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้น”วุฒิชัย กล่าว

มัยรัตน์ พีระญาณ์โกเศส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีเบนน์ แทรเวิล เซอร์วิส กล่าวว่า สิ่งที่เอกชนอยากรู้ในตอนนี้คือเป้าหมายของการชุมนุม แกนนำควรอธิบายให้ชัดเจนว่าจุดสิ้นสุดการชุมนุมครั้งนี้อยู่ที่ไหน ควรจะบอกแนวทางให้ครบทั้งหมด ไม่ใช่ทยอยออกมาทีละเรื่อง เพราะทำให้เอกชนวางแผนงานไม่ได้ เนื่องจากไม่แน่ใจว่าเหตุการณ์ชุมนุมจะยาวนานไปถึงเมื่อไหร่ จบลงเมื่อไหร่ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีคำตอบอะไรเลย หากตอบคำถามเหล่านี้ได้ อย่างน้อยเอกชนจะได้รู้ว่าจะเริ่มบุกฟื้นธุรกิจได้ตั้งแต่เมื่อไหร่ จากปัจจุบันธุรกิจการจัดท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (อินเซนทีฟ) ก็หยุดชะงักทั้งหมดเพื่อรอดูสถานการณ์ โดยลูกค้าชะลอการจัดทัวร์อินเซนทีฟยาวจนถึง มี.ค. 2557 เพราะสถานการณ์ที่เกิดทำให้บรรยากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการท่องเที่ยว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : 7องค์กร เสนอตั้งคณะทำงาน ปฏิรูปประเทศ ก่อนเลือกตั้ง

view