สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กำเนิดใหม่ ไทย(ไม่)เฉย

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมทางการเมืองครั้งไหนๆ คนที่ไม่ออกมาร่วมในสนามรบมักถูกหยามเหยียดว่าเป็นพวก 'ไทยเฉย' แต่ตอนนี้คำๆ นี้ไม่มีความหมายอีกแล้ว

เพราะคนไทยเลือกที่จะ 'ไม่เฉย' อีกต่อไป

หลายปีที่ผ่านมา คนไทยต้องพบกับเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองโดยตลอด และไม่ว่าฝ่ายใดจะได้รับชัยชนะ ท่ามกลางเหตุการณ์เหล่านั้น มักมี 'ไทยเฉย' ซ่อนอยู่หลังม่านเสมอ

ไทยเฉย ถูกนิยามโดยนักวิชาการ และนักวิเคราะห์ทั่วไปในหลากหลายความหมาย หากสรุปคร่าวๆ โดยส่วนใหญ่ให้คำนิยามไปในทำนองที่ว่า เป็นคนที่สนใจเรื่องทำมาหากินมากกว่า ไม่ได้สนใจเรื่องการเมืองมากนัก มีทัศนคติเป็นลบกับการเมืองและนักการเมือง เบื่อการชุมนุมไม่ว่าฝ่ายไหน ไม่ชอบก็แค่บ่นแต่จะไม่ไปเดินขบวนขับไล่ใคร

สิ่งเหล่านี้อาจเป็นลักษณะของไทยเฉยที่เคยมีมาในอดีต แต่คงไม่ใช่สำหรับชุมนุมครั้งนี้ เพราะวันนี้คนไทย 'ไม่เฉย' อีกต่อไปแล้ว

ไทยไม่เฉย

"วันนี้.. ส่วนตัวคิดว่าเราไม่มีไทยเฉยหรอกค่ะ"ผศ.ดร.ปาริชาด สุวรรณบุบผา ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล แสดงความเห็นต่อปรากฏการณ์ทางการเมืองครั้งนี้

เธออธิบายเพิ่มเติมว่า คนที่ถูกเรียกว่าเป็นไทยเฉยในความเป็นจริงเขามีหลักการและเหตุผล มีจุดยืนกันทุกคน ไม่ได้อยากจะอยู่นิ่งเฉยกับปัญหาบ้านเมือง เพียงแต่ว่าเงื่อนไขปัจจัยจัยของแต่ละคนมีไม่เหมือนกัน และต้องดูด้วยว่าการที่จะออกมาแสดงเหตุผลทางการเมืองนั้นมีพื้นที่ปลอดภัยเพียงพอหรือเปล่า

"คนที่ไม่อยากยุ่งกับการเมืองก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไทยเฉยไปเสียหมด แต่ตามปกติทั่วๆ ไปของคนไทยมีวิธีคิด มีวิธีมองกันทั้งนั้น เพียงแต่ว่าเงื่อนไขปัจจัยอาจจะยังไม่เอื้อ ตอนนี้เรามุ่งแต่จะเอาชนะกัน ถ้าเรามีพื้นที่ปลอดภัยขึ้นมาเพื่อตั้งสติเสียหน่อย มาคุยกันว่าคุณก็รักประเทศไทย ฉันก็รักประเทศไทย ฉะนั้นอย่าทำอะไรที่รุนแรงหรืออย่าทำให้อีกฝ่ายหนึ่งจนตรอก ซึ่งตอนนี้เท่าที่ดูเราก็มีจุดอ่อนกันทุกฝ่าย จริงๆ แล้วมันไม่มีใครถูกสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าจะมาตั้งตัวกันใหม่ เราต้องอย่าใช้ความรุนแรง จุดยืนของเราคืออย่าใช้ความรุนแรง ถ้าไม่เห็นด้วย อยากเปลี่ยนแปลงอะไรลองพูดออกมาก่อน"

อาจารย์ปาริชาดบอกอีกว่า ที่เห็นว่าการชุมนุมครั้งนี้มีคนออกมาร่วมเยอะกว่าครั้งไหนๆ ก็เพราะว่ามันมีเงื่อนไขปัจจัยที่ตรงกับความต้องการหรือความรู้สึกของเขา เขาจึงออกไปแสดงความคิดเห็นในที่ชุมนุม หรือมีคนที่ศรัทธามาเป็นคนนำ หรือเป็นช่วงเวลาที่ความคิดความรู้สึกสุกงอม หรืออะไรก็แล้วแต่ จะตัดสินไปทีเดียวไม่ได้ว่าเขามากันเยอะเพราะอะไร อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา อาจารย์ปาริชาดยังเพิ่มเติมด้วยว่า เธอไม่คิดว่าควรจะต้องใช้ความรุนแรงในการแสดงเหตุผลทางการเมือง แต่น่าจะหันมาฟังกันและกันให้มากขึ้น โดยแนะนำว่าวิธีการที่จะทำให้เกิดสันติวิธีอย่างแท้จริงต้องมาจากการพูด ฟัง และทำความเข้าใจ

"ทฤษฎีของเราคือมาฟังกันและกัน แล้วก็สร้างความเข้าใจร่วมกัน ส่วนตัวมองว่าคำว่า 'สันติวิธี' คือ ทำอะไรก็ตามที่ไม่ใช้ความรุนแรง แล้วก็ต้องทำด้วยความไม่เกลียดชัง ในสถานการณ์ปัจจุบัน ทุกกลุ่มถ้าเจตนาดี มันก็ต้องส่งไปถึงวิธีการที่ดีด้วย ในเมื่อมีเจตนาดี อยากเปลี่ยนแปลงอะไรให้มันดีขึ้น เราก็ต้องแสดงจุดยืน คือจะทำอะไรก็ตาม ต้องมองเห็นความเป็นมนุษย์ของคนอื่นด้วย แบบนี้คือสันติวิธี แต่หากทำไปแล้วความเป็นมนุษย์ของเขาหมดไป ต่อให้เจตนาดียังไงมันก็ไม่ใช่สันติวิธี"

วาทกรรมชวนขยับ

ไม่เพียงแต่ไม่อยู่เฉยเท่านั้น คนไทยยังหันมาสนใจเรื่องการเมืองมากขึ้น บางคนที่เป็นไทยเฉยในอดีต วันนี้กลับกล้าเดินออกมาร่วมแสดงความเห็นในสนามประท้วง ที่สำคัญพวกเขาไม่ได้มาด้วยอารมณ์ชั่ววูบ มาด้วยเหตุผล และข้อมูลที่มีในมือ

ผศ.ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เล่าถึงปรากฏการณ์ของคนกลุ่มนี้ว่า กลุ่มคนที่จะนิ่งเฉยต่อการเมืองมีมาตลอด แต่โดยลักษณะแล้วเมื่อมีการให้ข้อมูลมากขึ้น คนกลุ่มนี้ก็จะเกิดการให้ความร่วมมือมากขึ้น ยิ่งเห็นว่าฝ่ายรัฐบาลทำผิด เขาก็ยิ่งให้ความสนใจ ใส่ใจ และที่สุดก็ออกมาร่วมแสดงจุดยืนทางความคิดในแนวทางเดียวกัน

"จากเหตุการณ์ที่ กปปส. เริ่มมีการชุมนุม แล้วทางเสื้อแดงก็มีการชุมนุมคัดค้านขึ้นมา การที่ทำแบบนี้มันยิ่งทำให้คนหันมาสนใจการเมืองมากขึ้น แล้วก็ทำให้กลุ่มไทยเฉยได้เห็นข้อมูลมากขึ้น ยิ่งรัฐบาลมีการต่อต้านหรือว่ามาตรการอะไรก็ตามที่จะดำเนินการกับ กปปส. กลับเป็นตัวกระตุ้นทำให้ไทยเฉยหันมาสนใจมากขึ้นครับ เช่น ช่วงที่ผ่านมามีกระแสข่าวว่าทางรัฐจะเข้าจับกุมคนที่ให้ความช่วยเหลือกับ กปปส. แบบนี้ครั้บก็ยิ่งทำให้คนสนใจว่า ทำไมต้องจับเขา เกิดอะไรขึ้น คำถามที่ว่า อะไร ทำไม อย่างไร มันก็เลยเกิดขึ้น

ส่วนชุดคำพูดที่ว่าคนที่ออกมาชุมนุมเป็นคนดี คนที่ไม่ออกมาแปลว่าไม่รักชาติ อันนี้ผมว่ามันเป็นยุทธวิธีของแต่ละกลุ่มที่จะใช้ ซึ่งมันก็เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ฝ่ายรัฐบาลเองก็จะใช้วาทกรรมนี้ทำให้คนคิดว่าออกไปก็โดนด่าไม่ออกไปดีกว่า พอคนไม่ออกไปรัฐได้ประโยชน์ ส่วนด้าน กปปส. ก็ใช้เพื่อกระตุ้นให้คนออกมาเยอะ ใช้ในการเรียกรวมพลคนว่า ถ้ารักชาติให้ออกมา ฝั่งเสื้อแดงเองก็พูดสิ่งนี้บนเวทีเหมือนกันว่า กลุ่มคนที่เขาเฉยเพราะเขาเข้าข้างรัฐบาล ผมคิดว่ามันเกี่ยวกับการหยิบเอาสิ่งนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับตัวเองมากกว่า"

อาจารย์จักษ์บอกอีกว่า คำว่าไทยเฉย ถูกเอาไปใช้ประโยชน์จากกลุ่มชุมนุมทุกกลุ่ม การนิ่งเฉยทำให้คนอื่นเอาไประบายสี เอาไปใส่ชุดความคิดอื่นๆ เข้าไป เพื่อสร้างวประโยชน์ให้กับฝ่ายของตน เพียงแต่ว่าใครจะเอาไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่ากัน แต่จากการชุมนุมครั้งนี้จะเห็นว่ามีปรากฏการณ์การตื่นตัวทางการเมืองของคนไทยเยอะมาก เพราะว่าปรากฏการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่การออกมาด้วยเงื่อนไขที่ว่าจะขับไล่รัฐบาลตั้งแต่ต้น แต่ออกมาด้วยเงื่อนไขที่ว่าภาครัฐทำผิดหลักการ

"ฉะนั้นสิ่งที่เกิดจากการชุมนุมและเป็นประโยชน์กับพี่น้องคนไทยมากที่สุดคือ การได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารทางการเมือง เพียงแต่ว่า หลังจากนี้ไปคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดจะสานต่อเรื่องการให้ความรู้กับประชาชนหรือเปล่า จะใช้จังหวะนี้หรือเปล่าในการสร้างแรงจูงใจ และการตื่นตัวทางการเมือง ผมว่าอันนี้ต่างหากที่เป็นสิ่งที่สำคัญ"

ไทยเฉยใหม่

ส่วนมุมมองความเห็นของ ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ อาจารย์ประจำสาขามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายถึงปรากฏการณ์ของกลุ่มไทยเฉยตั้งแต่ยุคอดีตจนถึงยุคปัจจุบันว่า ไทยเฉยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือไทยเฉยแบบ "ออริจินัล" คือกลุ่มคนที่เคยนิ่งเฉยต่อเหตุการณ์ทางการเมืองแม้ว่าจนถึงตอนนี้ก็ยังคงเฉยอยู่ หากดูประวัติศาสตร์ไทยมาตั้งแต่อดีตก็พบว่าจะมีคนกลุ่มนี้อยู่ตั้งแต่ต้น กล่าวได้ว่า ไทยเฉยเป็นคนชนชั้นกลางทั่วๆ ไปในสังคมไทยที่ไม่สนใจการเมือง เห็นการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว เป็นคนทั่วไปที่ไม่ได้รับข้อมูลข่าวสาร

ส่วนไทยเฉยกลุ่มที่สองในทัศนะของเธอคือ "ไทยเฉยใหม่" เป็นกลุ่มไทยเฉยที่เพิ่งเกิดขึ้นมาจากวาทกรรมการเมืองยุคใหม่ กลุ่มนี้คือชนชั้นกลางที่ไม่เห็นด้วยกับการเมืองแบบเดิมๆ นั่นคือ พอได้รัฐบาลที่เลือกตั้งมา ก็จะมีการเดินขบวนประท้วงรัฐบาล ล้มรัฐบาล มีทหารมาปฏิวัติ มีนายกพระราชทาน แล้วก็เลือกตั้งใหม่ ถือเป็นวงจรอุบาทว์ของการเมืองไทยที่วนเวียนอยู่อย่างนี้ ซึ่งมาจนถึงวันนี้คนรุ่นใหม่ไม่ตอบรับกับการเมืองแบบนี้แล้ว จะเห็นได้ว่าครั้งนี้ก็มีผู้ร่วมชุมนุมที่เป็นนิสิตนักศึกษา พนักงานออฟฟิศรุ่นใหม่ๆ เข้ามาร่วมมากขึ้น

"มันเหมือนเป็นกระแสกดดันด้วยนะว่า ถ้าใครไม่ออกมา แสดงว่าคุณเป็นไทยเฉย เป็นการปลุกพลังคนที่เป็นไทยเฉยในอดีตให้หันมาสนใจปัญหาบ้านเมืองที่กำลังเกิดขึ้น ทีนี้คนกลุ่มนี้เขาก็เริ่มสนใจ จากเดิมอาจจะแค่ฟังข่าวที่บ้าน ดูข่าวทางเน็ต แต่ตอนนี้ก็เริ่มลุกขึ้นมา ออกมาเดินขบวนร่วมกับกลุ่มชุมนุม ก็กลายเป็นไทยเฉยใหม่ ซึ่งคนกลุ่มนี้เขาเชื่อว่าเขาไม่ได้เป็นเครื่องมือนักการเมืองคนไหน แล้วเขาก็ฉลาดพอที่จะรู้ว่าวงจรอุบาทว์ของการเมืองไทยเป็นอย่างนี้ แล้วเขาจะไม่เล่นในกฎกติกาแบบนี้ และกลุ่มนี้มีลักษณะร่วมกันอย่างหนึ่งคือ มีความศรัทธาในสถาบันพระมหากษัตริย์"

แม้คนที่ออกมาร่วมชุมนุมครั้งนี้จะมหาศาลกว่าทุกครั้ง แต่การเลือกที่จะออกมาหรือไม่ออกมาร่วมชุมนุมนั้น อาจารย์ชนิดายังยืนยันว่าเป็นสิทธิที่ทุกคนควรจะเลือกได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นวาทกรรมที่ว่าคนที่ออกมาชุมนุมเป็นคนดี คนที่ไม่ออกมาแปลว่าไม่รักชาติหรือเป็นไทยเฉยนั้น จึงเปรียบเหมือนเป็นการแสดงถึงความเหยียดหยามคนอื่น โดยเหมารวมว่า คนที่อยู่เฉยๆ แปลว่าไม่รักชาติ แปลว่าชอบรัฐบาล หรืออื่นๆ นั่นเป็นการกดดันและบังคับให้คนในสังคมต้องแบ่งสีกันตลอดเวลา ที่สุดก็จะไม่มีวันรวมเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันได้

ที่สุดแล้วไม่ว่าจะเฉยหรือไม่เฉย สิ่งที่สำคัญกว่าน่าจะอยู่ที่การไม่ตัดสินผู้อื่น รวมทั้งเปิดใจกว้างเพื่อเข้าใจในความแตกต่างของคนที่เรียกว่าเป็นเพื่อนร่วมชาติเดียวกัน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กำเนิดใหม่ ไทย(ไม่)เฉย

view